ข้อเสนอต่อโครงการฟื้นฟูแรงงานนอกระบบหลังมหาอุทกภัย54

เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2554 เครือข่ายแรงงานนอกระบบ ได้ยื่นข้อเสนอโครงการฟื้นฟูแรงงานนอกระบบหลังน้ำท่วม ต่อนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จากการศึกษาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ และธนาคารโลก พบว่ามีแรงงานนอกระบบประมาณ 2.1-2.3 ล้านคนได้รับผลกระทบจากมหาอุทกภัยในปี 2554นี้ บ้านเรือนและทรัพย์สินของแรงงานนอกระบบ ซึ่งใช้เวลาเก็บออมมาตลอดชีวิตได้รับความเสียหาย นอกจากนั้นยังสูญเสียโอกาสในการทำงานเพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว ทำให้ต้องใช้เงินที่เก็บออมไว้ หรือบางคนก็ต้องไปกู้หนี้นอกระบบมาใช้จ่ายในระหว่างน้ำท่วมครั้งนี้  เพื่อเป็นการช่วยเหลือฟื้นฟูแรงงานนอกระบบซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานที่เปราะบางในสังคม โดยการลดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมต่างๆ ในมาตรการของภาครัฐ เครือข่ายแรงงานนอกระบบ และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพจึงขอเสนอมาตราการในการฟื้นฟูและเยียวยาแรงงานนอกระบบดังนี้

1.      ขอให้ภาครัฐพิจารณาทบทวนเงินช่วยเหลือค่าเสียหายเรื่องที่อยู่อาศัย ให้เป็นการช่วยเหลือ  โดยพิจารณาจากระยะเวลาที่น้ำท่วมขัง เพราะระยะเวลาที่น้ำท่วมขังมีผลต่อความเสียหายมาก หรือน้อยต่างกัน  ได้แก่

·       น้ำท่วมขัง 7 วัน จ่ายเงินช่วยเหลือ 5,000  บาท

·       น้ำท่วมขัง 8-15 วัน จ่ายเงินช่วยเหลือ 10,000  บาท

·       น้ำท่วมขัง 16-30 วัน จ่ายเงินช่วยเหลือ 15,000  บาท

·       น้ำท่วมขัง ตั้งแต่ 31 วันขึ้นไป จ่ายเงินช่วยเหลือ 20,000  บาท

2.      ขอให้มีการกำหนดรายละเอียดในการขอรับความช่วยเหลือกรณีทรัพย์สินที่เป็นเครื่องมือประกอบอาชีพและหรือทุนประกอบอาชีพเสียหายให้ชัดเจน ควรให้ความช่วยเหลือเท่าที่เสียหายจริง  และควรเพิ่มวงเงินช่วยเหลือจากครอบครัวละไม่เกิน 10,000 บาท เป็นครอบครัวละไม่เกิน 30,000 บาท

3.      แรงงานนอกระบบที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งนี้ ควรได้รับเงินชดเชยการขาดรายได้ เช่นเดียวกับแรงงานในระบบ  รัฐควรชดเชยการขาดรายได้ไม่น้อยกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำตามจำนวนวันที่ได้รับความเสียหาย โดยขอให้พิจารณาช่วยเหลือแรงงานนอกระบบที่ไม่มีน้ำท่วมขังในบ้านเรือน แต่มีน้ำท่วมขังปิดล้อมเส้นทางคมนาคม จนไม่สามารถประกอบอาชีพได้ด้วย

4.      หลังน้ำลดควรมีการควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ให้มีราคาสูงขึ้น และมีการกระจายสินค้าอย่างทั่วถึง

5.      รัฐควรให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ใช้ น้ำ และไฟฟรี โดยไม่มีเงื่อนไข   เป็นเวลา 6 เดือน  นับตั้งแต่เดือนตุลาคม  2554  –  มีนาคม  2555

6.      ผู้สูงอายุและผู้พิการ ควรได้รับความช่วยเหลือด้านสวัสดิการสังคมเป็นพิเศษจากภาครัฐ  โดยขอให้จ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และเบี้ยยังชีพคนพิการ เพิ่มขึ้น 3 เท่าตามระยะเวลาที่มีน้ำท่วมขัง เนื่องจากผู้สูงอายุและผู้พิการ มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นในระหว่างน้ำท่วมขัง

7.      ขอให้สำนักงานประกันสังคมยกเว้นการเก็บเงินสมทบประกันสังคมตามมาตรา 40 ในเดือนตุลาคม ธันวาคม โดยไม่ถือว่าเป็นการขาดส่งเงินสมทบและไม่ขาดสิทธิในการรับสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ

8.      ขอให้สำนักงานประกันสังคมเจรจากับทางธนาคารพิจารณาลดเงื่อนไขที่ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 จะสามารถกู้เงินเพื่อซ่อมแซมบ้านรายละไม่เกิน 50,000 บาท และคงไว้เพียงผู้มีรายได้ตั้งแต่เดือนละ 7,500 บาทเป็นผู้ค้ำประกันเท่านั้น เพื่อให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 สามารถเข้าถึงเงินกู้นี้ได้จริง

9.      ขอให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นและสำนักงานเขตกรุงเทพมหานครกำหนดให้มีนโยบายกองทุนเพื่อการประกอบอาชีพ ให้เงินยืมแบบไม่มีดอกเบี้ยแก่กลุ่มอาชีพต่างๆ ของแรงงานนอกระบบที่รวมตัวกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป เช่นกลุ่มแม่ค้า คนขับรถมอเตอร์ไซด์รับจ้าง  หรือกลุ่มผู้ทำการผลิตที่บ้าน  จำนวนไม่เกินกลุ่มละ 100,000  บาท เป็นเวลา 6 ปี โดยให้ปลอดเงินต้นเป็นเวลา 3 ปี และเริ่มส่งเงินคืนในปีที่ 4

10.  องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นและสำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร ควรส่งเสริมให้คนในชุมชนรวมกลุ่มกันเพื่อทำงานซ่อมแซมทรัพย์สินที่เสียหายระหว่างน้ำท่วม  รวมทั้งงานอื่นๆ ของหน่วยงานนั้น ๆ   เช่นการปูตัวหนอนใหม่ งานลอกท่อ การตีกรอบไม้ตามตนไม้ในสวนสาธารณะ หรือการทาสีใหม่พื้นที่สาธารณะ งานตัดชุดนักเรียน  ชุดกีฬา หรือเครื่องแบบของหน่วยงาน  เป็นต้น

11.  กระทรวงแรงงานควรเป็นเจ้าภาพในการประสานงานและส่งเสริม ให้โรงงาน บริษัทต่าๆ พบปะกับกลุ่มอาชีพในชุมชนเพื่อให้เกิดการจ้างงาน และให้กระทรวงฯจัดมาตรการพิเศษแก่โรงงานหรือบริษัทที่จ้างงานกับกลุ่มแรงงานนอกระบบที่ประสบอุทกภัยนี้

12.  ภาครัฐต้องให้มีตัวแทนภาคประชาชนร่วมอยู่ในคณะกรรมการที่วางแผนจัดการภัยพิบัติที่ตั้งขึ้น เพื่อให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมในการวางแผน และการตัดสินใจในการจัดการน้ำ หรือการกำหนดเส้นทางน้ำในอนาคต

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การที่แรงงานนอกระบบจะเข้าสู่การเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม จะเป็นการประกันสิทธิประโยชน์ที่จะได้อย่างแน่นอน ปัจจุบันมีแรงงานนอกระบบประมาณ 24 ล้านคน แรงงานในระบบราว 10 ล้านคน ซึ่งทั้งหมดนี้ได้มีการผลักดันยุทธศาสตร์แรงงานนอกระบบเข้าคณะรัฐมนตรีแล้วเมื่อราวสองสัปดาห์ก่อน ซึ่งชัดเจนว่า แรงงานนอกระบบ 24 ล้านคนกว่าคน มีผู้สมัครใจเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 แล้วราว 5 แสนคน สามารถใช้สิทธิขอผ่อนผันการส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมระหว่างเดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2554 ที่ประสบภัยน้ำท่วม และภายหลังน้ำลดได้อีก 30 วัน คือประมาณสิ้นเดือนมกราคม 2555 แต่ขณะเดียวกันจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น การรักษาพยาบาลจากการเจ็บป่วย คลอดบุตร หรือแม้กระทั่งเสียชีวิต เป็นต้น ตรงนี้ตนไม่เป็นห่วง จะกังวลใจก็แต่แรงงานนอกระบบที่ไม่อยู่ในระบบการประกันตนเท่านั้น จึงได้เร่งให้มีการประชาสัมพันธ์ เพื่อรณรงค์ให้แรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบการประกันตน ขณะเดียวกันเห็นว่า ให้สำนักงานประกันสังคมน่าจะเป็นผู้ค้ำประกันให้แรงงานไปทำงานต่างประเทศ โดยไม่เลือกปฏิบัติว่า จะเป็นประชาชนกลุ่มไหน ถือเป็นการบริหาราชการเพื่อให้ความช่วยเหลือแต่ติดกรอบระเบียบราชการอยู่บ้าง ก็ขอให้มีการ ลดขั้นตอนให้เพื่อให้มีความคล่องตัวมากขึ้น

สำหรับความคืบหน้า เรื่องการบังคับใช้ตามพระราชบัญญัติผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553 โดยเฉพาะในเรื่องความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ค่าตอบแทนที่แรงงานควรจะได้รับนั้น กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ชี้แจงให้ทราบแล้วว่า มีความคืบหน้าในการออกกฎหมายรองอย่างเช่น กฎกระทรวงถึง14 ฉบับ และยังมีขั้นตอนการปรับร่างกฎกระทรวงต่างๆ เท่านั้น ส่วนกรณีด้านอาชีพ การสร้างงานและจ้างงานเร่งด่วนนั้น ทางกรมพัฒนาฝีมือแรงงานมีโครงการพัฒนาศักยภาพกำลังแรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วมกรณีเร่งด่วน เพื่อให้มีความรู้ ทักษะความสามารถในหลักสูตรผ้าห่มนวม และการผลิตเรือไฟเบอร์ หลักสูตร 2 วัน โดยมีเบี้ยเลี้ยงให้ผู้เข้ารับการฝึกวันละ 120 บาท ผู้เข้ารับการฝึกอบรมทำผ้าห่มนวมจำนวน 240 คน และฝึกอบรมทำเรือ จำนวน 60 คน และยังมีการฝึกอาชีพระยะสั้นให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เพื่อให้มีความรู้และทักษะความสามารถในการซ่อมแซมบ้านเรือน ยานพาหนะ เครื่องมือ เครื่องใช้ของตนเองและสาธารณประโยชน์ของชุมชน หลักสูตร 5 วัน โดยมีเบี้ยเลี้ยงให้ผู้เข้ารับการฝึกวันละ 120 บาท และหลักสูตรการทำผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่พักอาศัยจำนวน 30 รุ่น 600 คน

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน