คสรท.ทวง 13 ข้อ แนวทางแก้ปัญหาแรงงาน ด้านความปลอดภัย

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ส่งหนังสือทวงรัฐ แก้ 13 ข้อปัญหาความปลอดในการทำงาน หลังยื่นมาร่วมเดือน

นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 7 ก.ค.ที่ผ่านมาได้ทำหนังสือทวงถาม เพื่อ ขอทราบผลการดำเนินการเนื่องในวันความปลอดภัยแห่งชาติ ต่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พล.ต.อ.อดุลย์  แสงสิงแก้ว หลังยื่นหนังสือเมื่อวันที่ 10 พ.ค.61จำนวน 13 ข้อ เพื่อดำเนินสร้างมาตรการและการแก้ไขปัญหาในเรื่องต่างๆ ซึ่งข้อเสนอทั้งหมดล้วนเป็นการส่งเสริม สนับสนุนนโยบายเรื่องความปลอดภัยตามนโยบายของรัฐบาล บัดนี้เป็นเวลา 1 เดือนผ่านไปแล้วยังไม่ทราบว่า ทางกระทรวงแรงงานดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวถึงไหนแล้ว ซึ่งเรื่องความปลอดภัยในการทำงานถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง แนวคิดในการกำหนดให้มีวันความปลอดภัยในการทํางาน และอาชีวอนามัยสากลนั้น ก็เพื่อเป็นวันที่มีการระลึกถึงแรงงานซึ่งบรรดาแรงงานในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาได้ริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2532 เพื่อรำลึกถึงคนงานที่เสียชีวิตและบาดเจ็บ โดยกำหนดให้เป็นวันที่ 28 เมษายนของทุกปี สมาพันธ์สหภาพแรงงานโลก(International Trade Union Confederation : ITUC (ICFTU ในเวลานั้น)) ได้ขยายผลของกิจกรรมนี้ในระดับโลก โดยได้เน้นการรณรงค์เพื่อความยั่งยืนในการทำงานและในที่ทำงาน ในปัจจุบัน เป็นวันระลึกถึงแรงงานผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บนานาชาติ (International Commemoration Day for Dead and Injured Workers) ได้กลายเป็นวันสำคัญในประเทศต่างๆ มากกว่า 100 ประเทศ

ต่อมาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้เริ่มให้มีการกำหนดวันความปลอดภัยในการทำงาน สากลในช่วงปี 2544 และ 2545 และได้กำหนดให้ “วันที่ 28 เมษายน เป็นวันความปลอดภัยและอาชีวอนามัยสากล” ครั้งแรกเมื่อปี 2546 ซึ่ง ILO ใช้วันดังกล่าวเพื่อการรณรงค์ส่งเสริมแนวคิดในการสร้างและก่อให้เกิดวัฒนธรรมความปลอดภัยในการทำงานและอาชีวอนามัยอย่างยั่งยืนจะเน้นการป้องกันอุบัติเหตุและปัญหาสุขภาพอนามัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ซึ่งยังคงเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายสำคัญเพื่อส่งเสริม “วัฒนธรรมเพื่อก่อให้เกิดความปลอดภัยในการทำงานและอาชีวอนามัย”

ประเทศไทยจากเหตุการณ์เพลิงไหม้โรงงานโรงงานผลิตตุ๊กตาของบริษัท เคเดอร์ อินดัสเตรียล (ไทยแลนด์) จำกัด ที่อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2536 เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิต 188 คน และบาดเจ็บกว่า 500 คน จากเหตุการณ์ดังกล่าว ขบวนการแรงงานได้ผลักดันให้รัฐบาลและภาคส่วนต่างๆได้ตระหนักและให้ความสำคัญต่อสุขภาพ อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน ต่อมาเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2540 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ “วันที่ 10 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ” ตามข้อเรียกร้องขององค์กรลูกจ้าง

นโยบายของรัฐบาลปัจจุบันภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องการให้ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยได้มีการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ มีการกำหนดวิสัยทัศน์ ไทยแลนด์ 4.0 และการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งในเรื่องของความปลอดภัยในการทำงานไม่ว่าจะเป็นงานประเภทใดย่อมถือเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาเข้าสู่งาน เข้าสู่การจ้างงานของทั้งในประเทศและต่างประเทศที่จะส่งคนเข้ามาทำงานในประเทศไทย และให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการที่จะเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยเพื่อสร้างให้ประเทศไทยเป็นบ้านเมืองที่มีความปลอดภัยและชีวอนามัยที่ดีตามนโยบาย Safety Thailand

“วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ”เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2561 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)ได้ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว เพื่อดำเนินสร้างมาตรการและการแก้ไขปัญหาในเรื่องต่างๆ จำนวน 13ข้อ และได้มีการประชุมหารือกันที่ห้องรับรองของรัฐมนตรี ซึ่งรัฐมนตรีรับปากต่อผู้แทนของ คสรท.ที่เข้าร่วมหารือในวันนั้นพร้อมทั้งให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนถึงภารกิจที่กำลังดำเนินการอยู่และแนวทางที่จะทำต่อไปในอนาคตข้างหน้าและ “ขอเวลา 1 เดือนที่จะทำให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้นรวมทั้งข้อเสนอที่ คสรท.เสนอมาทั้ง 13 ข้อ”ซึ่งข้อเสนอทั้งหมดล้วนเป็นการส่งเสริม สนับสนุนนโยบายเรื่องความปลอดภัยตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงใดๆตามข้อเสนอดังกล่าว ดังนั้นเพื่อยืนยันในเจตนารมณ์และเป้าหมายในเรื่องสุขภาพ ความปลอดภัยและชีวอนามัยในการทำงาน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)จึงขอทราบผลการดำเนินการในเรื่องต่างๆที่เสนอไปอีกทั้งเป็นการแสดงออกซึ่งความตั้งใจและจริงใจของ รัฐบาล กระทรวงแรงงาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในเรื่องสุขภาพ ความปลอดภัยและชีวอนามัยในการทำงาน

 

โดยข้อเรียกร้องทั้ง 13 ข้อ มีดังนี้

1.ขอให้ผู้เจ็บป่วยสามารถเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล เจ็บป่วย /บาดเจ็บจากการงาน จนกว่าแพทย์จะสิ้นสุดการรักษา / ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีประกาศปี 2558 ให้เบิกได้ถึง 2 ล้าน แต่เข้าถึงสิทธิได้ยาก

2.ให้รัฐออกนโยบาย แนวปฏิบัติ หรือกฎกระทรวงให้ชัดเจน ห้ามไม่ให้สถานประกอบการเบี่ยงเบนให้คนงานที่บาดเจ็บและเจ็บป่วยจากการทำงานไปใช้สิทธิอื่น เช่น ประกันสุขภาพหมู่ หรือ รักษาเอกชนโดยไม่ระบุว่าเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน มีบทลงโทษกรณีสถานประกอบการไม่ส่งเรื่องแจ้งคนงาน บาดเจ็บและเจ็บป่วยจากการทำงาน เข้ากองทุนเงินทดแทน

3.การประเมินการสูญเสียสิ้นสุดการรักษาต้องให้คนงานรักษาให้ถึงที่สุดจนหายดี และเงินประเมิน ต้องทดแทนให้คนงานที่สูญเสียอวัยวะ อยู่ได้อย่างไม่ลำบาก ตลอดชีพ

4.ขอให้คณะกรรมสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)หรือผู้แทนเข้าไปมีส่วนร่วมใน คณะกรรมการแพทย์ หรือ คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน

5.ให้รัฐจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดกิจกรรมรณรงค์ สร้างจิตสำนึก ให้ความรู้เรื่องความปลอดภัยเนื่องใน “วันความปลอดภัยแห่งชาติ” ทุกปี เฉกเช่นเดียวกับวันแรงงานแห่งชาติ โดยพิจารณาจัดสรรให้แก่องค์กรของคนงานที่มีการทำงานและผลงานอย่างต่อเนื่อง

6.ให้คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)หรือผู้แทนเข้าเป็นคณะกรรมการ(บอร์ด)สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ อย่างน้อย 1 คนในฐานะองค์กรผลักดัน

7.ขอให้รัฐยกเลิกการใช้แร่ใยหินทุกรูปแบบ

8.ขอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอ พร้อมทั้งบุคลากร อุปกรณ์ เครื่องมือให้แก่ “สถาบันความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน” และบริหารจัดการให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล มีคุณธรรม การบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม มีความโปร่งใส มีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ มีความรับผิดชอบในภารกิจเข้มงวด ใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า ทั้งในเรื่อง การให้ความรู้ การป้องกัน การรักษา การเยียวยาและการฟื้นฟู เพื่อให้คนที่ประสบเหตุสามารถดำเนินชีวิตในสังคมต่อไปได้ รวมทั้งการบริหารการจัดการ ขอให้คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)หรือผู้แทนเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารและการตัดสินใจ

9.การตรวจสุขภาพประจำปีให้มีการตรวจแบบอาชีวเวชศาสตร์และต้องตรวจทุกคน แจ้งผลให้คนงานทราบ โดยมีสมุดพกประจำตัวการตรวจสุขภาพให้ลูกจ้างทุกคน

10.ให้รัฐตรวจสอบสถานประกอบการทุกแห่ง ให้มีนโยบายปลอดภัย และมีคนปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยอย่างจริงจังและมีส่วนร่วมจากคนงานในสถานประกอบการนั้น โดยให้คณะกรรมการความปลอดภัยมาจากองค์กรของลูกจ้างหากสถานประกอบการใดไม่มีให้คนงานเลือกตั้งกันเอง

11.ขอให้รัฐเร่งออกกฎหมายโรคจากการประกอบอาชีพ

12.ขอให้รัฐจัดให้มีคลินิกวินิจฉัย รักษาโรคจากการทำงาน ทุกพื้นที่อุตสาหกรรม ที่มีระดับมาตรฐานเท่าเทียมกัน สามารถวินิจฉัยโรคได้ ที่สำคัญเมื่อวินิจฉัยคนงานว่าเจ็บป่วย / บาดเจ็บจากการทำงานแล้ว คณะกรรมการแพทย์ต้องยึดเป็นเกณฑ์ในการให้สิทธิกองทุนเงินทดแทน

13.ขอให้มีแพทย์ด้านอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมประจำทุกโรงพยาบาล
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อเสนอเพื่อการปฏิรูประบบและกลไกรวมทั้งการบริหารจัดการเรื่องความปลอดภัยจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดั่งที่รัฐบาลประกาศนโยบาย “Safety Thailand”ให้เป็นวาระแห่งชาติข้อเสนอทั้งหมดเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้นโยบายดังกล่าวไปสู่เป้าหมายเรื่องความปลอดภัยของคนทำงาน