คสรท.กับสรส. เสนอ 12 ข้อ แก้ปัญหาแรงงานกว่า 8 แสนคน ผลกระทบจากโควิด-19

 

คสรท.ยื่นข้อเสนอต่อรัฐขอให้เร่งช่วยเหลือเยียวยาลูกจ้างซึ่งอยู่ในระบบประกันสังคมที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐบาลกรณีเร่งด่วน จำนวน 12 ข้อ หลังมีแรงงานร้องทุกข์กว่า 8 แสนคน

ในวันที่ 23 เมายน 2563 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล นำโดยนายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และนายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.)

นายชาลี ลอยสูง ได้แถลงว่า ความคืบหน้าที่คสรท.และสรส.ได้ตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ตั้งแต่วันที่ 7-22 เมษายน 2563 ซึ่งจัดตั้ง 14 พื้นที่ จากการที่มีการจัดตั้งศูนย์ มีผู้ได้รับการผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 จำนวน 880,212 คน ประเด็นปัญหาที่พบคือ การใช้มาตรา 75 และปัญหาไม่ว่าจะเป็นพนักงานซับคอนแทรค การปลดออกเลิกจ้างการส่งคืนต้นสังกัด จ่ายสิทธิประโยชน์ไม่ครบ ปิดกิจการโดยไม่ใช้มาตรา 75 ประเด็นร้องทุกข์เกี่ยวกับการสาธารณสุข เกี่ยวกับชุดป้องกันโรค ให้แก่บุคคลากรทางการแพทย์ ทำงานมากกว่าปกติที่กำหนด ประเด็นประกันสังคมยนายจ้างหักเงินแล้วไม่นำส่ง และเหตุสุดวิสัยที่นายจ้างหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าจ้าง75%

คสรท. และสรส.ได้มีการนำข้อเสนอเบื้องต้นมาเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.) และปลัดกระทรวงแรงงาน ทั้งหมด 12 ข้อ เกี่ยวกับการให้ยกเลิกการจ้างงานที่ไม่มั่นคง รัฐบาลต้องนำเงินสมทบที่ค้างจ่ายอยู่ 95,000 กว่าล้านบาท นำมาคืนสำนักงานประกันสังคม รัฐบาลต้องจ่ายเงินสมทบประกันสังคม 5% จากการที่จ่ายอยู่ 2.75% การหยุดงานสุดวิสัยให้รัฐบาลจ่าย 75% ห้ามนำเงินชราภาพมาจ่ายเป็นเงินกองทุนว่างงาน เสนอแก้ไขกฎหมายประกันสังคม เพราะตอนนี้พนักงานหมดสัญญาจ้างไม่ถือว่า เป็นการเลิกจ้าง ให้รัฐมนตรีประกาศให้ทั่วประเทศ กรณีที่มีข้อพิพาทแรงงาน นายจ้างปิดงาน ห้ามลูกจ้างนัดหยุดงาน ให้ครส.(คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์)เป็นผู้ชี้ขาด รัฐต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด กรณีที่นายจ้างละเมิดสิทธิแรงงาน จ่ายเงินไม่ครบ เลิกจ้างไม่เป็นธรรม ผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 รัฐต้องช่วยเหลือเรื่องค่าน้ำค่าไฟ ประมาณ 50% เป็นระยะเวลา 6 เดือน รัฐต้องควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของประชาชนให้อยู่ในราคาที่เป็นธรรม รัฐต้องประกาศยกเว้นกรณีพิเศษ เรื่องสหภาพแรงงานในช่วงที่เกิดโรคระบาดที่จะดำเนินตามระเบียบของสหภาพแรงงานได้ เช่น การประชุมใหญ่ ประชุมสามัญประจำปี สุดท้ายกรณีที่นายจ้างปิดงานลูกจ้างที่ส่งเงินประกันสังคมครบ 180 เดือน ให้ได้รับเงินชราภาพ เมื่ออายุครบ 45 ปี

อันนี้เป็นข้อเสนอเบื้องต้น ซึ่งทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้รับข้อเสนอไปและสั่งการให้เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน ซึ่งได้มีข้อเสนอหว่าหากเป็นไปได้ให้มีการตั้งคณะกรรมการทำงานเฉพาะกิจขึ้นมา เพื่อช่วยกันป้องกันแก้ไขในกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นได้ทันถ่วงทีและเฉพาะหน้าด้วย

นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสรส. กล่าวว่า การเปิดศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์มีการร้องทุกข์เข้ามาจำนวนมากจากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการรวบรวมของคสรท. จึงได้มีการนำข้อเสนอมาเพื่อให้ทางกระทรวงแรงงานแก้ไขปัญหาดังกล่าว เป็นการช่วยรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา ด้วยสถานการณ์ไม่ปกติตอนนี้ ปัญหาเลิกจ้าง ว่างงานผลกระทบต่างๆ ถูกนายจ้างอ้างว่า เป็นเหตุสุดวิสัยตามที่รัฐบาลประกาศหมด เมื่อเป็นเช่นนั้นนายจ้างก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าจ้าง ซึ่งเดิมมาตรา 75 คุ้มครองแรงงานให้จ่าย 75% ซึ่งจะมีเหตุผล การได้รับผลกระทบจริงหรือไม่เราไม่ทราบ เพราะนายจ้างกระทำการอ้างฝ่ายเดียวว่า เป็นภัยพิบัติโควิด-19 และให้คนงานท้ายสุดไปพึ่งประกันสังคม โดยกระทบถึงการเก็บเงินพักงานทุกเดือนแต่ไม่นำส่งเงินสมทบประกันสังคมก็มี พอไปใช้สิทธิก็ใช้ไม่ได้ และอุตสาหกรรมการบินทั้งหมดก็หยุดการบิน และส่งผลกระทบต่อพนักงานจำนวนมากไม่ทราบอนาคตว่า จะเลิกจ้างหรือให้ทำงานต่อไป และท้ายสุดวันนี้ ค่าจ้างได้รับไม่เต็มร้อยจะเรียกร้องก็ไม่ได้ สถานการณ์โควิด-19ไม่จบในเร็ววัน และปัญหาความเดือดร้อนลากยาว คนก็จะมาที่กระทรวงแรงงาน ภาครัฐต้องมีการตั้งกลไกพิเศษขึ้นมาเพื่อมีการช่วยกันดูแลด้วย โดยเรายินดีฝฃให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ยื่นหนังสือ เรื่องขอให้เร่งช่วยเหลือเยี่ยวยาลูกจ้างซึ่งอยู่ในระบบประกันสังคมที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐบาลกรณีเร่งด่วน โดยได้มีการยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์  ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจํานายกรัฐมนตรี  โดยมีข้อเสนอดังนี้

  1. ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานใช้อำนาจตามมาตรา36 แห่ง พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ห้ามมิให้นายจ้างปิดงาน และลูกจ้างนัดหยุดงานทั่วราชอาณาจักร กรณีที่มีการปิดงาน หรือนัดหยุดงานอยู่ก่อน ขอให้สั่งให้นายจ้างที่ปิดงานรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานตามปกติ โดยเร็วในทันที
  2. ขอให้รัฐบาลปฏิบัติตามมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม เพื่อการจ่ายสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตน ซึ่งรัฐบาลยังไม่ปฏิบัติให้ถูกต้อง กล่าวคือ เมื่อสิ้นปี พ.ศ.2561 รัฐบาลยังไม่ได้นำเงินเงินสมทบจำนวน 95,989,000.000 ล้านบาท (ปัจจุบันอาจมีจำนวนมากกว่านี้) โดยรัฐบาลจะต้องจ่ายสมทบเข้ากองทุนตามที่กฎหมายกำหนด และรัฐบาลต้องจ่ายสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ส่วนของรัฐให้เท่ากันกับนายจ้าง และลูกจ้าง จำนวนร้อยละ 5
  3. กรณีที่ผู้ประกันตนในมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ยังไม่ครบตามระยะเวลาที่ประกันสังคมกำหนด ต้องจ่ายไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท เป็นระยะเวลา ไม่น้อยกว่า 6 เดือน
  4. กรณีนายจ้างปิดงาน หรือลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้ เนื่องจากเป็นเหตุสุดวิสัย ขอให้จ่ายค่าจ้าง 75 % ของค่าจ้าง ก่อนถูกปิดงาน หรือไม่สามารถทำงานได้
  5. ขอให้รัฐบาลลดค่าน้ำ ค่าไฟ คนละ 1,000 บาท ให้กับลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ และให้มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน จนกว่าจะพ้นวิกฤตโรคโควิด-19
  6. ขอให้สถาบันการเงิน พักชำระหนี้โดยไม่คิดดอกเบี้ย กรณีที่กำลังผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ตลอดระยะเวลาจนกว่าจะพ้นวิกฤตโรคโควิด-19
  7. ขอให้รัฐบาลช่วยเหลือค่าเช่าบ้านผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคม และประชาชนทั่วไปรายละ 2,000 บาทต่อเดือน
  8. ขอให้รัฐบาลระงับการนำเงินกองทุนชราภาพไปจ่ายชดเชยกองทุนประกันการว่างงาน กรณีกองทุนประกันว่างงานหมดลง โดยรัฐบาลต้องจ่ายเงินอุดหนุนตามมาตรา 24 ซึ่งเงินกองทุนดังกล่าวมี วัตถุประสงค์เพื่อความมั่นคงในชีวิตของคนงาน
  9. ขอให้รัฐบาลควบคุมราคาสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของประชาชน หรือจัดจำหน่ายสินค้าราคาถูกให้กับประชาชนในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19

ด้วยเหตุผลจำเป็นเร่งด่วนดังที่กล่าวมาข้างต้น คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และเครือข่ายแรงงานจึงเรียกร้องมาเพื่อเข้าพบนายกรัฐมนตรี ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อให้นำข้อเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องประกอบการพิจารณาดำเนินการช่วยเหลือเยี่ยวยา เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมโดยด่วน

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน