การชุมนุมหน้าโรงงาน : ชุมนุมอย่างไรไม่ผิดกฎหมายทุกฉบับ

P5010419P9250333

พรนารายณ์ ทุยยะค่าย
หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
13 พฤศจิกายน 2556

ในช่วงฤดูกาลยื่นข้อเรียกร้องของลูกจ้างของทุกๆปี มีบางโรงงานที่ยังไม่สามารถตกลงในข้อเรียกร้องระหว่างนายจ้างและสหภาพแรงงานได้ในระหว่างเจรจา ลูกจ้างมักจะมีการนัดชุมนุมหน้าโรงงานเพื่อชี้แจงข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องต่อลูกจ้าง หรือในบางกรณีที่นำไปสู่ข้อพิพาทแรงงาน และมีการนัดหยุดงานในฝ่ายลูกจ้างหรือมีการปิดงานจากฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้างก็มักจะมีการนัดชุมนุมยืดเยื้อหน้าโรงงานเพื่อให้เกิดการเจรจาต่อรองที่เป็นธรรมสำหรับทุกฝ่ายขึ้นมา

แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 63 จะบัญญัติไว้ชัดเจนว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ การจำกัดเสรีภาพจะกระทำมิได้”

แต่อย่างไรก็ตามในมาตราเดียวกันนี้ ได้มีการระบุต่อท้ายว่า

“เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะ และเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม หรือในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก”

นั้นหมายความว่าการชุมนุมโดยสงบเท่านั้นที่จะได้รับความคุ้มครองภายใต้รัฐธรรมนูญ คือ ต้องไม่มีการใช้กำลังประทุษร้ายระหว่างการชุมนุม ต้องไม่มีการขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย และต้องไม่กระทำการให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง

เช่นเดียวกันการชุมนุมหน้าโรงงานย่อมมีข้อจำกัดบางอย่างที่สามารถกระทำได้ และไม่สามารถกระทำได้ คณะทำงานฝ่ายกฎหมาย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย จึงได้รวบรวมแนวทางที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายด้านการชุมนุม เพื่อให้พี่น้องแรงงานกลุ่มต่างๆใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการจัดชุมนุมที่ไม่ผิดกฎหมายและไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพผู้อื่น

7 หลักการสำคัญของการชุมนุมที่ห้ามกระทำโดยเด็ดขาด ทั้งนี้มีคำพิพากษาแล้ว ได้แก่

IMG_2488

(1) การปราศรัยในที่ชุมนุมต้องเป็นไปเพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่องสภาพการจ้างงานในบริษัทหรือสถานประกอบการเท่านั้น การปราศรัยที่เป็นการโน้มน้าว ปลุกระดม ยุยง ให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่อง จนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในที่ชุมนุม แม้จะยังไม่มีการปฏิบัติตามนั้น แต่ถ้ามีประโยคที่สื่อได้ว่า “หากไม่มีการปฏิบัติตามที่กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้อง ขู่เข็ญ ก็จะมีการใช้กำลังประทุษร้ายนายจ้าง” ก็ถือว่ามีความผิดแล้วจะกระทำมิได้โดยเด็ดขาด ทั้งนี้โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ 215)

(2) ผู้จัดการชุมนุมหรือผู้เข้าร่วมการชุมนุมห้ามยุยงหรือสนับสนุนให้มีการใช้ความรุนแรงเพื่อบังคับข่มขู่ หน่วงเหนี่ยว หรือมุ่งให้เกิดการกักขังผู้อื่น จนทำให้ผู้อื่นกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ จนไม่กล้าที่จะเข้าไปทำงานในโรงงาน ถือเป็นการกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น โทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309)

(3) ห้ามปิดกั้นถนนสาธารณะสายหลักที่มีการจราจรหนาแน่นอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะการปิดกั้นถนนทางหลวงหรือกระทำการใดๆกับทางหลวง อันเป็นการกีดขวางการจราจร หรืออาจเกิดอันตรายหรือเสียหายแก่ยานพาหนะหรือบุคคลที่สัญจร ถือเป็นการกระทบสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นที่ใช้รถใช้ถนนทำให้ไม่อาจสัญจรไปมาได้จนได้รับความเดือดร้อน มีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 39, 71 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 114, 148)

(4) ห้ามใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งนี้การใช้เครื่องขยายเสียงจะสามารถกระทำได้ เมื่อได้แจ้งข้อเรียกร้องและความจำเป็นในการชุมนุมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว จึงจะได้รับการยกเว้น อย่างไรก็ตามถึงผู้ชุมนุมไม่แจ้งเจ้าหน้าที่ ก็มีโทษเพียงการปรับจำนวน 200 บาท เท่านั้น (พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493 มาตรา 9)

(5) การนัดหมายหรือสั่งการให้ลูกจ้างหยุดงานโดยไม่เป็นไปตามขั้นตอนและเงื่อนไขของกฎหมาย รวมถึงมีการปิดประตูโรงงานด้วยวิธีการต่างๆ การตรวจค้นร่างกาย เพื่อมิให้นายจ้างหรือลูกจ้างที่ประสงค์จะเข้าทำงานเข้าออกได้ และการเข้าไปในโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ถือเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง กระทำให้ผู้อื่นกลัวว่าจะเกิด อันตรายต่อชีวิต ร่างกาย และเสรีภาพ อันเป็นการกระทบสิทธิเสรีภาพผู้อื่น (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 16)

(6) การเดินขบวนเพื่อเรียกร้องข้อเสนอบางอย่าง หรือคัดค้านการกระทำบางอย่างตามปกติธรรมดา ไม่ถือเป็นการก่อให้เกิดการวุ่นวาย แต่ทั้งนี้ต้องไม่กีดขวางการจราจรเด็ดขาด แต่ในข้อนี้โทษปรับแค่ 500 บาท (พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 108 และ 148)

(7) ห้ามมีการใช้กำลังประทุษร้าย เช่น ทำร้ายบุคคลอื่น หรือทำลายและเผาทรัพย์สินต่างๆของทางราชการและของสถานประกอบการหรือของบุคคลให้เสียหาย ถือว่าเป็นการทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 ทั้งนี้การเผาหุ่นจำลองต่างๆที่ผู้ชุมนุมกล่าวหา ไม่ถือว่าเป็นการทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง (ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215)
ข้อสังเกต

การชุมนุมที่มีการเดินขบวนในลักษณะกีดขวางการจราจร โดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 108, มาตรา 148 และการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาด้วยเครื่องขยายเสียง พ.ศ.2499 มาตรา 4 มาตรา 9 ถือว่าเป็นบทบัญญัติที่จำกัดเสรีภาพของประชาชนและขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงไม่อาจนำมาใช้กับผู้ชุมนุมในทางสาธารณะได้

แต่ทั้งนี้ก็ต้องระมัดระวังในกรณีนี้ด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อเดือนตุลาคม 2556 มีคำพิพากษาจากศาลจังหวัดสระบุรี กรณีการชุมนุมคัดค้านสร้างโรงไฟฟ้าหนองแซง ศาลชี้ว่าเสรีภาพการชุมนุมต้องไม่ละเมิดกฎหมายอื่น จำเลยมีความผิดให้จำคุก 1 ปี ทั้งนี้รอลงอาญา เพราะมีการชุมนุมปิดถนนพหลโยธิน ก่อให้เกิดอันตรายกับประชาชน กีดขวางทางหลวง และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

////////////////////////////