ขบวนผู้หญิงฯ ร้องความเสมอภาคระหว่างเพศต้องกลับคืนมาในร่าง รธน.ฉบับใหม่

12799375_239268909742612_5734750299089632451_n
ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย เรียกร้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคระหว่างเพศในรัฐธรรมนูญ 40 และ 50 ต้องกลับคืนมาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

7 มี.ค. 2559 เวทีระดับชาติ ครั้งที่ 2 หัวข้อ “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะปฏิรูปประเทศไทยได้จริงหรือ” และเฉลิมฉลองวันสตรีสากล (8 มี.ค. 2559) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดโดยขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย โครงการสตรีและเยาวชนศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาคมติดตามการพัฒนาสตรีในประเทศไทย (ตพส.ไทย) กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี และองค์กรเครือข่างต่างๆ

กิจกรรมทางวิชาการเพื่อวิเคราะห์เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญรวมทั้งการระดมขข้อเสนอแนะจากผู้นำสตรีเกี่ยวกับทิศทางในการปฏิรูปประเทศ ที่ห้องประชุมประกอบหุตะสิงห์ อาคารอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เรียกร้อง “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคระหว่างเพศในรัฐธรรมนูญ 40 และ 50 ต้องกลับคืนมาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ”

ทิพาวดี เมฆสวรรค์ นายกสมาคมติดตามการพัฒนาสตรีในประเทศไทย (ตพส.ไทย) กล่าวเปิดในเวทีว่า เท่าที่ติดตามคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ ได้มีการบรรจุเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณที่ต้องคำนึงถึงสัดส่วนของหญิงชายในร่างรัฐธรรมนูญ เป็นผลสำเร็จจากการจัดเวทีของขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย และเรียกร้องขอให้ผู้ชายเปลี่ยนทัศนคติที่คิดว่าเป็นผู้นำฝ่ายเดียวที่เป็นทัศนคติดั้งเดิม เปลี่ยนให้ผู้ชายมีทัศนคติที่คิดว่าหญิงชายมีความเป็นผู้นำที่เสมอกัน

โคทม อารียา ที่ปรึกษาศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงประเด็นเรื่องร่างรัฐธรรมนูญในประเด็น การได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ระบบสัดส่วนหลักประกันโอกาสของผู้หญิงในการเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองและการตัดสินใจในระดับต่างๆ มีข้อเสนอแก้ไข 3 มาตราหลักๆ คือ 1.แก้ไขมาตรา 82 เรื่องการรับสมัครแบบแบ่งเขต พรรคการเมือง ต้องให้สมาชิกพรรคการเมืองมีส่วนร่วมและพรรคการเมืองส่งผู้แทนหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งทั่วประเทศ เป็นเพศใดเพศหนึ่งในสัดส่วน 40:60 ซึ่งหมายถึงพรรคการเมืองต้องส่งผู้หญิงในสัดส่วน 40 หรือ 60 จะทำให้ผู้หญิงมีโอกาสเข้าสู่การเมืองได้มากว่า

2.แก้ไขมาตรา 85 การจัดบัญชีรายชื่อทุก 10 ของบัญชีรายชื่อต้องมีเพศใดเพศหนึ่งไม่น้อยกว่า 40 หมายถึงว่า บัญชีรายชื่อลำดับที่ 1-10 ต้องมีเพศใดเพศหนึ่ง 4 คน ลำดับที่ 11-20 ต้องมีเพศใดเพศหนึ่ง 4 คน ก็จะทำให้มีความยืดหยุ่นมากกว่า ตัวอย่างในต่างประเทศ เช่น ประเทศฝรั่งเศส เขากำหนดสัดส่วนผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้หญิง คณะรัฐมนตรีต้องประกอบด้วยเพศใดเพศหนึ่งไม่น้อยว่าร้อยละ 40 ดังนั้น ผู้หญิงได้รับเลือกตั้งและอยู่ในคณะรัฐมนตรีมากขึ้น เมื่อมีข้อเสนอเช่นนี้ในรัฐธรรมนูญก็นับว่าก้าวหน้ามากขึ้นกว่าเดิม

ส่วนการเรียกร้องแก้ไขการสรรหากรรมการองค์กรอิสระ ก็ต้องแก้ไขมาตรา 198 ที่ต้องสรรหาคณะกรรมการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เช่น การสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เสนอต้องเป็นเพศใดเพศหนึ่ง 1 ใน 3 เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จะมีผลต่อองค์กรอิสระอื่นๆ ที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ

โคทม กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลไม่เปิดเผยทำให้ภาคประชาชนไม่รู้ ไม่มีข้อมูล ได้แต่เดาทาง จึงมีข้อเสนอให้ภาคประชาชนได้รับรู้ข่าวสาร เพื่อมีส่วนร่วมในการแก้ไขปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญ ผู้หญิงเป็นประชากรส่วนใหญ่ ถ้าเสียงส่วนใหญ่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ก็ขอให้นำรัฐธรรมนูญปี 2540 และ ปี 2550 มาปรับปรุงแก้ไข พร้อมแนะจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่และให้ตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยกำหนดระยะเวลารับฟังความคิดเห็นของประชาชนมากขึ้นกว่าเดิม ให้มีบทเฉพาะกาล ตั้ง สสร.เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง เพื่อให้มีรัฐธรรมนูญฉบับสัญญาประชาสังคม ให้ประชาชนรู้สิทธิเป็นเจ้าของประเทศ

12809793_1696923673924154_1024853627167508396_n

สุนี ไชยรส ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมความเสมอภาคและความเป็นธรรม วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้ประสานงานร่วม (We Move) กล่าวว่า การขับเคลื่อนร่างรัฐธรรมนูญของขบวนผู้หญิงเรียกร้องให้มีความหลากกลายของทุกกลุ่มทุกเพศภาพ สิ่งที่เรียกร้องคือโครงสร้างของรัฐธรรมนูญที่บุคคลย่อมมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคระหว่างเพศ บุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองครองตามกฎหมายที่เท่าเทียมกันของหญิงชายและทุกเพศสภาพมีสิทธิเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ และให้ต้องกำหนดไว้เป็นหลักประกันในรัฐธรรมนูญ

เรืองรวี วิชัยกุลเกตุผล ผู้จัดการโครงการอาวุโส มูลนิธิเอเชีย กล่าวว่ามีความกังวลในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่มีออกแบบตอบโจทย์ 3 ข้อล้วนที่ให้อำนาจข้าราชการเป็นใหญ่ จากงานวิจัยที่ศึกษาในขณะนี้พบว่า กฎหมายที่ผ่านคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติส่วนใหญ่ เป็นการเพิ่มอำนาจให้ข้าราชการ เช่นกฎหมายชุมชุมสาธารณะและอำนวยความสะดวก หรือกฎหมายความเท่าเทียมทางเพศ เป็นการเพิ่มอำนาจให้ข้าราชการอย่างเห็นได้ชัดเจน

นอกจากนี้ระบบเลือกตั้งมีแนวโน้มที่เป็นพรรคผสมที่เอื้อให้มีการต่อรองทางการเมืองสูง หรือมีลักษณะเป็นพรรคการเมืองเดี่ยวที่มีอำนาจมากและลดทอนสิทธิอำนาจประชาชน จึงเป็นความอ่อนแอของภาคประชาชน ทั้งนี้โดยรวม ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญของข้าราชการเป็นใหญ่

รายงานโดย c-editor เมื่อ 7 Mar 2016 http://www.citizenthaipbs.net/node/8026