คสรท.ค้านค่าจ้างไม่เป็นธรรม ยื่นทบทวนพร้อมควบคุมราคาสินค้า

%e0%b8%84%e0%b9%88%e0%b8%b2%e0%b8%88%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%87

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ยื่นนายกให้ทบทวนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เสนอให้ปรับเท่ากันทั่วประเทศ จัดทำโครงสร้างค่าจ้างในสถานประกอบการ และควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค

วันนี้ (26 ต.ค.59) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)พร้อมองค์กรสมาชิกกลุ่มต่างๆในพื้นที่ย่าน สระบุรี ชลบุรี รังสิต ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ และสมุทรสาคร เข้ายื่นหนังสือถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่อง “ขอให้ทบทวนและพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2560 ให้เท่ากันทั่วประเทศ” ผ่านทางนายพีระ ทองโพธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)

นายชาลี ลอยสูง รักษาการประธานคสรท.กล่าวว่า การที่มายื่นเรื่องครั้งเนื่องจากทางคสรท.ไม่เห็นด้วยในการที่คณะกรรมการค่าจ้างกลางมีการประกาศปรับขึ้นค่าจ้างที่ไม่เท่ากันทั่วประเทศ โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือปรับขึ้น 10 บาท 7 จังหวัด ปรับขึ้น 8 บาท 13 จังหวัด ปรับขั้น 5 บาท 49 จังหวัด และกลุ่มสุดท้ายคือไม่ปรับขึ้นเลย 8 จังหวัด ซึ่งประกอบด้วยสิงห์บุรี ชุมพร นครศรีธรรมราช ตรัง ระนอง นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ซึ่งทางคณะกรรมการสมานฉันแรงงานไทยไม่เห็นด้วยกับแนวคิดการเลือกปฏิบัติในการปรับขึ้นค่าจ้างแบบไม่เป็นธรรมต่อผู้ใช้แรงงานด้วยทุกพื้นที่มีค่าครองชีพที่ไม่ต่างกันในด้านสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างแน่นอน

20161007_094124

นายชาลีกล่าวอีกว่าคสรท. จึงมีข้อเสนอรวม 3 ข้อต่อรัฐบาล ดังนี้ 1. ค่าจ้างต้องเท่ากันทั่วประเทศ ซึ่งประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีค่าจ้างขั้นต่ำ และเท่ากันทั่วประเทศถือว่าทำดีแล้วก็อยากให้ใช้มาตรฐานที่ดีนี้ต่อไปคือเน้นความเป็นธรรม และเท่าเทียม

2. ให้รัฐบาลมีนโยบายโครงสร้างค่าจ้างที่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่ต้องมีการปรับขึ้นค่าจ้างประจำปีทุกสถานประกอบการ ซึ่งอาจต้องมีการปรับแก้กฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับปัจจุบันให้สถานประกอบการทุกที่มีการจัดทำโครงสร้างค่าจ้างให้กับลูกจ้าง เนื่องจากมีสถานประกอบการจำนวนมากที่ยึดโยงกับการประกาศปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ คือหากมีการปรับขึ้นค่าจ้างก็จะปรับตามหากไม่มีการปรับก็ไม่ปรับค่าจ้างเลยส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน

3. คือรัฐบาลต้องมีมาตรการควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของประชาชนอันนำไปสู่การสร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเป้าหมายในการพัฒนาที่สำคัญของประเทศให้บรรลุความเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนด้วย เพราะว่าทุกวันนี้พอมีกระแสปรับขึ้นค่าจ้างแต่ละครั้งไม่ว่าจะเป็นรัฐวิสาหกิจ ข้าราชการ ราคาค่าครองชีพก็ปรับตัวขึ้นทุกครั้งซึ่งทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำปรับอย่างไรก็ตามทันค่าครองชีพ เป็นต้น

“อยากให้นายกรัฐมนตรีเห็นใจผู้ใช้แรงงานด้วยเนื่องจากข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ได้รับการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างเท่ากันทั่วประเทศแบบเท่าเทียมแล้ว แต่ส่วนของผู้ใช้แรงงานซึ่งถือว่าเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจยังไม่ได้ถูกมองให้เกิดความเท่าเทียม การมาของพวกเราครั้งนี้ก็เพยงแค่ยื่นหนังสือเพื่อให้รัฐบาลทราบถึงความเดือดร้อน ไม่ได้เป็นการเคลื่อนไหวอะไร เพราะพวกเราก็คำนึงถึงประเทศชาติพี่น้องประชาชนที่กำลังโศกเศร้าด้วยกันอยู่จึงมากันไม่กี่คน ซึ่งการประกาศปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ไม่เป็นธรรมจริงๆอยากให้เห็นใจพี่น้องผู้ใช้แรงงานด้วย ” นายชาลี กล่าว

%e0%b8%84%e0%b9%88%e0%b8%b2%e0%b8%88%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%87-2

ทั้งนี้มติการประกาศปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของคณะกรรมการค่าจ้างเมื่อวันที่ 19 ตุลาคมมีดังนี้

ที่ประชุมบอร์ดค่าจ้าง มีมติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี2560 ขึ้นอีกระหว่าง5-10บาท ทั่วประเทศ ใน 4 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ไม่ปรับค่าจ้างเลย ใน 8 จังหวัด คือ สิงค์บุรี ชุมพร นครศรีธรรมราช ตรัง ระนอง นราธิวาส ปัตตานี และยะลา

กลุ่มที่ 2 มติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่ม 5 บาท เป็น 305 บาทต่อวัน ประกอบด้วย 49 จังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน ลำปาง น่าน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี เพชรบุรี พัทลุง สตูล กำแพงเพชร พิจิตร แพร่ เพชรบูรณ์ อุทัยธานี สกลนคร กาฬสินธุ์ มหาสารคราม ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ สุรินทร์ อำนาจเจริญ ชัยนาท ลพบุรี นครนายก สระแก้ว ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม จันทรบุรี ตราด ลำพูน พะเยา สุโขทัย อุตรดิตถ์ บึงกาฬ นครพนม อุบลราชธานี อ่างทอง เลย หนองบัวลำพู มุกดาหาร ยโสธร เชียงราย พิษณุโลก อุดรธานี ชัยภูมิ ศรีสะเกษ นครสวรรค์ และหนองคาย

กลุ่มที่ 3 ที่ประชุมมีมติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่ม 8 บาท เป็น 308 บาทต่อวัน จำนวน 13 จังหวัด คือ ขอนแก่น นครราชสีมา ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง สุราษฎร์ธานี สงขลา เชียงใหม่ สระแก้ว สระบุรี ฉะเชิงเทรา กระบี่ พังงา และพระนครศรีอยุธยา

กลุ่มที่ 4 มีมติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่ม 10 บาท เป็น 310 บาท จำนวน 7 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และภูเก็ต โดยค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่ในวันที่ 1 มกราคม2560 เป็นต้นไป

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน