ขบวนการแรงงานนัดรวมพล ๗ ตุลานี้ทวงถามรัฐให้รับรองอนุสัญญา ILO

แถลงการณ์ ฉบับที่ ๓/๒๕๕๓

“๗ ตุลา ทวงถามความจริงใจรัฐบาล ต่อการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO”

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ข้อเรียกร้องหลักขององค์กรแรงงานต่างๆ ในประเทศไทยคือการเรียกร้องให้รัฐบาลไทยให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization :ILO) ฉบับที่ ๘๗ และ ๙๘ ซึ่งเป็นอนุสัญญาหลัก ๒ ฉบับ ในทั้งหมด ๘ ฉบับ ที่ประเทศสมาชิกของ ILO ต้องให้สัตยาบันรับรอง (Core Labour Standard) อนุสัญญาทั้ง ๒ ฉบับดังกล่าวถือเป็นหัวใจสำคัญของพวกเราพี่น้องผู้ใช้แรงงาน คือ ฉบับที่ ๘๗ ว่าด้วยเรื่องเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และ ฉบับที่ ๙๘ ว่าด้วยเรื่องการรวมตัวร่วมเจรจาต่อรอง ซึ่งรัฐบาลไทยยังไม่ให้สัตยาบันรับรอง ทั้งๆที่ ILO ได้ประกาศในปี ๒๕๔๑ ให้อนุสัญญาทั้ง ๒ ฉบับ อยู่ในปฏิญญาว่าด้วยหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน ซึ่งองค์กรแรงงานต่างๆ ร่วมกันขับเคลื่อนมาอย่างยาวนานนับสิบปี

ซึ่งคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ ๘๗ และ ๙๘ อันประกอบด้วย สภาองค์การลูกจ้าง , สหพันธ์แรงงาน , กลุ่มสหภาพแรงงาน , สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ , คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย , สหภาพแรงงาน และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานต่างๆ ได้ร่วมกันรณรงค์เรียกร้องเพื่อให้รัฐบาลให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ ๘๗ และ ๙๘ ตามลำดับดังนี้

  • การเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในวันพฤหัสบดีที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๒ เพื่อนำเสนอผลักดันและติดตาม ในเรื่องการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ ๘๗ และ ๙๘ ในวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๒ และ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๒
  • การยื่นข้อเรียกร้องต่อองค์การแรงงานระหว่างประเทศ และนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๒ เพื่อให้รัฐบาลให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ทั้ง ๒ ฉบับ
  • การรณงค์ผลักดันให้รัฐบาลไทยให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ ๘๗ และ ๙๘ ในวันพุธที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๒ และผู้แทนรัฐบาล พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ มารับข้อเรียกร้องและรับปากว่ารัฐบาลจะให้สัตยาบันอนุสัญญาดังกล่าวภายใน ๓ เดือน
  • การส่งผู้แทนของคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ ๘๗ และ ๙๘ เข้าร่วมประชุมหารือกับคณะทำงานประสานการดำเนินงานพื่อให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ ๘๗ และ ๙๘ ซึ่งที่ผ่านมามีการประชุมด้วยกัน ๔ ครั้ง โดยในการประชุมล่าสุดคณะทำงานระสานการดำเนินงานฯ ดังกล่าว มีมติให้รัฐบาลเร่งดำเนินการเพื่อให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ ๘๗ และ ๙๘
  • และเมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๕๓ คณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ ๘๗ และ ๙๘ ได้เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อติดตามการตีความตามมาตรา ๑๙๐ ของรัฐธรรมนุญแห่งราชอาณาจักรไทย ๒๕๕๐ ซึ่งตามคำตอบของกระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจงให้เห็นถึงขั้นตอนต่อไปของให้กระทรวงแรงงานในการนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อรับหลักการในการให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง ๒ ฉบับ เพื่อนำเสนอเข้าสู่รัฐสภาต่อไป

จากคำแถลงดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ ๘๗ และ ๙๘ ได้ดำเนินรณรงค์ผลักดันให้รัฐบาลให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง ๒ ฉบับ อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง จนถึงขณะนี้คณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ ๘๗ และ ๙๘ ขอแสดงจุดยืนต่อรัฐบาล ในการปักหลักขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้รัฐบาลให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ทั้งสองฉบับโดยด่วน ทั้งนี้รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานต้องมีความชัดเจนชี้แจงต่อคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ ๘๗ และ ๙๘ ว่าขั้นตอนต่างๆในการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ทั้งสองฉบับดำเนินการไปถึงขั้นไหน และจะใช้ระยะเวลาอีกเท่าไหร่จึงจะให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ ๘๗ และ ๙๘

นอกจากนี้รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานต้องแสดงความจริงใจในการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ทั้งสองฉบับต่อคนงานไทย ให้เป็นไปตามถ้อยแถลงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในการประชุม ILC ซึ่งเป็นการประชุมใหญ่สามัญประจำปีขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งท่านได้แถลงไว้ว่า “รัฐบาลไทยมีความพร้อมในการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ ๘๗ และ ๙๘”พร้อมกันนี้รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานต้องหยุดยื้อเวลาในการให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้งสองฉบับด้วยวิธีการต่างๆ โดยเฉพาะข้ออ้างที่ว่าประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับจึงจำเป็นต้องแก้ พ.ร.บ.แรงงงานสัมพันธ์ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อน เพราะตามความเป็นจริงแล้วสามารถให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาทั้งสองฉบับก่อน แล้วค่อยดำเนินการแก้กฎหมายในภายหลังให้สอดคล้องได้

ดังนั้นเพื่อให้เกิดความชัดเจนในขั้นตอนการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ ๘๗ และ ๙๘ รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานต้องประกาศจุดยืนในการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ ๘๗ และ ๙๘ ให้ชัดเจนว่า “จะให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ทั้งสองฉบับนี้ก่อนมีการแก้กฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้อง”อีกทั้งต้องประกาศกรอบระยะเวลาในการดำเนินงานขั้นตอนต่างๆเพื่อให้สัตยาบันให้มีความชัดเจนและสามารถติดตามตรวจสอบได้

ซึ่งนับจากนี้ หากยังไม่มีการส่งสัญญาณที่ชัดเจนจากรัฐบาลหรือกระทรวงแรงงานเกี่ยวกับการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ ๘๗ และ ๙๘ คณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ ๘๗ และ ๙๘ ก็จะระดมมวลชนเพื่อเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลครั้งใหญ่ ในวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๓

แถลงโดยคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ ๘๗ และ ๙๘ เมื่อวันพุธที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๕๓ ณ โรงแรมเอเซีย ราชเทวี กรุงเทพฯ