คนงานกรุงเก่าทุกข์หนัก วันเดียวร้องศูนย์กว่า 10 โรงงาน นัด 2 ก.พ.เข้ากรุง

เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2555 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) นำโดยนายชาลี ลอยสูง ประธานฯกับทีมทำงานได้ลงพื้นที่ศูนย์ช่วยเหลือ และฟื้นฟูผู้ประสบภัยน้ำท่วม ที่ศูนย์เรียนรู้ และส่งเสริมสิทธิแรงงาน (สาขา) กลุ่มผู้ใช้แรงงานอยุธยา และใกล้เคียง เพื่อรับฟังปัญหาคนงานในพื้นที่หลังน้ำลด

นายชาลี ลอยสูง ประธานคสรท. กล่าวว่า การลงพื้นที่เพื่อการรับรู้ปัญหาของคนงานในพื้นที่ และนำไปเสนอรัฐในการร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยรวม เนื่องจากในพื้นที่พระนครศรีอยุธยา เป็นพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมหนัก มีผลกระทบต่อคนงาน และนิคมอุตสาหกรรมจำนวนมาก ซึ่งในส่วนของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้มีการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วม เพื่อระดมความช่วยเหลือ ซึ่งก็พบว่ามีปัญหาผลกระทบต่อคนงาน ในการที่จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ และนายจ้าง ทั้งเรื่องข้อมูลความช่วยเหลือ ไม่สามารรถติดต่อกับนายจ้างได้ ไม่ได้รับค่าจ้าง ถูกทิ้ง ถูกเลิกจ้าง ไม่ได้รับค่าชดเชย

ขณะนี้ทางคสรท.ได้มีการตั้งศูนย์ช่วยเหลือ และฟื้นฟูผู้ประสบภัยน้ำท่วม ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุกทกภัยน้ำท่วม 3 แห่ง คือ ศูนย์พื้นที่กลุ่มผู้ใช้แรงงานพระนครศรีอยุธยา และใกล้เคียง ศูนย์พื้นที่กลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ และศูนย์พื้นที่ปทุมธานี ตั้งอยู่ที่กลุ่มสหภาพแรงานย่านรังสิต และใกล้เคียง โดยแต่ละพื้นที่จะทำหน้าที่ในการรับเรื่องราวร้องทุกข์ รวบรวมสภาพปัญหา และประสานงานให้ความช่วยเหลือ พร้อมนำข้อเสนอเชิงนโยบายให้กับรัฐในการเข้ามาแก้ไขปัญหาในระยะสั้น และระยะยาว ผลการลงพื้นที่ครั้งนี้ ได้พบปัญหาแรงงานที่ได้รับผลกระกว่า 10 โรงงาน

โดยมีสภาพปัญหา

1. นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง

2. นายจ้างไม่กำหนดเวลาเปิดดำเนินการที่ชัดเจนทำให้คนงานไม่แน่ใจว่า นายจ้างจะจ้างทำงานต่อหรือว่าจะเลิกจ้าง

3. นายจ้างสั่งให้ย้ายไปทำงานต่างพื้นที่ ต่างจังหวัด และต่างประเทศ ไม่ไปให้ลาออก

4. นายจ้างเลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย และยังแจ้งสำนักงานประกันส้งคมว่าคนงานลาออกจากงานแล้วทำให้คนงานต้องเสียสิทธิเงินทดแทนประกันสังคมกรณีว่างงานร้อยละ 50

5. นายจ้างให้ทำงานจ่ายค่าจ้างร้อยละ 75

และยังมีปัญหาอีกมาก แค่วันเดียว ของศูนย์พื้นที่พระนครศรีอยุธยา รับเรื่องราวร้องทุกข์ ปัญหาแรงงานจำนวนมาก ซึ่งปัญหาที่พบส่วนใหญ่นายจ้างละเมิดสิทธิแรงงานอย่างชัดเจน เช่นแจ้งประกันสังคมว่าคนงานละออกทั้งที่คนงานไม่ได้เขียนใบลาออก เพราะไม่ได้รับการติดต่อจากนายจ้าง หรือบางรายมีปัญหาเรื่องของการเดินทางที่ไกลเกินไปไม่สามารถไปได้ มีการจะให้ใบเตีอนหากคนงานย้ายไปทำงานแล้วทนไม่ไหวกลับก่อนกำหนด และกรณีให้คนงานไปทำงานจ่ายค่าจ้างเพียงร้อยละ 75 ตนคิดว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยกระทรวงแรงงานต้องช่วยกันตรวจสอบ และหาทางช่วยเหลือคน ซึ่งมีคนงานบางกรณีที่เดินทางไปร้องทุกข์กรอกคร.7 เพิื่อขอความเป็นธรรม อยากให้ดูแลด้วย อย่าทำให้คนงานรู้สึกว่า ไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ เพราะช่วงน้ำท่วมก็ถูกกระทำมาหนักแล้ว อย่างน้อยให้เขาอุ่นใจว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐที่คอยช่วยเหลือ

การลงพื้นที่วันนี้จะรับประเด็นปัญหาเพื่อทำข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐแก้ไข ป้องกันการเอาเปรียบคนงาน นี่ขนาดคนงานไทยยังได้รับผลความไม่เป็นธรรมขนาดนี้แล้วแรงงานข้ามชาติจะหนักหนาสาหัสขนาดไหน

ทั้งนี้ ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2555 คนงานที่มาร้องทุกข์จะเดินทางไปร้องให้ทางกระทรวงแรงงาน ช่วยเหลือหาทางแก้ไข เพราะส่วนใหญ่ที่มาร้องทุกข์ได้มีการเข้าไปขอความช่วยเหลือที่จังหวัดแล้วแต่ไม่ได้รับการแก้ไข จึงจำเป็นต้องเข้ามาร้องที่กระทรวงแรงงาน

นักสื่อสารแรงงาน โครงการการพัฒนาสื่อ รายงาน