กลุ่มแรงงานสระบุรี มีมติร่วมเคลื่อนอนุสัญญาILOฉบับที่ 87 และ98 โหมโรงจังหวัดสระบุรีก่อนบุกกรุงเทพ 7 ตุลา

P9250393

กลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีกว่า 100 คน สนใจเข้าร่วมฟังพร้อมมติร่วมชุมนุมใหญ่ร่วมขบวนการแรงงานหวังดันรัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ นัดโหมโรงที่ผู้ว่าจังหวัดก่อน 7 ตุลา หวังส่งสัญญาณถึงรัฐบาลถึงความต้องการของผู้ใช้แรงงานจริง  

กลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล้เคียงร่วมกับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ในการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “การขับเคลื่อนและรณรงค์ของสหภาพแรงงานในระดับพื้นที่ ต่อการผลักดันให้รัฐบาลไทยรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ98” วันที่ 25 กันยายน 2556 ที่ตำบลตาลเดี่ยว แก่งคอย จังหวัดสระบุรี

P9250398P9250397

นายบุญสม ทาวิจิตร ประธานกลุ่มฯกล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นหลักๆของกลุ่ม คือการที่นายจ้างไม่ยอมรับการรวมตัวของลูกจ้าง มีการปลดออกเลิกจ้าง หากรู้ว่าลูกจ้างมีการรวมตัวเจรจาต่อรองและยื่นข้อเรียกร้อง นายจ้างก็มีการยื่นข้อเรียกร้องสวนกลับมาต่อลูกจ้าง ดังที่พบสภาพปัญหาคนงานกะรัตสุขภัณฑ์ RPCกรุ๊ป ไทยอคริลิคไฟเบอร์ ฟูรูกาวา ล้วนเกิดจากการใช้สิทธิของนายจ้างในการยื่นข้อเรียกร้องต่อสหภาพแรงงาน ซึ่งไม่เป็นธรรมเพราะลูกจ้างอยู่ในสถานะที่ต่ำกว่านายจ้างอยู่แล้ว หากจะให้แก้ไขรัฐบาลต้องให้การรับรองอนุสัญญาฉบับที่ 87 และ98 ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิการรวมตัว และการเจรจาต่อรองร่วม และก็แก้ไขกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ที่ใช้มานานแล้ว และไม่เป็นธรรม เพราะลูกจ้างไม่มีอะไรต่อสู้กับนายจ้างได้ เช่นกรณีคนงานRPCที่หยุดงานมา 9-10 วัน ทั้งคนงานกะรัต หรือคนงานไทยเรยอนที่มีการหยุดงานมาหลายสิบวันก็สะท้อนให้เห็นว่ากฎหมายในเมืองไทยซ่อนความมีสิทธิที่ไม่เท่าเทียมกัน กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ที่ไม่ได้ถูกใช้ในการให้เกิดแรงงานสัมพันธ์ แต่เป็นการสร้างความชอบธรรมให้นายจ้างจัดการกับลูกจ้าง คุกคามสิทธิการรวมตัวของลูกจ้าง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเข้าร่วมกับขบวนการแรงงานในการขับเคลื่อนผลักดันให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศโดยด่วน

P9250395P9250355

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า ปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงาน และการเลิกจ้างการคุกคามการรวมตัวของลูกจ้างนั้นเกิดจากกฎหมายแรงงานที่ไม่คุ้มครองสิทธิการรวมตัวอย่างแท้จริง  การที่ขบวนการแรงงานได้มีความร่วมมือกับทาง ILO ในการรณรงค์ให้ความรู้ระดับพื้นที่เพื่อให้เกิดความเข้าใจความสำคัญของอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศทั้ง 2 ฉบับ เรื่องการคุ้มครองสิทธิการรวมตัวเจรจาต่อรองร่วม แม้มีกฎหมายแรงงานสัมพันธ์แต่ก็ไม่ได้ให้การคุ้มครองอย่างเท่าเทียม ซึ่งอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศที่ขบวนการแรงงานเคลื่อนไหวนั้นขณะนี้ได้อยู่รอการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนก่อนได้นำเข้าไปสู่การพิจารณาหลังจากที่คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความกรณีที่มีการร้องกลัวว่าการรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศจะขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 190   ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 วรรคสองและวรรคสาม บัญญัติว่า “หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ในการนี้รัฐสภาจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องดังกล่าว

ก่อนการดำเนินการเพื่อทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศตามวรรคสองคณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และต้องชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับหนังสือสัญญานั้น ในการนี้ให้คณะรัฐมนตรีเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบด้วย” ทั้งนี้กระทรวงแรงงานได้มีการสอบถามความเห็นจากกระทรวงการต่างประเทศเรียบร้อยแล้ว ว่าเข้ารัฐธรรมนูญมาตรา 190 ฉนั้นเมื่อครม.เห็นชอบและส่งเรื่องเข้าสภาพิจารณามีมติรับรองผ่านจึงจะรับรองอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ ดังกล่าวได้

ซึ่งก็ต้องให้รัฐมนตรีคนปัจจุบันช่วยในการดำเนินการให้คณะรัฐมนตรีมีมติเพื่อการรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ98 ซึ่งเราคงต้องช่วยกันในการรณรงค์เคลื่อนไหวผลักดันไม่เช่นนั้นคงไม่มีวันที่รัฐให้การรับรอง ซึ่งก็คงหนักเช่นกันเพราะว่ารัฐมนตรีคนใหม่นี้ไม่ค่อยสนใจประเด็นปัญหาแรงงาน ทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้ทำหนังสือเพื่อขอพบแต่วันนี้ยังไม่ได้เข้าพบ คงต้องอยู่ที่พี่น้องผู้ใช้แรงงานว่าจะร่วมมือร่วมใจกันเพื่อให้ประสบผลสำเร็จได้อย่างไร วันที่ 7 ตุลาคมที่จะถึงนี้ก็จะมีการเคลื่อนไหวหลากหลายกลุ่มไม่ใช่เฉพาะคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยเท่านั้นที่จะออกมาเคลื่อนไหว

P9250279P9250334

นายสมพร ขวัญเนตร ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก กล่าวถึงสภาพปัญหาแรงงานในกลุ่มฯนั้นก็ไม่ต่างกับแรงงานในพื้นที่สระบุรี ด้วยมีการคุกคาม และเลิกจ้างสหภาพแรงงาน มีแนวทางในการพยายามล้มสหภาพซึ่งตอนนี้ก็มีหลายที่ที่นายจ้างขออำนาจศาลในการที่จะเลิกจ้าง ในการชุมนุมก็จะถูกคุกคามด้วยชายชุดดำ ชุดต่างๆเข้ามารื้อที่ชุมนุม ข่มขู่ ทางกฎหมายก็มีทนายความฝ่ายนายจ้างที่ค่อยจัดการสหภาพแรงงาน ซึ่งทางกลุ่มก็เห็นว่าการรับรองอนุสัญญาจะทำให้แรงงานมีพื้นที่ในการที่จะรวมตัวเจรจาต่อรองกับนายจ้างได้จริงแบบสองฝ่ายจริงๆ ไม่ใช่แบบสามฝ่าย สี่ฝ่าย จริงแล้วเราต้องการเจรจากับนายจ้างจริงๆโดยใช้แรงงานสัมพันธ์จริงๆ

นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวถึงสถานการณ์กลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติช่วงน้ำท่วมคนงานในประเภทกิจการที่ได้รับผลกระทบคือสิ่งทอ และโรงงานผลิตตุ๊กตาที่มีการแบ่งแยกสมาชิกกับกรรมการสหภาพแรงงาน ประเภทตอนไม่ให้โตไม่สามารถที่จะหาสมาชิกเพิ่มได้เล็กลงจนกระทั่งมีการปิดกิจการหลังน้ำท่วมคนงานก็ยังไม่สามารถที่จะต่อรองให้ได้รับค่าจ้าง ค่าชดเชยตามกฎหมายได้ นี่ก็เป็นประเด็นปัญหาที่เกิดจากการรวมตัวและความเล็กของสหภาพแรงงานที่ไม่สามารถสร้างอำนาจต่อรองได้ การรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานทั้ง 2 ฉบับจะทำให้คนงานมีสิทธิในการรวมตัวได้หลากหลายมากขึ้น และได้รับการคุ้มครอง การเจรจาต่อรองร่วมทำให้เกิดพื้นที่ความเท่าเทียมกันของลูกจ้างกับนายจ้าง

นายจำลอง ชะบำรุง กลุ่มผู้ใช้แรงงานอยุธยาและใกล้เคียง กล่าวว่า สภาพปัญหาของกลุ่มฯหลังปี 2554 น้ำท่วมใหญ่ก็มีสหภาพแรงงานหายไปกับน้ำหลายสหภาพ โดยนายจ้างอ้างน้ำท่วมย้ายสถานประกอบกิจการ หรือปิดกิจการไม่มีกำหนด สภาพของกลุ่มแรงงานในพื้นที่ก็พยายามหาแนวทางแก้ไขปัญหา ปัญหาการจ้างงานที่มีการใช้วิธีที่หลากหลายก็ทำให้การรวมตัวไม่สามารถทำได้ เพราะกฎหมายไม่เอื้อให้รวมตัวกันได้ เช่นแรงงานเหมาค่าแรงก็ไม่สามารถเป็นสมาชิกสหภาพได้แม้ว่าทำงานอยู่ในโรงงานเดียวกัน การจ้างงานแบบชั่วคราว หรือสัญญาจ้างก็เป็นอุปสรรคในการต่อรองของสหภาพแรงงาน เมื่อคนงานรวมตัวกันไม่ได้ การรับรองอนุสัญญาILO คิดว่ามีความสำคัญกับคนงานอย่างมาก ต้องช่วยกันส่งเสียงให้รัฐบาลรับรองเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม หากคนงานรวมตัวกันได้จริงทุกกลุ่มทุกอาชีพ

นายบุญสม ทาวิจิตร ประธานกลุ่มฯเล่าว่า เมื่อจบประชุมทางผู้เข้าร่วมราว 100 คนได้มีการลงมติร่วมกันว่าจะมีการรวบรวมสมาชิกสหภาพแรงงานทุกแห่งในกลุ่มเพื่อร่วมกันเคลื่อนไหวร่วมกันในวันที่ 7 ตุลาและจะมีการไปยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดก่อนวันที่ 7 ตุลาเพื่อบอกให้รัฐบาลรับรู้ว่า อนุสัญญาฯทั้ง 2 ฉบับเป็นความต้องการของผู้ใช้แรงงานจริงๆ ต้องการให้รัฐบาลรับรอง

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน