กลุ่มสตรียื่น 13 ข้อแก้ปัญหาผู้หญิง

8 มีนาคม วันสตรีสากล กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี พร้อมดัวยเครือข่ายผู้หญิง ยื่น 13 ข้อแก้ปัญหาผู้หญิง 

วันที่ 8 มีนาคม 2563 กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี ร้วมกับเครือข่ายผู้หญิงกลุ่มต่างๆทั้งในระบบ นอกระบบ ข้ามชาติ รัฐวิสาหกิจ เดินรณรงค์เนื่องในวันสตรีสากล ไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อทวงถามข้อเรียกร้องที่รัฐบาลยังไม่แก้ไข พร้อมยื่นเพิ่มเป็น 13 ข้อ โดยได้ยื่นข้อเรียกร้องผ่านผู้แทนรัฐบาล ฝากถึงนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธิ์ จันทร์โอชา

นางสาวธนพร วิจันทร์ ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี ได้อ่านแถลงว่า พี่น้องหญิงชายและทุกเพศสภาพอันเป็นที่รัก และเคารพยิ่งทั้งหลาย…..
“วันสตรีสากล” ซึ่งตรงกับวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี ขบวนผู้หญิงทั่วโลกได้ร่วมรำลึกเฉลิมฉลองวันที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์นี้มาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน สำหรับปี 2563 นี้ กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีร่วมกับองค์กรเครือข่ายหลากหลายภาคส่วน จัดกิจกรรมวันสตรีสากล เพื่อรำลึกถึงประวัติศาสตร์อันมีพลังสืบทอดเจตนารมณ์แห่งการต่อสู้เพื่อสิทธิของคนงานหญิง และเพื่อขับเคลื่อนการต่อสู้ในยุคสมัยปัจจุบันไปสู่ความเสมอภาคระหว่างเพศและคุณภาพชีวิตที่ดีสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

วันสตรีสากล ก่อกำเนิดมาจากการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของคนงานหญิงในโรงงานสิ่งทอที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จากสภาพการทำงานที่เลวร้าย จึงได้ลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องให้นายจ้างเพิ่มค่าจ้างและปรับปรุงสภาพการทำงานรวมทั้งลดเวลาทำงานให้เหลือวันละ 8 ชั่วโมง หรือระบบสามแปด การประท้วงหลายครั้งจบลงด้วยการใช้ความรุนแรงต่อคนงานหญิง

อย่างไรก็ตาม การเรียกร้องได้แพร่หลายและได้รับการสนับสนุนจากทั่วโลก ในเวทีการประชุมสมัชชานักสังคมนิยมหญิงนานาชาติ “คลารา เซทคิน” ซึ่งเป็นผู้นำในการต่อสู้และผู้นำคนหนึ่งของสมัชชาฯ จึงได้เสนอให้ วันที่ 8 มีนาคม เป็น “วันสตรีสากล” เพื่อรำลึกถึงการต่อสู้ดังกล่าว และได้รับการสนับสนุนจากที่ประชุมอย่างเป็นเอกฉันท์ ซึ่งต่อมาสหประชาชาติได้มีการรับรองเป็นวันสตรีสากล ผู้หญิงแทบทุกประเทศทั่วโลก ต่างใช้วันสตรีสากลเป็นสัญลักษณ์ เพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จในการต่อสู้ และแสดงความมุ่งมั่นที่จะขจัดอุปสรรคที่ยังมีอยู่

ซึ่งในประเทศไทยได้ขยายตัวเป็นพลังของขบวนหญิงชาย และทุกเพศสภาพ ที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีความเป็นคน พลังกว้างขวางเพิ่มจากแรงงานในระบบอุตสาหกรรม ไปสู่คนทำงานหญิงหลากหลายสาขาอาชีพ รวมทั้งชาวไร่ ชาวนา เกษตรกร นำมาสู่การเรียกร้องสิทธิประชาธิปไตยที่มีส่วนร่วมของหญิงชาย สิทธิมนุษยชน และคุณภาพชีวิตของทุกคน

วันนี้เรามารวมพลังกันเพื่อส่งเสียงความทุกข์ยาก ความเดือดร้อนของพี่น้องผู้หญิงทุกภาคส่วนที่ถูกกระทำถูกละเมิดสิทธิ เพื่อย้ำเตือนถึงพลังแห่งความต้องการการเปลี่ยนแปลง เสียงของเราจะไปถึงพี่น้องของเราถึงประชาชนทุกภาคส่วนในสังคมไทย และถึงผู้มีอำนาจในบ้านเมือง นั่นก็คือรัฐบาล เสียงของผู้หญิงทุกกลุ่ม ทุกภาค ทุกสาขาอาชีพ เพื่อนำเสนอคุณภาพชีวิตคนทำงานหญิงต้องยั่งยืนและมีความเสมอภาคระหว่างเพศ

ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากร ซึ่งเป็นหญิงมากกว่าประชากรชาย การออกแบบแนวทางการปฏิรูปประเทศ ตลอดจนระบอบการเมืองและการบริหารประเทศย่อมส่งผลต่อประชากรหญิงจึงสำคัญอย่างยิ่ง ผู้หญิงไม่เพียงแต่ต้องเผชิญปัญหาที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมร่วมกับผู้ชาย เช่น ความยากจน การไม่มีที่ดินทำกิน ปัญหาการถูกแย่งชิงฐานทรัพยากรจากนโยบายของรัฐ การถูกลิดรอนสิทธิชุมชน การไม่มีส่วนร่วมในการจัดการและการตัดสินใจ การเข้าไม่ถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม และความไม่ปลอดภัยจากความรุนแรงในสถานการณ์สามจังหวัดภาคใต้

ขณะเดียวกันผู้หญิงยังต้องเผชิญกับปัญหาเฉพาะ เช่น ความรุนแรงในครอบครัว ความรุนแรงทางเพศ การค้ามนุษย์ ที่มีสาเหตุจากอคติทางเพศ และการปิดกั้นโอกาสที่เท่าเทียมบนหลักการความเสมอภาคระหว่างเพศ ทั้งยังขาดมาตรการที่ปฏิบัติได้จริงในการส่งเสริมโอกาสให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทุกมิติทุกระดับในทางการเมืองการบริหาร และการกำหนดนโยบายการพัฒนาประเทศ เราต้องการให้สังคมตระหนักว่า ยังมีปัญหาการละเมิดสิทธิอย่างรุนแรงต่อผู้ใช้แรงงานในระบบ นอกระบบ ทั้งภาคเอกชน และรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐ แรงงานข้ามชาติ กลุ่มผู้ป่วยจากการทำงาน กลุ่มที่ต่อสู้เพื่อสิทธิในการจัดการฐานทรัพยากร ป่าไม้ ที่ดิน เหมืองแร่ น้ำ

ในขอบเขตทั่วประเทศ ผู้หญิงที่เข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม ครอบครัวที่ถูกอุ้มหายจากการต่อสู้ ผู้หญิง ผู้พิการ กลุ่มผู้หญิงชนเผ่า กลุ่มผู้หญิง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เสี่ยงภัยความรุนแรง กลุ่มผู้หญิงชาวไร่ ชาวนา กลุ่มผู้หญิงคนจนเมืองคนสลัม กลุ่มผู้หญิงเยาวชน กลุ่มความหลากหลายทางเพศ รวมถึงปัญหาของเด็ก ลูกหลานครอบครัวของเรา

การนำเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลครั้งแล้วครั้งเล่า รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาของเรา แต่เราไม่เคยท้อถอย รัฐบาลต้องฟังเสียงประชาชน ต้องฟังเสียงผู้หญิงและทุกเพศสภาพ พวกเราเชื่อมั่นว่า ข้อเสนอของเราที่ต้องเน้นหลักการเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ความยั่งยืนของผู้หญิงทำงาน และต้องมีความเสมอภาคระหว่างเพศ เป็นข้อเสนอที่ชัดเจน ชอบธรรม และเป็นประโยชน์ต่อทุกคน และต่อการพัฒนาประเทศ

ปัจจุบันนี้สถานการณ์ฝุ่น P.M 2.5 สถานการณ์ของเชื้อไวรัส โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเด็ก ผู้หญิง ผู้ชาย ทุกเพศสภาพ และประชาชนทุกกลุ่มของสังคม แต่มาตรการของรัฐบาลที่ออกมาประชาชนไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกัน เช่นหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ซึ่งเป็นอุปกรณ์พื้นฐานป้องกันเบื้องต้นประชาชนต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเอง ดังนั้นจึงขอให้รัฐบาลจัดหาอุปกรณ์ป้องกันให้กับประชาชนทุกคนได้อย่างทั่วถึง

พี่น้องหญิงชายทุกเพศสภาพทั้งหลาย ผู้ที่เป็นแม่ เป็นเมีย เป็นลูก พี่น้องทุกคนของเรา เราจะไม่ยอมจำนนต่อการกระทำของกลุ่มที่เอาแต่ผลประโยชน์ ไม่ว่ากลุ่มทุน กลุ่มนักการเมือง ข้าราชการหรืออำนาจพิเศษใด ๆ เราจะต้องปกป้องสิทธิความชอบธรรมของตนเอง เราต้องกำหนดอนาคตของเราเอง
เนื่องในโอกาสครบรอบวันสตรีสากล 2563 กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีขอยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลจำนวน 13 ข้อดังนี้

1. รัฐต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดา

2. รัฐต้องกำหนดให้ผู้หญิงมีสิทธิลาคลอดได้ 180 วัน โดยได้รับค่าจ้าง 100% และให้ผู้ชายลาไปดูแลภรรยาคลอดบุตรได้ 30 วัน โดยได้รับค่าจ้าง 100%

3. รัฐต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 190 ว่าด้วยการขจัดความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกแห่งการทำงาน

4. รัฐต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้านและ อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 177 ว่าด้วยงานที่รับไปทำที่บ้าน เพื่อให้แรงงานนอกระบบ ได้รับการคุ้มครองอย่างเคร่งครัดและเป็นธรรม

5. รัฐธรรมนูญต้องแก้ไขให้ประชาชนได้รับสิทธิทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมด้วยมีส่วนร่วมทั้งชาย หญิง ทุกกลุ่มทุกเพศสภาพ

6. รัฐต้องจัดให้มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียนอย่างทั่วถึง มีคุณภาพ ปรับเปลี่ยนเวลาปิด-เปิด ให้สอดคล้องกับวิถีการทำงาน

7. รัฐต้องมีมาตรการ การแก้ไขละเมิดสิทธิแรงงาน สร้างความมั่นใจในการทำงานและค่าตอบแทนที่เป็นธรรม

8. รัฐต้องให้เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า 0-6 ปี

9. รัฐต้องกำหนดสัดส่วนผู้หญิงและเพศสภาพในการตัดสินใจของคณะกรรมการทุกมิติ ทุกระดับ อย่างน้อย 1 ใน 3

10. รัฐต้องกำหนดให้คนพิการเข้าถึงสิทธิการบริการที่เท่าเทียมกับคนทั่วไป

11. รัฐต้องจัดให้มีพื้นที่ปลอดภัยให้กับผู้หญิงและเด็กใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และในที่สาธารณะ

12. รัฐต้องเคารพสิทธิการพัฒนาของประชาชนและคุ้มครองนักต่อสู้ผู้หญิงด้านสิทธิแรงงาน สิทธิชุมชน และเกี่ยวกับสิทธิฐานทรัพยากรสิ่งแวดล้อม

13.รัฐต้องกำหนดให้วันที่ 8 มีนาคมของทุกปีเป็นวันหยุดตามประเพณี

ทุกอย่างไม่ได้มาด้วยการร้องขอ แต่ต้องได้มาจากการรวมพลังต่อสู้ผลักดัน สามัคคีกัน แสดงความกล้าหาญ ในการลุกขึ้นต่อสู้ให้พวกที่กดขี่ ขูดรีดเอาเปรียบเรา ได้รับรู้ว่า เราเป็นคนมีศักดิ์ศรี เราต้องมีสิทธิเสรีภาพ และเราต้องได้รับความเป็นธรรมในทุก ๆ ด้าน ต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืน

“ผู้หญิงต้องกำหนดอนาคตตนเอง” ด้วยความเชื่อมั่นพลังการต่อสู้

ทั้งนี้ได้มีการยื่นหนังสือต่อผู้แทนรัฐบาล เพื่อให้นำประเด็นปัญหาที่ทางเครือข่ายได้มีการรวบรวมมาให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา โดยรัฐบาลได้มอบหมายผู้แทนมารัยดังสือดังกล่าวด้วย

นักสื่อสารแรงงานรายงาน