คสรท.เปิดปัญหาคดีความแรงงานพบข้อจำกัดกระบวนการยุติธรรม

คสรท.เปิดตัวเลขปัญหาแรงงานขึ้นศาลเพียบ พบปัญหาเลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย ละเมิดสิทธิ เลือกปฏิบัติ เสียงสะท้อนจากผู้ได้รับผลกระทบเรื่องถึงศาลยังไกล่เกลี่ยไม่เลิก
วันที่ 12 ธันวาคม 2560 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ร่วมกับSolidarity Center Thailand (SC) โดยฝ่ายกฎหมายคสรท. ได้จัดงานสัมมนา “สถานการณ์การเลิกจ้างคนงานกับข้อจำกัดของกระบวนการยุติธรรมที่ยังรอการปฏิรูป : แถลงผลงานฝ่ายกฎหมาย คสรท.กับการช่วยเหลือคนงานให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม” ที่โรงแรมบางกอกพาเลส มักกะสัน กรุงเทพฯ

นาย สาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคสรท. กล่าวว่า การเกิดขึ้นของทีมทนายความของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยนั้น ก็ด้วยสภาพปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานทางด้านกฎหมายด้านการจ้างงาน สิทธิการรวมตัว เจรจาต่อรอง และรูปแบบการจ้างงานที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งคสรท.ได้เห็นข้อจำกัด สภาพปัยหาทางด้านกฎหมายของผู้ใช้แรงงาน จึงทำให้แรงงานถูกระทำที่ไม่เป็ยธรรมด้านสิทธิแรงงาน การก่อตัอวของฝ่ายกฎหมายคสรท.ก็เพื่อการให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายกับสมาชิกคสรท.และขยายไปยังผู้ใช้แรงงานที่ต้องการความช่วยเหลือเมื่อถูกละเมิดสิทธิ ซึี่งการดำเนินคดีนั้นสามารถทำได้ในฐานะปัจเจกบุคคล ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ในการต่อสู้เชิงคดี ซึ่งกฎหมายที่มีส่วนใหญ่นั้นไม่ได้สร้างความเป็นธรรม ไม่ใช่มีไว้เพื่อคุ้มครองแต่เป็นการมีไว้เพื่อควบคลุมมากกว่า

“ด้วยคสรท.เป็นเครือข่ายแรงงานที่เป็นการรวมตัว เพื่อขับเคลื่อนทางสังคม เพื่อการแก้ไขปัญหาเชิงนโยบาย และการแก้ไขกฎหมายให้เป็นธรรม ซึ่งการแก้ไขด้วยการดำเนินการทางคดีนั้น การตั้งทีมทนายขึ้นมา โดยเป็นทีมทนายอาสา ซึ่งทุกคนยังทำงานอยู่ในสถานประกอบการ โรงงาน และการเข้ามาช่วยเหลือด้านคดีความมาทำงานให้ทั้งที่คสรท.ไม่มีเงินเดือนจ่ายให้ เนื่องจากรายได้คสรท.มาจากการเก้บค่าบำรุงสมาชิก จึงมีมีเพียงค่าเดินทางให้เท่านั้นที่จ่ายให้กับทนายความเมื่อต้องไปดำเนินการทางคดีให้กับผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิด้านแรงงาน” นายสาวิทย์กล่าว

ต่อมาทีมกฎหมายประกอบด้วยทนาย ผู้นำแรงงาน และผู้ได้รับผลกระทบ ได้เสวนา เรื่อง “การช่วยเหลือคนงานให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม”

ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย  กล่าวว่า จิตอาสากับงานช่วยเหลือทางคดีแรงงานนั้น วันนี้กฎหมายกำหนดว่า ประชาชนต้องรู้กฎหมายแต่ ว่าคนงานส่วนใหญ่จะไม่รู้เรื่องกฎหมาย และจะเปิดดูกฎหมายต่อเมื่อมีปัญหา และประเด็นปัญหาการไม่มีคนให้คำปรึกษาทางกฎหมายแรงงาน ด้วยปัญหาของแรงงานที่เข้าไม่ถึงสิทธิทางกฎหมายนั้นมาจากสายป่านสั้นในการต่อสู้คดี เมื่อต้องถูกกระทำซ้ำเติมด้วยวิธีการต่างๆด้วยความไม่รู้กฎหมาย ขาดคนให้คำปรึกษาทำให้ไปไม่ถึงกระบวนการยุติธรรมทางด้านกฎหมาย การอำนวยความสะดวกด้านการดำเนินคดีนั้นยังไม่สามารถทำให้เกิดกระบวนการยุติธรรมได้ด้วยข้อจำกัด เวลาที่จะเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ซึ่งการต่อสู้คดีความของผู้ใช้แรงงานนั้น มีผลกระทบมากมายทั้งเวลา การเงิน และครอบครัว มีทั้งคดีแพ่ง คดีอาญา ทีมทนายได้ทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษา และดำเนินคดีช่วยเหลือในการว่าคดีความให้ ซึ่งทีมทนายคสรท.ยังคงทำงานในโรงงานอยู่ และการรับว่าความคดีขณะนี้มีทั้งคดีทางแพ่ง คดีอาญา ที่เพิ่มมาใหม่คือเรื่องการสื่อสารทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ตอนนี้ใครก็สื่อสารได้ แต่ปัญหาคือการสื่อสารแบบไม่ระมัดระวัง คิดว่าคุยในกลุ่มเพื่อนคงไม่เป็นไร และตอนนี้ต้องถูกดำเนินคดี เป็นต้น จึงอยากให้ระมัดระวังในการสื่อสารผ่านสื่อฌซเซียลมีเดียกันด้วย

การจัดงานครั้งนี้ก็ต้องการที่จะสะท้อนปัญหาเพื่อการปฏิรูปกระบวนการความยุติธรรมให้กับผู้ใช้แรงงาน การเข้าสู่ระบบการดำเนินคดีไปสู่ศาลนั้น ก็เพื่อให้ศาลใช้ดุลยพินิจที่เป็นธรรมในการเรียกพยานหลักฐานต่างๆ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับความยุติธรรม หากศาลไม่ยอมใช้ดุลยพินิจนำคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อพิจารณาคดี ปัญหาคือ การร้องขอหลักฐานของลูกจ้างจะกระทำได้อย่างไร เมื่อเอกสารหลักฐานอยู่ในมือนายจ้าง ซึ่งต้องอาศัยอำนาจศาล แต่ศาลยังใช้แนวทางการไกล่เกลี่ยแบบเดียวกับที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้กับนายจ้างและลูกจ้าง การที่ศาลใช้กระบวนการไกล่เกลี่ยอีกหลายครั้งหากลูกจ้างไม่ตกลงยอมรับข้อเสนอจากนายจ้างที่พร้อมหอบเงินมาวางที่ศาลเพื่อจ่ายให้ลูกจ้าง ถือเป็นการดึงเวลาออกไป หรือยืดคดีความมีระยะเวลาที่ยาวนานออกไป ด้วยรู้ว่าสายป่านของลูกจ้างนั้นสั้น การไกล่เกลี่ยที่ศาลโดยที่นายจ้างยอมทุ่มเงินจำนวนมากให้กับลูกจ้าง ทำให้ไม่เกิดการตัดสินคดีความเพื่อเป็นบรรทัดฐานด้านความเป็นธรรมหรือไม่ ซึ่งอันนี้ตนก็คิดว่าเป็นไปได้ด้วยท่านผู้พิพากษาศาลแรงงานนั้นมาจากศาลยุติธรรมอื่นๆ ที่ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายแรงงาน ซึ่งเห็นว่าศาลแรงงานควรเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน กฎหมายแรงงานด้วยหรือไม่ ด้วยคดีแรงงานเป็นคดีเฉพาะทาง โดยมองว่า การที่แรงงานเข้าไม่ถึงความยุติธรรม คือความไม่เป็นธรรม เป็นความอยุติธรรมต่อแรงงาน การที่ยืดคดีความออกไปด้วยการไกล่เกลี่ยในกระบวนการทางศาลถือเป็นปัญหามากสำหรับการเข้าถึงความยุตธรรมด้านแรงงานจริงๆ

ทนายณัฐวัตร หวังสุดดี กล่าวถึงบทบาทของทนายความในคดีแรงงานว่า ตอนนี้ยังทำงานในโรงงานอยู่ ยังต้องทำหน้าที่เป็นลูกจ้างทำงานให้กับนายจ้าง และการทำงานอีกบทบาทคือการเป็นทนายความที่ว่าความให้กับผู้ใช้แรงงานที่ต้องการเข้าถึงความยุติธรรม ตอนนี้ก็มีการว่าคดีความหลายคดี ทั้งหมิ่นประมาท คดีอาญาโดยได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ประกันตัว ซึ่งได้รับค่าเดินทางไปทำคดีครั้งละ 500 บาทไม่ว่าจะใกล้ไกลก็เท่านั้น แต่ว่ามีความสุขมากในการได้ช่วยเหลือพี่น้องแรงงาน การว่าความคดีแรงงานหากไม่มีทนายการตั้งประเด็นนั้น ค้อนข้างยากมากขนาดตนเองเป็นทนายเวลาเดินเรื่องยังมีปัญหาด้านเอกสารความพร้อมวิธีการต่างๆค้อนข้างมาก อย่างบอกว่ามีนิติกรศาลในการให้ความช่วยเหลือแต่จริงๆแล้วต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและรู้กฎหมายด้วย มีการไกล่เกลี่ยกันระหว่างลูกจ้าง กับนายจ้างในกระบวนการศาล ตัวอย่างการร้องคร.7 (คำร้องคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์) กรณีเช่นนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง ไม่จ่ายค่าชดเชย ด้วยอ้างว่าลูกจ้างไปทำงานต่างแผนกโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งระหว่างการไกล่เกลี่ยนายจ้างเตรียมเงินค่าชดเชยมาให้เรียบร้อยโดยที่การไกล่เกลี่ยไม่มีมิติอื่นเลย คือให้รับเงินเท่านั้น เช่นการมีข้อขัดแย้งอื่นๆไม่มีการกล่าวถึง การที่ไม่ทนายความทำให้การเข้าถึงสิทธิกฎหมายไปไม่ถึง อุปสรรค์ก็มาจากกระบวนการขั้นตอนที่ซ้อนทับกัน การดึงเวลาในการใช้กระบวนการไกล่เกลี่ยในศาล ที่ไม่ใช่การตัดสินคดี

นายสัพพัญญู นามไธสง ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่กล่าวว่า ในฐานะคนที่ผ่านการอบรมด้านกฎหมายเพื่อการเป็นอาสาสมัครด้านกฎหมายแรงงาน โดยบทบาทหน้าที่รับเรื่องราวร้องทุกข์ ให้คำปรึกษาและเขียนคำร้องพาลูกจ้างไปร้องต่อศาลแรงงาน ซึ่งประเด็นที่มาร้องเรียนที่พบมากคือปัญหานายจ้างไม่มีไม่หนีไม่จ่าย ทั้งค่าจ้างค้างจ่าย ไม่จ่ายค่าชดเชยหลังการเลิกจ้าง ด้วยความไม่สหภาพแรงงาน และความไม่รู้กฎหมายแรงงานทำให้ปัญหาการเข้าถึงความเป็นธรรมกับผู้ใช้แรงงานยากมากขึ้น “เพราะนายจ้างบอกคำเดียวว่า อยากได้เงินให้ไปฟ้องศาลเอาเอง” เมื่อหลังจากผ่านการอบรมมา ก็ทำหน้าที่ช่วยเขียนคำร้องเพื่อฟ้องร้องให้กับลูกจ้างตามที่นายจ้างท้าทายมา แต่การที่ไม่มีประสบการณ์ในการดำเนินคดี การไปพึ่งนิติกรของศาลในการดำเนินคดี โดยไม่ใช้ทนายแรงงานนั้นยิ่งยากมาก ขนาดคิดว่ามีความพร้อมเตรียมเอกสารไปครบ มีการเซ็นสำเนาถูกต้องตรวจสอบหลายครั้ง มองว่าสมบูรณ์จึงไปยื่นเพื่อฟ้องศาล แต่ก็ยังต้องกลับมาแก้ไข เช่นเซ็นสำเนาถูกต้องไม่ถูกที่ทำให้แก้ไขกลับไปกลับมาและใช้เวลามากทีเดียว หากเป็นการดำเนินการด้วยลูกจ้างเองคิดว่าคงไม่เดินหน้าต่อแน่ ทำให้ความรู้สึกว่าการเข้าถึงความยุติธรรมนั้นยากและเสียเวลามาก ฉะนั้นการมีทนายความในการจัดการให้จึงมีความจำเป็นมาก
นายอมรเดช ศรีเมือง อดีตลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากความไม่เป็นธรรมกล่าวว่า การที่เรานั้นเป็นผู้ได้รับผลกระทบ การเดินไปขึ้นศาลครั้งแรกก็ออกอาการสั่น เก็ง การเข้าไปพึ่งศาลก็ไกล่เกลี่ย ซึ่งด้วยมีการฟ้องร้องกันหลายคดี และถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายจากนิคมอุตสาหกรรม เป็นครั้งแรกที่เข้าศาลโดนทั้งหมด 3 คดี การเป็นคดีความเป็นเรื่องใหญ่สำหรับผู้ใช้แรงงานมาก สำหรับลูกจ้างนั้นกระทบครอบครัวเพราะเราเป็นหัวหน้าครอบครัว ซึ่งตนนั้นโดนคดีทั้งสามี ภรรยา ตกงานพร้อมกันกระทบครอบครัวลูก บรรยากาศการฟ้องร้องมาจากประเด็นเลิกจ้างกว่า 300 คน ลูกจ้างมีการรับเงินที่นายจ้างจ่ายให้บ้าง ด้วยไม่เข้าใจเรื่องกระบวนการยุติธรรม จนมีอยู่ 20 กว่าคนที่ไม่ยอมรับการเลิกจ้างของนายจ้าง แต่ปัญหาคือศาลแรงงานไม่ยอมนำสืบในศาล ใช้เพียงระบบไกล่เกลี่ยอย่างเดียวให้รับเงิน ซึ่งทนายความฝ่ายนายจ้างเองก็ถามศาลเช่นกันว่า ทำไมไม่นำสืบพยานหลักฐาน ศาลไม่ยอมดูเอกสารหลักฐาน และใช้การไกล่เกลี่ยบอกว่า นายจ้างไม่รับกลับเข้าทำงานแน่นอน ไกล่เกลี่ยให้รับเงินร้อยละ 60 จ่ายตามอายุงานรับหรือไม่ หากไม่รับก็ให้ไปปรึกษากันก่อนใช้การไกล่เกลี่ยอยู่อย่างนี้ ศาลไม่นำสืบคดีเลยจะรู้สึกว่าเป็นการบีบทุกครั้งที่ไปศาล ซึ่งแม้จะมีทนายความไปด้วยเพื่อช่วยเรื่องกฎหมาย แต่ศาลก็ถูกไล่ทนายความออกนอกห้องไกล่เกลี่ยทุกครั้ง ซึ่งก็ไม่เข้าใจว่าทำไมศาลจึงไม่ยอมนำคดีขึ้นสู่การพิจารณาในชั้นศาล ในที่สุดหลายคนก็ต้องรับข้อเสนอด้วยความรู้สึกบีบคั้น รับการไกล่เกลี่ยทั้งน้ำตา ไม่ได้ต่อสู้อย่างเต็มที่ทางกฎหมาย

ทั้งนี้ยังมีผู้ประสบปัญหาด้านคดีด้านแรงงานอีก 2 คน ที่มาเล่าถึงประสบการณ์ ว่านายจ้างได้มีการโอนย้ายกิจการมาหลายครั้ง วันหนึ่งมีคดีความมาถึงบ้าน และกำลังจะตัดสินในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 เรื่องการมาทำงานสาย ซึ่งนายจ้างนับแบบสะสมเป็นนาที โดยมีกรรมการสหภาพแรงงานทั้งหมด 5 คน มาสายราว 2-3 นาที โดยนายจ้างให้เข้าทำงานแต่ไม่มอบหมายงานให้ทำทั้งหมด 52 คน ซึ่งให้เข้าอบรมตามที่บริษัทจะกำหนด ตอนนี้มีหลายคดีที่ได้เข้าไปปรึกษาทนายความของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

ส่วนอีกราย เป็นเรื่องการวินิจฉัยของกองทุนประกันสังคม กรณีทุพพลภาพ ซึ่งมีปัญหาจากการประสบอุบัติเหตุมาหลายปี โดยแพทย์วินิจฉัยว่าทุพพลภาพถาวร แต่ว่ากองทุนยังไม่ได้วินิจฉัยเพื่อให้สิทธิ จึงได้ร้องมาที่ทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ซึ่งทางคสรท.ได้ส่งทีมทนายความช่วยดำเนินเรื่องให้ได้รับสิทธิย้อนหลังให้อีกด้วย

นายชาลี ลอยสูง รองประธานคสรท. ได้แถลง “สถานการณ์การเลิกจ้างคนงานกับข้อจำกัดของกระบวนการยุติธรรมที่ยังรอการปฏิรูป” ว่า นับเป็นเวลา 4 ปีกว่าที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานฝ่ายกฎหมายขึ้นมาอย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2556 พบว่าระหว่างปี 2558-2560 ฝ่ายกฎหมาย คสรท. ได้มีการช่วยเหลือดำเนินคดีความทางกฎหมายให้ลูกจ้างทั้งสิ้น 647 คน รวม 70 กรณี ทั้งที่เป็นสมาชิก คสรท.และไม่ได้เป็นสมาชิก ในคดีแรงงาน คดีอาญา คดีแพ่ง และคดีปกครอง (ปี 2556-57 มีทนายเพียงคนเดียวในการดำเนินการจึงไม่มีการบันทึกจำนวนคดีอย่างละเอียด)

โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากองค์กรสมาชิกใน คสรท.โดยตรงจำนวน 240,550 บาท หรือเฉลี่ยคดีละ 3,436.50 บาท จากปกติอัตราค่าจ้างทนายอย่างน้อย 15,000 บาท/คดี

จำแนกเป็น

  • ปี 2558 จำนวนลูกจ้างที่มาขอรับความช่วยเหลือ 10 กรณี รวมสำนวนคดี 285 สำนวน
  1. เลิกจ้างและไม่จ่ายค่าชดเชย 5 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 7 คน
  2. เลิกจ้างไม่เป็นธรรม 3 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 276 คน
  3. ถูกลงโทษทางวินัยไม่เป็นธรรม 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน
  4. ฟ้องดำเนินคดีอาญาลูกจ้างกรณีลักน้ำมัน 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน
  • ปี 2559 จำนวนลูกจ้างที่มาขอรับความช่วยเหลือ 10 กรณี รวมสำนวนคดี 125 สำนวน
  1. นายจ้างเลือกปฏิบัติต่อลูกจ้าง กระทำผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 14/1 เรื่องข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 96 คน
  2. เลิกจ้างไม่เป็นธรรม 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 19 คน
  3. เลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยและค่าอื่นๆที่เกี่ยวข้อง 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 2 คน
  4. ฟ้องเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เรื่องการกระทำอันไม่เป็นธรรม 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน
  5. การนิคมอุตสาหกรรมฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งกรณีสหภาพแรงงานชุมนุมหน้าโรงงาน 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 2 คน
  6. ลูกจ้างถูกฟ้องคดีอาญาข้อหากระทำการโดยประมาททำให้เกิดเพลิงไหม้ เรียกค่าเสียหายกว่า 100 ล้านบาทเศษ 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน
  7. ลูกจ้างฟ้องสำนักงานประกันสังคมและคณะกรรมการอุทธรณ์ กรณีสำนักงานประกันสังคมวินิจฉัยกรณีทุพพลภาพไม่ถูกต้อง 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน
  8. บริษัทยื่นคำร้องขออำนาจศาลเลิกจ้าง 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน
  9. ลูกจ้างฟ้องสำนักงานประกันสังคมต่อศาลปกครองกลาง 2 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบกรณีแรกเกี่ยวข้องกับผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 10,781,241 คน กรณีที่สองเกี่ยวข้องกับผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1,369,083 คน
  • ปี 2560 จำนวนลูกจ้างที่มาขอรับความช่วยเหลือ 50 กรณี รวมสำนวนคดี 239 สำนวน
  1. เลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยและค่าอื่นๆ 34 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 42 คน
  2. ขออำนาจศาลเลิกจ้างกรรมการลูกจ้าง 2 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 2 คน
  3. ศาลฎีกาให้ย้อนสำนวนสืบพยานใหม่ ในรายละเอียดเวลาทำงานและวันหยุด ของลูกจ้าง 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 70 คน
  4. ฟ้องบริษัทเรื่องข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม กรณีการจ่ายเงินโบนัส 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 63 คน
  5. นายจ้างฝ่าฝืนสัญญาจ้างงานและข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง โยกย้ายงานไม่เป็นธรรม 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 39 คน
  6. ขออำนาจศาลเลิกจ้าง เหตุหมิ่นประมาทนายจ้าง 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 5 คน
  7. ขออำนาจศาลลงโทษ เหตุกรรมการลูกจ้างมาทำงานสาย 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 5 คน
  8. บริษัทไม่จ่ายเงินค่าจ้างย้อนหลังให้กับลูกจ้าง ตั้งแต่วันที่ศาลแรงงานมีคำพิพากษาให้บริษัทรับเข้าทำงานในอัตราค่าจ้างเดิม จำนวน 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 4 คน
  9. ลูกจ้างขอเป็นจำเลยร่วม ในกรณีที่บริษัทขอเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ กรณีสั่งให้รับสมาชิกสหภาพแรงงานจำนวน 2 คน กลับเข้าทำงาน 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 2 คน
  10. ขออำนาจศาลลงโทษ เหตุกรรมการลูกจ้างฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน
  11. นายจ้างไม่คืนเงินประกันและจ่ายเงินค่าคอมมิชชั่น 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน
  12. บริษัทแจ้งความหมิ่นประมาทและเลิกจ้าง 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน
  13. บริษัทฎีกาคดีอาญาข้อหาลูกจ้างลักน้ำมัน 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน
  14. เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน
  15. ฟ้องบริษัทเรื่องคำนวณวันลาผิดพลาดและส่งผลต่อการจ่ายโบนัส 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน
  16. ฟ้องสำนักงานประกันสังคมและคณะกรรมการอุทธรณ์ เรียกเงินตามมาตรา 39 คืน 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน

มีรายละเอียดเรียงตามลำดับจำนวนข้อหา 24 ข้อหา ดังนี้

  1. เลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยและค่าอื่นๆ 40 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 51 คน
  2. เลิกจ้างไม่เป็นธรรม 4 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 295 คน
  3. ขออำนาจศาลลงโทษ เหตุกรรมการลูกจ้างฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน 3 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 3 คน
  4. บริษัทแจ้งความหมิ่นประมาทและเลิกจ้าง 2 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 2 คน
  5. นายจ้างเลือกปฏิบัติต่อลูกจ้าง กระทำผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 14/1 เรื่องข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 96 คน
  6. ศาลฎีกาให้ย้อนสำนวนสืบพยานใหม่ ในรายละเอียดเวลาทำงานและวันหยุด ของลูกจ้าง 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 70 คน
  7. ฟ้องบริษัทกรณีฝ่าฝืนสัญญาจ้างงานและข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 39 คน
  8. ฟ้องบริษัทเรื่องข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม กรณีการจ่ายเงินโบนัส 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 63 คน
  9. ขออำนาจศาลลงโทษ เหตุกรรมการลูกจ้างมาทำงานสาย 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 5 คน
  10. ขออำนาจศาลเลิกจ้าง เหตุหมิ่นประมาทนายจ้าง 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 5 คน
  11. บริษัทไม่จ่ายเงินค่าจ้างย้อนหลังให้กับลูกจ้าง ตั้งแต่วันที่ศาลแรงงานมีคำพิพากษาให้บริษัทรับเข้าทำงานในอัตราค่าจ้างเดิม จำนวน 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 4 คน
  12. การนิคมอุตสาหกรรมฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งกรณีสหภาพแรงงานชุมนุมหน้าโรงงาน 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 2 คน
  13. ลูกจ้างขอเป็นจำเลยร่วม ในกรณีที่บริษัทขอเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ กรณีสั่งให้รับสมาชิกสหภาพแรงงานจำนวน 2 คน กลับเข้าทำงาน 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 2 คน
  14. ถูกลงโทษทางวินัยไม่เป็นธรรม 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน
  15. บริษัทฟ้องคดีศาลอาญาข้อหาลักน้ำมัน 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน
  16. บริษัทยื่นคำร้องขออำนาจศาลเลิกจ้าง 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน
  17. บริษัทและอัยการฟ้องคดีอาญาข้อหากระทำการโดยประมาททำให้เกิดเพลิงไหม้ เรียกค่าเสียหายกว่า 100 ล้านบาทเศษ 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน
  18. เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน
  19. ฟ้องบริษัทเรื่องคำนวณวันลาผิดพลาดและส่งผลต่อการจ่ายโบนัส 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน
  20. ฟ้องบริษัทเรื่องไม่คืนเงินประกันและจ่ายเงินค่าคอมมิชชั่น 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน
  21. ฟ้องเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เรื่องการกระทำอันไม่เป็นธรรม 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน
  22. ฟ้องสำนักงานประกันสังคมและคณะกรรมการอุทธรณ์ เรียกเงินตามมาตรา 39 คืน 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน
  23. ลูกจ้างฟ้องสำนักงานประกันสังคมและคณะกรรมการอุทธรณ์ กรณีสำนักงานประกันสังคมวินิจฉัยกรณีทุพพลภาพไม่ถูกต้อง 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน
  24. ลูกจ้างฟ้องสำนักงานประกันสังคมต่อศาลปกครองกลาง 2 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบกรณีแรกเกี่ยวข้องกับผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 10,781,241 คน กรณีที่สองเกี่ยวข้องกับผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1,369,083 คน

แม้ว่าโดยเจตนารมณ์สูงสุดของศาลแรงงาน คือ การยึดหลักให้นายจ้างลูกจ้างทำงานร่วมกันได้อย่างสันติสุขและเป็นธรรม การพิจารณาคดีแรงงานจึงใช้ระบบไต่สวน โดยศาลจะเป็นผู้สืบเสาะหาข้อเท็จจริงเอง รวมทั้งสามารถเรียกบุคคลหรือเอกสารต่างๆเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงและพิพากษาไปตามรูปคดี โดยมีผู้พิพากษา 3 คนเป็นองค์คณะ ประกอบด้วยผู้พิพากษากลาง (เจ้าของสำนวน) ผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้าง และผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้าง เน้นใช้ระบบไกล่เกลี่ยให้คู่ความตกลงกันได้ตลอดระยะเวลาก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา

อย่างไรก็ตามกลับพบปัญหาที่เกิดขึ้นจากกระบวนการยุติธรรมที่ยังต้องมีการปฏิรูปต่อไป รวม 10 ประการ ได้แก่

  • การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมเป็นเรื่องยุ่งยาก มีหลายขั้นตอนในทางคดี ซึ่งแต่ละขั้นตอนทางศาลแรงงานล้วนมีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูง และนายจ้างมักใช้ข้อเสียเปรียบนี้มาต่อรองกับลูกจ้าง
  • ผู้พิพากษามาจากกระบวนการยุติธรรมปกติ จึงไม่มีความเชี่ยวชาญเรื่องแรงงาน และนำเอาทัศนคติหรือวิธีการปฏิบัติแบบเดิมที่เชื่อว่าลูกจ้างและนายจ้างมีสถานะเท่ากันในการพิจารณาทางคดี ศาลมีหน้าที่รับฟังผ่านข้อมูลต่างๆ จึงขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายใดจะหาข้อมูลได้มากกว่ากัน ซึ่งในความเป็นจริงก็พบชัดเจนว่านายจ้างกับลูกจ้างไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาได้เท่าเทียมกันโดยพื้นฐานอยู่แล้ว มีลูกจ้างจำนวนมากไม่สามารถจ้างทนายความได้ หรือว่าไม่อาจนำสืบพยานหลักฐานที่สมบูรณ์ให้สามารถได้ข้อเท็จจริงที่ชัดเจนต่อสู้คดีได้เต็มที่

ทั้งที่เจตนารมณ์ของการร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มีที่มาจากการที่คดีแรงงานเป็นคดีระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ที่เกิดจากความไม่เป็นธรรมในเรื่องค่าจ้าง สวัสดิการ และอื่นๆ ดังนั้นทำอย่างไรที่จะให้ลูกจ้างได้รับความเป็นธรรม ดังนั้นผู้พิพากษาต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญความเข้าใจในเรื่องแรงงาน กฎหมายและวิธีพิจารณาคดีแรงงานเป็นสำคัญ

  • ผู้พิพากษา 3 คนที่เป็นองค์คณะ มีสถานะไม่เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะตัวแทนของฝ่ายลูกจ้างนั้นพบว่า บางคนยังไม่สามารถเป็นตัวแทนลูกจ้างที่สามารถรักษาผลประโยชน์ของลูกจ้างได้จริง และยังขาดความรู้ทางกฎหมายด้านแรงงานที่เกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้ง
  • แนวโน้มของการไกล่เกลี่ยที่เกิดขึ้น บางครั้งขัดแย้งกับสิทธิแรงงาน ไม่คำนึงเรื่องข้อเท็จจริง เช่น ค่าเสียหายที่ศาลกำหนดให้ไม่ได้สัดส่วนกับความเสียหายที่ลูกจ้างได้รับจากการถูกเลิกจ้าง เพราะผู้ที่ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยในศาลแรงงาน จำนวนไม่น้อยที่ยังขาดความเข้าใจต่อปัญหาแรงงาน ไม่มีความเป็นมืออาชีพ การไกล่เกลี่ยจึงเป็นไปในลักษณะให้คดีจบโดยไว และเป็นไปในลักษณะคดีแพ่งหรือเรื่องระหว่างบุคคลเท่านั้น ขาดการมองในเชิงความมั่นคงและศักดิ์ศรีของมนุษย์
  • ศาลมักจะให้มีการประนีประนอมยอมความซึ่งไม่เป็นผลดีต่อลูกจ้าง เพื่อลดจำนวนคดีที่จะต้องพิจารณา มีคำตอบชัดเจนตั้งแต่ในชั้นไกล่เกลี่ยว่าควรจะดำเนินไปในทิศทางใดเมื่อเข้าสู่การพิจารณาในชั้นศาล ทำให้ในบางกรณีเมื่อลูกจ้างไม่แม่นข้อกฎหมาย จึงเลือกที่จะยอมความให้คดีจบไป ขณะเดียวกันมีจำนวนไม่น้อยที่ศาลได้สั่งให้นายจ้างรับลูกจ้าง ที่ถูกเลิกจ้างอย่างผิดกฎหมายกลับเข้าทำงาน แต่นายจ้างก็มักจะเสนอเงินชดเชยจำนวนมากเพื่อเลี่ยงการรับกลับเข้าทำงานแทน (ส่วนใหญ่เป็นกรรมการสหภาพแรงงานที่มีบทบาท) และศาลก็มักจะดำเนินตามขนบดังกล่าวนี้ มากกว่าเน้นเรื่องการปรับทัศนคติให้อยู่ร่วมกันได้ดี กลับมองในเรื่องการอยู่ด้วยกันไม่ได้และลูกจ้างได้ค่าชดเชยและค่าเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเพียงพอแล้ว
  • คำพิพากษาศาลฎีกามีแนวโน้มที่จะนำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้กับคดีแรงงานอย่างเคร่งครัด แทนที่จะนำมาใช้โดยอนุโลม ทำให้การพิจารณาพิพากษาคดีแรงงานไม่แตกต่างจากการพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งเท่าใดนัก นอกจากนี้ประสิทธิภาพในการระงับข้อพิพาทแรงงานก่อนคดีสู่ศาลยังมีน้อย ทำให้ศาลแรงงานต้องพิจารณาพิพากษาคดีมากเกินไป และส่งผลโดยตรงต่อความรวดเร็วแห่งคดี
  • คดีแรงงานมีความล่าช้ามาก ในศาลแรงงานภาคบางแห่งเลื่อนคดีแต่ละครั้ง ราว 3 เดือน หรือในช่วงที่โยกกย้ายผู้พิพากษา กว่าจะมีผู้พิพากษาใหม่มาปฏิบัติหน้าที่ ก็ใช้ระยะเวลาหลายเดือน ผู้พิพากษาที่เหลืออยู่น้อยจึงต้องทำงานหนักมากหรือไม่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คดีล่าช้า
  • คดีแรงงานที่ขึ้นสู่ศาลฎีกาตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 27) พ.ศ. 2558 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์ฎีกา กำหนดว่าการฎีกาคําพิพากษาหรือคําสั่งของศาลอุทธรณ์ ให้กระทําได้เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา​​ ยิ่งทำให้เป็นข้อจำกัดของลูกจ้างในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่มากยิ่งขึ้น แม้มีศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงาน ก็เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาปริมาณคดีแรงงานที่ค้างอยู่เป็นจำนวนมากในศาลฎีกาแผนกคดีแรงงาน แต่ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่แท้จริงและยังเป็นการเพิ่มศาลอุทธรณ์อีกชั้นหนึ่ง ต่างจากหลักการและเจตนารมณ์เดิมของการจัดตั้งศาลแรงงาน
  • มีการอ้างหรือใช้ประเด็นทางอาญาเพื่อต่อรองในเรื่องทางแรงงานกับผู้นำแรงงาน ทำให้เป็นภาระแก่ลูกจ้างอย่างมากในการต่อสู้คดี และไม่ได้รับความสะดวกในเรื่องการประกันตัว เช่น นายจ้างเสนอว่าถ้าไม่ลาออกจะดำเนินคดีอาญา หรือถ้ายอมลาออกจะถอนแจ้งความหรือถอนฟ้องคดีอาญา
  • ในความเป็นจริงศาลมีอำนาจที่จะพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอได้ อีกทั้งผู้พิพากษาก็สามารถสั่งให้มีผลผูกพันกับคู่ความได้ ทั้งนี้มีคำพิพากษาฎีกา 9139/2553 วางบรรทัดฐานไว้ว่า “ศาลแรงงานมีคำสั่งหรือพิพากษาเกินคำขอได้ หากเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความ” ทั้งนี้เป็นไปตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ศาลแรงงานพิพากษาหรือสั่งเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง เว้นแต่ในกรณีที่ศาลแรงงานเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความจะพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอบังคับก็ได้” แต่ในทางปฏิบัติผู้พิพากษาจะพิพากษาตามคำร้องหรือคำฟ้องที่ลูกจ้างเป็นผู้ฟ้องมา ซึ่งในหลายกรณีพบว่ามีลูกจ้างจำนวนมากที่ไม่รู้ประเด็นทางกฎหมายว่ามีสิทธิฟ้องร้องว่ามีอะไรที่เกี่ยวข้องบ้าง จึงทำให้สิทธิที่ควรจะรับตกหล่นไป

ดังนั้นเพื่อให้กระบวนการยุติธรรมสามารถเป็นพื้นที่ที่สำคัญที่สุดพื้นที่หนึ่งของผู้ไร้อำนาจให้สามารถเข้าถึงสิทธิตามที่กฎหมายกำหนดไว้ได้ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมด้านแรงงานเพื่อปลดล็อคปัญหาที่กล่าวมาทั้ง 10 ประการ จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะสุดท้ายแล้ว การทำหน้าที่ของศาลไม่ใช่แค่การพิพากษาตามตัวบทกฎหมายเท่านั้น แต่ตัวคำพิพากษาของศาลเองก็เป็นกฎหมายในตัวมันเอง ที่วางบรรทัดฐานแนวปฏิบัติให้ปฏิบัติต่อไปในอนาคตเช่นเดียวกัน ดังคำกล่าวที่ว่า  “Judges make law”

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน