กลุ่มเพื่อนแรงงาน ออกแถลงการณ์ ห่วงใยต่อสถานการณ์ถังสารเคมีระเบิดในมาบตาพุด

กลุ่มเพื่อนแรงงาน ออกแถลงการณ์ แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ถังสารเคมีระเบิดในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด  ทำให้มีแรงงานเสียชีวิต 12 คน บาดเจ็บ 129 คน เมื่อ 5 พฤษภาคม 2555 และขอเรียกร้องรัฐบาลต่อการมีแนวนโยบายที่ชัดเจนต่อการคุ้มครองแรงงาน ให้เกิดความปลอดภัยจากการทำงานในอุตสาหกรรมอันตรายในประเทศไทย
 
“รัฐอย่าทำหน้าที่เพียงติดปลาสเตอร์ ทายาแดง ให้กินแอสไพริน เพราะเป็นการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวเท่านั้น”
 
สืบเนื่องจากสถานการณ์ถังสารเคมีโทลูอีน (Toluene) บริเวณโรงเก็บสารตัวทำละลายของบริษัทบี เอส ที อิลาสโตเมอร์ส จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ได้เกิดระเบิดขึ้นอย่างรุนแรงจนลุกไหม้ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2555 ส่งผลให้มีแรงงานเสียชีวิต 12 คน และบาดเจ็บกว่า 129 คน ทั้งนี้บริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทในเครือของบริษัทกรุงเทพซินธิติ จำกัด (BST) ซึ่งเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยางสงเคราะห์ที่ถูกนำไปใช้ในการผลิตยางรถยนต์ ยางชิ้นส่วนยานยนต์ พื้นรองเท้าพลาสติก และอุปกรณ์กีฬา โดยเป็นหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตยางสังเคราะห์รายใหญ่ที่สุดของภูมิภาคเอเชีย
 
เรา เครือข่ายนักวิชาการอิสระ นักพัฒนาองค์กรพัฒนาเอกชน ช่างภาพสารคดี ที่รวมตัวกันในนาม “กลุ่มเพื่อนแรงงาน” ขอชื่นชมรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่ตรวจสอบเหตุการณ์อย่างละเอียดโดยทันที แต่อย่างไรก็ดีเหตุการณ์ระเบิดดังกล่าว กลับเป็นเพียงปลายทางรูปธรรมของสถานการณ์ความไม่ปลอดภัยจากการทำงานของแรงงานในอุตสาหกรรมการลงทุนประเภทต่างๆในประเทศไทย ที่ยังต้องเผชิญกับอุบัติเหตุจากการทำงานจนเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บบ่อยครั้ง แม้รัฐบาลไทยจะมีแนวนโยบายหรือมาตรการในการจัดการกับปัญหา แต่พบว่ารัฐยังไม่ได้ดำเนินการให้เป็นที่ประจักษ์ชัดเจน ทั้งๆที่ข้อมูลจากหอการค้าไทย ระบุว่า สินค้าส่งออกสำคัญของประเทศไทย 10 อันดับแรก ปี 2554 ในลำดับที่ 6 7 และ 8 คือ เม็ดพลาสติก , ผลิตภัณฑ์ยาง และเคมีภัณฑ์  มูลค่า 265,312  , 252,969 และ 250,046 ล้านบาท ตามลำดับ แต่ชีวิตของแรงงานกลับแปรผกผันกับตัวเลขการส่งออกดังกล่าว
 
ในการนี้ เรา “กลุ่มเพื่อนแรงงาน” มีความห่วงใยเป็นอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ดังกล่าว เนื่องด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
 
(1)  แม้จะมีการระบุว่าเหตุระเบิดดังกล่าวอยู่ในช่วงระหว่างการปิดโรงงานเพื่อซ่อมบำรุงประจำปี แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว โรงงานปิโตรเคมีขนาดใหญ่เมื่อเดินเครื่องการผลิตไปได้ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ จักต้องมีการปิดซ่อมบำรุงเพื่อทำการตรวจซ่อมบำรุงเครื่องจักรและเปลี่ยนตัวเร่งปฏิกิริยาบางตัวที่ถึงรอบการหมดอายุ กรณีดังกล่าวหากเป็นการซ่อมบำรุงปกติในระหว่างที่มีการเดินเครื่องการผลิต ทางโรงงานจะมีหน่วยซ่อมบำรุงดูแลเป็นการเฉพาะ แต่หากเป็นการซ่อมบำรุงเพื่อทำการตรวจเช็คทั้งหมด ทางโรงงานจะมีการว่าจ้างบริษัทภายนอกเข้ามาทำการซ่อมบำรุง บ่อยครั้งที่การจ้างงานภายนอกมาพร้อมกับความไม่ปลอดภัยของแรงงานที่เข้ามาทำงาน เนื่องจากแรงงานกลุ่มที่เข้ามาซ่อมบำรุงนี้ ไม่ใช่แรงงานประจำที่คุ้นชินหรือมีความรู้พื้นฐานเพียงพอกับระบบการผลิตของโรงงาน หรือคุ้นเคยกับการทำงานในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงของสารเคมีที่มีไอระเหยและสามารถติดไฟได้ง่าย รวมถึงความเข้มงวดและความตระหนักของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานในสถานประกอบการ (จป.) มีน้อย ทำให้โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานแบบครั้งนี้ด้วยความประมาทจึงมีสูงมาก
 
(2)  โทลูอีน (Toluene) เป็นของเหลวใสและเป็นสารไวไฟที่ถือว่าเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ที่ควบคุมโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม สารเคมีประเภทนี้ส่งผลต่อสุขภาพสูง คือ ทำลายระบบประสาทส่วนกลาง มีผลต่อไขกระดูกและโลหิตอาจกลายเป็นมะเร็งในเม็ดเลือด สำหรับแรงงานที่ต้องทำงานอยู่กับสารเคมีประเภทนี้เป็นเวลานาน ต้องเผชิญกับร่างกายที่อ่อนเพลีย มีอาการเหมือนมึนเมา คลื่นไส้ บางคนมีอาการวิงเวียน หมดสติ และอาจเสียชีวิตได้ เนื่องจากหายใจไม่ออก สำหรับผิวหนัง ถ้าถูกโทลูอีนเป็นเวลานานซ้ำที่เดิมจะเป็นแผลอักเสบ แน่นอนข้อมูลดังกล่าวนี้แรงงานโดยทั่วไปกลับไม่ทราบและขาดการเข้าถึงเพื่อการป้องกันในระหว่างการทำงานจนเกิดความสูญเสียขึ้น 
 
(3)  นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเป็นนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2525 ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 ว่าด้วยการกระจายความเจริญจากเมืองหลวงไปสู่ภูมิภาค ภายในนิคมมีพื้นที่กว่า 10,000 ไร่ โรงงานอุตสาหกรรมกว่า 300 โรงงาน มีอุตสาหกรรมที่สำคัญคือ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ เหล็ก โรงกลั่นน้ำมัน และโรงไฟฟ้า ในช่วงปี พ.ศ. 2540 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ปัญหาสิ่งแวดล้อมในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่และชุมชนโดยรอบ จนนำไปสู่การฟ้องร้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้พื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ จนเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2552 ศาลปกครองจังหวัดระยองได้พิพากษาให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ประกาศให้ท้องที่เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียงเป็นเขตควบคุมมลพิษ บังคับให้โรงงานในพื้นที่ต้องจัดทำการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (HIA) ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 67 วรรค แต่การดำเนินการของกรมควบคุมมลพิษก็ยังล่าช้าและไม่มีมาตรการบังคับอย่างจริงจัง รวมถึงมาตรการป้องกันและแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่เป็นรูปธรรมของหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง จนส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ความรุนแรงครั้งล่าสุด
 
(4)  ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข พบว่าปัจจุบัน (2554) ผู้ใช้แรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมได้รับสารพิษจากสารเคมี จนประสบความเจ็บป่วย บาดเจ็บ พิการ ซึ่งเป็นสืบเนื่องมาจากการทำงานปีละไม่ต่ำกว่า 200,000 ราย เสียชีวิตประมาณปีละ 800 ราย ซึ่งไม่รวมถึงผู้ใช้แรงงานภาคเกษตรกรรม แรงงานนอกระบบ และแรงงานข้ามชาติ เรียกได้ว่า อัตราการเจ็บป่วยจากการทำงานไม่ได้ลดน้อยลง ปัจจุบันโรคที่เป็นปัญหามากที่สุดในแรงงานทุกกลุ่มในภาคอุตสาหกรรม คือ โรคกล้ามเนื้ออักเสบ กระดูกสันหลังทับเส้นประสาท และโรคจากสารเคมี ซึ่งโรคเหล่านี้แรงงานมักจะถูกสำนักงานกองทุนเงินทดแทนตีความว่าไม่ใช่การเจ็บป่วยจากการทำงาน ทำให้แรงงานเข้าไม่ถึงการดูแล และนำมาสู่การฟ้องร้องคดีบ่อยครั้ง สิทธิจากระบบประกันสังคมก็ยังไม่ครอบคลุมโรคที่เกิดจากการทำงาน นี้คือพิษภัยของการพัฒนาอุตสาหกรรมที่แรงงานต้องเผชิญ สถานการณ์ความไม่ปลอดภัยจากการทำงานจึงส่งผลต่อความสูญเสียทั้งทางตรง ได้แก่ รายได้ ผลิตภาพในการผลิต และทางอ้อม ได้แก่ ผลกระทบทางจิตใจและการดำรงชีวิตของลูกจ้าง ซึ่งองค์การแรงงานระหว่างประเทศประมาณค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดจากปัญหาความปลอดภัยและอาชีวอนามัยว่า จะมีค่าเสียหายประมาณร้อยละ 4 ของรายได้ประชาชาติ ในขณะที่ผลของความสูญเสียในเชิงคุณภาพชีวิตไม่อาจประเมินหรือทดแทนได้
 
(5)  แม้ว่าในโรงงานหรือสถานประกอบการแต่ละแห่งจะมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานในสถานประกอบการ (จป.) ที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน อย่างไรก็ตามกลับพบว่าความเสี่ยงในสถานประกอบการก็ยังไม่ได้ลดลง สุขภาพของลูกจ้างยังเผชิญกับความเสี่ยงจากการทำงาน เนื่องจากในทางปฏิบัตินั้น พบว่าสถานประกอบการยังขาดการบังคับใช้กฎหมายและการรณรงค์เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ดังเช่นกรณีการเข้ามาของบริษัทซ่อมบำรุงภายนอกในบริษัท BST เป็นต้น รวมทั้งยังไม่มีการยกระดับและปรับปรุงมาตรฐานในการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยตามปัจจัยเสี่ยงให้ทันต่อความก้าวหน้าในการผลิตทางภาคอุตสาหกรรม เหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความเสี่ยงจากความไม่ปลอดภัยในการทำงานยังเป็นปัญหาสำคัญของสถานประกอบการในย่านอุตสาหกรรมแต่ละพื้นที่
 
ตัวอย่างของอุบัติภัยจากสารเคมี เช่นในช่วงปลายปี 2550 ถึงต้นปี 2551 พบว่าเกิดอุบัติเหตุจากสารเคมี 4 ครั้ง
 
ครั้งที่ 1 ที่โรงงานบริษัทแพรกซ์แอร์ (Praxair) เป็นโรงงานผลิตน้ำแข็งแห้ง ตั้งอยู่ตำบลมาบตาพุด เกิดเหตุท่อและถังแก๊สแอมโมเนียระเบิด เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2550
 
ครั้งที่ 2 โรงงานไทยออร์แกนนิกเคมิคัลส์ ในเครือบริษัทอดิตยา เบอร์ล่า เคมีคัลล์ ตั้งอยู่ในนิคมเหมราชตะวันออก เกิดเหตุก๊าซคลอลีนรั่วไหลเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2551 ทางนิคมฯ ไม่มีการแจ้งข้อมูลข่าวสารให้ชุมชนใกล้เคียงทราบ
 
ครั้งที่ 3 โรงงานพีทีที ฟีนอลในเครือปตท. อยู่ในนิคมเหมราชตะวันออกเกิดเหตุสารคิวมีนรั่วไหลในปริมาณมากระหว่างทดลองเดินเครื่องเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2551 มีคนงานกว่า 112 คน ถูกนำส่งโรงพยาบาลมาบตาพุด โดยแหล่งข่าวจากภายในนิคมระบุว่ามีผู้เสียชีวิต 2 คน แต่ทางบริษัทและสาธารณสุขจังหวัดแถลงข่าวว่าไม่มีผู้เสียชีวิตแต่อย่างใด
 
ครั้งที่ 4 โรงงานพีทีที ฟีนอลในเครือปตท.ได้เกิดเหตุระเบิดทำให้มีสารเคมีรั่วไหลเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2551 
(6)  เมื่อมาพิจารณาความเจริญเติบโตของท้องถิ่น คือ จังหวัดระยอง กับภาระความรับผิดชอบต่อสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจากนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด กลับพบว่าท้องถิ่นต้องรับผิดชอบหลายเรื่องโดยเฉพาะจากปัญหามลพิษ แต่ท้องถิ่นกลับไม่มีงบประมาณเพียงพอต่อการจัดการในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากพบว่าอุตสาหกรรมต่างๆในจังหวัดระยองเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งได้รับการยกเว้นการจ่ายภาษี ทำให้รายได้ที่ท้องถิ่นจัดเก็บจากโรงงานหรือสถานประกอบการจึงมีน้อยมาก เมื่อระบบภาษีมีข้อยกเว้น งบประมาณที่ท้องถิ่นได้รับจึงไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ปัญหาที่รุนแรงขึ้นทุกวัน ทั้งๆที่ผู้สร้างมลพิษต้องเป็นผู้จ่ายก็ตาม
 
ด้วยเหตุนี้ เรา “กลุ่มเพื่อนแรงงาน” จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน ที่ผ่านมาการดำเนินการแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านต่างๆที่เกิดขึ้น ภาครัฐมุ่งเน้นไปแก้ปัญหามลพิษและอุบัติภัยซึ่งเป็นปัจจัยกำหนดทางด้านสิ่งแวดล้อม แต่ไม่ได้ตระหนักอย่างเพียงพอถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นแก่ “แรงงาน” และ “ประชาชน” ในพื้นที่ รวมทั้งขาดการตระหนักและเรียนรู้ถึงบทเรียนและประสบการณ์ของประเทศอุตสาหกรรมพัฒนาแล้ว ว่าการเติบโตของอุตสาหกรรมจะก่อให้เกิดปัญหามลพิษและผลกระทบในทางลบอื่นๆ ตามมาอย่างไร โดยเฉพาะเรื่องความไม่ปลอดภัยจากการทำงานของแรงงานในฐานะทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญของการจ้างงาน เพื่อที่จะได้เตรียมการในการมียุทธศาสตร์และการวางนโยบายอย่างไรที่จะป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นหรือให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด
 
1)  รัฐบาลต้องมีแนวนโยบายต่อการป้องกันให้เกิดความปลอดภัยในการทำงานของแรงงานในอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหนักอันตราย เนื่องจากอุตสาหกรรมประเภทนี้เป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญของอุตสาหกรรมไทย รวมถึงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดนับพันล้านหรือหมื่นล้าน โดยเฉพาะการสร้างให้เกิดระบบที่ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่ละส่วนต้องเข้ามารับผิดชอบตามบทบาทหน้าที่ในการสร้างให้เกิดความปลอดภัยในการทำงานให้มากขึ้น มีการทำงานอย่างบูรณาการของหน่วยงานทุกระดับทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น บทบาทของจังหวัด ท้องถิ่น เช่น เทศบาล บทบาทของกรม กระทรวงต่างๆ โดยเฉพาะบทบาทของกระทรวงแรงงานต่อการคุ้มครองและเข้าถึงสิทธิแรงงาน 
 
2)  รัฐบาลต้องมีแนวนโยบายที่รอบด้านและชัดเจนเรื่อง มาตรฐานการปล่อยมลพิษ เมื่อรัฐบาลได้ปล่อยให้มีการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากที่เกินกว่าพื้นที่จะรองรับได้จริง เนื่องจากพบว่าแรงงานในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและชุมชนใกล้เคียงต้องเผชิญกับมลพิษจากสารเคมีอย่างรุนแรง แม้จำนวนมลพิษที่แต่ละโรงงานปล่อยออกมาจะได้มาตรฐานการปล่อยมลพิษก็ตาม แต่เมื่อทุกโรงงานต่างปล่อยมลพิษและพัดมารวมกันในพื้นที่หนึ่งๆ ซึ่งเกินกำลังความสามารถของธรรมชาติที่จะรองรับได้ในพื้นที่นั้นๆได้ ทำให้ส่งผลต่อระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตเลวลงอย่างที่แรงงานและชุมชนต้องประสบอยู่ในปัจจุบัน 
 
ทั้งนี้ “กลุ่มเพื่อนแรงงาน” เชื่อมั่นว่ารัฐบาลไทยจะคำนึงและให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยในการทำงานของแรงงาน มากกว่าเพียงตัวเลขการส่งออกที่ทะยานสูงขึ้นทุกปีตามแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมประเทศไทย ที่กลับซ่อนตัวเลขชีวิตแรงงานผู้สูญเสียโดยปราศจากการตระหนักอย่างจริงจัง 
 
แถลงผ่านสื่อสาธารณะเมื่อ 7 พฤษภาคม 2555