คนงานเสนอนายกกลับคำ ขึ้นค่าจ้าง แทนรายได้ 300 บาท

คำว่า ค่าจ้างขั้นต่ำ 300  บาท กับคำว่า รายได้ไม่น้อยกว่า 300 บาท คำประกาศนโยบาย รัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือที่เรียกกันว่า นโยบายปูแดง ขอเรียนจริงๆว่า ตนฟังอย่างไร พยายามฟังซ้ำแบบพินิจ พิเคราะห์อย่างไร ก็ไม่มีทางเหมือนกัน ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันเท่ากันทันทีทั่วประเทศ เพราะคนงานยังหวังมีโอกาสได้ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท โดยไม่ต้องทำงานล่วงเวลา ที่เรียกว่า OT หากแต่รายได้ไม่น้อยกว่า 300 บาท ทำให้คนงานยังคงง่วนอยู่กับการทำงานล่วงเวลาอย่างหลังขดหลังแข็ง จึงจะได้ 300 บาทมาซึ่งก็ยังไม่พอกินอยู่ดี หรือไม่ก็ต้องกระเบียด กระเสียร ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับปัจจุบันที่เป็นอยู่

กระผมจะขอเรียนนำเสนอสักหนึ่งตัวอย่างที่กระผมได้ฟังจากปากคนงานหญิงคนหนึ่ง นามสมมุติว่าน้องดา

น้องดา ได้ระบายด้วยความอัดอั้นตันใจว่า ก่อนหน้านั้นเขาหวังในคำมั่นสัญญาของนายกหญิงคนแรกในประเทศอย่างมาก เธอเป็นคนจังหวัดลพบุรีอายุ 29 ปี มีครอบครัวแล้วมีบุตร 1 คน  เข้าทำงานเป็นลูกจ้างในโรงงานผลิตตู้เย็น ผลิตเครื่องปรับอากาศยี่ห้อดังส่งขายทั้งในและต่างประเทศ ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งถ้าจำไม่ผิดผู้บริหารระดับสูงของนิคมนี้ออกมาคัดค้านนโยบายปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาทของรัฐบาล ว่า ถ้าหากขึ้นค่าจ้างคงอยู่ไม่ได้ต้องย้ายฐานการผลิต น้องดา ทำงานมาได้ 6 เดือน รับค่าจ้างเดือนละ 6,800 บาท เริ่มทำงานตั้งแต่เวลา 08.00 -18.00 น. และOTบังคับถึง 2 ทุ่ม (ชั่วโมงละ 28 บาท) ต้องทำทุกวันหากงานเร่งจะไม่สามารถออกOTได้ ลาป่วย 1 วัน ต้องมีใบรับรองแพทย์มาแสดง หากป่วยแต่ไม่แจ้งหัวหน้าต้องถูกหักค่าจ้างในวัน 270 บาท หนูทำงานวันละ  12  ชั่วโมง เวลาพัก 1 ชั่วโมง ในเดือนหนึ่งๆได้หยุดงานแค่ 2 วัน คือ วันที่เปลี่ยนกะทำงาน  มิหนำซ้ำทุกวันนี้นายจ้างใช้มาตรา 75 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541  กล่าวคือ หากวันไหนไม่มีงานหรือออเดอร์ บริษัทจะสั่งให้ลูกจ้างหยุดงาน และจ่ายค่าจ้าง 75% หากใครมีวันพักร้อนให้นำวันลาพักร้อนมาใช้ จะได้รับค่าจ้างเต็ม ซึ่งการใช้มาตรา 75 นี้ก็ขึ้นอยู่กับบริษัทจะบังคับวันไหน

น้องดาเล่าอีกว่า หนูไม่รู้หรอกว่าถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เพราะไม่เคยรู้เรื่องกฎหมายเลย ลำพังจะไปเข้าห้องน้ำยังต้องขออนุญาตหัวหน้าก่อนถึงไปได้ เธอมีบุตร 1 คน อายุ 4 ขวบ แต่ไม่เคยได้อยู่ดูแลต้องส่งให้พ่อแม่เลี้ยงดูที่ต่างจังหวัด ทั้งที่เธออยากอยู่ดูแลลูก อยากอยู่กับเขา ห่วงว่า อนาคตเขาจะเป็นอย่างไร แต่ไม่มีทางเลือก ต้องทำงานหาเงิน

เรื่องของน้องดา ไม่ต่างอะไรกับคนงานรับเหมาก่อสร้างชายวัย 30 ปีกว่า ในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ต.ทุ่งศุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี นามสมมุติว่า ดำที่เล่าให้ฟังว่า คำหาเสียงของนายกฯเรื่องขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก คนงานที่นี่หากเป็นผู้หญิงจะได้ค่าจ้างวันละ 196 บาท แต่ผู้ชายจะได้ค่าจ้างวันละ 220 บาท ในวันหนึ่งๆเราทำงานตั้งแต่ 8 โมง ถึง 4 ทุ่ม (08.00-22.00 น.)ทุกวัน ถ้าไม่ทำก็อยู่ไม่ได้ เพราะค่าครองชีพปัจจุบันสูงมาก ไหนจะต้องส่งให้ลูกที่กำลังศึกษา และพ่อแม่ที่ต่างจังหวัด

หากจะกล่าวถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่แรงงานในพื้นที่ ถ้าไม่มีคนงานหรือลูกจ้างไปร้องเรียนก็ถือว่า พื้นที่นั้นไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น หรือพื้นที่นั้นคนงานไม่รู้เรื่อง เข้าไม่ถึงขบวนการ ยุติธรรม หากเป็นไปได้กระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ทำงานแบบเชิงรุก สุ่มตรวจสอบนายจ้างต่างๆว่าละเมิดสิทธิแรงงาน มีการละเมิดกฎหมายหรือไม่ทำงานอย่างจริงจังใกล้ชิดคนงานมากกว่านายจ้างคงจะดี เพื่อรับรู้ข้อมูลความเป็นจริงในชีวิตของคนงาน ว่าค่าจ้างคนงานเขาควรได้รับเท่าไรที่พออยู่ได้ นายจ้างมีการเลือกปฏิบัติต่อคนงานหรือไม่ เช่นกรณีของนายดำที่สะท้อนสภาพการจ้างงานของหญิงชายที่ต่างกันเป็นต้น

นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งในหลายๆความเดือดร้อนของประชาชนผู้ใช้แรงงานที่ขอสะท้อนนำเรียนต่อผู้ที่เป็นผู้นำประเทศและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย กับนโยบาย คำสัญญา ที่โดนใจคนงานทุกคนทั่วประเทศ และเป็นเสียงส่วนหนึ่งที่ทำให้ท่านได้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศ ได้รับการบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ พวกเราไม่ได้มาทวงบุญทวงคุณอะไร แต่อยากให้รัฐบาลชุดนี้คำนึงถึง ความหวังของพวกเราคนงานด้วย 

ตอนนี้ หลังจากที่ฟังคำแถลงนโยบายคนงานต่างผิดหวัง แต่หากวันนี้รัฐบาลจะกลับลำเปลี่ยนไปใช้คำประกาศเดิมตามที่หาเสียงไว้ก็ไม่ เพราะนี้คือคำมั่นที่ให้ไว้กับคนส่วนใหญ่ของประเทศ อย่าให้คนงานต้องทำงานแบบไม่มีเวลาพักผ่อน ทำให้คนงานได้มีเวลาอยู่กับครอบครัว มีเวลาดูแลลูกบ้าง ซึ่งอาจทำเกิดการแก้ปัญหาสังคมไทยให้เป็นสุข

คนงานอยากมีชีวิตเหมือนท่านนายกฯ กับลูกชาย และสามี ที่อยู่ด้วยกัน มีเวลาให้กันเห็นแล้วรู้สึกอบอุ่น เราคนงานไม่อยากจน ไม่อยากเป็นลูกจ้าง แต่หากไม่มีพวกเราใครจะพัฒนาประเทศ ฉะนั้นค่าจ้างที่ได้รับต้องเป็นธรรม อย่าเป็นอย่างที่ว่า นายทุนบริหารก็ต้องดูแลทุนด้วยกัน ทุนที่ไหนจะเข้ามาดูแลคนงานอย่างจริงใจ!

                        สมหมาย ประไว  นักสื่อสารแรงงาน ศูนย์ข่าวภาคตะวันออก  รายงาน