คสรท.ล่าชื่อแก้ กม.แรงงานสัมพันธ์ หวังลดขัดแย้งนายจ้าง-ลูกจ้าง

สมานฉันท์แรงงานไทยเตรียมเข็นกฎหมายแรงงานสัมพันธ์เข้าสภาสมัยหน้า  หวังนักการเมืองให้ความสนใจเท่าเทียมกับกฎหมายการเมือง วอนอย่างแช่แข็งกฎหมายภาคประชาชน  ชี้กฎหมายใหม่ลดปัญหาขัดแย้งในสถานประกอบการได้ และให้สิทธิเสรีภาพกับแรงงานทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมตามหลักสากล  เร่งล่าชื่อให้ทันเปิดเวทีสาธารณะเพื่อระดมการสนับสนุนจากแรงงานทุกกลุ่มปลายมิถุนายนนี้

เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2555 ที่ห้องประชุมศุภชัย ศรีสติ พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย  คณะทำงานยกร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฉบับบูรณาการแรงงาน มีการประชุมเพื่อพิจารณาตรวจทานร่าง พ.ร.บ.ที่ร่วมกันยกร่างมาตั้งแต่เดือนมกราคมนี้  รวมทั้งกำหนดมาตรการในการขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ.เพื่อเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนฯต่อไป
 
ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา    พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ 2518 ถูกสร้างขึ้นมาในยุคที่ต้องการสร้างความมั่นใจต่อนักลงทุนว่าจะได้ประโยชน์สูงสุด และยังไม่คิดถึงเรื่องประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมมากนัก ทำให้ขาดระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดีที่จะทำให้ผู้ประกอบการหรือนักลงทุนกับผู้ใช้แรงงานสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข  แบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม  ซึ่งเป็นหลักการของสิทธิแรงงานในสากล  พ.ร.บ.2518 ไม่ยอมรับสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองตามหลัก ILO 87-98  ซึ่งนายจ้างอาจได้ประโยชน์ระยะสั้นแต่ไม่ยั่งยืน เพราะคนงานไม่มีความสุข ขาดความมั่นคง  ผลผลิตก็จะออกมาไม่ได้ดี และท้ายที่สุดก็จะนำไปสู่สังคมแห่งความเหลื่อมล้ำเต็มไปด้วยความขัดแย้ง  ส่วน พ.ร.บ.ที่ฝ่ายแรงงานยกร่างใหม่  เปลี่ยนหลักการสำคัญเดิมที่มีลักษณะแบ่งแยกและใช้กรอบการอุปถัมภ์  ให้เปลี่ยนไปยอมรับการมีส่วนร่วมอย่างเสมอภาคเท่าเทียม  โดยจะไม่มีการแบ่งแยกเพื่อให้มีความครอบคลุมแรงงานทุกภาคส่วน  ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนทั้งในและนอกระบบ  และเปลี่ยนหลักคิดแรงงานสัมพันธ์แบบนายกับบ่าว  เป็นนายจ้างลูกจ้างถือหุ้นส่วนกัน มีความเสมอภาคเท่าเทียม
 
ขณะที่ นายบัณฑิตย์  ธนชัยเศรษฐวุฒิ  ผู้อำนวยการมูลนิธิอารมณ์ พงศพงัน  กล่าวถึงปัญหาหลักของ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 ว่า กฎหมายแบ่งแยกสิทธิพื้นฐานการรวมตัวเจรจาต่อรอง  โดยให้ความสำคัญเฉพาะกลุ่มลูกจ้างในสถานประกอบการภาคเอกชน  มีการควบคุมตั้งแต่คุณสมบัติลูกจ้างที่ไปจดทะเบียนทั้งเรื่องอายุ  จำนวนลูกจ้าง และ โดยเฉพาะเรื่องสัญชาติที่ถือเป็นการแบ่งแยกชัดเจน ซึ่งขัดกับหลักการสากลในเรื่องการรวมตัว  และยังแบ่งแยกลูกจ้างระดับผู้บังคับบัญชากับลูกจ้างทั่วไปไม่ไห้รวมตัวกันได้  นอกจากนี้ยังกำหนดให้รวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงานได้เฉพาะลูกจ้างในประเภทกิจการเดียวกันเท่านั้น
 
ด้าน นายชาลี  ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย  กล่าวว่า แม้กฎหมายปัจจุบันจะเปิดให้คนงานจัดตั้งสหภาพแรงงานได้  แต่การที่ต้องรวมตัว 10 คนขึ้นไปเพื่อไปจดทะเบียนกับกระทรวงแรงงานโดยไม่มีกฎหมายคุ้มครองผู้จดทะเบียนทำให้นายจ้างหาเหตุเลิกจ้างแกนนำผู้ก่อตั้งได้ง่าย และมีการใช้ช่องว่างกฎหมายเพื่อเลิกจ้างล้มล้างทำลายสหภาพแรงงานปรากฎเป็นข่าวอยู่สมอ  ทำให้ทุกวันนี้สหภาพแรงงานมีสมาชิกลดน้อยลง  และทำให้เกิดอุปสรรคในการพูดคุยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสถานประกอบการ นำไปสู่การพิพาทแรงงานรุนแรงจำนวนมาก เกิดความสูญเสียทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง  ขบวนการแรงงานจึงพยายามผลักดันให้มีการแก้กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ 2518 มาโดยตลอด  และครั้งนี้ได้มีการรณรงค์ให้แรงงานร่วมลงชื่อให้ได้เกิน 1 หมื่นชื่อตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมเป็นต้นมา เพื่อเสนอกฎหมายเข้าสภาในสมัยประชุมหน้า  โดยหวังว่าสภาฯจะให้ความสนใจกฎหมายภาคประชาชนบ้าง  อย่ามุ่งแต่กฎหมายการเมืองแล้วทิ้งกฎหมายภาคประชาชน  โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการล่ารายมือชื่อเสนอกฎหมายในพื้นที่อุตสาหกรรมต่างๆ คาดว่าจะได้เกิน 1 หมื่นชื่อในเร็วๆนี้  แล้วจะเปิดเวทีสาธารณะเพื่อทำความเข้าใจและรณรงค์ร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ฉบับบูรณาการแรงงาน ในวันที่ 29 มิถุนายนนี้  ที่โรงแรมอิสติน  มักกะสัน  กรุงเทพฯ
นักสื่อสารแรงงาน  รายงาน