กังขา ส.ส.หยามเสียงแรงงาน เขี่ยกฎหมายประกันสังคมตกสภา คสรท.ชี้เหตุกลัวถูกตรวจสอบ

สภา2

คณะกรรมการสมานฉันท์ฯชี้ผู้แทนจากการเลือกตั้งขาดสำนึกประชาธิปไตยไม่รับหลักการร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับเข้าชื่อภาคประชาชนถือเป็นการทำลายเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญที่เปิดช่องให้ประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ชี้หวังปิดช่องปฏิรูปตรวจสอบระบบประกันสังคม เตรียมแถลง 26 มี.ค. 10.00 น. ที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยกำหนดท่าทีเคลื่อนไหวปฏิรูป สปส. เพื่อผลประโยชน์ผู้ประกันตน

 556000003610201

(ขอบคุณภาพจากผู้จัดการ)
นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวถึงกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม จำนวน 4 ฉบับ เมื่อวันที่ 20-21 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งประกอบด้วย ฉบับของรัฐบาล, ฉบับของนายเรวัต อารีรอบ ส.ส.ภูเก็ต พรรคประชาธิปัตย์, ฉบับภาคประชาชน14,264 รายชื่อ ซึ่ง น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง, และฉบับของนายนคร มาฉิม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ โดยสภาฯมีมติเห็นชอบให้รับหลักการในวาระที่หนึ่งจำนวน 2 ฉบับคือ ฉบับของรัฐบาลกับฉบับของนายเรวัต แต่กลับไม่รับหลักการฉบับของนายนคร และฉบับของภาคประชาชนเข้าไปพิจารณาร่วมกัน นั้น

นายชาลีเห็นว่า สาเหตุน่าจะเป็นเพราะฉบับของแรงงานมีเรื่องของการให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.)เป็นองค์กรอิสระ เพราะมี ส.ส.ของพรรครัฐบาลอภิปรายไม่เห็นด้วย ซึ่งการเป็นองค์กรอิสระ จะทำให้ผู้ประกันตนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการบริหารกองทุนประกันสังคมที่ทุกวันนี้มีเงินมากถึงเกือบ 1 ล้านล้านบาท และที่ผ่านมาก็มีความพยายามจากฝ่ายการเมืองที่จ้องเข้าไปแทรกแซงเพื่อนำเงินประกันสังคมไปใช้สนองนโยบายรัฐบาล ซึ่งแม้จะหาวิธีการใช้เงินที่ไม่ผิดระเบียบ แต่หลายครั้งก็มีข่าวที่ทำให้เห็นว่ามีการนำเงินไปใช้ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของกองทุนประกันสังคมและไม่เกิดประโยชน์ต่อผู้ประกันตน และยังมีเรื่องของผู้บริหาร สปส.ที่ฝ่ายผู้ประกันตนต้องการให้มีการสรรหาจากผู้ที่เป็นมืออาชีพ แต่ร่างของรัฐบาลที่ผ่านสภาฯกลับยังเป็นระบบแต่งตั้งแบบเดิมที่ทำให้ สปส.ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลและต้องสนองฝ่ายการเมืองมากว่าจะคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ประกันตน

“ แสดงให้ว่าแม้ผู้แทนจะได้รับเลือกตั้งมาตามระบอบประชาธิปไตย แต่กลับร่วมกันกระทำขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ซึ่งในที่สุด ส.ส.ก็ไม่ยอมรับฟังเสียงประชาชนจริง ” นายชาลีกล่าว

192166

 

(ขอบคุณภาพจากเดลินิวส์)

ขณะที่ น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธาน คสรท. ที่เป็นผู้นำในการเสนอร่างกฎหมายฉบับเข้าชื่อภาคประชาชน กล่าวว่า กองทุนประกันสังคมเป็นกองทุนที่ใหญ่มีเงินมาก เจตนารมณ์ของร่างกฎหมายฉบับของภาคประชาชนจึงต้องการให้มีการบริหารงานแบบมืออาชีพ มีคณะกรรมการตรวจสอบ มีการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ เพื่อให้ผู้ประกันตนมั่นใจว่าเกิดประโยชน์กับผู้ประกันตนอย่างแท้จริง แต่สภาผู้แทนฯกลับปฏิเสธที่จะรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับของประชาชน ที่ต้องการปฏิรูประบบประกันสังคม

สภา1สภา

“ กองทุนมันใหญ่มีเงินมาก รัฐจึงหวงอำนาจไม่ต้องการให้เกิดการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง เพราะระบบเดิมฝ่ายการเมืองมักเข้าไปครอบงำราชการทำให้เกิดกรณีอื้อฉาวบ่อยๆ เช่น กรณีการจัดจ้างติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์มูลค่า 2.300 ล้านบาท ซึ่ง ปปช.ชี้ว่ามีการลงนามโดยมิชอบและขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนที่อัยการสูงสุดจะสั่งฟ้อง รวมทั้งยังมีเรื่องการนำเงินไปดูงานต่างประเทศปีละกว่า 30 ล้านบาทโดยไม่เห็นประโยชน์ชัดเจนต่อผู้ประกันตน หรืออย่างการตั้งงบประชาสัมพันธ์ปีละนับร้อยๆล้านบาทซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าใช้จ่ายจริงและมีประสิทธิภาพเพียงใด ส่วนเรื่องการลงทุนแต่ละปีก็ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลให้สังคมได้รับรู้อย่างครบถ้วน กลับกันกับสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนที่แทบจะไม่มีการปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างเหมาะสมเลย แรงงานเคลื่อนไหวผลักดันแต่ละครั้งก็ปรับขึ้นมานิดหน่อย ” น.ส.วิไลวรรณกล่าว และคิดว่าความต้องการปฏิรูประบบประกันสังคมให้เป็นอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นสาเหตุสำคัญที่สภาฯเสียงข้างมากที่เป็นฝ่ายรัฐบาลไม่ยอมรับร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมของภาคประชาชนเข้าสู่การพิจารณา

น.ส.วิไลวรรณ ยังกล่าวถึงกรณีที่ตนเอง และนายชาลี ได้ถูกเสนอชื่อให้เป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายด้วยนั้น เห็นว่าไม่มีประโยชน์ที่จะเข้าไปร่วมสร้างความชอบธรรมให้กับกฎหมายที่ไม่ใช่ของภาคประชาชนนำเสนอ เว้นแต่จะมีการนำประเด็นซึ่งเป็นหลักการสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ภาคประชาชนเข้าไปร่วมพิจารณาด้วย ซึ่งเรื่องนี้จะต้องนำไปหารือในเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานที่ร่วมกันเข้าชื่อเสนอกฎหมาย และจะมีการแถลงข่าวถึงท่าทีและมาตรการในการขับเคลื่อนที่ชัดเจนต่อไปในวันอังคารที่ 26 มีนาคม เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมศุภชัยศรีสติ พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ถนนมักกะสัน

( บันทึกการประชุมวันที่ 21 มีนาคม 2556 ที่สภาผู้แทนราษฎรไม่รับร่างประกันสังคม)

( รายชื่อ สส.ทุกคน ที่โหวตไม่รับร่างประกันสังคม 14,264 รายชื่อ)

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน