คนงานมิชลินพระประแดง พร้อมหนุนแหลมฉบัง ย้ำเป้าหมายเดียวกัน

ล5

คนงานมิชลินสาขาพระประแดงออกแถลงการณ์รณรงค์ทำความเข้าใจกับสมาชิก พร้อมเชิญชวนเข้าร่วมหนุนการต่อสู้ของคนงานมิชลินแหลมฉบัง ชลบุรี ย้ำไม่เห็นด้วยทำข้อตกลงสภาพการจ้าง 3 ปี ส่งข่าวบอกเพื่อนแรงงานเตรียมพร้อมช่วยกัน หลังนายจ้างแจ้งนัดเจรจา 8 เมษายน มีทางออก

เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2557 นายสมาน พรประชาธรรม ฝ่ายการศึกษาสหภาพแรงงานผู้ผลิตยางรถยนต์แห่งประเทศไทยกล่าวว่า สหภาพแรงงานฯได้ออกแถลงการณ์ถึงสมาชิกบริษัทมิชลิน พระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อเชิญชวนเข้าร่วมให้กำลังใจการชุมนุมของคนงานมิชลิน แหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ที่มาชุมนุมที่กระทรวงแรงงาน รวมถึงการรับบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือกันในฐานะคนงานที่มีนายจ้างคนเดียวกัน ซึ่งได้ไปหนุนช่วยหลายครั้ง

ลล1

“ขณะนี้สหภาพแรงงานผู้ผลิตยางฯก็มีการยื่นข้อเรียกร้องเพื่อปรับปรุงสภาพการจ้างด้วยเช่นกัน และทีมเจรจาก็เป็นทีมเดียวกันที่เจรจากับคนงานที่แหลมฉบัง หากถามว่าตัวแทนนายจ้างระหว่างการเจรจานั้นมีบรรยากาศดีมาก รับฟังข้อมูลจากลูกจ้างดีมาก แต่ยังคงยืนยันข้อเสนอนายจ้างแบบยืนกระต่ายขาเดียว ว่าข้อตกลง 3 ปี ภายใน 3 ปีระหว่างที่ทำข้อตกลงห้ามเรียกร้องต่อรองสภาพการจ้างใดๆ ภายใต้การผลิตสินค้าได้กำไรเพิ่มขึ้นหลายพันล้านบาททุกปี ลูกจ้างค่าครองชีพสูงขึ้นทุกปีแต่สวัสดิการไม่ขยับ 3 ปี การเจรจาของฝ่ายลูกจ้างทั้งสองสหภาพฯมีสภาพเดียวกัน การหนุนช่วยของพี่น้องแรงงานจึงจำเป็นและอนาคตสหภาพทั้งสองแห่งจะร่วมกันพูดคุยเพื่อหาทางออกในฐานะที่มีนายจ้างเดียวกัน” นายสมาน กล่าว

ล4

ด้านนายธนกร สมสิน ประธานสหภาพแรงงานมิชลินประเทศไทย กล่าวว่า การเดินรณรงค์จากกระทรวงแรงงานไปที่สำนักงานใหญ่บริษัทสยามมิชลินจำกัดตั้งอยู่ที่ หน้าอาคาร เอสพีอี ทาวเวอร์ ถ.พหลโยธิน ซอย 2 พญาไท กรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องให้ประธานกรรมการบริษัทฯช่วยเหลือคนงาน ในการเจรจาที่กว่า 6 ครั้งกับตัวแทนบริษัทสยามมิชลิน จ.ชลบุรี และที่กระทรวงแรงงาน แต่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ ทั้งนี้ตัวแทนนายจ้างยังคงยื่นข้อเสนอทำข้อตกลงสภาพการจ้าง 3 ปี ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อคนงาน ในส่วนข้อเรียกร้องคนงานนั้นยืนยันเงินตอบแทนพิเศษประจำปี หรือ โบนัส 3.3 เดือน บวกเงินอีก 15,000 บาท รวมทั้งปรับค่าจ้างในอัตราไม่ต่ำกว่าน้อยละ 4 อายุตกลง 1 ปี ค่าเช่าบ้าน 2,700 บาท และเบี้ยขยัน 1,500 บาท ซึ่งคนงานได้พยายามเสนอลดลงจากเดิมที่เคยเรียกร้องแล้ว แต่นายจ้างไม่ยินยอม และส่งผู้ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจมาเจรจา

“เมื่อวานนี้ผู้บริหารได้ส่งผู้จัดการฝ่ายแรงงานสัมพันธ์มารับหนังสือ และร่วมพูดคุยกับตัวแทนคนงาน ซึ่งได้ตอบเรื่องข้อเสนอที่ทางบริษัทเสนอข้อตกลง 3 ปี แล้วคนงานรับไม่ได้นั้น คิดว่าหน้าจะมีทางออกที่ดีต่อกันได้ในวันที่ 8 เมษายน 2557 ที่มีการนัดเจรจากันไว้ ส่วนสถานที่ฝ่ายบริหารนายจ้างยังติดเรื่องสถานที่ยังไม่ทราบว่าจะเป็นกระทรวงแรงงาน หรือว่าเป็นสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี ซึ่งทางคนงานต้องการที่จะเจรจาที่กระทรวงแรงงาน ซึ่งเป็นส่วนกลางของรัฐ” นายธนกร กล่าว

ข้อมูลเพิ่มเติมจากฝายวิชาการคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) : สำหรับบริษัทสยามมิชลินกรุ๊ป จำกัด มีบริษัทในเครือ 8 บริษัท ประกอบด้วย บริษัทสยามมิชลิน จำกัด (สำนักงานใหญ่) บริษัทสยามมิชลิน จำกัด (แหลมฉบัง) บริษัทสยามมิชลิน จำกัด (หนองแค) บริษัทสยามมิชลิน จำกัด (ประกอบล้อ) บริษัทสยามมิชลิน จำกัด (หล่อดอก) บริษัทแม่พิมพ์ยางไทย จำกัด บริษัทยางสยามพระประแดง จำกัด และบริษัทสยามสตีลคอร์ด จำกัด ปัจจุบันมีนายเสกสรรค์ ไตรอุโฆษ เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มสยามมิชลิน ประเทศไทย โดยสยามมิชลินประเทศไทยนั้น มีบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 40 และบริษัทมิชลิน จำกัด ของฝรั่งเศสถือหุ้นอยู่ร้อยละ 60 มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเทพ และมีโรงงานตั้งอยู่ 5 แห่ง ซึ่งอยู่ในเขตส่งเสริมการลงทุนของ BOI เช่น แหลมฉบัง และระยอง โดยโรงงานแห่งแรกตั้งอยู่ที่พระประแดง

Untitled-11

ปัจจุบันบริษัทสยามมิชลินกรุ๊ป มีโรงงานผลิตยางทั้งหมด 4 แห่ง ได้แก่ 1. โรงงานพระประแดง ผลิตยางสำหรับรถยนต์ รถบรรทุกขนาดเล็ก รถบรรทุก รถจักรยานยนต์ มีพนักงานประมาณ 1,500 คน 2. โรงงานแหลมฉบัง ชลบุรี ผลิตยางสำหรับรถยนต์ และรถบรรทุกขนาดเล็ก มีพนักงานประมาณ 1,200 คน 3. โรงงาน จ.ระยอง ผลิตเส้นลวดเหล็ก มีพนักงานประมาณ 350 คน 4. โรงงานหนองแค จ.สระบุรี ผลิตยางสำหรับรถบรรทุกและยางเครื่องบินมีพนักงานประมาณ 1,900 คน

บริษัท สยามมิชลิน จำกัด (แหลมฉบัง) ตั้งอยู่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง เลขที่ 87/11 หมู่ 2 ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี บริษัทตั้งมาเมื่อปี 2531 ด้วยทุนจดทะเบียน 3,817,000,000 บาท ตลอดเวลาที่ดำเนินกิจการมาเป็นเวลา 25 ปี บริษัทฯมีผลกำไรอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เมื่อสิ้นปี 2556 คาดการณ์ว่าบริษัทมีกำไรถึง 6,500 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2555 ที่มีกำไรเพียง 4,400 ล้านบาทเท่านั้น นี้จึงเป็นที่มาของการเรียกร้องสภาพการจ้างของลูกจ้างที่ให้มีการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตคนทำงานให้ดีขึ้น โรงงานมิชลินแหลมฉบังมีพนักงานรวมประมาณ 1,200 คน พบว่าอัตราการผลิตยางรถยนต์ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา มีการเติบโตไม่น้อยกว่า 30-40 % ขณะที่ในปี 2557 บริษัทเชื่อว่าจะสามารถผลิตยางรถยนต์เข้าสู่ตลาดได้มากถึง 90 % ของขีดความสามารถสูงสุดทางการผลิตที่มี

“สหภาพแรงงานมิชลินประเทศไทย” คือ สหภาพแรงงานในบริษัท สยามมิชลิน จำกัด (แหลมฉบัง) โดยที่โรงงานแหลมฉบังนี้มี มร.นิโคลัส จอห์น วอล์คเกอร์ เป็นผู้อำนวยการโรงงาน ซึ่งเป็นพันธมิตร (alliance) กับนางจินดา ถนอมรอด นายกเทศมนตรีเทศบาลนครแหลมฉบัง และมีนายสาโรจน์ สุริยมาต เป็นผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคล การก่อตั้งโรงงานแหลมฉบับเริ่มต้นในปี 2530 โดยบริษัทเซ็นสัญญาร่วมทุนกับบริษัทสยามซีเมนต์ จำกัด และเริ่มก่อสร้างโรงงานผลิตแม่พิมพ์ยางในปี 2531 ซึ่งถือเป็นโรงงานผลิตแม่พิมพ์แห่งแรกของมิชลินในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในปีแรกผลิตยางรถยนต์ได้ไม่ถึง 100เส้น และเมื่อมีการพัฒนา และยกระดับการผลิตยางรถยนต์อย่างต่อเนื่อง ทำให้ในปี 2556 โรงงานมิชลินแหลมฉบัง สามารถผลิตยางรถยนต์ได้มากกว่า 2 หมื่นเส้นต่อวัน หรือเฉลี่ย 7 ล้านเส้นต่อปี ถือได้ว่ามีความสำคัญด้านการผลิตยางรถยนต์ในเขตภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอย่างมาก

ทั้งนี้สำนักงานใหญ่ของกลุ่มมิชลิน ตั้งอยู่ที่เมืองแกลร์มง-แฟร็อง ประเทศฝรั่งเศส และมีสาขาตั้งอยู่ในกว่า 170 ประเทศ จำนวนพนักงาน 113,400 คน มีโรงงาน 69 แห่ง ใน 18 ประเทศ และมีศูนย์วิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ตั้งอยู่ในทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน