แรงงานตะวันออก ค้านประกันสังคมตัดสิทธิลาออกไม่ได้ 30%

PA070480

กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2558 ฉบับที่ 1 เรื่อง คัดค้านการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันสังคม กรณีลาออกจากงานจะไม่มีสิทธิรับเงินว่างงานร้อยละ 30 จำนวน 3 เดือนอีกต่อไป

กว่า 25 ปีที่ผู้ประกันตน ได้รวมตัวเคลื่อนไหวเรียกร้องให้สำนักงานประกันสังคม แก้ไขปรับปรุงเพื่อให้ผู้ประกันตนได้เข้าถึงสิทธิ การปรับปรุงสิทธิประโยชน์เพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งปรับปรุงการให้บริการและการดูแลรักษาให้อยู่ในระดับที่เป็นมาตรฐานสากลตลอดมา

ณ ปัจจุบันสำนักงานประกันสังคมยังไม่ได้ทำหน้าที่ตอบสนองความต้องการของผู้ประกันตนอย่างที่ควรจะเป็น ภายใต้นโยบายปฏิรูปประเทศไทยเพื่อคืนความสุขให้กับประชาชนของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) สำนักงานประกันสังคมได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม(ฉบับที่..) พ.ศ. …. ต่อกระทรวงแรงงาน, สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) , สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)และได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฯ ตามขั้นตอนตามวาระแรกไปแล้วนั้น

กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออกในฐานะที่เป็นองค์กรของผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นผู้ใช้สิทธิของประกันสังคม เห็นด้วยอย่างยิ่งในการแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้ผู้ประกันตนได้เข้าถึงสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น รวมทั้งการให้บริการและการดูแลรักษาให้อยู่ในระดับที่เป็นมาตรฐานสากล ซึ่งพวกเราขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย

แต่ในประเด็นที่จะมีการแก้ไขตัดสิทธิผู้ประกันตนกรณีลาออกจากงานออกจากกฎหมาย ซึ่งเดิมทีผู้ประกันตนจะได้รับเงินช่วยเหลือขณะว่างงานจำนวนร้อยละ30 ของค่าจ้างไม่เกิน 90 วัน(3เดือน) เป็นการแก้ไขที่ไม่สอดคล้องกับนโยบายปฏิรูปประเทศไทย เพื่อคืนความสุขให้กับประชาชนของ คสช.และขัดหลักการ “เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข” ของประกันสังคม แต่กำลังจะเป็นการเพิ่มความทุกข์ให้กับผู้ประกันตนกว่า 11 ล้านคนอยู่ในขณะนี้มากกว่า

ประเด็นการลาออกจากงานของลูกจ้างจะมีสักกี่คนที่รู้ลึกซึ้งถึงเบื้องหลังที่มาของการลาออกของลูกจ้าง

ในยุคทุนนิยมเสรีที่มุ่งแต่จะแสวงหากา ไรสูงสุด มากกว่าที่จะแสดงความรับผิดชอบต่อคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ความเป็นจริงกรณีที่นายจ้าง มีข้อพิพาทกับลูกจ้างที่มีการนัดหยุดงานหรือนายจ้างปิดงานนานๆ หรือไม่ต้องการให้มีสหภาพอีกต่อไป ส่วนมากนายจ้างจะเปิดให้ลูกจ้างสมัครใจลาออก(จากกันด้วยดี)โดยแลกกับเงินก้อนหนึ่งแล้วแต่จะตกลงกันได้ ถ้านายจ้างใช้วิธีเลิกจ้างก็จะเข้าข่ายเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม อาจโดนลูกจ้างฟ้องร้องเป็นคดีให้รับกลับเข้าทำงาน หรือเรียกค่าเสียหายได้ กรณีที่นายจ้างจะย้ายฐานการผลิต,ปิดกิจการ,มีงานลดลง หรือชะลอการผลิตตามภาวะวิกฤตเศรษฐกิจและประสบภัยธรรมชาติ

นายจ้างส่วนมากจะไม่ใช้วิธีเลิกจ้าง แล้วจ่ายค่าชดเชย ตามกฎหมายแต่จะใช้วิธีบีบให้ลาออกทางออ้ม ด้วยการลดเวลาการทำงานงด OT ให้ลูกจ้างลาหยุดงาน หรือหยุดงานตามมาตรา 75 เป็นช่วงๆ เป็นเวลานานๆ จนลูกจ้างไม่สามารถทนทำงานอยู่ต่อไปได้ ต้องลาออกจากงานไปเอง เนื่องจากมีรายได้ลดลงไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพของตนและครอบครัว

กรณีลูกจ้างลาออกจากงานพร้อมๆกันเป็นหลักร้อย หลักพันคน ล้วนมีสาเหตุเป็นความต้องการ ของนายจ้างที่ตอ้งการบริหารจัดการลดภาระและป้องกันการฟ้องร้องของลูกจ้าง หาใช่เป็นความต้องการของลูกจ้าง หรือลูกจ้างมีพฤติกรรมลาออกจากงานเพื่อไปใช้สิทธิจากเงินกองทุนว่างงานไม่ ความจริงขณะที่ลูกจ้างมีงานทำ และได้รับค่าจ้างรวมทั้งสวัสดิการเต็ม 100 % ยังไม่พอกินจึงไม่มีเหตุผลอะไรที่ลูกจ้างจะทำเช่นนั้น ดังน้ันการตัดสิทธิลูกจ้างกรณีลาออกจะไม่ได้สิทธิว่างงาน จึงเป็นการแก้ไขที่แย่ไปกว่าเดิม ขัดแย้งกับ วัตถุประสงค์ที่ต้องการให้ความช่วยเหลือผู้ประกันตนขณะว่างงาน กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออกจึงขอคัดค้านการ แก้ไขกฎหมายครั้งนี้และขอแถลงการณ์มาเพื่อให้ผู้ใช้แรงงาน ประชาชนทุกสาขาอาชีพและสื่อมวลชนรับทราบโดยทั่วกัน

นายสมพร ขวัญเนตร ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก
23 มกราคม 2558