คสรท. แถลงผลรับร้องทุกข์นโยบายค่าจ้าง 300 บาท ปัญหาเพียบ

 

คสรท. แถลงผลรับร้องทุกข์นโยบายค่าจ้าง 300 บาท ปัญหาเพียบ

20 JULY 2012 NO COMMENT ( เผยแพร่ใหม่หลังจากเว็บไซต์ถูกแฺฮ็กเมื่อวันที่ 1 ส.ค.55)

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2555 ณ ห้องประชุมศุภชัย ศรีสติ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย กรุงเทพฯ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และศูนย์รับเรื่องร้องเรียนค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม 8 ศูนย์พื้นที่ แถลงข่าว “ผลสำรวจการรับเรื่องร้องเรียนกรณีค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม” : นโยบาย 300 บาท “ซ้ำเติมแรงงาน” โดยเจตนาดี

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้แถลงว่า สืบเนื่องจากนโยบายปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวันที่มีผลบังคับใช้ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดปริมณฑล และภูเก็ต  ที่บังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 ส่วนอีก 70 จังหวัดที่เหลือปรับขึ้นในอัตราร้อยละ 39.5 และในวันที่ 1 มกราคม 2556 จะปรับขึ้นเป็น 300 บาททั่วประเทศ จากนั้นจะคงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของทุกจังหวัดไว้ที่ 300 บาทไปอีก 2  ปี 

นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 จนถึงปัจจุบัน ผ่านไปกว่า 1 ไตรมาส คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และศูนย์รับเรื่องร้องเรียนค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม 8 ศูนย์พื้นที่ ได้ทำการสำรวจผลกระทบที่เกิดขึ้นจากนโยบายปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท พบว่า มีผู้มาร้องเรียนรวมทั้งสิ้น 5,134 คน ใน 3 กรณีปัญหาหลัก ได้แก่

–  การไม่ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ รวม 2,380 คน พบในกิจการธุรกิจโรงแรม , ธุรกิจขนส่ง , ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์รถยนต์ , จิวเวอรี่ 

–  การเปลี่ยนสภาพการจ้างงาน รวม 2,168 คน พบในกิจการสิ่งทอ เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม (เช่น การปรับเปลี่ยนโยกย้ายตำแหน่ง ลดสวัสดิการ ย้ายฐานการผลิต)

– การนำสวัสดิการมารวมกับค่าจ้าง รวม 586 คน พบในกิจการอิเลคทรอนิคส์ บริการ ธุรกิจขนส่ง อาหาร และเฟอร์นิเจอร์ 

 

กรณีปัญหาที่มีการร้องเรียนมา เช่น

–  สถานประกอบการกว่า 50 % มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามที่รัฐบาลกำหนดจริง แต่กลับปรับลดสวัสดิการอื่นๆลงแทน เพื่อทำให้สถานประกอบการจ่ายเงินให้ลูกจ้างได้ในอัตราผลรวมเท่าเดิม

–  ไม่มีการปรับเพิ่มค่าจ้างขึ้นตามอายุงาน ทำให้แรงงานที่เข้ามาทำงานใหม่ได้รับค่าจ้างเกือบเท่ากับแรงงานที่ทำงานมานานนับสิบปี ซึ่งทำให้แรงงานที่ทำงานมานานหมดกำลังใจในการที่จะทำงานตามฝีมือแรงงาน เนื่องจากทำงานมานานย่อมมีฝีมือมากกว่า นอกจากนั้นแล้วยังพบว่าเมื่อแรงงานกลุ่มนี้มีการร้องเรียนกับผู้บริหารเพื่อขอปรับค่าจ้าง นายจ้างก็จะใช้วิธีการข่มขู่เรื่องการเลิกจ้างแทน ทั้งๆที่โดยข้อเท็จจริงแล้วสถานประกอบการย่อมทราบดีว่าแรงงานที่อายุการทำงานมาก เมื่อถูกเลิกจ้างมักจะหางานทำได้ยากขึ้น เพราะส่วนใหญ่เป็นแรงงานสูงอายุ

–  มีบางบริษัทที่เลือกใช้วิธีประกาศเลิกกิจการแล้วเปิดกิจการใหม่ มีการประกาศรับพนักงานแล้วเริ่มนับอายุงานใหม่ เพื่อหลีกเลี่ยงการปรับค่าจ้างแรงงานในกลุ่มแรงงานที่ทำงานมานานแล้วในอัตราที่สูงขึ้น

–  มีตัวอย่างในกิจการธุรกิจขนส่ง พบว่าแรงงานที่เป็นพนักงานขับรถส่งของ นายจ้างไม่ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้ รวมถึงยังนำเอาค่าขับรถ (ค่าเที่ยว) ในแต่ละรอบไปรวมกับเงินเดือนกลายเป็นค่าจ้างแทน ซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้วค่าขับรถที่ได้รับในแต่ละเที่ยวนั้น ไม่ใช่ค่าจ้างประจำจึงไม่สามารถนำไปรวมเป็นค่าจ้างตามกฎหมายได้ เพราะเป็นรายได้ที่ไม่แน่นอน เนื่องจากวันใดไม่มาทำงานก็จะไม่ได้รับ ดังนั้นการที่ผู้ประกอบการกระทำเช่นนี้ ยิ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุและส่งผลต่อความไม่ปลอดภัยในการทำงานเพิ่มขึ้น เพราะแรงงานจะต้องทำงานมากขึ้น ชั่วโมงการทำงานยาวนานขึ้น

–  มีตัวอย่างกลุ่มแรงงานที่อยู่ในภาคบริการ เช่น อาชีพแม่บ้านหรือยามรักษาความปลอดภัย พบว่าโดยส่วนมากสถานประกอบการจะจ้างแม่บ้านหรือยามรักษาความปลอดภัย ในลักษณะของการจ้างงานผ่านบริษัทเหมาช่วง (sub contract) ที่บริษัทมีการตกลงทำสัญญาการจ้างงานที่มีระยะเวลาแน่นอนแทน แต่เมื่อมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท บริษัทก็ยังคงใช้สัญญาจ้างเดิม ไม่ได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแต่อย่างใด

จากสถานการณ์ดังกล่าวนั้น คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ซึ่งมีจุดยืนสนับสนุนนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เพราะการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำของรายได้  เป็นประโยชน์กับแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ต่ำและมีอำนาจต่อรองน้อย จึงเห็นว่า

(1)  กระทรวงแรงงานในฐานะผู้สนองนโยบายยังละเลยในการตรวจสอบและแก้ไขปัญหา ปล่อยให้เป็นการตัดสินใจระหว่างลูกจ้างกับนายจ้างแทน พบว่าในบางสถานประกอบการ การเจรจาของลูกจ้างหรือสหภาพแรงงานเป็นไปด้วยความยากลำบาก ถูกแทรกแซงจากนายจ้างโดยตลอด มีการใช้วิธีการเจรจาแบบรายบุคคล เรียกลูกจ้างไปพูดคุยเป็นการส่วนตัว มีการบังคับข่มขู่ให้เซ็นยอมรับเงื่อนไขที่ทางบริษัทเสนอ ถ้าลูกจ้างไม่เซ็นก็จะโยกย้ายหรือพักงานแต่ไม่มีการให้ออก อย่างไรก็ตามพบว่ามีลูกจ้างหลายคนที่รับสภาพการจ้างงานแบบใหม่ไม่ได้ก็ต้องลาออกแทน 

(2)  การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำยังคงใช้กับการจ้างงานในระบบอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่กำลังแรงงานส่วนใหญ่ ยังไม่ได้เข้าสู่แรงงานในภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด ยังมีการจ้างหลายรูปแบบ ทั้งรับเหมาช่วง แรงงานนอกระบบ แรงงานเหมาค่าแรง แรงงานในภาคเกษตร เกษตรพันธสัญญา ซึ่งการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ไม่ได้ครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่ม ยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมมากขึ้น เกิดการจ้างงานแบบยืดหยุ่นมากขึ้น ดังนั้นแรงงานจึงขาดความมั่นคงในการทำงานและไม่มีหลักประกันในการรวมตัวต่อรอง โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นสัญญาจ้างเป็นแบบปีต่อปี ระยะสั้น หรือไม่มีแม้แต่สัญญาจ้าง ไม่มีความก้าวหน้าตามอายุการทำงาน ไม่มีหลักประกันใดๆ ในการถูกเลิกจ้างได้ตลอดเวลา ไม่สามารถจัดตั้งสหภาพแรงงาน หรือมีอำนาจต่อรองใดๆ 

 

ดังนั้นเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาในเรื่องดังกล่าว คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย จึงมีข้อเสนอดังนี้

(1)  กระทรวงแรงงานต้องมีมาตรการในการทำให้นโยบายการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็นสิ่งที่ควรทำให้ได้จริง เนื่องจากเป็นส่วนสำคัญของการสร้าง “เศรษฐกิจฐานกว้าง” ในประเทศ เพราะไม่มีเศรษฐกิจประเทศใดจะเติบโตได้อย่างยั่งยืนถ้าหากไม่จัดการกับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่ในประเทศไทยมีรายได้เพิ่มน้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อซึ่งถีบตัวสูงขึ้นทุกปี รวมถึงเมื่ออัตราการเพิ่มขึ้นของค่าครองชีพครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่ม ไม่ใช่เพียงเฉพาะแรงงานที่เข้าถึงนโยบายการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเท่านั้น ดังนั้นรัฐบาลจึงจำเป็นต้องมีมาตรการที่คำนึงถึงกลุ่มแรงงานที่เข้าไม่ถึงการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อแสวงหาแนวทางในการเยียวยาที่แรงงานกลุ่มดังกล่าวนี้ต้องแบกรับเช่นเดียวกัน

(2)  รัฐบาลต้องยกเลิกคณะกรรมการค่าจ้างระดับชาติและคณะอนุกรรมการค่าจ้างระดับจังหวัด เพราะเป็นอุปสรรคสำคัญของการขึ้นค่าจ้างในประเทศไทย กล่าวคือ คณะกรรมการทั้ง 2 ชุดมีการทำงานซ้ำซ้อนเพราะมีโครงสร้างแบบเดียวกัน คือ มีลักษณะไตรภาคีเหมือนกัน ประกอบด้วยตัวแทนจากสามฝ่าย คือ รัฐ นายจ้าง และลูกจ้าง ถึงแม้จะมีสัดส่วนของตัวแทนทั้งสามฝ่ายเท่ากันในกรรมการทั้งสองชุด แต่เป็นโครงสร้างที่ข้าราชการครอบงำอย่างชัดเจน เพราะคณะกรรมการได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรี และมีข้าราชการประจำเป็นประธานและเลขานุการโดยตำแหน่งทั้งสองชุด นอกจากนี้ประเด็นที่สำคัญ ก็คือ การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำยังเป็นระบบการกำหนดค่าจ้างชั้นเดียว (single tier) อำนาจการตัดสินใจยังอยู่ที่คณะกรรมการค่าจ้างระดับชาติเท่านั้น นี้ไม่นับว่าระบบการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำนี้ยิ่งไม่ได้ถูกออกแบบให้คำนึงถึงความแตกต่างของแต่ละอุตสาหกรรมตามที่ควรจะเป็น ทั้งในแง่ของสัดส่วนการใช้แรงงานและทุน ความสามารถในการแข่งขัน ความสามารถในการจ่ายและผลิตภาพของแรงงาน เพราะค่าจ้างนั้นถูกกำหนดในเชิงพื้นที่แต่ไม่ใช่อุตสาหกรรม

(3)  กระทรวงแรงงานต้องจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติขึ้นมาเพื่อพิจารณาแก้ไขสถานการณ์ปัญหาดังกล่าว โดยคำนึงถึงการมีนโยบายที่ชัดเจนเรื่อง "ค่าจ้างที่เป็นธรรม" ไม่ใช่การคำนึงถึงเพียงแค่ “ค่าจ้างขั้นต่ำ” ที่มีหลายบัญชีที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเพียงเท่านั้น ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงค่าครองชีพ และฝีมือแรงงานที่สอดคล้องกับประสิทธิภาพ ผลิตภาพ ความเสี่ยงและลักษณะงานของลูกจ้าง ค่าจ้างที่เป็นธรรมสามารถเพิ่มขึ้นได้โดยวัดจากประสบการณ์ ฝีมือและทักษะของแรงงานที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไม่ใช่เป็นเรื่องของการต่อรองระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง แต่เป็นเพราะเรื่องของเหตุผล เป็นค่าแรงพื้นฐานในการดำรงชีวิตได้อย่างปลอดภัย มีความจำเป็นจักต้องนำมิติด้านสังคมเข้ามาพิจารณาร่วมด้วย เพราะค่าจ้างขั้นต่ำมีเพื่อให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นสำคัญ

 

นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า หลังจากที่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ตามประกาศ ในสถานประกอบการในแถบย่านอุตสาหกรรมอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่มีการปรับโครงสร้างของบริษัทให้เล็กลง มีการบังคับให้แรงงานหญิงที่ท้องลาออกจากงาน ซึ่งมีการมาร้องทุกข์

สิ่งที่ต้องเสียใจ คือ มีการปิดกิจการเพียงชั่วคราวเพื่อล้อมสหภาพแรงงาน และมีการเปิดกิจการใหม่ภายใน 6 เดือน โดยอ้างการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 

การที่นายยจ้างไม่จ่ายค่าจ้างตามกฎหมายกำหนด หากมีการร้องเพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจ นายจ้างมีการเรียกคนงานเข้าพบเพื่อหาคนที่ร้องมีการเตือน และเลิกจ้าง

ปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการร้องทุกข์ร้องเรียนที่เกิดขึ้น ว่า นายจ้างไม่ปรับค่าจ้างขึ้นตามกฎหมาย เป็นเพราะกลไกของรัฐที่ไม่สามารถบังคับใช้ได้ และบทการลงโทษน้อยและหากมีคนงานร้องก็จะถูกนายจ้างจัดการด้วยวิธีการต่างๆถึงออกจากงาน ลูกจ้างไม่มีอำนาจในการต่อรองก็จะไม่ได้รับการดูแล และไม่สามารถที่จะต่อรองให้นายจ้างปฎิบัติตามกฎหมายได้ 

การปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาทเพียง 7 จังหวัด สร้างปัญหาด้านค่าครองชีพให้กับคนงานอีก 70 จังหวัดที่ปรับขึ้นค่าจ้างเพียง 39.5 % เพราะราคาสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ต่างกัน จึงคิดว่าหนึ่งปีของการทำงานของรัฐบาลในการดูแลเรื่องคุณภาพชีวิตคนงาน ถือว่า สอบตก เนื่องจากไม่เคยที่จะมีนโยบาย หรือสนใจนโยบายด้านแรงงาน นอกจาการปรับค่าจ้างที่มีการประกาศปรับขึ้นเท่านั้น

นายยงยุทธ เม่นตะเภา เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิคส์ ยานยนต์ และโลหะแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำต้องมีการปฎิบัติตามกฎหมาย และครอบคลุมถึงแรงงานข้ามชาติด้วยเช่นกัน ผลมีการละเมิดจ่ายค่าจ้างต่ำกว่ากฎหมาย เนื่องจากมีปัญหาทางภาษา จึงพักหอพัก นายจ้างก็หักเงินอีก

 

ขณะนี้นายจ้างได้มีการโหมกระแสข่าวเรืองการขาดแคลนแรงงานในขบวนการผลิตมีการขอให้มีการนำเข้าแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในหลายประเภทกิจการ ซึ่งมีการเข้าไปทำงานในรายการผลิตเช่นเดียวกับแรงงานไทย เช่น ในกิจการยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งเดิมเคยมีการตรวจอสอบแล้วเป็นการกระทำที่ผิดต่อการส่งเสริมการลงทุนของBOI ที่ห้ามใช้แรงงานข้ามชาติในประเภทกิจการโดยมีระยะเวลากำหนด หากมีการรับการสนับสนุนจาก BOI และหากมีการร้องเรียนก็จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบกิจการ ฉะนั้นอยากให้นายจ้างโปรดรักษากติกาการลงทุน อย่ากระทำผิดซ้ำซาก เพื่อหลีกเลี่ยงการจ้างงานที่ถูกต้อง และเคารพสิทธิแรงงาน สิทธิการรวมตัวเจรจาต่อรองของแรงงานด้วย

การละเมิดสิทธิของนายจ้างที่ควรมีการตรวจสอบอีก คือการที่มีการใช้นักศึกษาฝึกงานมาทำงานในรายการผลิต ซึ่งไม่ตรงกับสายงานที่นักศึกษาเรียน ซึ่งมีการนำนักศึกษามาฝึกงานในรายการผลิตนานนับปี โดยมีลักษณะเหมือนจ้างให้ทำงานประจำ มีการจ่ายค่าจ้าง มีการทำงานล่วงเวลา ซึ่งพบในหลายสถานประกอบการคิดว่ารัฐควรมีการตรวจสอบและดูแลอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้เกิดการเอาเปรียบ 

นายไชยวัฒน์ พร้อมวงศ์ กรรมการสหพันธ์แรงงานธนาคารและการเงินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในประเภทกิจการธนาคารก็มีปัญหาไม่ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายเช่นกัน ทำให้มีการย้ายงานสูงขึ้นหากอีกธนาคารให้ค่าจ้างที่สูงกว่า และการทำงานของแรงงานในกิจการธนาคารก็ทำงานหนัก เช่นกลุ่มที่ทำงานในห้างทรัพย์สินค้า ซึ่งคิดว่าทำงานหนัก คุณภาพชีวิตที่แย่กว่าแรงงานที่ทำงานให้โรงงานบางแห่งด้วย

นักสื่่อสารแรงงาน รายงาน