คสรท.แจงเหตุต้านร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ลิดรอนสิทธิว่างงาน

20150129_100937

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) พบคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หลังยื่นหนังสือค้านการตัดสิทธิผู้ประกันตนกรณีลาออกจากงาน ภายหลังจากเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2558 ที่คสรท. ได้เข้ายื่นจดหมายต่อศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ณ บริเวณหน้าอาคารรัฐสภา เพื่อคัดค้านกฎหมายประกันสังคมที่ตัดสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน เนื่องจากลาออกจากงานที่ผู้ประกันตนต้องได้รับสิทธิว่างงานร้อยละ 30 เป็นเวลา 90 วัน ด้วยเป็นการลิดรอนสิทธิผู้ประกันตน

เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2558 เวลา 10.00-13.30 น. ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ หมายเลข 306 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 2 ตัวแทนจากคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) จำนวน 6 คน นำโดยนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ประธาน คสรท. ร่วมด้วยนางสาวธนพร วิจันทร์ เลขาธิการ คสรท. นายสมพร ขวัญเนตร รองเลขาธิการ คสรท. นายทวีป กาญจนวงศ์ ประธานมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย นายอุดมศักดิ์ บุพนิมิตร ประธานสภาองค์การลูกจ้างองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย และนายแสนนุคม ยัคลา ประธานสหพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิคส์แห่งประเทศไทย

ได้เข้าประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อนำเสนอหลักการและเหตุผลกรณีที่ คสรท. คัดค้านไม่ให้มีการแก้ไขนิยาม “ว่างงาน” ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 และความจำเป็นที่ผู้ใช้แรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติควรได้รับเงินบำเหน็จคืน โดยไม่ต้องรออายุครบ 55 ปี

P1290533

นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคสรท.กล่าวว่า การลาออกจากงานของผู้ประกันตนในประเทศไทยนั้น เป็นการลาออกด้วยปัญหาการถูกกลั่นแกล้ง หรือการโยกย้ายฐานการผลิตของนายจ้างที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต การเดินทาง ครอบครัวทำให้คนงานซึ่งเป็นผู้ประกันตนต้องลาออกจากกงาน หรือเข้าโครงการสมัครใจลาออกแทนการถูกนายจ้างเลิกจ้าง โดยนายจ้างอาจจ่ายเงินพิเศษให้บ้าง หรือการพิพาทแรงงานระหว่างสหภาพแรงงานกับนายจ้าง การไม่ยอมรับอำนาจต่อรองของลูกจ้างของนายจ้าง มีการไกล่เกลี่ยให้มีการยอมความ แก้ปัญหาด้วยการให้ลาออก พร้อมเงินค่าชดเชยพิเศษแทนการเลิกจ้างเพื่อนำความไปฟ้องร้องกันในศาล การตัดสิทธิกรณีว่างงานเนื่องจากการลาออกทำให้คนงานที่ต้องจำใจลาออกจากงานด้วยเหตุผลต่างๆต้องเสียสิทธิในฐานะผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบเพื่อให้ได้รับสิทธิประกันว่างงาน ในฐานะผู้ประกันตนจึงรับการตัดสิทธินี้ไม่ได้ จึงของคสรท.ก็ต้องคัดค้านเมื่อร่างดังกล่าวส่งผลกระทบกับผู้ประกัน ในฐานะคณะกรรมาธิการฯผู้มีอำนาจในการร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ต้องพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมโดยไม่จำกัดสิทธิ กรณีว่างงานของผู้ประกันตน

ภายหลังการนำเสนอเสร็จสิ้นแล้ว พลเอกสิงห์ศึก สิงห์ไพร ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคมฯ กล่าวว่า “เห็นใจและเข้าใจในสิ่งที่ผู้ใช้แรงงานนำเสนอมา และจะพยายามหาช่องทางในการปรับแก้ไขในเรื่องดังกล่าวนี้ โดยจะหารือกับคณะกรรมาธิการสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ วิป สนช. รวมถึงในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558 ทางคณะกรรมาธิการฯจะมีการประชุมเพื่อทบทวนร่างกฎหมายและรับฟังความคิดเห็นของคณะกรรมาธิการคนอื่นๆอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งคาดว่าจะมีการหารือในเรื่องนี้อย่างละเอียดต่อไป

นางสาวบุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ นักวิชาการอิสระด้านแรงงาน ให้ความเห็นเพิ่มเติมในเรื่องนี้ว่า “สำนักงานประกันสังคม มีความพยายามมาตั้งแต่สมัยที่นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ พรรคเพื่อไทย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ช่วงปี 2556 ในการปรับปรุงนิยามคำว่า “ว่างงาน” เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์ทดแทนเฉพาะกรณีถูกเลิกจ้างเท่านั้น พบว่า ร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่เข้าสภาผู้แทนราษฎรสมัยยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งสภาฯรับหลักการเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2556 ได้มีการแก้ไขบทนิยามคำว่า “ว่างงาน” ให้จำกัดเฉพาะกรณีถูกเลิกจ้างเท่านั้น

ต่อมาในวันที่ 1 เมษายน 2556 ทางคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. … ในสมัยนั้น ได้มีมติให้แก้ไขมาตรา 5 นิยามว่างงานให้กลับไปใช้นิยามเดิม ที่หมายถึง “การที่ผู้ประกันตนต้องหยุดงาน เนื่องจากนิติสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานสิ้นสุดลง” เท่านั้น โดยให้ตัดคำว่า “เพราะเหตุลูกจ้างถูกเลิกจ้างออกไป

ดังนั้นจึงเห็นว่าโดยอำนาจของคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมาย สามารถกระทำได้อยู่แล้วโดยชอบธรรม เหมือนกับการแก้ไขมาตราอื่นๆที่พบว่าคณะกรรมาธิการก็ได้มีการแก้ไขในหลายมาตราจากร่างที่รับหลักการในวาระ 1

ตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ ในร่างรัฐมนตรีระบุว่า การจ่ายเงินสมทบของรัฐบาลเข้ากองทุนสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 40 ให้จ่ายไม่เกินกึ่งหนึ่งของเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันตน แต่ในชั้นกรรมาธิการได้ขอแก้ไขใหม่เป็นว่า การจ่ายเงินสมทบของรัฐบาลเข้ากองทุนสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 40 ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันตน เป็นต้น”

เหล่านี้คือสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งทางผู้ใช้แรงงานก็คงต้องเฝ้าจับตาดูต่อไปว่าผลการประชุมของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคมในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558 ที่จะถึงนั้น จะยังคง “เห็นหัวผู้ใช้แรงงาน” หรือไม่ หรือจะ “หลงลืมการมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตตนเองของแรงงาน ทั้งๆที่เป็นเจ้าของเงินตัวจริง”

/////////