คสรท.เสนอบรรจุประเด็นแรงงาน ในรธน.

1455523404778

สมานฉันท์ ยื่นข้อเสนอ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (รธน.) ให้บรรจุ 5 ประเด็นด้านสิทธิแรงงาน

วันที่15 กุมภาพันธ์ 2559 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และแรงงานหลายองค์กรนำโดย นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคสรท. เป็นผู้แทนในการเข้ายื่นหนังสือต่อนายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเสนอประเด็นแรงงานให้บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ที่รัฐสภาสภาผู้แทนราษฎร โดยมี รศ. ธิติพันธ์ุ เชื้อบุญชัย ประธานอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็น เป็นผู้มารับหนังสือแทน ซึ่งหนังสือมีใจความดังนี้

ด้วยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ในฐานะองค์กรแรงงาน ซึ่งประกอบด้วย แรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ แรงงานภาครัฐวิสาหกิจ องค์กรพัฒนาเอกชน ได้มีการขับเคลื่อนประเด็นปัญหาเชิงนโยบายเพื่อเข้าถึงความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำคุณภาพชีวิตแรงงานมาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากแรงงานคือผู้สร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศเจริญเติบโตมาโดยตลอด แต่คุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานยังมีความเป็นอยู่ที่ไม่ดีขึ้นในหลายๆเรื่อง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการบัญญัติเนื้อหาสาระสำคัญไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งในร่างรัฐธรรมนูญฉบับเผยแพร่วันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๙ ยังไม่มีการระบุไว้ รายละเอียดดังต่อไปนี้

๑. สิทธิและเสรีภาพของบุคคล เรื่องพลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งขอให้มีการเพิ่มเติมถ้อยคำต่อท้าย “กรณีผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนเข้าชื่อเสนอกฎหมายตามหมวด 3 หรือหมวด 6 ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย” ดังนี้

องค์กรของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำและตรวจพิจารณาร่างกฎหมายมีหน้าที่สนับสนุนการจัดทำและเสนอร่างกฎหมายของพลเมือง ตามที่กฎหมายบัญญัติ

ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตามวรรคหนึ่ง สภาผู้แทนราษฎรต้องให้ผู้แทนของผู้ที่เข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายนั้น ชี้แจงหลักการของกฎหมาย และคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวจะต้องประกอบด้วยผู้แทนของผู้ที่เข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายนั้นจำนวนไม่น้อยกว่า หนึ่งในสามของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมดด้วย

1455523444903

๒. แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ เรื่องการส่งเสริมประชากรวัยทำงาน

ขอให้มีการเพิ่มเติมถ้อยคำ ดังนี้

รัฐต้องส่งเสริมให้ประชากรวัยทำงานและแรงงานสูงวัยมีงานทำที่เหมาะสม คุ้มครองแรงงานเด็ก สตรี ผู้พิการหรือทุพพลภาพ แรงงานซึ่งเป็นผู้ป่วยด้วยโรคต่างๆและแรงงานที่มีปัญหาอื่นทำนองเดียวกัน จัดระบบแรงงานสัมพันธ์ การประกันสังคม รวมทั้งต้องให้ผู้ทำงานได้รับค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์ และสวัสดิการที่เป็นธรรม โดยไม่เลือกปฏิบัติ

๓. การปฏิรูปด้านแรงงาน ขอให้มีการเพิ่มเติมถ้อยคำ ดังนี้

ให้มีการปฏิรูปด้านแรงงานตามแนวทางดังต่อไปนี้

(๑) ตรากฏหมายและกำหนดกลไกเพื่อรองรับเสรีภาพของผู้ใช้แรงงานในการสมาคม การรวมตัวกัน และการร่วมเจรจาต่อรอง ให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ โดยให้สัตยาบันอนุสัญญา ฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98

(๒) สนับสนุนการจัดตั้งธนาคารแรงงานเพื่อเป็นกองทุนการเงินของผู้ใช้แรงงานในการส่งเสริมการออมและพัฒนาตนเอง อันจะนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

(๓) สิทธิได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม มีหลักประกันความปลอดภัย อาชีอนามัย สวัสดิภาพและสวัสดิการในการหาทำงานตรากฏหมาย และกำหนดกลไกเพื่อรองรับเสรีภาพของผู้ใช้แรงงาน

๔. การปฎิรูปด้านสังคม ขอให้มีการเพิ่มเติมถ้อยคำ ดังนี้

ให้มีการปฎิรูปด้านสังคม ตามแนวทางต่อไปนี้ ปฏิรูประบบสวัสดิการ ทั้งด้านการให้บริการสังคม การประกันสังคมทุกกลุ่มวัย การช่วยเหลือทางสังคม และการสนับสนุนหุ้นส่วนทางสังคม ที่มีความครอบคลุม เพียงพอ ยั่งยืน มีคุณภาพ เข้าถึงได้ และมีส่วนร่วมจากภาคต่างๆ โดยเน้นครอบครัวและชุมชนเป็นพื้นฐาน สร้างระบบส่งเสริมความเข้มแข็งภาคประชาสังคมและผู้มีจิตอาสาในการดำเนินการดังกล่าว พัฒนา ระบบการดูแลช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องให้กับผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ หรือทุพพลภาพและคนชายขอบ รวมทั้งอารยสถาปัตย์ระบบที่อยู่อาศัยที่ เพื่อขจัดความเสื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมและการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน

๕. ที่มาของวุฒิสภา ขอให้มีการเพิ่มเติมถ้อยคำ ดังนี้

วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวนไม่เกินสองร้อยคน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งทางอ้อมจากบุคคลดังต่อไปนี้

(๑) ผู้แทนองค์กรวิชาชีพหรืออาชีพทีมีกฎหมายจัดตั้งซึ่งเลือกกันเอง จำนวนไม่เกินสิบคน

(๒) ผู้ซึ่งมาจากการเลือกตั้งกันเองขององค์กรด้านเกษตรกรรม ด้านแรงงาน ด้านวิชาการ ด้านชุมชนและท้องถิ่น และองค์กรด้านอื่น ด้านละไม่เกินสิบคน

(๓) ผู้ทรงคุณวุฒิและคุณธรรมในแต่ละด้านดังต่อไปนี้ ซึ่งผ่านการเลือกตั้งโดยทางตรงและทางอ้อมตามวรรค ๒ ด้านละไม่เกินสิบคน

ข้อเสนอดังที่กล่าวมาข้างต้นนี้ มีความจำเป็นต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้ใช้แรงงานทั้งหมด คสรท. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านจะพิจารณาประเด็นตามรายละเอียดดังกล่าวของผู้ใช้แรงงานให้บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงานในอนาคต