ขบวนแรงงานถอดบทเรียนกระบวนการยุติธรรมแรงงานเพื่อปฏิรูปทั้งระบบ

Screenshot_2014-12-22-19-19-02(1)ขอบคุณภาพจากเฟ็ซบุก ยงยุทธื เม่นตะเภา

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) โซริดาริตี้เซ็นเตอร์ ประเทศไทย (SC) และผู้แทนสหภาพแรงงานถอดบทเรียนการละเมิดสิทธิแรงงานกับการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมด้านแรงงาน เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาและนำไปสู่การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมด้านแรงงาน

วันนี้ (วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๗) เวลา ๐๙.๐๐ น. คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ร่วมกับโซริดาริตี้เซ็นเตอร์ ประเทศไทย (SC) จัดเสวนา เรื่อง “การละเมิดสิทธิแรงงานกับการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม” ณ ห้องประชุมมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ถนนนิคมรถไฟ มักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพฯ ผู้แทนสหภาพแรงงานผู้ปรุงอาหารและให้บริการ สหภาพแรงงานแหลมฉบังโอโตบอดี้ สหภาพแรงงานฟูจิสึ เจเนอร้ลประเทศไทย สหภาพแรงงานมิตซูมิชิแห่งประเทศไทย สหภาพแรงงานฟูจิสึ ประเทศไทย ร่วมนำเสนอบทเรียนการต่อสู้ของแรงงาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันแรงงานต้องเผชิญกับปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงาน การละเมิดสิทธิในการรวมตัวจัดตั้งและการเจรจาต่อรองร่วมของนายจ้าง เช่น จัดตั้งสหภาพแรงงานแห่งที่ ๒ ขึ้นในสถานประกอบการเดียวกันและเลือกปฏิบัติระหว่างสภาพแรงงานเก่าและสหภาพแรงงานใหม่ , กดดันให้สหภาพแรงงานเก่ายอมรับข้อตกลงสภาพการจ้างที่นายจ้างทำกับสหภาพแรงงานใหม่ , เลิกจ้างเพราะเหตุลูกจ้างยื่นข้อเรียกร้องและจัดตั้งสหภาพแรงงาน , การปิดงานโดยไม่มีกำหนด , การเจรจาข้อพิพาทแรงงานโดยนำเงื่อนไขอื่นที่ไม่เกี่ยวกับสภาพการจ้างมาเป็นเงื่อนไขในการไกล่เกลี่ย , ขออนุญาตศาลเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างและให้อยู่นอกสถานประกอบกิจการ , การฟ้องคดีแพ่งหรือคดีอาญาผู้นำแรงงาน

Screenshot_2014-12-22-19-19-47(1) ขอบคุณภาพจากเฟ็ซบุก ยงยุทธื เม่นตะเภา

ขณะเดียวกันเมื่อลูกจ้างต้องเข้าสู่กระบวนการเรียกร้องสิทธิในกระบวนการยุติธรรมด้านแรงงาน ก็ต้องประสบปัญหาพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เช่น นายจ้างปิดงานในระหว่างประกาศใช้กฎอัยการศึก สำหรับกลไกบริหารกึ่งตุลาการอย่างคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ไม่เท่าทันรูปแบบการกระทำอันอันไม่เป็นธรรมของนายจ้างที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคมเศรษฐกิจ เช่น การอ้างวิกฤติเศรษฐกิจ การอ้างอำนาจบริหารหรือการปรับโครงสร้างหรือปรับกระบวนการผลิต การสนับสนุนการตั้งสหภาพแรงงานที่ ๒ ส่วนศาลแรงงานมีการดำเนินกระบวนพิจารณาไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์การจัดตั้งศาลแรงงาน เช่น การไกล่เกลี่ยให้ลูกจ้างรับสิทธิต่ำกว่ากฎหมายกำหนด , ลูกจ้างไม่ประสงค์ไกล่เกลี่ยแต่กดดันให้ไกล่เกลี่ย , ผู้ประนีประนอมขาดความรู้ความเข้าใจด้านสิทธิแรงงาน

ในขณะที่ผู้พิพากษาศาลแรงงานยังขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิแรงงานและความเข้มแข็งของสหภาพแรงงาน และปัญหาทัศนะคติของศาลที่มีต่อลูกจ้างที่เป็นผู้แทนสหภาพแรงงาน รวมถึงผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้างฝ่ายลูกจ้างไม่มีบทบาทในกระบวนพิจารณาเท่าที่ควรเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ลูกจ้างเข้าไม่ถึงสิทธิ และเป็นการทำลายความเข้มแข็งของสหภาพแรงงาน

ผู้เข้าร่วมเสวนาเสนอให้คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) รวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริงของผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมด้านแรงงาน เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำหรับสื่อสารสังคม และนำเสนอประเด็นดังกล่าวต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการแก้ไขปัญหาและปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมด้านแรงงานต่อไป.

นักสื่อสารแรงงาน อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ รายงาน