คสรท. และสรส. แถลงการณ์ เสนอรัฐแก้ปัญหาข้อพิพาทระหว่างบริษัทมิตซูบิชิกับสหภาพ

เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2561 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้ออกออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 เรื่อง ขอให้ทุกฝ่ายเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาข้อพิพาทแรงงานระหว่าง บริษัทมิตซูบิชิ อีเล็คทริค คอนซูมเมอร์ โปรดักส์ (ประเทศไทย)จำกัด กับสหภาพแรงงาน 

ตามที่สหภาพแรงงานมิตซูบิชิ อีเล็คทริค ประเทศไทย ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อบริษัทมิตซูบิชิ อีเล็คทริค คอนซูมเมอร์ โปรดักส์ (ประเทศไทย)จำกัด เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2560 ซึ่งประเด็นการยื่นข้อเรียกร้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ตอบแทนจากการทำงานในระหว่างปีและเรื่องปรับปรุงสวัสดิการที่จำเป็น และได้มีการเจรจากันหลายครั้งแต่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ ต่อมาเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2560 บริษัทฯตอบโต้กลับด้วยการยื่นข้อเรียกร้องต่อสหภาพแรงงานในประเด็นที่เกี่ยวกับการปรับเงินค่าจ้างประจำปีและโครงสร้างในระดับตำแหน่งงานต่างๆ  การจัดเวลาเข้าทำงานใหม่(กะ)และขอยกเลิกหักเงินค่าบำรุงของสมาชิกให้แก่สหภาพแรงงาน ซึ่งข้อเรียกร้องของนายจ้างสหภาพแรงงานและสมาชิกเห็นว่าเป็นการเปลี่ยนที่ไม่เป็นคุณไม่สามารถยอมรับได้ การเจรจายืดเยื้อหาข้อยุติไม่ได้จนเกิดข้อพิพาทแรงงานระหว่างกัน ซึ่งต่อมาได้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทนับตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2560 จนถึงวันที่ 27 ธันวาคม 2560 ก็ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้และในวันเดียวกันเวลาประมาณ 22.35 น.บริษัทจึงประกาศปิดงาน โดยไม่จ่ายค่าจ้างและสวัสดิการใดๆให้แก่สมาชิกของสหภาพแรงงานและผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2560 เป็นต้นไป

การปิดงานของนายจ้างเป็นเรื่องที่สะเทือนต่อความรู้สึกของสหภาพแรงงานและสมาชิกเป็นอย่างมากเพราะเป็นการปิดงานในห้วงเวลาที่คนงานน่าจะมีความสุขกับการเฉลิมฉลองในเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่และน่าจะได้เดินทางกลับบ้านไปเยี่ยมเยือนครอบครัว พ่อแม่พี่น้องพร้อมกับสิทธิประโยชน์ตอบแทนการทำงานระหว่างปีที่บริษัทเคยจ่ายให้ทุกปีตามข้อตกลงระหว่างบริษัทกับสหภาพแรงงาน แต่ปีนี้ไม่ได้เป็นไปอย่างทุกปีที่ผ่านมา ซึ่งความจริงแล้วหากพิจารณาถึงผลกำไรของบริษัทนั้นมีผลกำไรสุทธิเติบโตอย่างต่อเนื่อง คือ ในปี 2556 กำไรสุทธิ 4,488,157,811 บาท / ปี2557 จำนวน 7,786,189,579 บาท / ปี 2558 จำนวน 7,503,285,560 บาท / ปี 2559 จำนวน 8,871,812,241 บาท และปี 2560 กำไรสุทธิ 8,986,060,301 บาท (ข้อมูลจากแถลงการณ์สหภาพแรงงานมิตซูบิชิฯ)

เมื่อพิจารณาจากผลกำไรอย่างต่อเนื่องของบริษัท หากบริษัทเข้าใจสหภาพแรงงานซึ่งมีสมาชิก 1,800 คน และพนักงานอีก 200 กว่าคน ในฐานะที่เป็นหุ้นส่วนต่อกันที่ทำให้บริษัทมีการพัฒนา มีความก้าวหน้ามั่นคงมาเป็นลำดับ ซึ่งบริษัทก็ควรให้ความสำคัญถึงความก้าวหน้า ความมั่นคงของคนงานด้วย การแบ่งปันจากข้อเสนอของสหภาพแรงงานมีสัดส่วนน้อยนิดเพียงแค่ 417,737,500 บาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 4 เท่านั้นจากกำไรสุทธิของบริษัทในปี 2560 ประมาณ 8,986,060,301 บาท(แปดพันเก้าร้อยกว่าล้านบาท) แต่จนถึงขณะนี้คนงานยังคงปักหลักประชุมร่วมกันในบริเวณวัดมาบสามเกลียว ต.ดอนหัวฬ่อ อ.เมือง จ.ชลบุรี เพื่อรอผลการเจรจาระหว่างนายจ้างกับสหภาพแรงงานซึ่งเท่าที่ติดตาม สถานการณ์และบรรยากาศในการเจรจามีแนวโน้มที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตามหลังจากที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) ภายหลังที่ได้รับหนังสือขอรับการสนับสนุนจากสหภาพแรงงานมิตซูบิชิฯและคณะกรรมการได้ลงพื้นที่ พบปัญหาข้อมูลหลายด้านที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานของคนงาน การจ้างงานนักศึกษาฝึกงาน สภาพแวดล้อมในการทำงาน แต่กระนั้นก็ตามข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่รับทราบจากสหภาพแรงงานและสมาชิกที่มาร่วมประชุมกันนั้นไม่มีแนวคิดและความประสงค์ในการนัดหยุดงานทุกคนต้องการที่จะทำงานให้บริษัท แต่มูลเหตุของข้อพิพาทและปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นล้วนเป็นความประสงค์ต้องการของนายจ้างและบริษัทที่ไม่ยอมรับเหตุผล ความจำเป็นและความเป็นจริง จนถึงปัจจุบันสหภาพแรงงานและสมาชิกยังคงมีความมุ่งหวังให้ข้อเรียกร้องและข้อพิพาทแรงงานยุติลงบนความพึงพอใจของทั้งสองฝ่าย

ดังนั้นคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) รวมถึง องค์กรสมาชิกและเครือข่ายด้านแรงงาน จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาล หน่วยงานภาครัฐใช้ความพยายามในการให้เกิดการเจรจาภายใต้ระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดีตามหลักการทางสากลหลักนิติธรรมและหลักการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 74และยอมรับกันได้ทั้งสองฝ่าย และในเบื้องต้นเพื่อแสดงออกถึงความจริงใจและสร้างบรรยากาศในการเจรจาบริษัทควรยกเลิกการประกาศปิดงานและให้สหภาพแรงงาน สมาชิก และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องกลับเข้าไปทำงานก่อนเพื่อประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย และพร้อมกันนั้นก็ดำเนินการเจรจาเพื่อหาข้อยุติยอมรับร่วมกันในการแบ่งปันที่เป็นธรรม และเชื่อมั่นว่าการแสดงออกถึงความจริงใจและความร่วมมือบนพื้นฐานการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขจะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน