คสรท.แถลงคณะกรรมการค่าจ้างหยุดล็อคเลขปรับขึ้นค่าจ้าง 10 บาท

แรงงานแถลงคณะกรรมการค่าจ้างปรับค่าจ้างต้องคำนึงถึงความเป็นธรรม หยุดล็อคตัวเลขเพียง 10 บาท เพราะไม่สอดคล้องต่อสภาพเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตที่ดีของแรงงาน เผยผลสำรวจจากแรงงานหญิง 300 คนต่อประเด็นค่าจ้าง และครอบครัวพบว่าแรงงานหญิงร้อยละ 50 มีบุตรคนเดียว เพราะค่าจ้างที่ได้รับไม่เพียงพอต่อการที่จะเลี้ยงดูบุตรและครอบครัว หลายคนยังต้องเลี้ยงดูบุตรเพียงคนเดียว

วันนี้ (วันที่ 7 ธันวาคม 2553) นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) และผู้นำแรงงานจากสหพันธ์แรงงาน ร่วมกันแถลงข่าว “คัดค้านเลขล็อคค่าจ้างขั้นต่ำ ยืนยันค่าจ้างต้องเป็นธรรม”  ณ ห้องปะชุมศุภชัย ศรีสติ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย กรุงเทพฯ

นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กล่าวถึงการแถลงข่าวครั้งนี้เพื่อประกาศจุดยืนการปรับค่าจ้างของคณะกรรมการค่าจ้างต้องสอดคล้องกับความเป็นจริง และความต้องการของผู้ใช้แรงงานที่ได้มีการทำผลสำรวจจากหลายสำนักก็ยังคงเห็นด้วยกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 421 บาท ทั้งนี้คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยจึงขอยืนบนหลักการเดิมเสนอต่อคณะกรรมการค่าจ้างที่จะประชุมปรับค่าจ้างขั้นต่ำในวันที่ 9 ธันวาคม 2553 นั้น การที่จะล็อคปรับค่าจ้างเพียง 10 บาท ตอนนี้ไม่สอดคล้องต่อสภาวะเศรษฐกิจความเป็นอยู่ของผู้ใช้แรงงานในปัจจุบันแล้ว ขอให้พิจารณาเสียใหม่ให้เกิดความสอดคล้องต่อความต้องการของผู้ใช้แรงงานด้วย และต่อประเด็นของท่านนายกก็อยากให้รักษาจุดยืนที่เสนอไว้ ที่ 250 บาทต่อวัน เพราะหลักการดังกล่าวนี้แรงงานส่วนใหญ่พอรับได้ ดีกล่าวการกลับคำพูดเสนอปรับเพียง 10-11 บาท

นางสาววิไลวรรณ กล่าวอีกว่า จากการทำผลสำรวจแรงงานหญิงในโรงงาน 300 คน ในโรงงาน 3 แห่ง แถบจังหวัดสมุทรสาคร นครปฐม พบว่าการทำงานหนัก การทำงานล่วงเวลา เนื่องจากค่าจ้างต่ำ และต้องรับผิดชอบต่อครอบครัวในการส่งเงินกลับต่างจังหวัดของแรงงานหญิง ส่งผลแรงงานหญิงที่ทำงานในโรงงานอายุ 40 ปีขึ้นไปจำนวน 20%ไม่ยอมแต่งงาน มีแรงงานหญิงที่แต่งงานจำนวนเพียง 50% จะมีบุตรเพียงคนเดียว เหตุเพราะไม่สามารถที่จะดูแลบุตร และสร้างความเป็นอยู่ที่ดีต่อครอบครัวได้ และบางครอบครัวต้องแตกแยกเลี้ยงลูกเพียงคนเดียว อยากต่อการดูแลบุตรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ส่งกลับต่างจังหวัดให้พ่อแม่เลี้ยงแทน และเพียง 30% ที่มีการแต่งงานแล้วมีลูก 2 คน แต่ส่วนใหญ่ก็ส่งกลับบ้านต่างจังหวัดให้พ่อแม่เลี้ยงเช่นกัน ทำให้คุณภาพชีวิตเด็กต้องขาดความอบอุ่นจากพ่อแม่ ที่อาจเห็นหน้ากันปีละครั้งเท่านั้น เหตุผลที่มีลูกน้อยเพราะผู้ใช้แรงงานต้องทำงานหนักไม่มีเวลาที่จะสร้างครอบครัวที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้

ฉะนั้น ค่าจ้างที่มีความสำคัญต่อชีวิตของทุกคนที่จะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งอาหารที่ดี มีที่อยู่อาศัย เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่าเดินทาง ค่าการศึกษา สินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ แต่แรงงานปัจจุบันมีค่าจ้างที่สูงสุด 206 บาทต่อวัน กรุงเทพ สมุทรปราการ และค่าจ้างสุดต่ำ 151 บาทต่อวันที่จังหวัดพิจิตร และแพร่ มีความแตกต่างกันทางรายได้มากถึง 55 บาทต่อวัน ระหว่างกรุงเทพ กับต่างจังหวัด  ซึ่งเป็นประเด็นที่เหลื่อมล้ำทางการใช้ชีวิต ที่รัฐนายจ้างจองเอาเปรียบ คนทุกคนควรได้รับค่าจ้างที่เท่าเทียมกัน ไม่ใช่คนต่างจังหวัดกินน้อยกว่าคนในเมือง นางสาววิไลวรรณ กล่าว

มาตรฐานค่าจ้างในภูมิภาคเอเชีย ความสำคัญในการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ นัยยะสำคัญในการกำหนดค่าตอบแทนเพื่อยังชีพ เมื่อปี ค.ศ. 1944 ในแถลงการณ์ฟิลาเดเฟียซึ่งมีนโยบายเรื่องข้อเรียกร้องเกี่ยวกับแรงงานที่ได้กล่าวถึง “ค่าแรงขั้นต่ำเพื่อการยังชีพ” เป้าหมายคือการนิยามความหมาย เพื่อบรรลุถึงระดับค่าแรงที่เพียงพอในการเลี้ยงชีพของคนงาน และส่วนแบ่งที่เป็นธรรมเมื่อเทียบกับมูลค่าที่พวกเขาผลิตได้ เพื่อสร้างมาตรฐานเรียกค่าจ้างที่เพียงพอต่อการยังชีพ ซึ่งอยู่บนพื้นฐานรายได้ที่ต้องการสำหรับคนงานหนึ่งคนเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวที่มีสมาชิกไม่เกิน 4 คน (ผู้ใหญ่ 2 คน และเด็ก 2 คน) โดยใช้เวลาทำงาน 48 ชั้วโมงต่อสัปดาห์

ส่วนนางสุจิน รุ่งสว่าง ผู้ประสานงานศูนย์แรงงานนอกระบบ กทม.ได้แสดงความเห็นต่อมุมมองรัฐในการพยายามลดความเหลื่อมล่ำว่าในส่วนของแรงงานนอกระบบที่มีจำนวน 24 ล้านคนประกอบด้วยผู้ประกอบอาชีพอิสระ ค้าขาย รับงานไปทำที่บ้าน คนขับรถแท็กซี่ มอเตอร์ไซด์รับจ้างเกษตรพันธสัญญา ฯลฯ ท่าทีที่รัฐบาลพูดถึงการสร้างหลักประกันทางสังคม ทั้งรายได้ และระบบประกันสังคม นั้นตนเห็นด้วย แต่หลักการไม่ควรต่างจากแรงงานในระบบ การประกันสังคมที่จะขยายในส่วนของมาตรา 40 เพื่อให้เกิดความคุ้มครองตามความต้องการของแรงงานคือต้องขยายสิทธิประโยชน์ 5 กรณี คือ เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย และชราภาพจากเดิมมีเพียง 3 กรณี คือ ทุพพลภาพ คลอดบุตร เสียชีวิตรัฐควรส่งเงินสมทบในส่วนของรัฐด้วย เพราะปัจจุบันเหมือนว่าจะให้แรงงานนอกระบบเป็นผู้ซื้อประกันจากรัฐ โดยจ่ายน้อยสิทธิประโยชน์ก็น้อยไปด้วย ซึ่งไม่เป็นธรรม และไม่เท่าเทียมกับแรงงานในระบบ ทำให้ไม่สามารถลดความเหลื่อมล่ำได้

ส่วนกรณีการส่งเงินสมทบนั้นก็ต้องสอดคล้องกับรายได้ จึงสนับสนุนให้รัฐปรับค่าจ้างอย่างเป็นธรรมตามข้อเสนอของขบวนการแรงงาน เพื่อให้ค่าจ้างส่วนของแรงงานนอกระบบได้ถูกปรับขึ้นด้วยเช่นกัน

นักสื่อสารแรงงาน โครงการการพัฒนาสื่อฯ รายงาน