คสรท. และสรส.แถลงข้อเรียกร้องใหม่ และทวงถามข้อเรียกร้องเก่า

วันที่ 1 พฤษภาคม 2020 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้แถลงข้อเรียกร้อง วันกรรมกรสากล 2020 ที่ ศูนย์ฝึกอบรมเพื่อคนทำงาน บางเกลือ ฉะเชิงเทรา

นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ได้แถลงว่า วันกรรมกรสากลในปี 2020 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) ร่วมกับ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) ได้จัดกิจกรรมเพื่อตอกย้ำเจตนารมณ์ “วันกรรมกรสากล” ให้แจ่มชัดยิ่งขึ้นเช่นทุกปี โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบัน ภาวะการกดขี่ขูดรีดที่รุนแรงหนักหน่วง สลับซับซ้อนยิ่งกว่าเดิม ภายใต้กลไกและการทำงานของระบบเศรษฐกิจทุนเสรีนิยมใหม่ในยุคสมัยการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 4(4.0) ด้วยเทคโนโลยีทันสมัย ซึ่งจะมีการใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการดำเนินชีวิตของคนทั้งภาคการผลิต การบริการ การสื่อสาร การเกษตร และอื่นๆ ซึ่งก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการผลิตและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ แม้จะมีส่วนที่ดีในแง่ของความรวดเร็ว สะดวก สบาย แต่ก็จะเกิดผลกระทบในวงกว้างอย่างรุนแรงเช่นกัน ทั้งการตกงาน ว่างงาน ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ การผูกขาด การเข้าถึงเทคโนโลยีของธุรกิจและภาคการผลิตรายย่อย ความมั่งคั่งจะตกอยู่ในอาณาจักรของคนไม่กี่คน และนั่นหมายถึงการแย่งชิงและความรุนแรงจะตามมา ประเทศไทยเองแม้จะเขย่งขาก้าวสู่เวทีแข่งขันกับนานาชาติภายใต้นโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” แต่ก็หามีกรอบการทำงานและนโยบายเชิงรุกและรับในผลกระทบที่ชัดเจน และประเทศไทยก็ไม่ใช่ผู้ผลิต ผู้คิดค้นเทคโนโลยี ทุกสิ่งล้วนแต่ต้องพึ่งพา จึงยังไม่รู้ว่าจะนำพาประเทศชาติ ประชาชน ไป ณ หนใด

สถานการณ์ร้อนแรงที่ส่งผลกระทบอย่างมหันต์ต่อคนทำงานและมวลมนุษยชาติที่เริ่มตั้งแต่ปลายปี 2019 คือการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือที่เรียกว่า โควิด 19 ซึ่งจนถึงขณะนี้มีผู้ติดเชื้อกว่า 3 ล้านคนและเสียชีวิตกว่า 2 ราย และยังไม่มีท่าทีว่าจะยุติลงโดยง่าย ทำให้รัฐบาลแต่ละประเทศต่างวางมาตรการป้องกันอย่างเข้มข้น และได้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมแต่ละประเทศทั่วทั้งโลก การล้มละลาย การปิดกิจการ เกิดภาวการณ์เลิกจ้าง ตกงาน ว่างงานมหาศาลเป็นสถิติที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนของระบบเศรษฐกิจโลก จำนวนไม่น้อยที่ตกงาน ว่างงาน ไม่มีเงินที่ซื้ออาหารประทังชีวิตยอมจบชีวิตตนเองด้วยการฆ่าตัวตายและปัญหาอาชญากรรมที่เพิ่มมากขึ้น

ประเทศไทยแม้ว่ารัฐบาลจะงัดมาตรการต่างๆในการเยียวยาช่วยเหลือด้านหนึ่งก็เป็นเรื่องที่รัฐจะต้องทำหน้าที่ต่อพลเมือง ต่อประชาชนให้ประชาชนมีชีวิตที่ดี ทั้งการป้องกัน การรักษาและการเยียวยาช่วยเหลือ แต่ก็ยังพบว่ามีปัญหาการเข้าถึงและความล่าช้า และมีคนงานบางกลุ่มที่ตกสำรวจและไม่ได้รับการช่วยเหลือ เช่นแรงงานนอกระบบ แม้กระทั่งแรงงานที่มีนายจ้างชัดเจนแต่การหยุดกิจการเป็นการชั่วคราว ยังพบว่าบางแห่งนายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน บางแห่งบังคับให้คนงานลงชื่อเพื่อลาออกจากงาน และยิ่งเมื่อรัฐบาลประกาศให้การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 เป็นภัยพิบัติของประเทศเป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจป้องกันได้แม้เป็นเจตนาที่ดีเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างและผู้ประกอบการแต่ก็มีสถานประกอบการจำนวนไม่น้อยที่อ้างสถานการณ์ทั้งที่ไม่เดือดร้อน ไม่ได้รับผลกระทบที่รุนแรง ไม่ยอมจ่ายค่าจ้างให้แก่คนงานโดยให้ไปรับมาตรการช่วยเหลือจากกองทุนประกันสังคมแทน ลูกจ้างของรัฐในกระทรวงสาธารณสุข เกือบ 1.5 แสนคนที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเพราะเป็นกลุ่มแรกที่เข้าถึงและสัมผัสผู้ป่วย แต่การจ้างงานยังเป็นแบบชั่วคราว จ้างรายวัน เหมางาน ค่าจ้างต่ำกว่ามาตรฐานขั้นต่ำ สวัสดิการแทบไม่มี แม้ว่าก่อนหน้านี้รัฐบาลจะประกาศบรรจุพยาบาลกว่า 4.5 หมื่นคนซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีและละชื่นชมที่พวกเขาเหล่านั้นจะได้มีหลักประกันในชีวิต แต่สำหรับลูกจ้างเหล่านี้ยังรอคอยความหวัง และที่เลวร้ายกว่านั้นคือพี่น้องแรงงานข้ามชาติจำนวนมากที่นายจ้างประสบปัญหา ปิดกิจการ เป็นเหตุให้ตกงาน หางานใหม่ไม่ได้ กลับประเทศตนเองก็ไม่ได้จากมาตรการปิดประเทศ ไม่มีเงินไม่มีรายได้ แม้บางคนอยู่ในระบบประกันสงคมแต่ส่งเงินสมทบไม่ครบตามเกณฑ์ก็ไม่สามารถรับสิทธิใดๆได้ และไม่สามารถรับมาตรการช่วยเหลือจากรัฐไทยเพราะเป็นประชากรข้ามชาติ ส่งผลให้ไม่มีเงินซื้ออาหารประทังชีวิตอยู่ในภาวะที่อดอยากอย่างมาก

อย่างไรก็ตามภายหลังจากสถานการณ์คลี่คลายวิเคราะห์ว่ามีคนงานจำนวนมากที่ไม่สามารถกลับเข้าสู่ตำแหน่งงานเดิมได้ และตำแหน่งงานใหม่ก็จะมีน้อยลงจากการพัฒนาการของเทคโนโลยี่ ระบบ Automation ระบบ AI รวมทั้งสงครามการค้า ซึ่งก่อตัวมาก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งนั่นเท่ากับว่าภาวะความทุกข์ยากของคนงานและคนที่กำลังเข้าสู่การทำงานจะยิ่งลำบากมากยิ่งขึ้น

กิจกรรมวันกรรมกรสากลในปีนี้ 2020 คสรท.และ สรส.ตระหนักถึงอันตรายของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 จึงได้แถลงต่อสาธารณะเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาโดยงดกิจกรรมชุมนุมคนงานเหมือเช่นทุกปีที่ผ่านมาแตะจะปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับสถานการณ์ อย่างไรก็ตามจากปัญหาความเดือดร้อน ความทุกข์ยากที่สะสมมาก่อนหน้านี้และปัญหาภัยพิบัติเฉพาะหน้าจากการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด 19 คสรท.และ สรส.มีข้อเสนอต่อรัฐบาลดังเช่นทุกปี และยังคงชูคำขวัญเช่นทุกปีที่ยังคงเหมาะสมกับยุคสมัย เข้ากับสถานการณ์ประเทศไทย คือ

สามัคคีกรรมกร ต้านทุนนิยมครอบโลก สร้างสังคมใหม่ ประชาธิปไตยประชาชน

ข้อเสนอวันกรรมกรสากล 2020

ข้อเสนอเร่งด่วนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ โควิด 19

1.กรณีการเข้าโครงการสมัครใจลาออกในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้ได้รับสิทธิ์กรณีว่างงานเท่ากับกรณีการเลิกจ้าง

  1. 2. กรณีนายจ้างเลิกจ้างหรือลูกจ้างออกจากงานทุกกรณี ให้รัฐบาลยกเว้นการเก็บภาษีรายได้ในช่วงระบาดของไวรัสโควิด -19
  2. 3. ให้รัฐบาลจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประกันตน ม.33 คนละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน กรณีได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19

4.กรณีที่นายจ้างใช้มาตรา 75 ในกฎหมายคุ้มครองแรงงาน จะต้องไม่นำเอาสวัสดิการตัวเงินอื่นๆมาคำนวณในการหักเงินลูกจ้าง ในช่วงที่นายจ้างให้ลูกจ้างหยุดงาน

5.ขอให้กระทรวงแรงงานจัดตั้งคณะกรรมการพิเศษในลักษณะไตรภาคีเพื่อตรวจสอบสถานประกอบการต่างๆที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด และมาตรการต่างๆที่ส่งผลกระทบและการช่วยเหลือคนงาน

6.ขอให้รัฐบาลชะลอโครงการต่างๆของรัฐบาลที่ยังไม่สำคัญเร่งด่วนและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันออกไปก่อนเพื่อนำเงินงบประมาณมาช่วยเหลือประชาชนและคนทำงาน

7.ให้บรรจุลูกจ้างกระทรวงสาธารณสุขสายงานต่างๆเป็นข้าราชการเหมือนพยาบาลที่รัฐบาลประกาศก่อนหน้านี้

8.ให้แรงงานข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบได้รับการผ่อนปรนช่วยเหลือจากประกันสังคมแม้ว่ายังส่งเงินสมทบไม่ครบตารมระยะเวลาที่กำหนดเพื่อช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม และให้ กระทรวงแรงงานโดยกรมจัดหางานยืดหยุ่นการเปลี่ยนนายจ้างตามมาตรา 51,52 และ 53 ของ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และให้นำเงินจากกองทุนเพื่อการบริหารแรงงานต่างด้าวที่ได้รับผลกระทบการเลิกจ้าง การขาดรายได้ ให้สามารถประทังชีวิตอยู่ได้ในช่วงวิกฤต

9.รัฐบาลต้องควบคุมและลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตประชาชน และควรเน้นเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนฐานรากตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และต้องไม่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนใช้วิกฤตของประเทศเพื่อการแสวงหาความมั่งคั่ง รวมถึงการหาแนวทางปรับลดหรืองดเว้นค่าบริการสาธารณะต่างๆ ตามแต่ประเภทการให้บริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจในช่วงวิกฤตให้ครอบคลุมประชาชนทุกคนได้เข้าถึงอย่างเท่าทียมและเป็นธรรม

10.ให้กระทรวงแรงงาน ประกาศยกเว้นข้อปฏิบัติกิจกรรมของสหภาพแรงงานในกรณีไม่สามารถดำเนินการได้ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 เช่นเรื่องของการประชุมใหญ่ฯ

ข้อเสนอทั่วไปที่เสนอในปีที่ผ่านมาแต่รัฐยังไม่ดำเนินการ

1.รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนการจัดให้มีรัฐสวัสดิการอย่างจริงจัง โดยเฉพาะด้านการสาธารณะสุขและการศึกษาให้กับประชาชนทุกคนได้เข้าถึงอย่างมีคุณภาพและเท่าทียม ไม่ผลักภาระด้านการบริการดังกล่าวให้ตกเป็นภาระกับประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม

  1. 2. รัฐบาลต้องส่งเสริมสิทธิเสรีภาพพื้นฐานให้สอดรับกับมาตรฐานฐานสากล ด้วยการรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม และการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักแห่งสิทธิในการรวมตัวกันและการเจรจาต่อรอง ซึ่งอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับนี้ อยู่ในกลุ่มอนุสัญญาหลัก (ILO Core Conventions) จำนวน 8 ฉบับ ที่มีเนื้อหาให้การคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงานที่คนทำงานทุกคนควรได้รับ รวมถึงการแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงาน ไม่ว่ากรณี คนงานรถไฟ การบินไทย หรือกรณีอื่นๆ จนส่งผลให้สหรัฐอเมริกาตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) กับสินค้าจากประเทศไทย

3.รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับรัฐวิสาหกิจเพื่อใช้เป็นกลไกของรัฐในการจัดแจงแบ่งปันบริการสาธารณะของประเทศอย่างเป็นธรรม และต้องไม่กระทำการใดๆ ที่ทำให้มีเกิดการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในทุกรูปแบบ เพื่อให้รัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องมือที่สำคัญสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยเฉพาะการให้บริการสาธารณะด้านโครงสร้างพื้นฐานและโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ ที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 กำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐ จะกระทำด้วยประการใดให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนหรือทำให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละ 51 (ร้อยละห้าสิบเอ็ด) ไม่ได้

4.ขอให้รัฐบาลยุติการลงนามเข้าเป็นสมาชิกในข้อตกลงความเข้าใจและความคืบหน้าเพื่อหุ้นส่วนข้ามแปซิฟิก CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership) เพราะจะนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายด้านการเกษตร ทำให้เกษตรกรทั่วประเทศไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชไว้เพาะปลูกได้ และจะต้องซื้อผ่านบริษัทด้านอุตสาหกรรมเกษตรเท่านั้น ซึ่งถือเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรในภาวะเศรษฐกิจ และราคาพืชผลที่ตกต่ำ อีกทั้งจะยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยให้มากขึ้นไปอีก และส่งผลกระทบด้านยา ทำให้การผลิตยา Generic กระทำได้ยากขึ้น การประกาศใช้CL ทำได้ยากขึ้น อุตสาหกรรมยาในประเทศจะแข่งขันสู่ยานำเข้าไม่ได้ และที่สำคัญ ข้อตกลงนี้เป็นอุปสรรคของรัฐ ทำให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจไม่สามารถดำเนินภารกิจเชิงสังคมในการรองรับนโยบายด้านยาเวชภัณฑ์ และวัคซีน ที่จำเป็นต่อระบบสาธารณสุขของประเทศเช่น ในการเกิดระบาดของไวรัส COVID-19 ในขณะนี้

  1. 5. รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน โดยกำหนดนิยามค่าจ้างขั้นต่ำแรกเข้าที่มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศและต้องเท่ากันทั้งประเทศ และต้องกำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้าง และปรับค่าจ้างทุกปี
  2. 6. ให้รัฐบาลดำเนินการปฏิรูประบบประกันสังคมอย่างจริงจัง โดยการปฏิรูปโครงสร้างการบริหารงานสำนักงานประกันสังคม ให้เป็นอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้และให้ผู้ประกันตนมีส่วนร่วม การจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ในสัดส่วนที่เท่ากัน ระหว่างรัฐ นายจ้าง ลูกจ้าง ตามหลักการของ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 และนำส่งเงินสมทบที่รัฐบาลค้างจ่ายให้เต็มตามจำนวน ให้เพิ่มสิทธิประโยชน์ ผู้ประกันตน มาตรา 40 ให้เท่ากับมาตรา 33 เพิ่มสิทธิประโยชน์ ชราภาพ 50 เปอร์เซ็นต์ ของเงินเดือนสุดท้าย

7.ขอให้ขยายกรอบเวลาการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ในกองทุนเงินทดแทนจนสิ้นสุดการรักษาตามคำวินิจฉัยของแพทย์

  1. 8. รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด กรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย เช่น การปิดกิจการ หรือยุบเลิกกิจการในทุกรูปแบบ (ตามรัฐธรรมนูญ หมวด 5 มาตรา 53)
  2. 9. รัฐต้องจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุนโดยให้นายจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิแรงงาน เมื่อมีการเลิกจ้างหรือเลิกกิจการไม่ว่ากรณีใดก็ตาม ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิได้รับเงินชดเชยจากกองทุน รวมทั้งการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง
  3. 10. รัฐต้องให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยในการทำงานและจัดสรรงบประมาณ รวมทั้งบุคลากรให้กับสถาบันความปลอดภัยฯ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการเรื่องความปลอดภัย ให้มีประสิทธิภาพ

พี่น้องกรรมกรที่รักทั้งหลาย รวมทั้งความสำเร็จทั้งหลาย จะบังเกิดขึ้นในวันข้างหน้าได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับพลังของพวกเราในวันนี้ และวันนี้เช่นกัน ระบบเศรษฐกิจทุนเสรีนิยมใหม่ได้แผ่ขยายอิทธิพลไปทั่วทุกภูมิภาคของโลก กลไกของมัน และรัฐบาลแต่ละประเทศที่คลั่งไคล้ หลงใหล สมคบคิดกับระบบเศรษฐกิจเช่นที่ว่านี้ ปล่อยให้กลไกของมัน บดขยี้ ขูดรีดพี่น้องคนงานทั้งอย่างเปิดเผยและซ่อนเร้นอำพราง จนพี่น้องคนงานต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่เลวร้ายกว่าในอดีตหลายเท่าทวีคูณ ดังนั้นพี่น้องกรรมกร คนงานและขบวนการแรงงานทั้งหลายต้องเร่งศึกษาเรียนรู้ทำความเข้าใจให้ต่อสถานการณ์ให้ถ่องแท้แจ่มชัดและต้องเร่งขยายการจัดตั้งให้กว้างขวาง พร้อมๆกับการสร้างแนวร่วมและขบวนการทางสังคม สามัคคีกับประชาชนเพื่อสร้างโอกาส แสวงหาแนวทางเพื่อบรรลุถึงความต้องการ คือ ความกินดี อยู่ดี มีความมั่นคง ปลอดภัยในการทำงาน และการดำเนินชีวิต อย่างไรก็ตามแม้เราจะสามัคคีกับใครส่วนไหนก็ตามแต่ตราบที่ภายในเราอ่อนแอ แตกความสามัคคี ก็เป็นเรื่องยากหรืออาจเป็นไปไม่ได้เลยที่ความต้องการจะถึงฝั่งฝันบรรลุสู่เป้าหมายได้ดั่งคำที่ว่า “ภายนอกเป็นเงื่อนไข ภายในชี้ขาด” ความสัมพันธ์ภายในภายนอกจึงต้องจัดวางอย่างเหมาะสม ต้องลงมือปฏิบัติอย่าง ซื่อสัตย์ ยืนหยัด สอดคล้องและเป็นจริง ความสำเร็จจึงจะเกิดขึ้นได้