คสรท.ชวนฟังรายงานวิจัยการจ้างงานที่ไม่มั่นคง

Untitled-4

นักวิจัยแรงงาน คสรท. เชิญชวนร่วมรับฟังเสนอรายงานวิจัยการจ้างงานที่ไม่มั่นคงใน 3 ภาคอุตสาหกรรม และร่วมประมวลสถานการณ์แรงงานในรอบปี 2556

สืบเนื่องจากที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)ได้จัดทำยุทธศาสตร์สู่ทศวรรษใหม่ เพื่อพัฒนาความเข้มแข็งขององค์กรทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ให้มีขีดความสามารถในการจัดการกับปัญหาแรงงานทุกรูปแบบ โดยกำหนดมาตรการหลักประการหนึ่งในการเสริมสร้างความเข้มแข็งเชิงปริมาณ ได้แก่ การจัดตั้ง (ยุทธศาสตร์ที่ 3) ส่วนมาตรการหลักในการสร้างความเข้มแข็งเชิงคุณภาพได้แก่ การควบรวมสหภาพแรงงานเป็นสหภาพอุตสาหกรรม การพึ่งตนเองทางการเงิน และการพัฒนาบุคลากร (ยุทธศาสตร์ที่ 4) เป็นต้น

ในการจัดประชุมเสวนาของคณะกรรมการกำกับยุทธศาสตร์ชุดที่ 3 เรื่องการจัดตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2556 พบว่า คนงานจากหลายภาคส่วนประสบปัญหาประการหนึ่งที่คล้ายคลึงกัน คือ การจ้างงานที่ไม่มั่นคงหรือการจ้างระยะสั้น เช่น การจ้างเหมาช่วง ซึ่งมีอยู่ในทุกภาคอุตสาหกรรม ทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ รวมทั้งในหน่วยงานราชการ คนงานกลุ่มนี้มีเป็นจำนวนมาก แต่ คสรท. ยังไม่มีข้อมูลและมาตรการที่ชัดเจนในการจัดตั้ง ทั้งที่เป็นกลุ่มที่มีความใกล้ชิดกับสหภาพแรงงานอยู่แล้วในระดับหนึ่ง น่าจะมีศักยภาพในการจัดตั้งได้ง่าย จึงเห็นว่าถ้ามีข้อมูลที่ชัดเจนมากขึ้น จะสามารถนำมาใช้ในการกำหนดมาตรการในการจัดตั้งต่อไป

Untitled-1Untitled-2

ทางคณะกรรมการกำกับยุทธศาสตร์ที่สามได้ปรึกษากับมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) และร่วมกันจัดทำโครงการวิจัยนี้ขึ้นมาในระหว่างเดือนสิงหาคม – พฤศจิกายน 2556

อีกประการหนึ่งที่สำคัญ คือ ในรอบปี 2556 ที่ผ่านมา พบว่า รัฐบาลที่นำโดยนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน คือ นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ และร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง ไม่มีท่าทีที่ชัดเจนต่อการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานด้านต่างๆที่เกิดขึ้น มิพักยังปล่อยให้สถานการณ์ในหลายพื้นที่เลวร้ายลงและปล่อยให้เป็นการแก้ไขปัญหาระหว่างลูกจ้างกับนายจ้างโดยตรง โดยเฉพาะในกรณีการปล่อยให้มีการจ้างงานที่ไม่มั่นคงในภาคอุตสาหกรรมหลายๆแห่ง นี้ไม่นับในระดับนโยบายที่พบว่ารัฐบาลไทยยังไม่รับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 การที่รัฐสภาไม่รับร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม ฉบับ 14,264 รายชื่อ การประกาศใช้ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ที่มาพร้อมกับการตัดสวัสดิการลูกจ้างและไม่ครอบคลุมแรงงานอีกหลายๆกลุ่ม การล้มสหภาพแรงงาน ความไม่ปลอดภัยจากการย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติ เป็นต้น เหล่านี้คือสถานการณ์ที่ปรากฏชัดในรอบปี 2556 ที่ผ่านมา ซึ่งต้องการการระดมความคิดเห็นร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การกำหนดท่าทีและมาตรการของ คสรท. ต่อรัฐบาลต่อไป

ทั้งนี้เวทีดังกล่าวนี้จะจัดขึ้นในวันอังคารที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2556 เวลา 10.00 – 18.00 น. ณ ห้องประชุมศุภชัย ศรีสติ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย มักกะสัน กรุงเทพฯ

โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ 4 ประการ คือ

1. เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และผลงานวิจัยของนักวิจัยแรงงานเรื่องการจ้างงานที่ไม่มั่นคง อันจะนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงองค์กรแรงงานหรือเชิงพื้นที่อุตสาหกรรมต่อไป

2. เพื่อเปิดพื้นที่การแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ เกี่ยวกับผลการวิจัย ระหว่างนักวิจัยแรงงานและแกนนำแรงงานในแต่ละพื้นที่

3. เพื่อระดมความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมเกี่ยวกับแนวทางและมาตรการที่เป็นรูปแบบในการแก้ไขปัญหาการจ้างงานที่ไม่มั่นคงในบางภาคอุตสาหกรรม และข้อเสนอต่อการจัดตั้ง

4. เพื่อร่วมประมวลสถานการณ์แรงงานในรอบปี 2556 และท่าทีของรัฐบาลต่อการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว
ทางคณะกรรมการกำกับยุทธศาสตร์ที่สามจึงขอเรียนเชิญองค์กรสมาชิกในคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และผู้สนใจเข้าร่วมงานนี้ตามวันและเวลาดังกล่าว โดยมีกำหนดการที่น่าสนใจ ดังนี้

Untitled-34

ช่วงที่ 1 : 10.00 – 15.00 น. : เวทีนำเสนอผลงานวิจัยแรงงาน

10.00 – 10.15 น. กล่าวต้อนรับและชี้แจงวัตถุประสงค์การประชุม โดยนายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

10.15 – 10.30 น. แนะนำที่มาที่ไปของโครงการวิจัยแรงงาน คสรท.เรื่องการจ้างงานที่ไม่มั่นคง โดยนายยงยุทธ เม่นตะเภา เลขาธิการ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

10.30 – 10.45 น. ทบทวนสถานการณ์และงานศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานที่ไม่มั่นคงในช่วงที่ผ่านมา
– สถานการณ์ของโลกาภิวัตน์กับการจ้างงานที่ยืดหยุ่น การปรับตัวของทุนนิยมเพื่อลดต้นทุนการผลิต
– นโยบายรัฐไทยต่อการสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานที่ยืดหยุ่น แต่ไม่คุ้มครองแรงงาน
– ข้อจำกัดของกฎหมายที่มีอยู่
– มีใครศึกษาประเด็นนี้มาแล้วบ้าง ได้ผลอย่างไร และงานวิจัยนี้จะไปต่อยอดจากงานเดิมอย่างไร

โดย นางสาวบุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ นักวิจัย

10.45 -12.00 น. นำเสนอข้อมูลวิจัยสถานการณ์การจ้างงานที่ไม่มั่นคงภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ และภาคอุตสาหกรรมอิเลคทรอนิคส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า โดย นายประสิทธิ์ ประสพสุข นักวิจัย ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ยาง และเคมีภัณฑ์ โดย นายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย นักวิจัย

12.00 – 12.30 น. ร่วมแลกเปลี่ยน อภิปราย และนำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้สมบูรณ์
12.30 -13.30 น. รับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน

13.30 – 15.00 น. ร่วมระดมความคิดเห็น “สถานการณ์การจ้างงานไม่มั่นคงในอีก 5 ปีข้างหน้า” และทางออกของ “สหภาพแรงงาน” นำคุยโดยทีมนักวิจัยแรงงาน

ช่วงที่ 2 : 15.00 – 17.30 น. : เวทีประมวลสถานการณ์แรงงานในรอบปี 2556

ดำเนินการโดย : นายวิสุทธิ บุญญะโสภิต ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) อดีตผู้อำนวยการสำนักสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ประเด็นระดมความคิดเห็น
– รู้จักสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เครื่องมือในการ “สานพลัง สร้างสุขภาวะแรงงาน”
– ร่วมระดมสถานการณ์เด่น – สถานการณ์ด้อย ต่อการคุ้มครองและเข้าถึงสิทธิแรงงานในรอบปี 2556
– ข้อเสนอต่อรัฐบาลและกระทรวงแรงงาน

ช่วงที่ 3: 17.30 – 18.00 น. : สรุปผลการประชุมโดยคุณยงยุทธ เม่นตะเภา ประธานยุทธศาสตร์ที่ 3