คสรท.แถลงปรับค่าจ้างต้องเป็นธรรม เลี้ยงในครอบครัวได้

คสรท.แถลง จุดยืน ปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องเป็นธรรม เลี้ยงคนในครอบครัวและต้องเท่ากันทั้งประเทศ ด้านบิ๊กตู่เผยกรรมการค่าจ้างเคาะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ พร้อมหามาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ 

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) และกลุ่มสหภาพแรงงานย่านต่างๆ ได้จัดการแถลงข่าวผ่านเฟซบุ๊กองค์กรต่างๆ เรื่อง ” ปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องเป็นธรรม ต้องเลี้ยงคนในครอบครัวได้” วันที่ 9 มกราคม 2561โดยนานสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และเลขาธิการสมานพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ได้อ่านแถลงผ่านเฟซบุ๊กส์สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง “ปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องเป็นธรรม ต้องเลี้ยงคนในครอบครัวได้ตามหลักการสากล และต้องเท่ากันทั้งประเทศ เพื่อร่วมกันแสดงจุดยืนในสนับสนุนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ

นายสาวิทย์ แก้วหวาน และเครือข่ายได้แถลงว่า ตามที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.)ได้พยายามผลักดันให้รัฐบาลมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ โดยได้ดำเนินการทั้งการแถลงข่าว การขับเคลื่อนมวลชน การยื่นหนังสือต่อกระทรวงแรงงานและรัฐบาล แสดงจุดยืนในการปรับค่าจ้างหลายครั้งในรอบปีที่ผ่านมาพร้อมทำแบบสำรวจสถานะการดำรงชีวิต ค่าจ้าง รายได้ หนี้สิน ของคนงานให้สังคมได้รับทราบ และภายหลังที่ได้นำเสนอเหตุผลความจำเป็นได้ถูกทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายทุนดาหน้าแสดงอาการไม่เห็นด้วย คัดค้าน และมองว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ คสรท.และ สรส.หวั่นไหว เพราะทั้งสององค์กรเป็นตัวแทนของคนงาน ทำงานและเคลื่อนไหวกับพี่น้องแรงงานในระดับฐาน ที่ได้รับผลกระทบจากรายได้ที่ไม่พอกินพอใช้ เป็นหนี้ คุณภาพชีวิตตกต่ำ ยากจนค่นแค้น จึงต้องทำหน้าที่แม้จะทำให้บางกลุ่มบางคน กลุ่มทุนบางคน และรัฐบาลไม่พอใจ ซึ่งคนเหล่านี้ก็ได้แสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่เพราะมีพื้นที่ มีช่องทางคลอบคลุม ถึงขั้นกรอกหูสังคมได้เป็นประจำอยู่แล้วโดยไม่ต้องฟังเสียงของคนงาน คนยากจน แต่เฉพาะในส่วนรัฐบาลที่มีหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาของประเทศโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับคนส่วนใหญ่ ต้องปรับทัศนคติตัวเองและเข้าใจความเป็นจริงบ้างว่า ผู้ใช้แรงงานคือคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ หากแก้ปัญหาคนส่วนใหญ่ไม่ได้จะแก้ปัญหาประเทศชาติได้อย่างไร จะแก้ปัญหาความยากจน จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร

ทำไมการปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องเลี้ยงคนครอบครัวได้

1.ปฏิญญาสากลขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนบัญญัติไว้ใน “ ข้อ 23(3)ทุกคนที่ทำงานมีสิทธิที่จะได้รับค่าตอบแทนที่ยุติธรรมและเอื้ออำนวยต่อการประกันความเป็นอยู่อันควรค่าแก่ศักดิ์ศรีของมนุษย์สำหรับตนเองและครอบครัว และหากจำเป็นก็จะได้รับการคุ้มครองทางสังคมในรูปแบบอื่นเพิ่มเติมด้วย”

2.อนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 131 บัญญัติไว้ใน “มาตรา 3 องค์ประกอบที่ต้องนำมาพิจารณาในการกำหนดระดับของค่าจ้างขั้นต่ำ ตราบเท่าที่เป็นไปได้และเหมาะสมกับแนวปฏิบัติและสภาวการณ์ภายในประเทศต้องรวมถึง
(ก)ความจำเป็นของคนงานและครอบครัวของคนงาน โดยคำนึงถึงระดับค่าจ้างทั่วไปในประเทศ ค่าครองชีพ ประโยชน์ทดแทนต่างๆจากการประกันสังคมและมาตรฐานการครองชีพโดยเปรียบเทียบกับกลุ่มสังคมอื่นๆ”

3.มติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2560 ได้ “ประกาศให้เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติร่วมขับเคลื่อนนโยบาย Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”

ดังนั้นเมื่อรัฐบาลจะพัฒนาประเทศโดยใช้หลักสิทธิมนุษยชนนำเป็นเรื่องที่ดี

“แต่ต้องทำให้จริง ทำให้ได้ อย่างเลือกทำบางเรื่อง ไม่ทำบางเรื่อง เลือกปฏิบัติสังคมไทยสังคมโลกจะประณามว่าเป็นรัฐบาลที่ไม่ดี เมื่อค่าจ้างขั้นต่ำถูกกำหนดไว้ในหลักสากลว่าต้องสามารถเลี้ยงครอบครัวได้ การปรับค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ก็จะเป็นเครื่องวัดว่า “รัฐบาลจริงจัง จริงใจ ในคำประกาศแค่ไหน”

เพราะค่าจ้างปัจจุบัน 4 ราคา คือ 300,305,308,310 บาทนั้นคนเดียวอยูได้หรือไม่ ครอบครัวอยู่ได้หรือไม่ รัฐบาล กลุ่มทุนและคนที่เห็นต่างลองตอบคำถามดู

ทำไมการปรับค่าจ้างต้องเท่ากันทั้งประเทศ

1.ผลเสียของการปรับค่าจ้างที่ต่างกัน

ประการแรก ประเทศไทยเริ่มประกาศเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2516 วันละ 12 บาท และมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละช่วงแต่ละปีเรื่อยมา จนมาถึงปี พ.ศ.2537 รัฐบาลในเวลานั้นประกาศให้ค่าจ้างลอยตัวแต่ละเขตแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัดสามารถปรับขึ้นค่าจ้างเองได้ผ่านคณะอนุกรรมการค่าจ้างประจำจังหวัดแล้วส่งมาให้คณะกรรมการค่าจ้างกลางตัดสิน ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่า เรื่องสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวกันของคนงานยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ดูจากอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 ที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการเจรจาต่อรองรัฐไทยยังไม่รับรองทั้งๆที่เป็นอนุสัญญาหลักของ ILO ในต่างจังหวัดจึงแทบจะไม่มีองค์กรหรือบุคคลที่เป็นผู้แทนของคนงานอย่างแท้จริงร่วมพิจารณาการปรับค่าจ้าง จึงทำให้ค่างจ้างเหลื่อมล้ำกันมากบางพื้นที่รอยต่อจังหวัดต่อจังหวัดค่าจ้างต่างกันแต่ต้องซื้อสินค้าในราคาเดียวกัน ความเหลื่อมล้ำความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจในการครองชีพแตกต่างกัน และที่สำคัญทำให้เกิดการอพยพแรงงานจากเขตค่าจ้างต่ำเข้าสู่เมืองใหญ่ที่มีค่าจ้างสูง ทำให้เกิดเมืองแออัดทั้งสภาพแวดล้อม วิกฤตการจราจร การเข้าไม่ถึงบริการสาธารณะ เกิดปัญหาคนจนเมือง ในขณะที่ชนบทล่มสลาย ไม่มีคนหนุ่มสาว ภาคเกษตรไม่มีคนทำงาน ที่ดินถูกยึดครอง สภาพเช่นที่กล่าวมาก่อให้เกิดปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สาธารณสุข คุณภาพของประชากร เรื่องทรัพยากร ที่ดิน ซึ่งประเทศไทยตอนนี้ถูกจัดลำดับให้เป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงเป็นลำดับต้นๆของโลก

ประการที่สอง กล่าวคือ วันนี้คนงานคนหนึ่งต้องทำงานมากกว่าวันละ ๘ ชั่วโมงตามที่กฎหมายกำหนด เหตุเพราะค่าจ้างต่ำในขณะที่สินค้าอุปโภค บริโภค ราคาสูงขึ้นอย่างมาก แม้จะอยู่ในต่างจังหวัดแต่วิถีชีวิตส่วนใหญ่ผูกพันกับร้านสะดวกซื้อซึ่งราคาสินค้าไม่แตกต่างกัน เท่ากันทั้งประเทศเสียด้วยซ้ำ และ บางรายการแพงกว่าในกรุงเทพฯด้วยซ้ำไป แค่เรื่องราคาน้ำมันเชื้อเพลิงต่างจังหวัดก็แพงกว่ากรุงเทพฯเสียอีก แต่รัฐบาลก็ไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะควบคุมราคาสินค้า หรือ กำหนดราคาสินค้าให้อยู่ในกรอบราคาเป็นเขตพื้นที่เหมือนกับค่าจ้าง ซึ่งจะมีข้ออ้างทุกครั้งว่าการปรับค่าจ้างแล้วราคาสินค้าจะขึ้นราคา แท้จริงแล้วในผลิตภัณฑ์สินค้าต่อชิ้นมีค่าจ้างแรงงานที่เป็นต้นทุนไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์

2. ผลดีหากปรับค่าจ้างให้เป็นธรรมตามหลักการสากลและเท่ากันทั้งประเทศ

ประการแรก จะทำให้แรงงานลดการอพยพคนงานจากเขตค่าจ้างต่ำเข้าสู่เขตค่าจ้างสูงเพียงแต่รัฐบาลมีนโยบายกระจายงานกระจายการลงทุนไปยังภูมิภาค บริหารจัดการเรื่องการขนส่ง ระบบลอจิสติกส์ให้คล่องตัว ดูเรื่องสภาพแวดล้อมจากโรงงานอุตสาหกรรมให้ดีไม่ให้มีผลกระทบต่อชุมชน ทำให้คนงานสามารถทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมได้และสามารถอยู่กับท้องถิ่นชนบท ออกจากโรงงานก็ยังสามารถประกอบอาชีพเกษตรกรรมเสริมได้ ที่ดินก็ไม่ถูกยึดครอง ครัวครัวไม่แตกสลาย

ประการที่สอง เมื่อปรับค่าจ้างให้คนงานมีกำลังซื้อ สินค้าที่ผลิตออกมาก็สามารถขายได้ เกิดการจ้างงาน เมื่อคนงานมีรายได้จากค่าจ้างแรงงาน สถานประกอบการมีรายได้จากการขายสินค้า รัฐบาลก็สามารถเก็บภาษีได้ทั้งบุคคล นิติบุคคล และการส่งออก รัฐก็มีรายได้มีเงินจัดสรรเป็นงบประมาณในการพัฒนาประเทศ อีกด้านหนึ่งเมื่อคนงานมีรายได้เพียงพอก็สามารถวางอนาคตตนเองและครอบครัวได้ เช่นการศึกษาบุตร ที่อยู่อาศัย เป็นต้น
ดังนั้นการปรับค่าจ้างจะมองมิติเดียวแคบๆไร้วิสัยทัศน์ไม่ได้เพราะจะทำให้การพัฒนาประเทศไร้ทิศทางไปด้วย คืออุตสาหกรรม กลุ่มทุนเติบโตร่ำรวยอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนมากขึ้น ในขณะที่ชีวิตครอบครัวคนงานยากจนลง ก็จะทำให้ประเทศชาติก้าวไม่พ้นความเหลื่อมล้ำ ก้าวไม่พ้นเรื่องความยากจน ต่อให้กี่รัฐบาล ต่อให้กี่การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ ก็ยากที่จะนำพาประเทศสู่ความก้าวหน้าอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามที่รัฐบาลประกาศไว้ได้ คณะกรรมการสามานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) จึงขอประกาศย้ำจุดยืนเดิมและแถลงให้ทราบทั่วกันโดยภาคีเครือข่ายทั่วประเทศว่า

“รัฐบาลต้องปรับค่าจ้างให้เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วนโดยค่าจ้างขั้นต่ำต้องเพียงพอต่อการเลี้ยงชีพของคนทำงานและครอบครัวได้ 3 คน ตามหลักการของปฏิญญาสากลขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) การปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องเท่ากันทั้งประเทศ ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดค่าจ้างให้แตกต่างกันเป็นระดับท้องถิ่น และรัฐบาลควรกำหนดโครงสร้างค่าจ้างเพื่ออนาคตของคนงาน พร้อมๆกับการควบคุมราคาสินค้าไม่ให้แพงเกินจริง”

ทั้งนี้ยังมีส่วนของกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก พื้นที่เวลโกร์วสัมพันธ์ ก็แถลงที่สหภาพแรงงานมิตซูบิซิ อิเลคทริคประเทศไทย ต่อมาก็กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก สมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิคส์ ยานยนต์ และโลหะแห่งประเทศไทย สหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย และกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล้เคียง กลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ และพื้นที่ต่างๆ

บิ๊กตู่เผยกรรมการค่าจ้างเคาะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ พร้อมหามาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ

นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวว่า แนวคิดการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้นขึ้นอยู่กับคณะกรรมการทั้ง 3 ฝ่าย คือนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐ ที่จะหารือกัน ตนไม่สามารถก้าวล่วงได้ ซึ่งการปรับขึ้นค่าจ้างต้องไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ โดยต้องหามาตรการอื่นๆมาดูแลช่วยเหลือ ซึ่งกระทรวงการคลังได้รับไปพิจารณาแล้ว และรัฐบาลต้องแก้ปัญหาให้เกิดความเป็นธรรมให้กับลูกจ้างด้วย คาดว่าอีกไม่นานจะมีความคืบหน้า ซึ่งเข้าใจดีว่าผู้ประกอบการต้องการผลกำไรมากที่สุด พร้อมลดต้นทุน ลดค่าใช้จ่ายแต่ภาคธุรกิจต้องไม่ลืมคนจน โดยเฉพาะผู้ใช้แรงงานให้ได้ประโยชน์ด้วย ซึ่งรัฐมีหน้าที่ในการดูแล เช่นประกันสังคม แต่ภาคเอกชนก็ต้องร่วมมือด้วย

ส่วนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงห์แก้ว กล่าวว่า คณะกรรมการค่าจ้างจะมีการประชุมเรื่องขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้นจะมีการประชุมในวันที่10 มกราคมนี้ เพื่อให้มีข้อสรุปออกมาและต้องมีการพิจารณาที่รอบด้าน ซึ่งหลักการจะมีการพิจารณาระดับจังหวัด โดยแนวโน้มการประชุมจะไปด้วยดี

ทั้งนี้ในส่วนของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ได้แถลงพร้อมทั้งยื่นหนังสือแสดงจุดยืนการปรับอัตราค่าจ้างในประเทศไทย ให้นายกรัฐมนตรี โดยเห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าจ้างแต่ไม่ควรปรับขึ้นเท่ากันทั้งประเทศ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและความจำเป็นแตกต่างกัน ดังนั้นควรมอบอำนาจให้อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนนายจ้าง ลกจ้างและผู้ว่าราชการจังหวัดร่วมกันพิจารณาตามสภาพข้อเท็จจริง และความจำเป็นของแต่ละจังหวัด เช่นสภาพเศรษฐกิจ สังคม รายได้ประชาชาติต่อคน สภาพการจ้างงาน ขนาดธุรกิจ หรืออุตสาหกรรม ซึ่งแต่ละจังหวัดแตกต่างกันมาก

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน