กลุ่มผู้หญิงประสานเสียง เสนอแก้รัฐธรรมนูญ ชูคำขวัญ ผู้หญิงต้องกำหนดอนาคตตนเอง

เครือข่ายกลุ่มผู้หญิง ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาล แก้รัฐธรรมนูญ แบบมีส่วนร่วมทุกฝ่าย ให้รับรองอนุสัญญาILO สร้างความเท่าเทียม หยุดการกีดกัน และคุกคามทางเพศ การเลิกจ้าง เพิ่มสิทธิการลาคลอด 180 วัน ผู้ชายลาดูแลลูกและภรรยาหลังคลอด  การประกันสังคมมาตรฐานเดียวกัน เพิ่มค่าจ้าง จัดสวัสดิการ ตามนโยบายที่หาเสียง 

วันที่ 8 มีนาคม 2563 กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี พร้อมด้วยเครือข่ายกลุ่มต่างๆได้ร่วมกันเดินขบวนรณรงค์จากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปยังประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เนื่องในวันสตรีสากล โดยมีคำขวัญว่า “ผู้หญิงต้องกำหนดอนาคตตนเอง” และมีเครือข่ายกลุ่มต่างๆหมุนเวียนกันขึ้นเวทีปราศรัย

นางสาวอรุณี ศรีโต อดีตประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีกล่าวว่า การที่ได้เดินมาเนื่องในวันสตรีสากล โดยการก่อเกิดมาจากความเดือดร้อนของผู้ใช้แรงงาน ค่าจ้างต่ำ ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน ผู้ใช้แรงงานได้ลุกขึ้นมาต่อสู้ร่วมกันจนได้รับการแก้ไข วันสตรีสากลปีนี้แม้ว่า จะมีโรคระบาด แต่เราก็เดินขบวน มีการพกหน้ากากอนามัย เอามาเพื่อป้องกันตัวเอง และสังคมให้ปลอดภัย ซึ่งข้อเรียกร้องหนึ่งนั้นสำคัญมาก ซึ่งเห็นพ้องด้วยกันว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประชาชน ปกครองประเทศ ต้องมีการปรับปรุงแก้ไข สร้างกติกาใหม่ที่เป็นปัญหาให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยมากกว่านี้” ซึ่งขอเรียกร้องไปที่หัวหน้ารัฐบาลที่เป็นคณะรัฐมนตรี ว่า “การแก้ไขรัฐธรรมนูญเราต้องการให้แก้ไขเป็นวาระด่วน รัฐบาลต้องฟังเราผู้ใช้แรงงานที่ค่าจ้างแรงงานก็น้อย ประชาธิปไตยก็ไม่ได้เต็ม ไม่สมบูรณ์ จะอยู่ในสังคมแบบนี้คงแย่แน่นอน” เราสร้างกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีมาตั้งแต่ปี 2535 วันนี้แรงงานต้องทำงานหนักมากกว่า 8 ชั่วโมงทำไมจึงตกต่ำอย่างนี้  ปกติแล้วประเทศที่เจริญรุ่งเรืองผู้ใช้แรงงานทำงานน้อยชั่วโมงราคาได้สูงขึ้น แต่ประเทศไทยกลับทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมง ทำงานนานมากขึ้น อยู่ในโรงงานยางนานมากขึ้น การจ้างงานแบบแปลกๆเพิ่มมากขึ้นมีคนตกงานสถิติเพิ่มขึ้นมาก จึงต้องมาร่วมกันรณรงค์เพื่อสร้างกฎกติกาของประเทศชาติแก้ไขรัฐธรรมนูญและรัฐบาลต้องฟังเสียงของผู้ใช้แรงงานด้วย

นางสาวสุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ที่ปรึกษากลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี กล่าวว่า กรรมกรผู้หญิง ผู้ชายที่มาร่วมกันเฉลิมฉลองวันสตรีสากล ในวันนี้คือผู้สร้างผลผลิต สร้างความเจริญให้กับประเทศ และยังเป็นผู้เสียภาษีบำรุงประเทศชาติ การมาพบรัฐบาล ก็ต้องการที่จะให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเรื่องของ “การคุกคาม และการกีดกันทางเพศ และการตั้งครรภ์ก็ยังถูกเลิกจ้างกันอยู่”  จึงอยากให้แก้ไขปัญหา เราไม่ได้แสดงเพียงสัญลักษณ์เพียงอย่างเดียว แต่ต้องการทวงคำมั่นสัญญาที่ของนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรัฐมนตรีหลายกระทรวงที่รับปากทางนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาของแรงงาน และของผู้หญิงไว้แต่ไม่ทำ “วันนี้เขาเป็นรัฐบาลแล้ว ลืมสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน” จึงมาบอกรัฐบาลว่าเราจะสู้ต่อไปและมีคนที่จะออกมาสู้จนกว่าจะได้ตามข้อเรียกร้องที่ยื่น

นางอารยา แก้วประดับ ฝ่ายสตรีสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) กล่าวว่าการเคลื่อนไหวของเครือข่ายสตรีวันนี้แม้ว่า จะมีสถานการณ์ไวรัสCovid-19 ที่เราร่วมกันต่อสู้มากหลายสัปดาห์ ซึ่งการที่ทำงานอยู่ที่องค์การเภสัชกรรม ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ภาพที่เห็นประชาชนจำนวนมากเข้าแถวยาวเพื่อซื้อหน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ และเจลล้างมือ ซึ่งการเดินขบวนครั้งนี้ เห็นผู้ใช้แรงงาน และประชาชนที่มาใช้หน้ากากอนามัยปิดจมูก ใช้เจลล้างมือ ซึ่งทางองค์การฯต้องพยายามผลิตให้ถึงมือพี่น้องให้ได้ และเราได้ร่วมกับเรียกร้องอีกประเด็นคือ “เรื่อง Covid-19 เป็นเรื่องที่ร้อนมาก เราไม่ตื่นตระหนกแต่ต้องมีการดูแลตนเอง” เจลล้างมือผลิตไม่ทัน หน้ากากอนามัยที่มีปัญหา ซึ่งมีทั้งหมด 11 โรงงาน ผลิตวันละเป็นล้านชิ้นก็ยังไม่เพียงพอ “อยากเรียกร้องให้ทางการแพทย์ได้ใช้หน้ากากอนามัย อุปกรณ์ทางการแพทย์ให้เพียงพอก่อน ซึ่งเราที่ยังแข็งแรงอยู่สามารถใช้หน้ากากผ้าได้” แต่ข้อเรียกร้องหนึ่ง คือ “อยากให้หน้ากากอนามัยให้ประชาชนเข้าถึงได้ทุกคน” ซึ่งตอนนี้รัฐบาลก็เข้าไปดูแลการผลิตแล้ว และอีกข้อเรียกร้อง คือภายใต้โลกใบนี้เราจะหาอากาศบริสุทธิ์ได้ยากแล้ว “ปัญหาฝุ่นPM2.5 เป็นปัญหาใหญ่”  ซึ่งเราขอทวงคืนอากาศบริสุทธิ์ โดยให้รัฐออกกฎหมายพิเศษในการทำให้อากาศในประเทศบริสุทธิ์ แต่วันนี้คงต้องดูแลตัวเองกันก่อน

นางณีรมล สุทธิพรรณพงศ์ ผู้แทนแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า แรงงานนอกระบบมีทั้งหมด 21 ล้านคน ราว 55 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานทั้งประเทศ ซึ่งเป็นแรงงานที่มีหลากหลายอาชีพ มีทั้งผู้รับงานไปทำที่บ้าน มอเตอร์ไซค์รับจ้าง คนทำงานบ้าน คนขับรถแท็กซี่ หาบเร่แผงลอย เป็นต้น ซึ่งยังขาดสวัสดิการ ไม่มีกฎหมายคุ้มครอง และแม้ว่าจะมักฎหมายคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้านแต่ก็ไม่มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง  เราเรียกร้องมากว่า 10 ปีแล้วในการที่รัฐบาลจะมีมาตรการคุ้มครอง และการที่จะมีค่าจ้างเท่ากับแรงงานในระบบ ไม่ว่าจะงานแบบเดียวกัน บางคนทำงานเต็มวันยังได้ค่าจ้างไม่ถึง 200 บาท และมาตรการคุ้มครองประกันสังคมก็ยังไม่ได้รับการคุ้มครองฟื้นฟูกรณีทุพพลภาพ หรือพิการ การมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองที่ควรมีความยั่งยืน และต้องการให้ประกันสังคมมาตรา 40 เทียบเท่ากับแรงงานในระบบมาตรา 33 และมาตรา 39 และการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้มีค่าตอบแทนที่เป็นธรรม รัฐบาลต้องรับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) ฉบับที่ 177ว่าด้วยการคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้านต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเคร่งครัดและเป็นธรรม รัฐต้องรับเงินอุดหนุนเด็กเล็กอย่างถ้วนหน้า แรงงานนอกระบบต้องการให้มีการแก้ขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง และการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ต้องมีส่วนร่วมจากทุกกลุ่มด้วย

นางสาวมาลี สอบเหล็ก ลูกจ้างทำงานบ้าน กล่าวว่า ลูกจ้างทำงานบ้านมีมานานนับร้อยปีแล้ว แต่กลับไม่เคยถูกมองว่า ไม่เป็นแรงงาน และลูกจ้างทำงานบ้าน นายจ้างให้สิทธิอะไรกับลูกจ้างบ้าง ตอบว่า การดูแลเหมือนญาติก็เพียงพอแล้ว แต่ในความเป็นจริงนายจ้างไม่เคยให้แม้แต่ค่าจ้างขั้นต่ำ  และยังผลักให้แรงงานทำงานบ้านไปอยู่ในกลุ่มของแรงงานนอกระบบ ซึ่งแรงงานทำงานบ้านมีนายจ้าง แต่กลับไม่เคยเรียกร้องสิทธิเหมือนกับแรงงานในระบบได้ ค่าแรงขั้นต่ำก็ไม่ได้ และการเจ็บป่วยก็ต้องหวังความเมตตาจากนายจ้างในการพาไปรักษาพยาบาล นายจ้างดีถือว่าโชคดี แล้วคนที่โชคไม่ดีเขาอยู่อย่างไร ตั้งครรภ์ก็ไม่เคยลางานได้แม้แต่วันเดียว เพราะกฎหมายไม่เคยรองรับลูกจ้างคนทำงานบ้านเลย ไม่เคยมีภาครัฐเข้ามาดูแล “ลูกจ้างคนทำงานบ้าน จึงอยากเข้าสู่ระบบประกันสังคมมาตรา 33 เพื่อให้ได้รับการดูแลด้านสวัสดิการ” เมื่อคลอดบุตรก็มีการดูแล แต่วันนี้เราก็ยังไม่ได้รับการดูแลจากระบบประกันสังคม ต้องดูแลกันตามอัตรภาพ ลูกจ้างที่ทำงานในต่างจังหวัดมีค่าจ้างเพียงเดือนละ 6,000 บาท ตอนนี้ได้เสนอให้รัฐบาลรับอนุสัญญาILO ฉบับที่ 189 ว่าด้วยลูกจ้างงานบ้าน เพื่อให้การคุ้มครอง ส่งเสริมงานดีมีคุณค่าให้ลูกจ้างทำงานบ้าน

นางอภัณตรี เจริญศักดิ์ รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า ด้วยปีนี้ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากCovid-19 ทำให้สมาชิกคสรท.มาร่วมไม่ได้ ด้วยนายจ้างประกาศห้ามเข้าร่วม หรือจัดกิจกรรมต่างๆ หากมีการเข้าร่วมจะต้องกักตนเอง 14 วัน เพื่อให้ปลอดภัยไม่มีเชื้อCovid-19 แต่ก็มีแกนนำมาร่วมด้วย ซึ่งปัญหาตอนนี้ “ภัยร้ายพอกับCovid-19 คือ การเลิกจ้างแรงงาน” ด้วยคนที่ถูกเลิกจ้างตอนนี้ลำบากมากด้วยไม่ได้รับค่าจ้างมาตั้งแต่ปี 2519 แม้ศาลจะสั่งให้รับกลับเข้าทำงาน นายจ้างก็ไม่มีการรับกลับเข้าทำงาน และการเลิกจ้างแรงงาน ซึ่งบางส่วนเลิกจ้างทั้งครอบครัว รวมทั้งคนตั้งครรภ์ โดยไม่จ่ายค่าชดเชย และนายจ้างบอกอยากได้ให้ไปฟ้องเอาเอง ปีนี้แม้ว่า มีข้อเรียกร้องอนุสัญญาILOฉบับที่ 183 สิทธิความเป็นมารดาแล้วยังต้องเรียกร้อง ILO ฉบับที่ 190 ว่าด้วยการขจัดความรุนแรง และการล่วงละเมิดทางเพศ ในสถานที่ทำงาน ทางกลุ่มยังเรียกร้องลาคลอด180 วัน แม้วันนี้จะได้มา 98 วัน เพิ่มมาอีก 8 วันยังไม่รู้ว่าใครจ่าย ซึ่งยังไม่เพียงพอ  นอกจากนั้นเราต้องการให้บิดามีส่วนในการไปเลี้ยงดูบุตร กรณีที่แม่ลาคลอดอยู่ ซึ่งข้าราชการลาคลอดได้ 15 วัน แต่เอกชนยังไม่ได้สิทธิในการลาดังกล่าว ซึ่งต้องการให้พ่อได้ร่วมในการดูแลบุตรคือ ลาได้อย่างน้อย 30 วัน อีกข้อคือเรื่องเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า  ซึ่งเรียกร้อง 600 บาทตั้งแต่ 0-6 ปี  ด้วยรัฐบาลยังสร้างความแตกต่างตีตราคนจนอยู่ หากรายได้เกินแสนบาทจะไม่ได้รับเงินอุดหนุน เงิน600 บาท ตกเพียงวันละ 20 บาทเท่านั้น ต้องให้ได้อย่างทั่วถึง และต้องเรียกร้องให้วันที่ 8 มีนาคมของทุกปีให้เป็นวันหยุด

นางสาวสงวน ขุนทรง ผู้ประสานงานกลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ กล่าวว่า มาร่วมสะท้อนปัญหาให้รัฐบาลรับรู้ว่า ตอนนี้แรงงานมีคนตกงานมากขึ้น ด้วยการค้าขายไม่ได้ ภาวะเศรษฐกิจที่ล้มเหลว จึงต้องการให้รัฐบาลมีการแก้ไขปัญหาด่วน

นายสมาน พรประชาธรรม ประธานสหพันธ์แรงงานปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์แห่งประเทศไทย รัฐบาลต้องมีการรับรองอนุสัญญาฉบับที่ 87 และ98 เพื่อให้จัดตั้งสหภาพแรงงาน และการคุ้มครอง ดั่งที่อารยประเทศที่มีการรับรองอนุสัญญานี้แล้ว ต้องเคารพสิทธิผู้หญิงที่เป็นเพศแม่ด้วย

นางสุนี ไชยรส กล่าวว่า วันนี้เรียกร้องที่จะ ทุกปีขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (วีมูฟ) จะมาเดินขบวนร่วมด้วย ตอนนี้มีการจัดการรณรงค์อยู่แต่ละภาค จึงไม่ได้มีกลุ่มของพี่น้องอีสาน ภาคใต้ และพี่น้องชนเผ่า พี่น้องมุสลิม พี่น้องที่ต้องการปฏิรูปที่ดินที่ต้องการจัดการฐานทรัพยากรณ์ มาสมทบกับกลุ่มบูรณ์อย่างทุกปี เพราะถือว่า พลังของทุกกลุ่มคือ พลังแห่งแรงงานขอให้นึกว่า วันสตรีสากลมีการแสดงพลังเรียกร้องทั้งประเทศในนามขององค์กรผู้หญิงหลากหลาย รวมทั้งวีมูฟ อยากให้เห็นว่า ความเสมอภาคระหว่างเพศของผู้ใช้แรงงาน และกลุ่มอื่นๆจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องได้รับการดูแลแรงงานในระบบที่กำลังถูกเลิกจ้าง นอกระบบ และอื่นๆ  พลังของผู้หญิง พลังของผู้ชาย ทุกเพศภาพต้องเดินไปด้วยกัน เราจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างสวัสดิการตั้งแต่เกิดจนตาย

จากนั้นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ขึ้นเวทีกล่าวกับผู้ใช้แรงงาน 2 คน โดยนายอานนท์ กล่าวว่า ต้องการให้สหภาพแรงงานในส่วนของกลุ่มสตรี เป็นกลุ่มพลังในการที่จะชิงอำนาจกับภาครัฐเพื่อเป็นกระบอกเสียงให้กับแรงงานในระบบ และนอกระบบอย่างแท้จริง ในประวัติศาสตร์ที่กลุ่มสตรี และสหภาพแรงงานกลุ่มต่างๆได้ร่วมต่อสู้กันมาทั้งเคยชนะ และเคยแพ้ แต่ทุกครั้งที่แพ้เราลุกขึ้นสู้ใหม่ได้เสมอ ฉะนั้นไม่ว่าจะกี่ปีกี่วัน และกี่เดือน ขอให้ทุกคนอย่ายอมแพ้ที่จะเดินหน้าต่อไป หากยอมแพ้ทุกอย่างก็จะจบ หากสู้ต่อไปเราจะมีโอกาสชนะ

ต่อมานางสาวแพรว นักศึกษาอีกท่านได้กล่าวว่า แรงงานถือเป็นเส้นเลือดที่สำคัญในการหล่อเลี้ยงประเทศ หากไม่ให้ความสำคัญกับแรงงานประเทศจะอยู่ได้อย่างไร และหากนโยบายรัฐไม่สนับสนุนให้ความสำคัญกับผู้ใช้แรงงาน โดยทิ้งเขาไว้ข้างหลังแบบนี้ ประเทศขาติจะเดินหน้าต่อไปได้อย่างไร และอยากจะเสนอเรื่องหนึ่งคือเรื่องผ้าอนามัย ซึ่งผู้หญิงเราได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นภาระค่าใช้จ่ายในการซื้อผ้าอนามัยที่แพงมาก จึงอยากให้รัฐบาลออกนโยบายลดราคา หรือว่าแจกฟรีให้กับผู้หญิงด้วย

จากนั้นนางสาวธนพร วิจันทร์ ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี ยื่นข้อเรียกร้องจำนวน 13 ข้อต่อผู้แทนนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มารับหนังสือ คือนายสุรศักดิ์ เรียงเครือ รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และ ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หลังจากได้มีการอ่านประกาสเจตนารมณ์ ผู้หญิงต้องกำหนดอนาคตตนเอง

โดย นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ กล่าวว่า ข้อเรียกร้องทั้ง 13 ข้อจะนำเสนอนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไม่เคยปฏิเสธไม่คยเพิกเฉย โดยกลุ่มต่างๆสามารถที่จะเรียกร้อง แสดงความคิดเห็น ซึ่งสิ่งใดที่สามารถดำเนินการได้ เราจะดำเนินการทันทีขอให้ใจเย็นๆ หากมีโอกาสในการมีส่วนร่วมต่างๆเราก็จะดีใจยิ่ง การมีส่วนร่วมของประชาชนมีส่วนสำคัญที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาโดยตลอด อย่าได้กังวลใจ ซึ่งขอยืนยัน และขอสัญญาไว้

ดร.รัชดา ธนาดิเรก กล่าวอีกว่า รู้สึกดีใจที่ได้มารอต้อนรับ และได้รับฟังข้อร้องเรียนของประชาชน ซึ่งเราเป็นผู้หญิงด้วยกันทำงานร่วมกันมาหลายปีและรับทราบถึงข้อปัญหาอย่างดี ซึ่งเรื่องร้องเรียนทุกเรื่องไม่มีการวางเฉย ขอเล่าเป็นกำลังใจ เมื่อต้นปีมีเครือข่ายสตรีอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเราก็คุ่นเคยกันอยู่มายื่นข้อร้องเรียนลักษณะเดียวกันให้กับท่านนายกรัฐมนตรี ซึ่งตนได้นำเรื่องดังกล่าวไปกราบเรียนกับท่านนายกฯ ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีได้นำข้อร้องเรียนนั้นประกาศให้คณะรัฐมนตรีทราบ จากนั้นได้มีคณะทำงานซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม เป็นผู้ดูแล และทำงานร่วมกับเครือข่าย สิ่งที่ได้ทำร่วมกัน เช่นเครือข่ายสตรี 4 ภูมิภาค มูลนิธิเพื่อนหญิง และ มูลนิธิเด็ก ทำไปแล้วหลายเรื่อง มีความคืบหน้าหลายประเด็น เช่น กรณีข้อเสนอว่าให้ผู้ชายลางานไปเลี้ยงดูลูก ซึ่งตอนนี้ได้สั่งให้กระทรวงแรงงานไปศึกษาความเป็นไปได้แล้ว เรื่องของการกีดกัน และการคุกคามทางเพศในสถานประกอบการ และองค์กร

วันนี้กระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ได้มีการทำงานร่วมกับภาคเอกชน ให้เอกชนมาลงนามร่วมกับกระทรวงฯต่อไปนี้ต้องยุติการกีดกันการจ้างงานด้วยเหตุแห่งเพศ การจะมาไล่ผู้หญิงออกจากงานเพียงตั้งครรภ์ทำไม่ได้ การคุกคาม และลวนลามพนักงานในองค์กรทำไม่ได้ เบื้องต้นมีองค์กรมาลงนามร่วมกันรวมทั้งสถาบันการศึกษาจำนวน 24 องค์กร ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ๆด้วย และรัฐบาลจะทำเรื่องนี้ต่อ มีหลายเรื่องที่รับมาแล้วยังกระทำการไม่สำเร็จด้วยติดกระบวนการหลายอย่าง เรื่องที่ดินทำกิน ปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(พีมูฟ) หลายเรื่องคลี่คลายไปแล้ว แต่ยังไม่หมดอันนี้เรายอมรับ วันนี้รับรองว่า เรื่องถึงนายกแน่นอน อันไหนทำได้จะทำเลยและเราทำมาแล้วเราไม่ได้ทำแค่กับราชการเท่านั้นเราได้เชิญเครือข่ายมาร่วมด้วย หลายท่านทราบดีว่ารัฐบาลทำอะไรอยู่ขอเวลา และขอความเข้าใจ ท้ายสุดอยากให้เข้าใจว่าการมายื่นข้อร้องเรียนไม่ใช่เรื่องแพ้ชนะ หากทำสำเร็จคือชัยชนะของรัฐบาล และคนทั้งประเทศ เราไม่ใช่คู่แข่งกัน เราคือเพื่อนกัน เพื่อผู้หญิงต้องกำหนดอนาคตตนเอง

โดยข้อเรียกร้องของกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี เนื่องในโอกาสครบรอบวันสตรีสากล 2563 กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีขอยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลจำนวน 13 ข้อดังนี้

  1. รัฐต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดา
  2. รัฐต้องกำหนดให้ผู้หญิงมีสิทธิลาคลอดได้ 180 วัน โดยได้รับค่าจ้าง 100% และให้ผู้ชายลาไปดูแลภรรยาคลอดบุตรได้ 30 วัน โดยได้รับค่าจ้าง 100%
  3. รัฐต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 190 ว่าด้วยการขจัดความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกแห่งการทำงาน
  4. รัฐต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้านและ อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 177 ว่าด้วยงานที่รับไปทำที่บ้าน เพื่อให้แรงงานนอกระบบ ได้รับการคุ้มครองอย่างเคร่งครัดและเป็นธรรม

  1. รัฐธรรมนูญต้องแก้ไขให้ประชาชนได้รับสิทธิทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมด้วยมีส่วนร่วมทั้งชาย หญิง ทุกกลุ่มทุกเพศสภาพ
  2. รัฐต้องจัดให้มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียนอย่างทั่วถึง มีคุณภาพ ปรับเปลี่ยนเวลาปิด-เปิด ให้สอดคล้องกับวิถีการทำงาน
  3. รัฐต้องมีมาตรการ การแก้ไขละเมิดสิทธิแรงงาน สร้างความมั่นใจในการทำงานและค่าตอบแทนที่เป็นธรรม
  4. รัฐต้องให้เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า 0-6 ปี
  5. รัฐต้องกำหนดสัดส่วนผู้หญิงและเพศสภาพในการตัดสินใจของคณะกรรมการทุกมิติ ทุกระดับ อย่างน้อย 1 ใน 3
  6. รัฐต้องกำหนดให้คนพิการเข้าถึงสิทธิการบริการที่เท่าเทียมกับคนทั่วไป
  7. รัฐต้องจัดให้มีพื้นที่ปลอดภัยให้กับผู้หญิงและเด็กใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และในที่
    สาธารณะ
  8. รัฐต้องเคารพสิทธิการพัฒนาของประชาชนและคุ้มครองนักต่อสู้ผู้หญิงด้านสิทธิแรงงาน สิทธิชุมชน และเกี่ยวกับสิทธิฐานทรัพยากรสิ่งแวดล้อม

13.รัฐต้องกำหนดให้วันที่ 8 มีนาคมของทุกปีเป็นวันหยุดตามประเพณี

ซึ่งทุกอย่างไม่ได้มาด้วยการร้องขอ แต่ต้องได้มาจากการรวมพลังต่อสู้ผลักดัน สามัคคีกัน แสดงความกล้าหาญ ในการลุกขึ้นต่อสู้ให้พวกที่กดขี่ ขูดรีดเอาเปรียบเรา ได้รับรู้ว่า เราเป็นคนมีศักดิ์ศรี เราต้องมีสิทธิเสรีภาพ และเราต้องได้รับความเป็นธรรมในทุก ๆ ด้าน ต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืน

ในการรณรงค์ครั้งนี้ ทางสหพันธ์แรงงานสิ่งทอการตัดเย็บเสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย และกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง ได้ร่วมเดินรณรงค์ร่วมกัน พร้อมด้วยแจกแถลงการณ์ข้อเรียกร้อง เนื่องในวันสตรีสากล ดังนี้

  1. แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
  2. พรรคการเมืองที่ร่วมจัดตั้งเป็นรัฐบาลและช่วงหาเสียงเลือกตั้ง สัญญาไว้ว่าจะเพิ่มค่าจ้าง/ค่าแรงเป็นวันละ 400-425 บาท และมารดาประชารัฐ เช่น ตั้งครรภ์รับเดือนละ 3,000 บาท ค่าคลอดบุตร 10,000 บาท และค่าดูแลบุตรเดือนละ 2,000 บาท ดำเนินไปถึงไหนแล้ว
  3. รัฐบาลต้องเพิ่มวันลาคลอดบุตรจากเดิม 98 วัน เป็น 180 วัน และสามีมีสิทธิลาไปดูแลภรรยาคลอดบุตรได้ 180 วัน โดยได้รับค่าจ้าง
  4. สตรีมีสิทธิทำแท้งได้อย่างปลอดภัยเมื่อไม่พร้อมมีบุตร (ศาลรัฐธรรมนูญเห็นชอบแก้กฎหมายทำแท้งได้ไม่ผิด wed,2020-02-19 ประชาไท)
  5. รัฐบาลต้องกำหนดวันที่ 8 มีนาคมของทุกปีเป็นวันหยุดทั่วประเทศ

  1. สร้างรัฐสวัสดิการเพื่อดูแลประชาชนอย่างมีคุณภาพ
  2. รัฐบาลต้องควบคุมราคาสินค้าที่เป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีพของประชาชน
  3. สตรีมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกับชายและหยุดล่วงละเมิดทางเพศและต่อต้านการใช้ความรุนแรงต่อสตรีทุกรูปแบบ
  4. รัฐบาลต้องให้การรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 ฉบับที่ 98 และ ฉบับที่ 183
  5. รัฐบาลต้องสนับสนุนการศึกษาฟรีกับเด็กเยาวชนประชาชนตลอดชีวิต
  6. หยุดการค้ามนุษย์,หยุดการค้าแรงงานข้ามชาติ,ยอมรับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของมวลมนุษยชาติ

วันสตรีสากล ชนชั้นผู้ใช้แรงงานสตรีทั้งหลายจงเจริญ 8  มีนาคม  2563

“หยุดละเมิดสิทธิสตรี เสรีภาพต้องเท่าเทียม”

รายงานโดย วาสนา ลำดี