ขบวนการแรงงานเตรียมรณรงค์กฎหมายประกันสังคมเพื่อคนทำงาน

Untitled-1

3 องค์กรแรงงานเตรียมผลักดันหลังปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม ฉบับคนทำงานหวังสร้างความเท่าเทียมด้านสิทธิ สวัสดิการ ครอบคลุมคนทำงานทุกคนที่มีรายได้

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2557 ได้มีการประชุมสัมมนา “ตัวแทนองค์กรแรงงาน เพื่อการขับเคลื่อนกฎหมายประกันสังคม”จัดโดย คณะทำงานขับเคลื่อนปรับปรุงประกันสังคมเพื่อคนทำงาน ประกอบด้วย 3 องค์กรหลักในขบวนการแรงงาน คือ องค์การรแรงงานแห่งประเทศไทย (อรท.) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการประสานและขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ประกันสังคม (สสส.) ณ ห้องราชา โรงแรมรัตนโกสินทร์ ถ.ราชดำเนิน กรุงเทพมหานคร

นายมนัส โกศล ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนปรับปรุงประกันสังคมเพื่อคนทำงานกล่าวว่า กฎหมายประกันสังคมที่บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2533 นานมากว่า 20 ปี ซึ่งก็มีการแก้กฎหมายแต่ส่วนมากเป็นเรื่องความคล่องตัวในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ แต่ยังไม่ได้แก้เรื่องการบริหารจัดการที่ขาดการมีส่วนร่วมจากผู้ประกันตนอย่างแท้จริง การบริการ และสิทธิประโยชน์ยังมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงสิทธิและความครอบคลุม หลายองค์กรได้พยามปรับปรุงแก้ไขกฎหมายฯโดยการเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม แต่ตกไปในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมา ต่อมาก็มีแนวคิดการปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมเพื่อคนทำงาน ซึ่งผู้นำแรงงาน นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญได้มีการประชุมร่วมกันหลายครั้งที่โรงแรมกานต์มณี มีการแบ่งการทำงานเป็น 2 คณะ คือ “คณะยกร่างเนื้อหา” และ “คณะทำงานขับเคลื่อน” การจัดสัมมนาครั้งนี้เพื่อให้เครือข่ายแรงงานได้เข้าใจเนื้อหาสาระสำคัญในการแก้กฎหมายประกันสังคม ซึ่งโดยสรุปเกี่ยวข้องกับ  6 ประเด็นคือ

1Untitled-3

1.ปัญหาการเข้าถึงกองทุนประกันสังคม ค่อนข้างยากต่างกับกองทุนหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) และกองทุนสวัสดิการข้าราชการ ทั้งที่มีการจัดเก็บเงินสมทบของผู้ประกันตน แต่ยังไม่รองรับสิทธิประโยชน์เท่ากับ 2 กองทุนที่ไม่ต้องจ่ายเงิน การบริการกรณีเจ็บป่วยก็ยังขาดประสิทธิภาพ

2. สิทธิประโยชน์ที่ยังไม่เท่าเทียมกัน ทั้งมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 การปรับปรุงแก้ไขกฎมายก็เพื่อให้ครอบคลุมคนทำงานทุกกลุ่ม และผู้ประกันตนควรเข้าถึงสิทธิประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน

3. คณะกรรมการบริหารประกันสังคม (บอร์ด) ยังมีปัญหาเรื่องความเป็นตัวแทนผู้ประกันตนที่มีกว่า 10 ล้านคนที่ไม่มีสิทธิในการเลือกผู้แทนของตนเองเข้าไปบริหารกองทุน จึงควรปรับปรุงให้ทุกคนที่เป็นผู้ประกันตนมีสิทธิในการเลือกตัวแทนเพื่อเข้ามาเป็นบอร์ดบริหาร

4.  การปรับปรุงแก้ไขร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมจะทำให้ระบบประกันสังคมมีมาตรฐานเดียวกัน ได้สิทธิประโยชน์ครบทั้ง 7 กรณี ทั้งมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40

5. การบริหารกองทุนประกันสังคมปัจจุบันเป็นระบบราชการ มีการเมืองคอยแทรกหาประโยชน์ เช่น การนำเงินไปใช้เรื่องน้ำท่วม เงินกู้ซื้อบ้าน ซึ่งผู้ประกันตนส่วนใหญ่ไม่ได้รับประโยชน์ ผู้ประกันตนไม่รู้เรื่องการลงทุน จึงควรมีการจัดการระบบจัดการองค์กรใหม่ให้เกิดความโปร่งใสตรวจสอบได้

6. ลูกจ้างทุกคนที่มีรายได้ถือเป็นผู้ประกันตน ซึ่งการปรับปรุงประกันสังคมให้ครอบคลุมคนทำงานทุกคนจะไม่ประสบผลสำเร็จหากขาดการมีส่วนร่วมของแรงงานทุกกลุ่ม

การแก้ไขปรับปรุงร่างกฎหมายประกันสังคม จะเป็นจริงหรือไม่ขึ้นอยู่กับพลังอำนาจการต่อรองของผู้ใช้แรงงาน และยุคนี้เป็นยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นช่วงมีแนวทางพิเศษในการบริหารประเทศ ซึ่งอนาคตคงมีการจัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเสนอร่างกฎหมายประกันสังคม

นายกอบ เสือพยัคฆ์ ประกันสังคมจังหวัดขอนแก่น นำเสนอหลักการสาระสำคัญของกฎหมายประกันสังคม และ การปรับปรุงกฎหมายประกันสังคมเพื่อคนทำงาน

1. หลักการของประกันสังคม

1.1  จากการรวบรวมปัญหาการใช้บริการในฐานะเจ้าหน้าที่ พบว่าผู้ประกันตนมองในมุมได้รับสิทธิประโยชน์ในฐานะผู้จ่ายเงิน ส่วนเจ้าหน้าที่จะมองในมุมราชการที่ต้องยึดกฎระเบียบเคร่งครัด โดยไม่มองในมิติที่ต้องรับใช้สังคมให้อยู่ดีกินดี มีสันติสุข ซึ่งระเบียบ หลักการ และการกำหนดให้เกิดวิธีปฏิบัติที่ดี ควรจะเปลี่ยนแปลงได้

1.2  ประกันสังคมเป็นภาษีเฉพาะ ซึ่งการจ่ายเงินสมทบแท้จริงก็คือการจ่ายภาษีมากกว่าปกติที่ประชาชนกลุ่มอื่นๆจ่าย  เป็นภาษีเฉพาะเพื่อสวัสดิการเฉพาะกลุ่ม การบริการของกองทุนประกันสังคมจึงควรต้องดีในฐานะที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ

Untitled-2Untitled-4

1.3  ภาษีเฉพาะหรือเงินสมทบนั้นมาจากผู้ประกันตน นายจ้าง และรัฐบาล ซึ่งประโยชน์ที่ได้คือ ผู้ประกันตนได้สิทธิประโยชน์ ส่วนนายจ้างก็มีหลักประกันด้านสวัสดิการให้กับลูกจ้างของตนเอง ซึ่งหากซื้อจากเอกชนก็จะแพง ทั้งยังเป็นการเพิ่มคุณค่าต่อสินค้า และได้ดูแลลูกจ้างให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ส่วนฝ่ายรัฐบาลนั้นเงินสมทบมาจากมาจากภาษีประชาชน จึงควรมีการจัดสวัสดิการให้ประชาชนมีคุณภาพที่ดี และทำให้ไม่ต้องจัดงบประมาณเพิ่มให้อีก

1.4  ด้านประโยชน์ทดแทนจากการจัดเก็บเงินสมทบ ผู้ประกันตนต้องทำหน้าที่ตรวจสอบติดตามการลงทุนเพื่อให้มีประสิทธิภาพมีผลตอบแทนจากดอกผลการลงทุนที่ดี ประโยชน์ทดแทนจึงจะคุ้มค่า

1.5  ประกันสังคมเป็นหลักประกัน 2 ด้าน ประกอบด้วย ด้านสุขภาพขณะทำงาน คือ เมื่อเจ็บป่วยไม่ต้องจ่ายเอง และด้านชราภาพเมื่อไม่ทำงานแล้ว เงินบำนาญชราภาพสามารถทำให้ผู้ประกันตนอยู่ได้ รัฐบาลจึงควรสมทบเงินกองทุนด้วย เช่นเดียวกับที่มีการสมทบกองทุนบำเหน็จบำนาญชราภาพ

ดังนั้น วันนี้จึงต้องคิดถึงการแก้ไขปรับปรุงประกันสังคมให้ดีขึ้น ให้เป็นของทุกคนที่ทำงานมีรายได้ เพื่อประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ

2. ประกันสังคมเพื่อคนทำงาน  โดยชูประเด็น ถ้วนหน้า และ เท่าเทียม

2.1  ถ้วนหน้า คือกำหนดให้คนทำงานทุกคนที่มีรายได้ อายุตั้งแต่ 15-60 ปี หรือ 60 ปีขึ้นไปที่ทำงานอยู่ สามารถเป็นสมาชิกผู้ประกันตนกองทุนประกันสังคมได้ โดยคุ้มครองผู้ประกันตนเดิมคือ ลูกจ้างในสถานประกอบการที่มีนายจ้าง (ม.33) ผู้ที่พ้นจากการเป็นลูกจ้างแต่สมัครต่อโดยไม่มีนายจ้าง (ม.39) และคนทั่วไป (ม.40) ที่ไม่ได้อยู่ในระบบสวัสดิการอื่น

2.2  เท่าเทียม โดย ใช้หลักการเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข และมีส่วนร่วม

ก. เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข  คือ อาจจ่ายเงินสมทบไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับค่าจ้าง แต่ได้สิทธิประโยชน์ในหลักเกณฑ์เดียวกัน ซึ่งเงินสมทบคำนวณจากค่าจ้างที่กำหนดต่ำสุดและสูงสุด โดยจะมีการกำหนดค่าจ้างกลางสำหรับอาชีพที่ค่าจ้างไม่แน่นอน

ส่วนเงินสมทบก็มาจาก ลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐบาล ซึ่งส่วนของรัฐบาลก็ให้กำหนดไว้ในงบประมาณประจำปีให้สอดคล้องกับการจ่ายสวัสดิการกลุ่มอื่นๆ

ด้านประโยชน์ทดแทน ก็มีครบทั้ง 7 กรณี  โดยแบ่งชุดสิทธิประโยชน์เป็น 2 ชุด ภายใต้แนวคิดว่า ทุกคนต้องได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมกัน ส่วนคนที่จ่ายเงินมากขึ้นก็จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น

ข. การมีส่วนร่วม  ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมคือ

1. องค์ประกอบของคณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วย

–   ผู้แทนหน่วยงานรัฐบาล  มาจากการแต่งตั้ง

–  ผู้ทรงคุณวุฒิ  มาจากผู้แทนคณะกรรมการเชี่ยวชาญเฉพาะด้านๆละ 1 คน เป็นผู้รู้และเป็นมืออาชีพ มี  9 คณะประกอบด้วย คณะกรรมการการแพทย์และระบบสุขภาพ คณะกรรมการอุทธรณ์ คณะกรรมการการลงทุน คณะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารสำนักงาน คณะกรรมการฝ่ายผู้ประกันตน คณะกรรมการฝ่ายนายจ้าง คณะกรรมการมีส่วนร่วมและประสานยุทธศาสตร์ และคณะกรรมการพัฒนาประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ

–  ผู้แทนนายจ้าง และ ผู้แทนผู้ประกันตน  มาจากการเลือกตั้ง1 คน 1 เสียง โดยคนทำงานที่เป็นผู้ประกันตนระดับจังหวัด ทั้งมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 เลือก 1-2 คนต่อ 1 จังหวัดเพื่อไปเป็นผู้แทนในสมัชชาคนทำงาน แล้วเลือกไปเป็นตัวแทนในคณะกรรมการประกันสังคม

2. สำนักงานประกันสังคม  จะเป็นหน่วยงานพิเศษ มี 2 รูปแบบคือ เป็นองค์การมหาชนที่มีกฎหมายองค์การมหาชนรองรับ แต่มีข้อจำกัดเรื่องการมีส่วนร่วมการตรวจสอบ หรือเสนอเป็นพระราชบัญญัติจัดตั้งสำนักงานโดยเฉพาะขึ้นมาใหม่ โดยอยู่ภายใต้หน่วยราชการหรือเป็นองค์กรอิสระรูปแบบอื่นๆ

ทั้งนี้ ได้มีการระดมความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมประชุมในประเด็น ความเป็นอิสระและการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ และ ความครอบคลุม และสิทธิประโยชน์ที่เสมอภาคเท่าเทียม ซึ่งที่ประชุมได้มีข้อเสนอ เรื่องการบริหารจัดการสำนักงานประกันสังคมต้องเป็นองค์กรอิสระ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ แต่ก็ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่ององค์กรอิสระให้มากขึ้น ให้ประกันสังคมเป็นการบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วม ขยายความครอบคลุมคนทำงานทุกคนรวมทั้งผู้ประกอบอาชีพอิสระกลุ่มอื่น ต้องให้ผู้ประกันตนมีส่วนร่วมในการเลือกตัวแทนบริหารจัดการ และมีระบบตรวจสอบการบริหารจัดการกองทุนประกันสังคมด้วย และควรมีการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่นเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีค่าเล่าเรียนบุตร เงินบำเหน็จ บำนาญชราภาพ การขยายเพดานการเก็บเงินสมทบกรณีผู้ประกันตนที่มีรายได้มากกว่า 15,000 บาท เพื่อเพิ่มประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ โดยรัฐต้องร่วมจ่ายกรณีชราภาพด้วย

ต่อมาได้มีการร่วมกันวางแผนการทำงานขับเคลื่อนร่วมกันมีการกำหนดกิจกรรมในระดับพื้นที่ภายในระยะเวลา 6 เดือน คือ จัดเวทีอบรมสัมมนาเผยแพร่ความรู้เรื่องการปรับปรุงประกันสังคมให้กับระดับแกนนำ 30 คนในทุกพื้นที่ จัดเวทีรณรงค์สาธารณะ จัดเวทีเผยแพร่ในการประชุมใหญ่สหภาพแรงงาน การจัดกลุ่มย่อยหรือกลุ่มศึกษา และผลิตสื่อ แผ่นพับ วิดีโอ พร้อมได้มีการตั้งคณะทำงานปฏิบัติงานระดับพื้นที่ต่างๆด้วย

                นักสื่อสารแรงงาน รายงาน