กระทรวงแรงงานเตรียมใช้ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ มีผล 10 ส.ค.นี้

google.co.th/search

กระทรวงแรงงานประกาศ 10 ส.ค.นี้บังคับใช้อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือใน 20 สาขาอาชีพ 300-700 บาท ปลัด ย้ำแรงงานต้องพัฒนา เพราะประเทศกำลังก้าวสู่ Thailand 4.0

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2559 ที่กระทรวงแรงงาน มีการแถลงข่าวเปิด “ประกาศอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (ฉบับที่ 5)” ภายหลังกระทรวงแรงงานได้ประกาศแล้ว 35 สาขาอาชีพ และในวันที่ 10 สิงหาคม2559 จะบังคับใช้อีก 20 สาขาอาชีพ ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ ยานยนต์ อัญมณี และกลุ่มโลจิสติกส์ ซึ่งในกลุ่มเหล่านี้จะมีอัตราค่าจ้างตั้งแต่ 300 บาทขึ้นไปจนถึงประมาณวันละ 700 บาท

ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ เป็นการส่งเสริมการพัฒนาทางอ้อม เพราะการได้รับค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ จะเป็นเส้นทางความก้าวหน้าในสาขาอาชีพ (Career Path) ของลูกจ้าง ตั้งแต่เริ่มต้นเข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่ (Unskilled Labour) จนกระทั่งถึงระดับช่างฝีมือ (Skilled Labour) ทำให้คนทำงานมีขวัญและกำลังใจ ส่งผลให้การผลิตสินค้าและบริการมีคุณภาพนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้บริโภค ได้รับประโยชน์จากสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ และที่สุดประโยชน์โดยรวมจะตกอยู่กับประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่ Thailand 4.0 แรงงานจึงต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรฐานฝีมือจะมากำกับเรื่องสมรรถนะ  ซึ่งคนทำงานจะต้องปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปได้ตลอดเวลา การกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ ผลดี 4 ประการ คือ

  1. ทำให้คนทำงานที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติใน 20 สาขาอาชีพ ทั้งระดับ 1 และ 2 มีค่าจ้างเหมาะสมเป็นธรรม สอดคล้องกับทักษะฝีมือ ความรู้ ความสามารถ และการจ้างงานในตลาดแรงงาน ทำให้คนทำงานมีขวัญกำลังใจ ในการทำงาน
  2. เป็นแรงจูงใจให้คนทำงานทั่วไปได้มีการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อให้ได้รับค่าจ้างสูงขึ้น
  3. ผู้ประกอบการสามารถคัดเลือกแรงงานที่มีฝีมือเข้าทำงาน ทำให้สินค้าและบริการมีคุณภาพได้มาตรฐาน ลดค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนผลิตเพราะไม่เกิดการผิดพลาดระหว่างการผลิต และสามารถรักษาบุคลากรที่มีฝีมือไว้ได้ด้วย
  4. ช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือในสาขาอาชีพที่ขาดแคลน และรองรับการพัฒนาประเทศตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

หากนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างตามประกาศดังกล่าวจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับรายละเอียดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 10 สิงหาคม2559 มี 5 กลุ่มดังนี้

1. กลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 4 สาขา ประกอบด้วย พนักงานประกอบอุปกรณ์ไฟฟ้าและแสงสว่าง ระดับ 1 ค่าจ้าง 360 บาท ระดับ 2 ค่าจ้าง 430 บาท /พนักงานประกอบมอเตอร์สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้า ระดับ 1 ค่าจ้าง 370 บาท ระดับ 2 ค่าจ้าง 445 บาท / ช่างเทคนิคบำรุงรักษาเครื่องจักรกล ระดับ 1 ค่าจ้าง 410 บาท ระดับ 2 ค่าจ้าง 490 บาท / ช่างเทคนิคระบบรักษาความปลอดภัย ระดับ 1 ค่าจ้าง 400 บาท ระดับ 2 ค่าจ้าง ค่าจ้าง 480 บาท

2. กลุ่มชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ จำนวน 4 สาขา ประกอบด้วย สาขาช่างกลึง ระดับ 1 ค่าจ้าง 400 บาท ระดับ 2 ค่าจ้าง 480 บาท / ช่างเชื่อมมิก-แม็ก ระดับ 1 ค่าจ้าง 400 บาท ระดับ 2 ค่าจ้าง 480 บาท / ช่างเทคนิคบำรุงรักษาเครื่องจักรกล ระดับ 1 ค่าจ้าง 400 บาทระดับ 2 ค่าจ้าง 480 บาท / ช่างเทคนิคเครื่องกลึงอัตโนมัติ ระดับ 1 ค่าจ้าง 400 บาท ระดับ 2 ค่าจ้าง 480 บาท

3. ยานยนต์ ประกอบด้วย ช่างเทคนิคพ่นสีตัวถัง ระดับ 1 ค่าจ้าง 400 บาท ระดับ 2 ค่าจ้าง 480 บาท / ช่างเทคนิคพ่นซีลเลอร์ตัวถัง ระดับ 1 ค่าจ้าง 400 บาท ระดับ 2 ค่าจ้าง 480 บาท / พนักงานประกันคุณภาพผลิตภัณฑ์ยานยนต์(ขั้นสุดท้าย) (ระดับ 1 ค่าจ้าง 400 บาท ระดับ 2 ค่าจ้าง 480 บาท

4. อัญมณี ประกอบด้วย ช่างเจียรไนพลอย ระดับ 1 ค่าจ้าง 420 บาทิระดับ 2 ค่าจ้าง 550 บาท / ช่างหล่อเครื่องประดับ ระดับ 1 ค่าจ้าง 420 บาท ระดับ 2 ค่าจ้าง 550 บาท / ช่างตกแต่งเครื่องประดับ ระดับ 1 ค่าจ้าง 420 บาท ระดับ 2 ค่าจ้าง 550 บาท / ช่างอัญมณีบนเครื่องประดับ ระดับ 1 ค่าจ้าง 420 บาท ระดับ 2 ค่าจ้าง 550 บาท

5. โลจิสติกส์ ประกอบด้วย นักบริหารการขนส่งสินค้า ระดับ 1 ค่าจ้าง 415 บาท ระดับ 2 ค่าจ้าง 500 บาท / ผู้ควบคุมรถยกสินค้าขนาดไม่เกิน 10 ตัน ระดับ 1 ค่าจ้าง 360 บาท ระดับ 2 ค่าจ้าง 430 บาท / ผู้ควบคุมสินค้าคงคลัง ระดับ 1 ค่าจ้าง 350 บาท ระดับ 2 ค่าจ้าง 420 บาท / ผู้ปฎิบัติการคลังสินค้า ระดับ 1 ค่าจ้าง 340 บาท ระดับ 2 ค่าจ้าง 410 บาท