คนงานโฮยา-ริโก้ ยื่นหนังสือฑูตญี่ปุ่นแก้เลิกจ้างไม่เป็นธรรม

คนงานโฮยา-ริโก้ ยื่นหนังสือฑูตญี่ปุ่นแก้เลิกจ้างไม่เป็นธรรม

เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 09.30 น. พนักงานบริษัทโฮยากลาสดิสค์ (ประเทศไทย) จำกัด อยู่ที่นิคมอุตสาหกรรม จ.ลำพูน  และพนักงานบริษัท ริโก้ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด อยู่ที่นิคมอมตะซิตี้ จ.ระยอง  ประมาณ 30 คน นำโดยนายชาลี ลอยสูงประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย  ไปร่วมยื่นหนังสือต่อเอกอัครราชฑูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เพื่อขอให้เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นดำเนินการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบแก้ไขปัญหา  เนื่องจากบริษัททั้ง 2 แห่งได้เลิกจ้างคนงานอย่างไม่เป็นธรรม

หนังสือร้องเรียนของสหภาพแรงงานอิเลคทรอนิคส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ (สออส.)ระบุว่า  บริษัทโฮยากลาสดิสค์   ได้มีการเลิกจ้างพนักงานโรงงาน 2  ประมาณ 1,600 คน โดยจ่ายค่าจ้าง 75% ก่อน แล้วมีหนังสือเลิกจ้างตามไปที่บ้าน  ซึ่งในโรงงานดังกล่าวมีสมาชิกสหภาพแรงงานจำนวนมาก   ก่อนหน้านี้ก็ได้มีการย้ายกรรมการสหภาพแรงงานจำนวน 4 คน ไปรวมกันที่โรงงาน 2  ทำให้มีกรรมการ 19 คนจากทั้งหมด 28 คน ถูกเลิกจ้างไปด้วย  โดยบริษัทฯให้เหตุผลว่า ประสบสภาวะขาดทุนและได้รับผลกระทบจากวิกฤติอุทกภัยในช่วงที่ผ่านมา   ซึ่ง ก่อนหน้านี้ทางบริษัทมีแผนการปรับลดพนักงานอยู่แล้ว  และน้ำก็ไม่ได้ท่วมโรงงานโฮยากลาสดิสค์ จ.ลำพูน แต่อย่างใด  ทางบริษัทฯมีโครงการให้พนักงานสมัครใจลาออกและจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย   แต่การเลิกจ้างครั้งนี้  สหภาพเห็นว่าไม่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ไม่ให้มีการเลิกจ้างพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วม  อีกทั้งการเลิกจ้างในครั้งนี้เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และละเมิดสิทธิในการรวมตัวของคนงาน ซึ่งขัดต่ออนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ  ILO 87-98  และ แนวปฏิบัติขององค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD  โดยตัวแทนของ  ซึ่งทางสหภาพฯ จะดำเนินการต่อสู้ต่อไป

ส่วนบริษัท ริโก้ แมนูแฟคเจอริ่ง  มีการเลิกจ้างพนักงานที่เป็นตัวแทนเจรจาข้อเรียกร้องและผู้ที่ลงลายมือชื่อยื่นข้อเรียกร้อง รวมทั้งผู้ก่อตั้งสหภาพแรงงาน  โดยตัวแทนของพนักงานบอกว่า  การเลิกจ้างครั้งนี้เป็นการเลิกจ้างพนักงานที่เป็นตัวแทนเจรจาข้อเรียกร้องและผู้ที่ลงลายมือชื่อที่ยื่นข้อเรียกร้อง และผู้ก่อตั้งสหภาพแรงงาน  การกระทำของบริษัทฯเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย ตามพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 มาตรา 31 เมื่อได้มีการแจ้งข้อเรียกร้องตามมาตรา 13 แล้ว ถ้าข้อเรียกร้องนั้นยังอยู่ในระหว่างการเจรจา การไกล่เกลี่ย หรือการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานตามมาตรา 13 ถึงมาตรา 29 ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างหรือโยกย้ายหน้าที่การงานลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง กรรมการ อนุกรรมการ หรือสมาชิกสหภาพแรงงาน หรือกรรมการ หรืออนุกรรมการสหพันธ์แรงงานซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง….

ภายหลังจากยื่นหนังสือที่สถานทูตญี่ปุ่น  พนักงานทั้ง 2 แห่งก็ได้มีการประชุมกันที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยโดยได้ข้อสรุปดังนี้

1.ให้พนักงานที่ถูกเลิกจ้างไปยื่น ครส. และแจกเอกสารเพื่อประชาสัมพันธ์ให้บุคคลภายนอกรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น

2.ขอการสนับสนุนจาก เครือข่ายกู๊ดอิเลคทรอนิคส์ ทั้งสากลและในประเทศไทยรวมทั้งคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

3.ต้องสร้างแรงกดดันในเชิงสัญลักษณ์เพื่อให้สื่อกระแสหลักมาทำข่าว  อาจมีการเดินขบวนไปที่กระทรวงแรงงาน

4.ต้องมีจุดยืนของตนเองและต้องไม่ทิ้งให้กรรมการและสมาชิกที่ทำงานข้างในอยู่อย่างเงียบๆ ต้องส่งข่าวและกระตุ้นให้เขามาร่วมกับคนข้างนอก

 

ภัชรี ลายลวด-อัยยลักษณ์ เหล็กสุข

 นักสื่อสารแรงงาน รายงาน