ก้าวต่อไปของอุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูปไทยเพื่อการปรับปรุงสภาพการทำงานและสิทธิแรงงาน

แรงงานประมง จ.สมุทรสาคร ภาพจากพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

กรุงเทพ (ข่าวไอแอลโอ) – สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทยหรือ The Thai Tuna Industry Association (TTIA) และสมาคมแช่เยือกแข็งไทยหรือ Thai Frozen Food Association (TFFA) ยกระดับความมุ่งมั่นต่อโครงการแนวปฎิบัติการใช้แรงงานที่ดีในอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทย (Seafood Good Labour Practices – GLP) เพื่อให้ประสบความสำเร็จในฐานะโครงการเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีความแข็งแกร่งและน่าเชื่อถือ 

ความคืบหน้าดังกล่าวมาจากผลการศึกษาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ในรายงานที่ชื่อ “เปลี่ยนหลักการให้เป็นวิถี: อนาคตของโครงการแนวปฎิบัติการใช้แรงงานที่ดีในอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทย” ที่ให้คำแนะนำในการเสริมสร้างประสิทธิภาพของโครงการฯ  

ก้าวต่อไปที่สมาคมอุตสาหกรรมตกลงที่จะดำเนินการได้แก่ การให้องค์กรภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการเยี่ยมโรงงานและการให้ข้อมูลที่มีรายละเอียดมากขึ้นในรายงานประจำปีที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ เช่นข้อมูลองค์ประกอบของคณะกรรมการสวัสดิการในโรงงานที่เข้าร่วมโครงการฯ และการร้องทุกข์ของแรงงาน  

แรงงาน จ.สมุทรสาคร ภาพจากพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย (TTIA) และสมาคมแช่เยือกแข็งไทย (TFFA) ตระหนักถึงความสำคัญของแรงงานข้ามชาติและแรงงานหญิงในภาคอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล จึงจะเพิ่มจำนวนแรงงานข้ามชาติและสตรีในคณะกรรมการสวัสดิการ รวมทั้งสร้างแรงจูงใจให้เกิดการเข้าร่วมของแรงงานกลุ่มนี้ยิ่งขึ้น  

นอกจากนี้ TTIA และ TFFA จะแนะนำให้บริษัทสมาชิกรับหลักการ “นายจ้างจ่าย” ค่าธรรมเนียมการหางานและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องที่เกิดในประเทศไทยทั้งหมด เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดหนี้อันเนื่องจากการหางานของแรงงาน นอกจากนี้ ทั้งสองสมาคมจะขอให้สมาชิกห้ามทำการตรวจคัดกรองการตั้งครรภ์เมื่อจัดหาแรงงาน และจะแนะนำโรงงานให้จัดทำห้องสำหรับให้นมบุตร TFFA ยังจะสนับสนุนให้บริษัทสมาชิกปรับสภาพการทำงานให้แก่แรงงานหญิงตั้งครรภ์ รวมถึงแจกจ่ายผ้าอนามัยฟรี อีกด้วย 

นาง อรรถพันธ์  มาศรังสรรค์ ที่ปรึกษาสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย กล่าวว่า “เราพร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้ากับโครงการแนวปฎิบัติการใช้แรงงานที่ดีในอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทย และยินดีต้อนรับผู้สังเกตการณ์จากภาคประชาสังคมในการเข้าร่วมเยี่ยมโรงงานซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคมนี้  การมีส่วนร่วมขององค์กรภาคประชาสังคมจะช่วยพัฒนาความสัมพันธ์และความไว้วางใจระหว่างฝ่ายบริหารและแรงงาน และจะช่วยให้เราสามารถหาทางออกในการแก้ไขปัญหาและกรณีการร้องเรียนต่างๆ ของแรงงานได้”  

นายวิบูลย์  สุภัครพงษ์กุล  อุปนายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า  “TFFA มีความมุ่งมั่นให้โครงการแนวปฎิบัติการใช้แรงงานที่ดีในอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทย เป็นโครงการที่มีความเข้มแข็งและพัฒนายิ่งขึ้นกว่าเดิม เราจะส่งเสริมระบบการจัดการและปฎิบัติการให้คำนึงถึงมิติทางเพศและปราศจากการเลือกปฎิบัติ ซึ่งมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมของเราที่ต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติและแรงงานหญิง”  

ประเทศไทยติดอันดับประเทศผู้ส่งออกปลาและผลิตภัณฑ์อาหารทะเลหนึ่งในสิบของโลก โดยมีมูลค่าการส่งออกระดับโลกอยู่ที่ร้อยละสี่ในปี พ.ศ. 2561 โดยในปี พ.ศ. 2564 ภาคอุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูปไทยส่งออกผลิตภัณฑ์มากกว่า 1.6 ล้านตัน มีมูลค่า 5.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ  และมีการจ้างงานแรงงานประมาณ 600,000 คนในประเทศไทย โครงการแนวปฎิบัติการใช้แรงงานที่ดีในอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทย ได้รับการพัฒนาโดยความร่วมมือระหว่าง ไอแอลโอ สมาคม TTIA และ TFFA ภายใต้การสนับสนุนของสหภาพยุโรป ผ่านโครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่ง ประเทศไทย (พ.ศ. 2559-2563) สมาคม TTIA และ TFFA มีสมาชิก 106 บริษัทที่เข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งให้แนวทางเกี่ยวกับมาตรฐานสถานที่ทำงาน โดยมุ่งเน้นให้อุตสาหกรรมการผลิตอาหารทะเลไทยมีแนวปฎิบัติตามกฎหมายไทยและหลักการของมาตรฐานแรงงานสากล    

ดร. พงศ์ฐิติ พงศ์ศิลามณี  รองเลขาธิการฝ่ายวิชาการ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) กล่าวว่า “สรส.ในฐานะองค์กรลูกจ้างมีความยินดีที่ได้เห็นการแสดงความมุ่งมั่นอีกครั้งจากอุตสาหกรรมที่มีต่อโครงการแนวปฎิบัติการใช้แรงงานที่ดีในอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทย     โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรายินดีต่อการที่สมาคมฯ ให้ภาคประชาสังคมและตัวแทนลูกจ้างเข้าไปมีส่วนร่วมในการเยี่ยมโรงงาน และสนับสนุนการเพิ่มจำนวนแรงงานข้ามและสตรีในการดำเนินกิจกรรมของแรงงาน เรามีความตั้งใจที่จะร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับภาคธุรกิจไทยเพื่อปรับปรุงสภาพการทำงานสำหรับแรงงานทุกคน” 

รองหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรป (อียู) ประจำประแทศไทย นาย จูเซปเป บูซินี กล่าวว่า “เรามีความยินดีต่อความมุ่งมั่นของภาคอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทยที่จะจัดทำรายงานโดยละเอียดและส่งเสริมกลไกความรับผิดชอบให้เข้มแข็ง การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมและองค์กรลูกจ้างในการเยี่ยมโรงงานสามารถเป็นประโยชน์ต่อแรงงานและช่วยปรับปรุงธรรมาภิบาลของภาคอุตสาหกรรมได้ โครงการแนวปฎิบัติการใช้แรงงานที่ดีในอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทย สามารถสร้างความยั่งยืนของอุตสาหกรรมจากการให้ความคุ้มครองสินทรัพย์ที่มีค่าที่สุดอย่างหนึ่งของอุตสาหกรรม นั่นก็คือแรงงาน “  

ความมุ่งมั่นที่มีต่อโครงการฯ ของภาคอุตสาหกรรม ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย ภายใต้การนำของกระทรวงแรงงาน สภาองค์กรนายจ้างแห่งประเทศไทยและสมาพันธ์รัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย  

ปลัดกระทรวงแรงงาน นาย บุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ กล่าวว่า “กระทรวงแรงงานมีความภาคภูมิใจที่จะให้การสนับสนุนภาคธุรกิจไทยต่อไปเพื่อปรับปรุงมาตรฐานด้านแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลที่มีความสำคัญ กระทรวงแรงงานมีความตั้งใจที่ทำงานร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศและหุ้นส่วนภาคีอื่นๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งและน่าเชื่อถือให้กับโครงการแนวปฎิบัติการใช้แรงงานที่ดีในอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทย ในภาคอุตสาหกรรมอาหารทะเล และสามารถต่อยอดเพื่อประโยชน์ต่อภาคธุรกิจอื่น” 

นายแกรห์ม บัคเลย์ ผู้อำนวยการ ทีม Decent Work องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ประจำเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิค  และผู้อำนวยการสำนักงานฯ ประจำประเทศไทย กัมพูชาและสาธารณะประชาธิปไตยประชาชนลาว กล่าวว่า “การมีส่วนร่วมของอุตสาหกรรม รัฐบาลไทยและสหภาพแรงงานในการพัฒนาข้อแนะนำเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับโครงการแนวปฎิบัติการใช้แรงงานที่ดีในอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทย ถือเป็นสัญญาณที่ดีและจะช่วยสนับสนุนให้เกิดการนำไปปฎิบัติใช้ที่มีประสิทธิภาพ” 

รายงานเรื่อง “เปลี่ยนหลักการให้เป็นวิถี: อนาคตของโครงการแนวปฎิบัติการใช้แรงงานที่ดีในอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทย” จัดทำโดยโครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่ง ภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป ข้อมูลเพิ่มเติม https://shiptoshorerights.org/     

ลิงค์ข่าว ก้าวต่อไปของอุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูปไทยเพื่อการปรับปรุงสภาพการทำงานและสิทธิแรงงาน (ilo.org)