คสรท. ส่ง เครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ บุกกระทรวงฯ ค้านประชาพิจารณ์ พร้อมยื่น 2 ข้อเสนอ หัวใจสถาบัน

นางสมบุญ สีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ กล่าวว่า ทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้จัดเวทีเสวนารับฟังความเห็นต่อพระราชกฤษฎีกา (พรฎ.) จัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ประชุมมีมติไม่เห็นด้วยกับการจัดเวที ประชาพิจารณ์ พรฎ.สถาบันฯ ของกระทรวงแรงงาน ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2555 จัดที่โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ ในหลายข้อดังนี้
ข้อเสนอที่ 1.) เวทีประชาพิจารณ์รับฟังความเห็น ในส่วนเครือข่ายผู้ใช้แรงงานได้เสนอให้องค์กรกลางเช่นสำนักงานปฎิรูปกฎหมาย เป็นผู้ดำเนินการจัดเวทีประชาพิจารณ์รับฟังความเห็น

ข้อเสนอที่2.) การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นควรจะต้องทำให้รอบด้านของผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง แรงงานในและนอกระบบ ที่มีกระจายอยู่ทั่วประเทศรวมกันกว่า 34 ล้านคน (ในระบบประมาณ 10 ล้านนอกระบบประมาณ 24ล้าน) การจัดเวทีประชาพิจารณ์รับฟังเพียงครั้งเดียวจะถือเป็นประชามติไม่ได้

ข้อเสนอที่3.) เวทีประชาพิจารณ์ครั้งนี้บนเวที ไม่มีตัวแทนฝ่ายผู้ใช้แรงงานที่รู้เรื่อง ที่ไปที่มาเนื้อหาสาระสำคัญของร่าง พรฎ.จัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย ฯ และเป็นความต้องการของเครือข่ายผู้ใช้แรงงานองค์กรภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวผลักดัน การจัดตั้งสถาบันฯ มายาวนานถึง 19 ปี หลังจากเหตุการณ์เคเดอร์ไฟไหม้ตึกถล่ม

ข้อเสนอที่4.). ข้อเสนอของผู้ใช้แรงงานในอนุยกร่างฯ และ เวทีเสวนาฯ รับฟังความเห็นหลายครั้ง ต้องการให้บรรจุ เนื้อหาสาระที่เป็นหัวใจสำคัญ ในอำนาจหน้าที่สถาบันฯ ต้องบรรจุการรับเรื่องราวร้องทุกข์ไว้ เพื่อให้สถาบันฯมีข้อมูลทั้งทางตรงทางอ้อมเพื่อการแก้ไขปัญหาส่งเสริมป้องกันเรื่องสุขภาพความปลอดภัย

ข้อเสนอที่5.) โครงสร้าง/สัดส่วน/ ที่มาของคณะกรรมการบริหารสถาบันฯ(จำนวน11 คนตามระเบียบองค์กรมหาชน) โดยคณะกรรมการสรรหาที่เป็นกลางสำหรับตำแหน่ง ประธานกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ส่วนตัวแทนจาก นายจ้าง และลูกจ้าง จำนวน 4 คน อาจใช้วิธีสรรหาเช่นเดียวกัน หรืออาจใช้การเลือกตั้งทางตรงจากผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ โดยหลักการหนึ่งคนหนึ่งเสียง การเลือกตั้งในสถานประกอบการ
ที่มาจากการสรรหา ประธาน 1 คนต้องไม่ใช่ข้าราชการมีเงินเดือน
สรรหากรรมการผู้เชี่ยวชาญ 3 คน
กรรมการที่มาโดยตำแหน่ง 2 คน จากกระทรวงแรงงานและกระทรวงสาธารณสุข
ผู้อำนวยการสถาบันฯ 1

ข้อเสนอที่ 6 ไม่เห็นด้วยที่จะต้องให้คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการบริหารรักษาการ 180 วันตามพระราชกฤษฎีกา (ตามร่างที่ผ่าน คปอ. 18 สิงหาคม 2554 และร่าง ที่กระทรวงแรงงานใช้จัดประชาพิจารณ์) เพราะว่า การออกกฎระเบียบ ข้อบังคับ หรือการกำหนดภารกิจอื่นๆ ควรที่จะต้องให้คณะกรรมการสถาบันที่จะได้รับการคัดเลือกสรรหาเข้ามาเป็นผู้กำหนดบทบาทยุทธ์ศาสตร์ หรือการวางรากฐานในการทำงานของสถาบัน หรือการกำหนดภารกิจอื่นๆ กำหนดบทบาทยุทธ์ศาสตร์ ในการทำงานของสถาบัน ควรเป็นบทบาทของคณะกรรมการบริหารสถาบัน มิใช่ เป็นบทบาทของคณะกรรมความปลอดภัยฯ แห่งชาติ ที่เป็นคณะกรรมการบริหาร รักษาการ

สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ให้มายื่นหนังสือคัดค้าน และเสนอความต้องการดังกล่าวต่อ ฯพณฯท่านเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งเป็นเจ้ากระทรวงและเป็นภาคการเมือง เพื่อให้มีการพิจารณาข้อเสนอของเครือข่ายแรงงาน ให้การจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯที่มีความหมายมีประโยชน์ สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญยังเป็นความต้องการของเครือข่ายแรงงาน ภาคประชาชนส่วนใหญ่ที่เคลื่อนไหวผลักดันการจัดตั้งสถาบันนี้มานานถึง 19 ปี
นักสื่อสารแรงงาน โครงการการพัฒนาสื่อ รายงาน