ขบวนแรงงานหนุน-คนงานชินเอ

องค์กรแรงงานหลายสิบแห่งบุกให้กำลังใจ พร้อมมอบสิ่งของช่วยคนงานชินเอ หลังทราบว่าทุกข์หนักถูกขู่ฟ้องเรียกค่าเสียหายคนละ 200 ล้าน กลุ่มลูกจ้างในเครือยานยนต์ประกาศเตรียมยื่นร้องสภาทนายความตรวจสอบสำนักงานทนายความผู้ออกหนังสือให้คนงานชดใช้ค่าเสียหาย

วานนี้ (7 มิ.ย.55) เขบวนการแรงงานประกอบด้วยสภาองค์การลูกจ้างยานยนต์แห่งประเทศไทย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิคส์ ยานยนต์และโลหะแห่งประเทศไทย สหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย สหพันธ์แรงงานโตโยต้าประเทศไทย สมาพันธ์แรงงานฮอนด้า กลุ่มสหภาพแรงงานต่างๆได้เดินทางมาให้กำลังใจพร้อมมอบสิ่งของเพื่อเป็นการสนับสนุนการต่อสู้ของคนงานชินเอ ไฮเทค ที่ใต้ถุนกระทรวงแรงงาน ที่ชุมนุมอยู่ประมาณ 1,000 กว่าคน

นายยงยุทธ เม่นตะเภา เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิคส์ ยานยนต์ และโลหะแห่งประเทศไทยกล่าวว่า การที่คนงานชินเอ ไฮเทค ต้องเดินทางมากระทรวงแรงงานเพื่อร้องให้กระทรวงฯให้ความช่วยเหลือเป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ยนั้น เพราะว่ากลไกระดับจังหวัดมีปัญหาไม่สามารถที่จะช่วยเหลือคนงานได้ วันนี้ขบวนการแรงงานต้องเข้ามาร่วมกันในการรับผิดชอบ และร่วมกำหนดทิศทางความช่วยเหลือคนงานชินเอฯเพื่อให้เข้าถึงความเป็นธรรม

ดังที่เราจะเห็นกันอยู่ว่าทุนมีการพลิกแพงเล่นแร่แปลทาสไม่ยอมทำตามประกาศปรับขึ้นค่าจ้าง มีการนำค่าสวัสดิการต่างๆมาบวกให้ได้ตามค่าจ้างที่กฎหมายกำหนดทั้งที่เดิมเป็นสวัสดิการที่มีการต่อสู้เรียกร้องมาของคนงาน

การที่คนงานชินเอฯต้องจากบ้าน หรือห้องนอนที่อบอุ่นมานอนตลบยุ่งที่ใต้ถุนกระทรวงแรงงาน เพราะนายจ้างมีการเวียนหนังสือขอคืนสวัสดิการที่เคยให้มาตามข้อตกลงสภาพการจ้าง และยังมีการสร้างแรงกดดันการทำงานมีการสั่งพักงาน และเลิกจ้างกรรมการลูกจ้าง กรรมการสหภาพแรงงาน และสมาชิกทั้งหมด 176 คน เดิมรู้มาว่าทั้งสหภาพแรงงานกับนายจ้างมีแรงงานสัมพันธ์ที่ดีต่อกันเสมอมาใช้เพียงหลักการพูดคุยปรึกษาหารือไม่เคยมีปัญหาข้อพิพาทแรงงานตลอดการตั้งสหภาพแรงงานมาหลายปี

แต่วันนี้ทางบริษัทได้มีการจ้างบุคคลที่ไม่หวังดีกับคนงาน และคิดว่าน่าจะไม่หวังดีกับบริษัทด้วย เพราะมีการทำลายหลักการแรงงานสัมพันธ์ เนื่องจากหลักการแรงงานสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนายจ้างลูกจ้างจะทำให้บริษัทมีกำไรงอกเงย หากแรงงานสัมพันธ์ไม่ดีบริษัทก็จะถูกหาว่ารังแกคนงานที่ทำงานตอบแทนและร่วมกันสร้างบริษัทมาโดยตลอด บุคคลกลุ่มนี้ยังใช้ความเป็นทนายความออกจดหมายเวียนส่งไปยังบ้านคนงาน เพื่อเรียกร้องให้จ่ายค่าชดเชยความเสียหายคนละ 200 ล้านบาท อยากถามว่า การกระทำเช่นนี้ถือเป็นการข่มขู่ให้คนงานเสียขวัญ และการที่ส่งหนังสือไปที่ครอบครัวของคนงานต้องการอะไร เป็นการสร้างแรงกดดันกับครอบครัวของคนงานใช้หรือไม่ แล้วได้คำนึงถึงผลกระทบกับครอบครัวของคนงานบางหรือไม่ อยากถามว่าคนกลุ่มนี้ที่เรียกตนเองว่าทนายความผู้พิทักษ์ความเป็นธรรมกระทำการเยี่ยงนี้ชอบธรรมแล้วหรือ เพราะมีคุณแม่ของคนงานต้องช็อกเข้าโรงพยาบาล อาการเป็นตายเท่ากันทั้งนี้ทนายความกลุ่มนี้ต้องรับผิดชอบ ซึ่งในส่วนของขบวนการแรงงานจะไม่นิ่งนอนใจกับการกระทำเช่นนี้ เราคงจะร่วมกันวางมาตรการเรียกร้องความเป็นธรรม เช่นจะไปร้องสภาทนายความเพื่อให้ตรวจสอบคนกลุ่มนี้ โดยจะมีการประชุมร่วมกันระหว่างสภาองค์กรลูกจ้าง 7 แห่งกับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และสหภาพแรงงานในประเภทกิจการยานยนต์ และอะไหล่ เพื่อหายุทธศาสตร์ในการให้ความช่วยเหลือกับคนงานชินเอให้ได้รับความเป็นธรรมโดยเร็ววัน

อย่างไรก็ตามอยากขอร้องให้กระทรวงแรงงานเห็นใจคนงานที่เป็นผู้ถูกกระทำแบบไม่เป็นธรรม ถูกทำร้ายจิตรใจ ครอบครัว ให้ช่วยประสานงานให้นายจ้างตัวจริงมาเจรจาพูดคุยกับลูกจ้างของเขาด้วย เพราะเชื่อว่าความเป็นลูกจ้าง นายจ้างขายกันไม่ขาด เนื่องจากเคยมีความรู้สึกดีๆด้วยกันเสมอมา

นายธนกิจ  คำโสภา รองประธานสภาองค์กรลูกจ้างยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สภาพปัญหาของคนงานชินเอตอนนี้คือคนงานไม่มีเงิน เพราะหยุดงานมานานแล้ว ซ้ำยังขาดเงินทุนในการที่จะใช้ซื้อข้าวของ วันนี้มีผู้นำแรงงานจากหลายกลุ่มเข้ามาให้กำลังใจ และซื้อข้าวสาร อาหารแห้ง มาบริจาค ซึ่งคงจะช่วยให้คนงานมีกำลังใจมากขึ้น

การต่อสู้ของคนงานฯ ต้องประสบภาวะทุกข์ทางใจหลายคนถูกพ่อ แม่ สามีโทรมาถามเรื่องหนังสือเรียกค่าเสียหาย บางรายถูกขอหย่า อยากให้สังคมช่วยกันประณามทนายความกลุ่มนี้ที่ใช้ชื่อบริษัทฯไปส่งหนังสือถึงครอบครัวคนงานจนสร้างความปั่นป่วนอย่างมากกับครอบครัวเขา

วันที่ 9 มิถุนายน 2555ทางสภาฯได้ประสานความร่วมมือไปยังสภาองค์การลูกจ้าง และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย มาประชุมร่วมกันเวลา 17.00 น. ที่สภาองค์การลูกจ้างยานยนต์แห่งประเทศไทย (เลขที่ 1821-1822 หมู่ 9 ตำบล เทพารักษ์ อำเภอ เมือง จังหวัดสมุทรปราการ 10270 เบอร์โทรติดต่อ 02-7577123) เพื่อหาช่วยเหลือคนงานชินเอฯให้ได้กลับเข้าทำงาน เป็นการร่วมกันหาทางออก ซึ่งหนึ่งในกิจกรรมนั้นคงจะไปพบและร้องเรียนประเด็นการออกหนังสือข่มขู่คนงานของสำงานทนายความที่สร้างความทุกข์ใจอย่างแสนสาหัสให้กับคนงาน อย่างไรก็จะมีการประกาศเป็นมาตรการภายหลัง

หมายเหตุุ :  สหภาพฯยื่นข้อเรียกร้องขอปรับเปลี่ยนสภาพการจ้าง ยื่นแก่นายจ้างในวันที่ 2 เม.ย.55  หลังจากมีการเวียนหนังสือถึงลูกจ้างเพี่ขอลดสวัสดิการสภาพการจ้างเดิม มีการเปิดการเจรจา แต่ในระหว่างการเจรจานายจ้างได้สั่งพักงานกรรมการสหภาพฯเริ่มตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย.55 จำนวน 4 ท่าน โดยไม่มีการสอบสวนในความผิดที่ตั้งมา และยังข่มขู่ให้สมาชิกสหภาพฯลาออกจากการเป็นสมาชิกภาพแรงงาน การเจรจาไม่สามารถตกลงกันได้ จนในวันที่ 27 เม.ย.55 สหภาพฯแจ้งเจ้าหน้าที่แรงงานขอใช้สิทธินัดหยุดงานตามกฎหมายตั้งแต่วันที่ 28 เม.ย.55 เวลา18.00 น. เป็นต้นไป สมาชิกสหภาพฯทั้งหมด 2,000 คน หลังจากการนัดหยุดงานนายจ้างได้ออกคำสั่งเลิกจ้างคณะกรรมการลูกจ้าง กรรมการสหภาพฯ และสมาชิกสหภาพฯ จำนวน 176 คน แล้วยังออกหนังสือข่มขู่พนักงานที่ออกมาชุมนุมอีกคนละ 200 ล้านต่อคน ออกโดยสำนักงานทนายความชัยรัตน์ ทัดเทียม ซึ่งสหภาพฯได้กำหนดแนวทางไว้ 2 ทางดังนี้ คือ 1.นายจ้างต้องรับพนักงานทุกคนกลับเข้าทำงานโดยไม่เลือกปฏิบัติ  หรือ 2. เลิกจ้างแล้วจ่ายค่าชดเชยตามอายุงานให้แก่ลูกจ้างทุกคนที่ไม่ต้องการกลับเข้าทำงาน เป็นต้น

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน