คสรท.เตรียมดันกฎหมายแรงงานสัมพันธ์เข้าสภา

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย จัดเวทีเสวนา “ยุทธศาสตร์การผลักดันร่างกฎหมายแรงงานของประชาชนสู่สภา : กรณีพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์” หลังรวมลายมือชื่อหมื่นชื่อเตรียมเสนอกฎหมาย หวังสร้างความเสมอภาคทางชนชั้น

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) กล่าวว่า หลังจากที่คณะทำงานขับเคลื่อนพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ อันประกอบด้วยตัวแทนองค์กรแรงงานภาคส่วนต่าง ๆ และนักวิชาการ ได้ทำการยกร่างกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ฉบับใหม่ เสร็จแล้วนั้น โดยใช้กระบวนการแบบมีส่วนร่วม ร่างกฎหมายฉบับใหม่นี้ได้ยึดหลักการสำคัญ 5 ประการดังนี้คือ

1

. สอดคล้องกับหลักอนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อสร้างหลักประกันในสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง

2. กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ฉบับเดียว ครอบคลุมแรงงานทุกภาคส่วน

3. เปลี่ยนกรอบคิดแรงงานสัมพันธ์ จากความสัมพันธ์แบบ “นายกับบ่าว” ไปสู่ “หุ้นส่วนสังคมและเศรษฐกิจ”

4. มุ่งสร้างกระบวนการแรงงานสัมพันธ์เพื่อความเป็นธรรม เช่น มีขยายขอบเขตของสภาพการจ้างให้มีความหมายกว้างกว่ากฎหมายฉบับเดิม, เพิ่มเติมผู้มีสิทธิยื่นข้อเรียกร้อง การเจรจาต่อรองร่วมและระดับการเจรจาต่อรองร่วม ฯลฯ

5. ส่งเสริมพัฒนา คุ้มครองระบบแรงงานสัมพันธ์ เช่น รัฐพึงมีหน้าที่สนับสนุนองค์การของลูกจ้างทุกระดับให้มีความมั่นคง อย่างยั่งยืนและเท่าเทียมกัน, ขยายบทบาทหน้าและความรับผิดชอบของสหพันธ์แรงงานโดยมีส่วนร่วมในการเจรจาต่อรองกับนายจ้างหรือสมาคมระดับอุตสาหกรรมของนายจ้าง ฯลฯ

พร้อมกับได้มีการลงพื้นที่นำเสนอทำความเข้าใจในสาระสำคัญของร่างกฎหมายฯ และล่าลายมือชื่อ หมื่นกว่าชื่อเตรียมพร้อมเพื่อการเสนอร่างกฎหมายฯ ซึ่งขณะนี้ได้เกือบ 10,000 ชื่อแล้ว หลังจากรณรงค์กว่าครึ่งเดือน (เชิญทุกท่านร่วมสร้างประวัติศาสตร์ลงลายมือชื่อเสนอร่างกฎหมายโดยดาวน์โหลดForm เข้าชื่อเสนอกฏหมายพรบแรงงานสัมพันธ์ ผู้เสนอกฏหมายที่นี่)

นายชาลี ลอยสูง กล่าวว่า "ภายใต้กรอบแนวคิดการปกครองแบบอำนาจนิยม และวัฒนธรรมทางการเมืองแบบระบบอุปถัมภ์ ที่ไม่ยอมรับในความเสมอภาคเท่าเทียมกันของผู้คนในสังคม หล่อหลอมทำให้เกิดระบบแรงงานสัมพันธ์แบบ “นายกับบ่าว” ที่ยอมรับในความเหนือกว่าของนายจ้าง ปฏิเสธการมีส่วนร่วมของฝ่ายผู้ใช้แรงงานที่ถูกมองว่ามีฐานะที่ต่ำกว่า วัฒนธรรมแรงงานสัมพันธ์แบบนี้ได้นำสู่ความสัมพันธ์ที่ไม่เสมอภาคเท่าเทียมกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง (ผู้ใช้แรงงาน) และพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ที่บังคับใช้ในปัจจุบัน ภายใต้ความคาดหวังว่าจะสามารถเป็นกรอบกำกับ ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมในการทำงานร่วมกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเสียใหม่ แต่พบว่ากฎหมายดังกล่าวไม่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ ทั้งยังมีความล้าหลังและนำสู่ความไม่เป็นธรรมต่อพี่น้องผู้ใช้แรงงาน"

จึงถึงเวลาที่ต้องปรับเปลี่ยนทบทวนหลักการของกฎหมายเสียใหม่ เปลี่ยนเป้าหมายให้หันมาสู่การสร้างความเป็นธรรมให้กับคนงานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย โดยคณะทำงานขับเคลื่อนพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์จึงได้ช่วยกันร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. …. จึงได้กำหนดจัดเวทีเสวนา “ยุทธศาสตร์การผลักดันร่างกฎหมายแรงงานของประชาชนสู่สภา: กรณีพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์” ในวันที่ 29 มิถุนายน 2555 เวลา 08.30-13.30 น. ห้องประชุมรัชวิภา โรงแรมเจ้าพระยา ปาร์ค ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพ เพื่อนำเสนอสาระสำคัญพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ฉบับบูรณาการแรงงาน และการกำหนดยุทธศาสตร์การผลักดันร่างกฎหมายแรงงานของประชาชนสู่สภา ด้วยเป็นการรวมพลังสร้างประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งในการร่วมลงชื่อเสนอกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ฉบับบูรณาการแรงงาน 

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน