คสรท. และสรส.แถลง “อย่าใช้แรงงานข้ามชาติเป็นเครื่องมือทางการเมือง”

วันที่ 2 พฤศจิกายน 2564คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)  ออกแถลงการณ์  เรื่อง “แรงงานข้ามชาติ คือ กลุ่มเปราะบาง อย่าใช้แรงงานข้ามชาติเป็นเครื่องมือทางการเมือง”  โดยมีเนื้อหาดังนี้

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เป็นองค์กรของคนงานซึ่งมีสมาชิกที่เป็นแรงงานเอกชน แรงงานรัฐวิสาหกิจ แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ และลูกจ้างภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงาน ซึ่งก่อตั้งมากว่า 20 ปี ภายใต้ฉันทามติร่วมกันของขบวนการแรงงานเพื่อต้องการสร้างความสมานฉันท์ สามัคคีในหมู่ขบวนการแรงงานและเชื่อมประสานกับเครือข่ายทางสังคมเพื่อสร้างพลังในการแก้ไขปัญหาของพี่น้องคนงานทุกอาชีพ ทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนาความเชื่อ โดยไม่แบ่งแยก โดยคำนึงถึงความเท่าเทียม ความเป็นธรรมทางสังคม บนหลักการสิทธิมนุษยชนสากล

ปัญหาเรื่องแรงงานข้ามชาติมีปัญหามาอย่างยาวนานในประเทศไทย ซึ่งแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยกลุ่มใหญ่ ๆ มีสามกลุ่ม คือ เมียนมาร์ ลาว และ กัมพูชา ซึ่งขบวนการแรงงานต่างทราบดี และมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาของพี่น้องแรงงานข้ามชาติเสมอมาทั้งที่ขบวนการแรงงานไทยเป็นปากเสียงให้ในช่วงแรก ๆ ของการเคลื่อนไหวเนื่องจากทัศนะ ความเชื่อความเข้าใจที่ผิด ๆ ของข้าราชการ นักการเมือง ประชาชนทั่วไป หรือแม้แต่ผู้นำแรงงานบางคนบางกลุ่ม แต่จากการทำงานหนักของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ในการรณรงค์ทั้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่ไม่ดีต่อแรงงานข้ามชาติ ควบคู่กับการนำเสนอประเด็นปัญหา และแนวทางการแก้ไข ทั้งในเวทีเสวนา การลงพื้นที่ หรือแม้แต่การนำปัญหาแรงงานข้ามชาติลงบนท้องถนนเพื่อรณรงค์ให้สังคมรับรู้ เข้าใจในประเด็นปัญหาแรงงานข้ามชาติว่า

คนเหล่านี้มีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างไร และปัญหาต่าง ๆ ที่เขาไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกกระทำ ถูกละเมิดสิทธิ ซึ่งก็เป็นพัฒนาการเชิงบวกที่ในปัจจุบันแรงงานข้ามชาติรวมกลุ่มดูแลกัน ช่วยเหลือกันแม้ว่ากฎหมายแรงงานจะยังไม่ยอมรับ แต่เงื่อนไขการรวมกลุ่มกัน การสมาคมกัน

เป็นหลักการสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานขององค์การสหประชาชาติ (UN) และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) จนทำให้ขบวนการปกป้องสิทธิ และการเข้าถึงสิทธิของแรงงานข้ามชาติมีการพัฒนาขึ้น แม้ว่ายังมีปัญหาอีกมากมายหลายประการโดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก็จะพบว่าจำนวนไม่น้อยที่เข้าไม่ถึงการป้อง การรักษา การฟื้นฟู และการเยียวยา ซึ่ง คสรท. และ สรส. ก็พยายามผลักดันให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงสิทธิเฉกเช่นเดียวกับพี่น้องแรงงานไทย ดังปรากฏในเอกสารในวันกรรมกรสากล 2563 และ 2564 (May Day) แม้กระทั่งในวันงานที่มีคุณค่าสากล (Decent work) โดยกำหนดให้เป็นประเด็นเร่งด่วน และในช่วงที่มีนโยบายปิดแคมป์ก่อสร้าง คสรท. และ สรส. ก็ได้จัดถุงยังชีพ อุปกรณ์ป้องกันไปช่วยเหลือพี่น้องคนงานกว่า 20 แคมป์

จากประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นที่กระทรวงแรงงานที่มีการชุมนุมเพื่อเรียกร้องปกป้องสิทธิของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่พี่น้องแรงงาน องค์กรต่าง ๆ เห็นความสำคัญและพยายามที่จะยื่นข้อเสนอเพื่อให้กระทรวงแรงงานและรัฐบาลแก้ไขปัญหา เพียงแต่การนำแรงงานข้ามชาติไปร่วมชุมนุมนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างมาก แม้แต่คนที่มีเอกสารการเดินทาง (Passport) มีใบอนุญาตการทำงาน(Work permit) ถูกต้องก็เป็นการเสี่ยงที่จะทำให้เขาถูกจับกุม ถูกดำเนินคดี ถูกถอนใบอนุญาต

การทำงาน รวมถึงการส่งตัวกลับประเทศ ยิ่งคนที่ไม่มีเอกสารใด ๆ ก็ยิ่งแล้วใหญ่ที่จะถูกดำเนินคดี

ในฐานะลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และอาจสืบลึกไปถึงคนนำพา คนให้ที่พักพิงที่จะมีความผิด

มีโทษหนัก ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่น่าห่วงใย ที่สำคัญใครจะดูแลพวกเขา ใครจะช่วยพวกเขา และยิ่งในสถานการณ์ที่ล่อแหลมทางการเมืองซึ่งมีข่าวบ่อยครั้งว่า ว่าแรงงานข้ามชาติเข้าร่วมการชุมนุม แม้ว่าจะมีการปฏิเสธจากผู้เกี่ยวข้องแต่ที่สุดแล้วก็ไม่เป็นผลดีอันใดเลยต่อพี่น้องข้ามชาติ และอาจทำให้ประเด็นปัญหาแรงงานข้ามชาติแก้ได้ยากมากขึ้น หรืออาจทำให้องค์กร บุคคลที่ทำงานเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติรวมทั้งผู้สนับสนุนทำงานได้ยากมากขึ้น

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)  ในฐานะที่เป็นองค์กรของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน มีข้อเสนอดังนี้

1. คสรท. และ สรส. เห็นด้วยกับข้อเสนอที่จะให้กระทรวงแรงงานและรัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาของพี่น้องแรงงานไทย และแรงงานข้ามชาติที่หมักหมมสะสมมาอย่างยาวนานซึ่งเป็นข้อเสนอที่เกิดขึ้นจากการทำงานหนักขององค์กรต่าง ๆ ในพื้นที่ทำงานจริง ทั้งเรื่องการเข้ามาในประเทศเพื่อทำงาน ค่าใช้จ่ายในการขออนุญาตการทำงาน เรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน เรื่องสุขภาพ เรื่องหลักประกันทางสังคม ที่ทำให้พี่น้องแรงงานข้ามชาติทำงานอย่างมีความสุข สร้างผลผลิต ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยทั้งเรื่องการบริโภค การจ่ายภาษี และอื่น ๆ ดังที่ คสรท. และ สรส. เคยเสนอต่อรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและรัฐบาลไปแล้ว และควรดำเนินการอย่างจริงจัง เร่งด่วน

2. ให้ตรวจสอบขบวนการนำพาแรงงานข้ามชาติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเอาผิดกับคนเหล่านั้นอย่างจริงจังทุกคน ไม่ว่าจะมีอำนาจ อิทธิพลแค่ไหน เพราะเป็นเรื่องการหาประโยชน์โดยมิชอบจากแรงงานข้ามชาติ และอาจเข้าข่ายการค้ามนุษย์ ที่ต้องลงโทษอย่างหนัก เพราะนอกจากไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แล้วยังเป็นการทำให้ประเทศชาติเสียหายทั้งในเรื่องการเมือง และการค้า การลงทุนระหว่างประเทศด้วย

3. สำหรับบุคคลที่ถูกจับกุมในลักษณะที่เข้าประเทศที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรืออื่น ๆ ที่เกิดจากการกระทำที่ประมาท รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ควรปฏิบัติต่อเขาด้วยดี และต้องให้เขาเข้าถึงสิทธิตามกฎหมายของไทย และกฎหมาย กติกา ระหว่างประเทศโดยยึดหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศสมาชิกและประเทศร่วมก่อตั้ง

4. ไม่ว่ากรณีใด คสรท. และ สรส. ไม่เห็นด้วยกับการนำแรงงานข้ามชาติไปชุมนุมประท้วงในลักษณะที่สุ่มเสี่ยงต่อสิทธิ เสรีภาพของแรงงานข้ามชาติเอง และ หากบุคคล องค์กรใดนำแรงงานข้ามชาติไปเคลื่อนไหวเพื่อหวังผลทางการเมืองโดยมิได้คำนึงถึงสิทธิ เสรีภาพ และผลที่จะตามมาต่อแรงงานข้ามชาติเหล่านั้น ก็ขอประณาม…!!!

“แรงงานไทย ก็คือ คน

แรงงานข้ามชาติ ก็คือ คน

สิทธิแรงงาน คือ สิทธิมนุษยชน

ทุกคนจะต้องเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) 

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)

2 พฤศจิกายน 2564