คสรท.ร้องนายกฯช่วยคนงานซันโคโกเซกลับเข้าทำงาน

2016-01-19 19.11.15

คสรท. ร้องนายกฯช่วยลูกจ้างซันโคโกเซถูกนายจ้างปิดงานแต่ใช้เหมาค่าแรงทำงานแทน เรียกร้องเจ้าหน้าที่รัฐเลิกเฝ้าติดตามทำให้ขาดเสรีภาพในการใช้ชีวิตประจำวัน ให้หยุดการควบคุมปิดกั้นกดดัน และให้ถอนกำลังออกจากที่ชุมนุมของคนงาน 

วันที่ 19 มกราคม 2559 คณะกรรมการสมานฉันแรงงานไทย (คสรท.) นำโดยนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคสรท.และสหภาพแรงงานกลุ่มต่างๆ ระดับสหพันธ์แรงงาน กลุ่มสหภาพแรงงานเกือบ 100 คนได้เข้ายื่นหนังสือ เรื่อง ขอให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาแรงงานกรณีนายจ้างปิดงานสหภาพแรงงานซันโคโกเซ ประเทศไทย และมีการจ้างคนงานเหมาค่าแรงเข้าไปทำงานแทนคนงานที่ถูกปิดงาน ถึงนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) โดยมีนางสาวพรรณี ศรียุทธศักดิ์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงานเป็นผู้รับหนังสือ

2016-01-19 19.09.39

นางสาววิไลวรรณ กล่าวว่า ด้วยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้รับการร้องเรียนจากสหภาพแรงงานซันโคโกเซ ประเทศไทย ซึ่งเป็นสมาชิกของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กรณีมีข้อขัดแย้งในระหว่างยื่นข้อเรียกร้องกับบริษัท ซันโคโกเซ เทคโนโลยีประเทศไทย จำกัด ทำให้ลูกจ้างได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) จึงขอยื่นหนังสือเพื่อขอให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับสหภาพแรงงานซันโคโกเซ ประเทศไทย ตามที่มีการยื่นข้อเรียกร้องต่อบริษัทและมีข้อพิพาทแรงงานในระหว่างยื่นข้อเรียกร้อง บริษัท ซันโคโกเซ เทคโนโลยี ประเทศไทย จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 64/20 หมู่ 4 นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด ต.ปลวกแดง อ.ปลวกแดง จ.ระยอง เป็นบริษัทผลิตอุปกรณ์ชิ้นส่วนรถยนต์ที่เป็นพลาสติกได้แก่ กันชน สปอยล์เลอร์ และชิ้นส่วนตกแต่งภายในรถยนต์ ส่งงานให้ลูกค้าที่ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของประเทศไทย เช่น โตโยต้า, ฮอนด้า, มิตซูบิชิ , เจเนรัลมอเตอร์, นิสสัน, ฮีโน่ , ซูซูกิ, อีซูซุ, ฟอร์ด, มาสด้า, มิโนะรุ, ทากาตะ, เดนโซ่, เอ็นเอชเค ฯลฯ
ซึ่งในขณะนี้ บริษัท ซันโคโกเซฯ ได้ปิดงานมาตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2558 มาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ลูกจ้างจำนวนกว่า 600 คน ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากจากสภาพปัญหาทางครอบครัวที่ขาดรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีแรงงานหญิงตั้งครรภ์จำนวนหลายคน ส่งผลกระทบกับสภาพร่างกายและจิตใจเป็นอย่างมาก รวมถึงสภาพปัญหาทางครอบครัวที่ขาดรายได้จากการปิดงานของบริษัทฯ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้น

2016-01-19 19.10.20

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
(คสรท.) จึงขอเรียกร้องให้ท่านเข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ที่ไม่สามารถตกลงกันได้ ดังนี้

1. ให้บริษัทฯ รับลูกจ้างกลับเข้าทำงานโดยไม่มีเงื่อนไข และไม่เอาความผิดใด ๆ ทั้งทางแพ่งและอาญา

2. ให้บริษัทฯ จ่ายเงินโบนัสประจำปีให้กับพนักงานคนละ 0.6 เดือน บวกเงินเพิ่มพิเศษ 500 บาท และปรับค่าจ้างประจำปี 1 เปอร์เซ็นต์ บวกเงินเพิ่มพิเศษ 70 บาท ตามที่ได้มีการเจรจากันไว้เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2559

3. สิทธิประโยชน์อื่นใดที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงให้คงไว้ตามเดิม

4. การดำเนินกิจกรรมของสหภาพฯกลับถูกกดดันจากเจ้าหน้าที่รัฐจนทำให้เกิดความรู้สึกหวาดกลัวไม่ปลอดภัย จนทำให้ส่งผลกระทบต่อจิตใจเป็นอย่างมาก รวมทั้งผลกระทบการขาดรายได้มานานนับเดือน

ดังนั้นคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) จึงขอเรียกร้องให้มีการยุติการกดดันจากเจ้าหน้าที่รัฐและให้ถอนกำลังออกจากการควบคุมการชุมนุมของคนงาน หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อเสนอที่ได้นำเรียนในวันนี้จะได้รับการพิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาจากท่านโดยเร่งด่วน

“อยากขอร้องรัฐ ต่อประเด็นการติดตาม แม้ว่าจะบอกว่าๆที่ได้คุกคามต้องการมาดูแลผู้นำก็ตาม แต่ในฐานะเป็นผู้หนึ่งที่ถูกติดตามรู้สึกว่ายิ่งไม่ปลอดภัย และหมดเสรีภาพ จะไปไหนมาไหนมีคนติดตามตลอดเวลาทั้งกลางวันกลางคืนส่งผลต่อการดำเนินชีวิต จึงขอร้องให้ระงับสั่งการติดตามได้แล้ว ให้ไปทำงานที่เป็นประโยชน์ เพื่อสร้างความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำ จงคืนความสุขให้กลับพวกเราเสียที และการที่เข้าไปแทรกแซงกิจกรรมของสหภาพแรงงานซันโคโกเซฯ การตรึงให้อยู่ในพื้นที่ และไม่ให้เขาเดินทางไปไหนมาไหนอย่างอิสระ คืนเสรีภาพ คืนความสุข ถอยออกจากพื้นที่การชุมนุมของลูกจ้างและหยุดติดตามแกนนำ ผู้นำแรงงานด้วย”นางสาววิไลวรรณกล่าว

2016-01-19 19.12.49

ด้านนางสาวพรรณี ศรียุทธศักดิ์ อธิบดีกรมสวัสดิฯกล่าวว่า จากปัญหาแรงงานซันโคโกเซฯที่ถูกนายจ้างปิดงานทางกระทรวงฯไม่ได้นิ่งนอนใจซึ่งก็พยายามไกล่เกลี่ยเพื่อแก้ไขปัญหาอยู่ ซึ่งวันพรุ่งนี้ (20ม.ค.)ก็จะมีการเจรจาไกล่เกลี่ยอีกครั้งที่แรงงานจังหวัดระยอง ซึ่งจากการเข้าร่วมไกล่เกลี่ยก็เห็นถึงความพยายามของลูกจ้างในการที่แสดงความต้องการกลับเข้าทำงาน และยินยอมรับข้อเสนอจากนายจ้าง รู้สึกเห็นใจลูกจ้างอย่างมากหากดูจากการได้รับโบนัสที่ตกลงกันย้อนหลัง 5 ปี เคยได้โบนัสเกือบแสนบาทวันนี้นายจ้างเสนอให้ 0.6 เดือนบวก 500 บาท ประมาณเกือบหมื่นบาทน้อยกว่าที่เคยได้หลายเท่า แต่ลูกจ้างก็ยอมรับ เพื่อกลับเข้าทำงาน แต่นายจ้างยังคงยืนยันยังไม่รับกลับอีก ด้วยอ้างว่าต้องการคัดเลือกคนกลับเข้าทำงาน เพราะมีบางคนที่ทำให้เครื่องจักรเสียหาย ซึ่งตรงนี้นายจ้างจึงยังไม่รับคนงานกลับเข้าทำงาน ในฐานะตัวแทนภาครัฐก็พยายามแนะนำกรณีการใช้แรงงานเหมาค่าแรงมาทำงานแทนว่า ประสิทธิภาพการทำงานอาจไม่เทียบเท่าลูกจ้างและเสนอให้รับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน ซึ่งจะทำให้ลูกค้ามีความมั่นใจและสั่งสินค้า ทำให้บริษัทมีรายได้ พรุ่งนี้ก็จะไกล่เกลี่ยอีกครั้ง

ส่วนนายยางยุทธ เม่นตะเภา ประธานสมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทอนิกส์ ยานยนต์ โลหะแห่งประเทศไทย(TEAM) กล่าวว่า จากการที่นายจ้างปิดงานลูกจ้าง และนำแรงงานภายนอกเข้าไปทำงานแทนนั้น ไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง และต่อกรณีที่นายจ้างอ้างขาดทุนนั้นก็ต้องการให้มีการตรวจสอบเพื่อการชี้ขาดว่าความจริงขาดทุนหรือไม่ เพื่อความชัดเจน วันนี้เพื่ออนาคตร่วมกันที่ดีลูกจ้างก็ยอมรับข้อเสนอทางนายจ้าง และขอให้นายจ้างถอนข้อเรียกร้องเพื่อขอสวัสดิการคืนออกไป แล้วรับลูกจ้างกลับทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไข หากมีคนผิดตามที่อ้างว่าทำให้เครื่องจักรนายจ้างเสียหาย หากมีไม่ว่าจะจงใจหรือไม่จงใจ มีหรือไม่มีก็ไปพิสูจน์กันที่ศาล ไม่ใช่การใช้วิธีคัดเลือกโดยนายจ้างว่าจะให้ใครกลับเข้าหรือไม่ให้เข้า อย่างไรต้องมีความเป็นธรรมกับลูกจ้างด้วยเพราะเดิมไม่มีประเด็นนี้ มีเพียงการเจรจาไกล่เกลี่ยประเด็นข้อเรียกร้อง ตอนนี้จะมีข้อเสนอคัดเลือกคนคงไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง และเกรงว่าจะใช้เงื่อนไขมากบั่นแกล้งต่อรองแกนนำลูกจ้าง อีกประเด็นคือขอความกรุณาไกล่เกลี่ยกันแบบใช้คุณธรรม หลักการไม่ใช่การกดดันแบบทหาร เพราะว่าเท่าที่ลูกมีการใช้ท่าทีรุกคุกคามต่อตัวแทนคนงานอย่างมาก

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน