ครม.เห็นชอบร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับใหม่

มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 15 สิงหาคม 2560 พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้แถลงว่า ครม.ได้มีมติเห็นชอบร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)คุ้มครองแรงงาน  ซึ่งมีการแก้ไขเนื้อหา โดยคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานศาลยุติธรรมและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปประกอบพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

โดยสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่มีการเพิ่มเติมแก้ไขดังนี้

1. กำหนดเพิ่มเติมนิยาม “ค่าตอบแทน” ในมาตรา 5 หมายถึงเงินที่นายจ้างให้แก่ลูกจ้างเป็นค่าตอบแทนการทำงาน นอกจากค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงาน ในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด

2. กำหนอัตราดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ของค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าตอบแทน และเงินกรณีนายจ้างหยุดกิจการ เพื่อให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15

3. กำหนดให้การเปลี่ยนตัวนายจ้างต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างและให้นายจ้างใหม่ รับไปทั้งสิทธิหน้าที่

4. กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง

5. กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิลากิจธุระอันจำเป็นปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 3 วัน ทำงาน และกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นหนึ่งไม่น้อยกว่าสามวันทำงาน

6. กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์มีสิทธิลาเพื่อตรวจครรภ์ในระหว่างตั้งครรภ์ได้ โดยเมื่อรวมกับการลาเพื่อคลอดบุตรแล้วครรภ์หนึ่งไม่เกินเก้าสิบวัน และกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงในวันลาเพื่อตรวจครรภ์และเพื่อคลอดบุตรเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกินสี่สิบห้าวัน

7. กำหนดอัตราค่าชดเชยเพิ่มเติมกรณีนายจ้างเลิกจ้างสำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป ให้มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วันสุดท้าย

8. กำหนดให้การย้ายสถานประกอบกิจการให้รวมถึงการย้ายไปที่ซึ่งนายจ้างมีสถานประกอบกิจการอยู่แล้วด้วย และให้นายจ้างแจ้งกำหนดการย้ายสถานประกอบกิจการให้ลูกจ้างทราบตามแบบที่อธิบดีกำหนด

9. กำหนดให้เวลาการจ่ายค่าชดเชยพิเศษหรือค่าชดเชยพิเศษแทน การบอกกล่าวล่วงหน้าให้ แก่ลูกจ้างโดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่สัญญาจ้างสิ้นสุด

10. กำหนดให้การดำเนินคดีอาญาต่อนายจ้างเป็นอันระงับไปหากนายจ้างปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการสวัสดิการแรงงาน หรือกรณีนายจ้างนำคดีไปสู่ศาล และได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแล้ว

11. กำหนดให้การดำเนินคดีอาญาต่อนายจ้างเป็นอันระงับไปกรณีที่นายจ้างปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ภายในระยะเวลาที่กำหนด

12. กำหนดบทบัญญัติกำหนดโทษให้สอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 17 วรรคสี่ กรณีจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ากรณีเลิกจ้างให้กับลูกน้อง มาตรา 23 วรรคสอง กรณีการจ่ายค่าตอบแทนลูกจ้างเมื่อทำงานเกินวันละ 8 ชั่วโมง มาตรา 55/1 กรณีนายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็น มาตรา 118/1 กรณีเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุเกษียณอายุ

13. แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 155/1 โดยกำหนดยกเลิกขั้นตอนในการให้พนักงานตรวจแรงงานมีหนังสือแจ้งเตือนนายจ้างกรณีไม่ยื่นหรือไม่แจ้งแบบแสดงสภาพการจ้างและการทำงาน เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการดำเนินคดีนายจ้างกรณีไม่ยื่นหรือไม่แจ้งแบบแสดงสภาพการจ้างงานและการทำงานได้รวดเร็วขึ้นและเป็นการลดค่าใช้จ่ายกรณีจัดทำหนังสือเตือน

(สามารถอ่านเนื้อหาร่าง พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่..) พ.ศ. ….ที่นี่labourProtection_draft15082560 )