คสรท.ยื่นกระทรวงแรงงาน-ILO แก้ปัญหาละเมิดสิทธิแรงงาน

สมานฉันท์แรงงาน ร้องรัฐถึงองค์การแรงงานระหว่างประเทศแก้ปัญหาละเมิดสิทธิ กลุ่มสหภาพร้องนายจ้างให้ออกเพราะตั้งครรภ์

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)ได้ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พลเอกศิริชัย ดิษฐกุล เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2560 ขอให้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานกรณีคนงานบริษัท บริติชไทยซินเทติคเท็กส์ไทล์ จำกัด ซึ่งนายสุเมธ มโหสถ อธิบดีสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน เป็นผู้รับหนังสือแทน

นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคสรท.กล่าวว่า ด้วยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้รับการร้องเรียนจากสหภาพแรงงานบริษัท บริติชไทยซินเทติคเทกส์ไทล์ว่าในขณะนี้ บริษัท บริติชไทยซินเทติคเทกส์ไทล์ จำกัด  ซึ่งตั้งอยู่ที่ 147/2 หมู่ 6 ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ได้ปิดกิจการเนื่องจากล้มละลาย และกรมบังคับคดีได้เข้าดำเนินการพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และได้เลิกจ้างคนงานทั้งหมดซึ่งเป็นคนไทย จำนวน 98 คน ผู้หญิง 81 คน ผู้ชาย 8 คน เป็นแรงงานข้ามชาติ 22 คน ผู้หญิง 13 คน ผู้ชาย 9 คน และในจำนวนนี้มีผู้หญิง 1 คน เพิ่งคลอดลูก ซึ่งถูกเลิกจ้างโดยมิได้รับค่าชดเชยแต่ประการใด นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2560 ซึ่งถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายแรงงาน และถือเป็นการละเมิดสิทธิแรงงานอย่างรุนแรง และที่สำคัญคนงานส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง มีครอบครัวมีลูกที่ต้องรับผิดชอบ อายุโดยเฉลี่ยของคนงานประมาณ 40 ปี ขณะนี้ คนงานบางส่วนยังอาศัยอยู่ในหอพักเพื่อรอคอยเงินชดเชย รวมทั้งทั้งสิทธิประโยชน์อื่นตามกฎหมายที่นายจ้างยังไม่ได้จ่ายให้แก่คนงาน

กรณีนี้ คงเป็นอีกกรณีหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นความหย่อนยานในการบังคับใช้กฎหมายและการไม่เคารพกฎหมายของฝ่ายนายจ้างทั้ง ๆ ที่รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีย้ำพูดให้หน่วยงานทั้งหลายใช้หลักนิติธรรม หลักนิติรัฐอย่างเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติ แต่จากกรณี บริษัท บริติชไทยซินเทติคเท็กส์ไทล์ จำกัด ชี้ให้เห็นสิ่งที่พูดกับสิ่งที่เกิดขึ้นสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง โดยหลักการองค์ประกอบของกฎหมายแรงงานทั่วไปจะมีส่วนที่ต้องเกี่ยวข้องและดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบของกฎหมาย คือ นายจ้าง สหภาพแรงงาน หรือ คนงาน และ กลไกรัฐ เมื่อเกิดเหตุที่มีการละเมิดกฎหมายจนไม่สามารถให้นายจ้างและคนงานมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันด้วยปัจจัยอะไรก็สุดแท้แต่ ก็ต้องเป็นหน้าที่ของรัฐ กลไกของรัฐ คือ กระทรวง กรม หน่วยงานของรัฐและข้าราชการต้องเร่งเข้ามาแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วนทันที โดยเฉพาะการปิดกิจการลอยแพคนงาน

จนถึงขณะนี้ สหภาพแรงงานบริษัท บริติชไทยซินเทติคเท็กส์ไทล์ ซึ่งยังคงทำหน้าที่แทนคนงานในการเจรจา ปกป้อง เรียกร้องสิทธิ โดยเข้าร้องเรียนต่อสำนักงานแรงงานและสวัสดิการ กรมจัดหางาน เจ้าหน้าที่ตำรวจ ศูนย์ดำรงธรรม (ศูนย์ดำรงธรรมจัดตั้งโดยรัฐบาลซึ่งมีอยู่ในทุกจังหวัดของประเทศ) ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ยื่นและได้นำคำร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อกระทรวงแรงงานและกรมบังคับคดี แต่การดำเนินการก็เป็นไปอย่างล่าช้า ล่าสุดคนงานที่อาศัยพักพิงในหอพักที่นายจ้างเคยจัดเป็นสวัสดิการให้คนงานอยู่อาศัยก่อนปิดกิจการเพื่อรอการดำเนินการในเรื่องสิทธิต่าง ๆ ที่ถูกละเมิดไป แต่หอพักก็ถูกนายจ้างสั่งตัดระบบไฟฟ้าและน้ำ เป็นการซ้ำเติมคนงานให้อยู่กันอย่างยากลำบากมากยิ่งขึ้น

ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายและเป็นการปกป้องสิทธิของคนงานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) จึงขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงาน บริษัท บริติชไทยซินเทติคเท็กส์ไทล์ จำกัด ดังนี้

ข้อเสนอเร่งด่วน

  1. ขอให้เร่งรัดในการจ่ายเงินสงเคราะห์ให้แก่ลูกจ้างโดยเร็ว
  2. ขอให้ดำเนินการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้คนงานอยู่ในหอพักเดิมอยู่ต่อไปก่อนจนกว่าจะได้รับค่าชดเชยและสิทธิประโยชน์อื่นตามกฎหมาย พร้อมทั้งเรื่องการใช้ไฟฟ้าและน้ำประปาที่ถูกระงับการใช้(ตัด)
  3. ขอให้ดำเนินการประสานงานกับส่วนที่เกี่ยวข้องให้ลูกจ้างได้รับค่าชดเชยและสิทธิประโยชน์อื่นก่อนเจ้าหนี้รายอื่นเพื่อการบรรเทาความเดือนร้อน

ข้อเสนอทางนโยบาย

  1. ขอให้รัฐเร่งจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้าง เพื่อประกันความเสี่ยงให้แก่ลูกจ้างกรณีนายจ้างปิดกิจการแล้วไม่จ่ายค่าชดเชยและสิทธิประโยชน์อื่น

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อเสนอเพื่อการแก้ไขปัญหาข้างต้นซึ่งเป็นมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมายและข้อเสนอทางนโยบายจะได้รับการพิจารณาจากท่าน ผลเป็นประการใดโปรดแจ้งแก่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยด้วย

ในวันเดียวกัน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้ยื่นหนังสือถึง ผู้อำนวยการมาตรฐานแรงงานองค์การแรงงานระหว่างประเทศ สำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เพื่อขอให้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานกรณีคนงาน บริษัท บริติชไทยซินเทติคเท็กส์ไทล์ จำกัด ให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายของประเทศไทยและเป็นการปกป้องสิทธิของคนงานซึ่งเป็นมาตรฐานสิทธิด้านแรงงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) จึงขอให้องค์การแรงงานระหว่างประเทศสืบสวนหาความจริงและแจ้งให้กระทรวงแรงงานรัฐบาลไทยดำเนินการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงาน บริษัท บริติชไทยซินเทติคเท็กส์ไทล์ จำกัด โดยเร่งด่วนต่อไป

ด้านกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก พื้นที่บ่อวินได้ร่วมกับคสรท.ยื่นหนังสือเพื่อให้นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน แก้ปัญหา กรณีการเลิกจ้างแรงงานหญิงอายุ 22 ปีถูกให้ออกจากงานเนื่องจากตั้งครรภ์ ด้วยแรงงานหญิงคนดังกล่าว ได้เข้าทำงานในบริษัทวาย-โอกูระ ออโตโมทีฟ (ไทยแลนด์) จำกัด เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2558 ในแผนก PRESS ตั้งแต่เริ่มแรกจนถึง วันที่ 21 ธันวาคม 2559 แล้วย้ายไปอยู่ในแผนก QA ตำแหน่งพนักงานฝ่ายผลิต QC ในวันที่ 24 ธันวาคม 2559 จนถึงปัจจุบัน โดยเริ่มทำงานเป็นพนักงานเหมาค่าแรงมาก่อน เนื่องจากมีผลปฏิบัติงานดีในเดือนตุลาคม 2559 ทางบริษัทฯจึงได้แจ้งว่าจะบรรจุให้เป็นพนักงานประจำ แต่ต้องผ่านทดลองงาน ซึ่งก่อนที่จะมีการทดลองงานทางบริษัทฯได้ให้ไปตรวจสุขภาพพร้อมตรวจการตั้งครรภ์ ผลการตรวจสุขภาพก็ผ่านไม่พบว่า เป็นโรคร้ายแรงและไม่พบว่ามีการตั้งครรภ์ (มีเอกสารใบตรวจจากแพทย์คลีนิกอินเตอเมท ซึ่งเป็นคลีนิกที่บริษัทฯให้พนักงานไปตรวจสุขภาพก่อนบรรจุงาน ยืนยัน) เมื่อผลตรวจสุขภาพผ่านทางบริษัทฯได้ให้เริ่มทดลองงานตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2559 ถึง 31 มกราคม 2560 และเมื่อผลการทดลองงานผ่านทางบริษัทฯจึงได้บรรจุเป็นพนักงานประจำโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 เป็นต้นไป แต่ในปลายปี 2559 ได้พบว่าแรงงานหญิงกำลังตั้งครรภ์ จึงได้แจ้งหัวหน้างานรับทราบและทำงานตามปกติ จนกระทั่งเมื่อหัวหน้างานเห็นว่าพนักงานตั้งครรภ์ใหญ่ขึ้นจึงให้ไปทำงานในแผนกออฟฟิตเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2560 เพื่อป้องกันไม่ให้พนักงานและลูกในครรภ์ได้รับผลกระทบ และได้ใส่ชุดคลุมท้องในวันที่ 7 มีนาคม 2560 เป็นต้นมา ต่อมาวันจันทร์ที่ 20 มีนาคม 2560 เวลา 14.30น.ทางผู้จัดการฝ่ายบุคคล ได้เรียก แรงงานหญิงเข้าไปคุยพร้อมทั้งแจ้งว่า ประธานบริษัทฯรับทราบว่าแรงงานหญิงกำลังตั้งครรภ์ ดังนั้นขอให้เขียนใบลาออก วันนี้ขอให้เป็นการทำงานวันสุดท้าย โดยบริษัทฯจะจ่ายเงินช่วยเหลือ 3 เดือน ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน และเงินเดือนที่ทำค้างไว้อีก 1 เดือน โดยให้แรงงานหญิงเขียนใบลาออกโดยเป็นการสมัครใจ

โดยแรงงานหญิงไม่ต้องการที่จะลาออกจากงาน เพราะครอบครัวมีภาระค่าใช้จ่ายมากมายและยังตั้งครรภ์อยู่หากออกจากงานก็หางานใหม่ทำไม่ได้และมองว่าไม่ได้ทำผิดอะไร แต่ผู้จัดการฝ่ายบุคคลก็ยังยืนยัน และกดดันมากจนต้องเขียนใบลาออกในวันดังกล่าวด้วยความไม่เต็มใจ ในวันนี้จึงได้ร้องเรียนต่อกระทรวงแรงงานเพื่อให้ช่วยเหลือ ซึ่งกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก พื้นที่บ่อวิน มองว่า การกระทำดังกล่าวขัดกับหลักอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 183 ว่าด้วยสิทธิให้การคุ้มครองความเป็นมารดา และอาจขัดต่อกฎหมายแรงงาน ที่สำคัญ ยังขัดต่อนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันที่ส่งเสริมให้ประชาชนคนไทยมีบุตรเพิ่มขึ้นเนื่องจากจำนวนประชากรนับวัน จะลดน้อยลงเรื่อยๆจากข้อเท็จจริงตามที่กล่าวมาข้างต้นขอให้ท่านได้ดำเนินการเรื่องนี้โดยยึดหลัก ด้านมนุษยธรรม ความถูกต้องในการแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมให้กับแรงงานหญิงที่กำลังตั้งครรภ์และกับลูกน้อยที่อยู่ในครรภ์ได้เกิดมาลืมตาดูโลกด้วย

ทั้งนี้ทางอธิบดีสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน นายสุเมธ มโหสถ ได้ต่อสายตรงพูดคุยกับทางนายจ้างถึงปัญหาที่ให้แรงงานหญิงลาออกจากงานเนื่องจากตั้งครรภ์ เพื่อให้ทางบริษัทรับกลับเข้าทำงาน ล่าสุดบริษัทดังได้รับว่าจะ เรียกให้แรงงานหญิงคนดังกล่าวกลับเข้าทำงานดังเดิมแล้ว

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน