ออง แรงงานพม่า เหยื่อจากวิกฤตน้ำท่วม

นายอองหนุ่มชาวพม่าวัย 23 ปี ถูกนายหน้าพาเข้ามาและอาศัยอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 จากเกาะสองซึ่งอยู่ทางใต้ของประเทศพม่า เพื่อทำงานในจังหวัดภูเก็ต (ภาคใต้ของประเทศไทย) ซึ่งในครั้งนี้นายอองต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 130 ดอลล่าร์ให้แก่นายหน้า

ภายหลังจากที่เขาเปลี่ยนไซท์งานก่อสร้าง รวมถึงงานที่โรงแรมไปประมาณ 3 แห่ง นายอองยอมจ่ายอีก 4,500 บาท (ประมาณ 150 ดอลล่าร์) ให้นายหน้าพาเขาเข้ามารับจ้างล้างรถในกรุงเทพฯ ในปีนี้เอง (พ.ศ.2554) นายจ้างที่อู่ล้างรถที่เขาทำงานก็ได้พาเขาไปขึ้นทะเบียนแรงงานและขออนุญาตทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ประมาณ 3-4 เดือนให้หลัง นายอองก็ได้ออกจากงานที่อู่ล้างรถไปทำงานก่อสร้างแทน

ต่อมาเมื่อน้ำเข้าท่วมไซท์งานก่อสร้างที่นายอองทำงานซึ่งอยู่บริเวณทางเหนือของกรุงเทพฯ รอบนอก นายจ้างได้เลิกจ้างลูกจ้างทั้งหมดรวมทั้งนายอองด้วย โดยไม่ได้ให้ความช่วยเหลืออื่นใด นอกจากจ่ายค่าแรงที่ยังค้างอยู่ให้เท่านั้นเอง แต่ไม่นานนายอองก็สามารถหางานใหม่ที่อู่ล้างรถอีกแห่งซึ่งอยู่ไม่ห่างจากอู่ล้างรถแห่งแรกที่นายอองเคยทำงานด้วยนัก

เมื่อนายจ้างที่อู่ล้างรถแห่งแรกเห็นว่านายอองย้ายมาทำงานอยู่ที่นี้ จึงพาตำรวจมาจับเขาใน 3 วันต่อมา นายอองถูกพาไปที่สถานีตำรวจและถูกคุมขังโดยที่ไม่มีการสอบสวนใดๆ ทั้งสิ้น วันถัดมานายอองถูกส่งตัวไปคุมขังต่อที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรุงเทพฯ เป็นเวลา 8 วัน โดยขังรวมกับคนอื่นๆ อีก 150 คน ภายในห้องเดียวกัน นอกจากนี้ นายอองเล่าให้ฟังว่าคุณภาพของอาหารที่ได้รับจากที่คุมขังนั้นแย่มากจนขนาดทำให้เขาอาเจียน

ในช่วงที่ถูกคุมขังอยู่ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรุงเทพฯ นายอองถูกส่งตัวต่อมาที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ในช่วงกลางคืนของคืนหนึ่ง และเช้าวันรุ่งขึ้น นายอองและแรงงานชาวพม่าอีกประมาณ 50 คน จึงถูกผลักดันออกนอกประเทศไทยและถูกส่งตัวโดยตรงให้กับทางการพม่า บนสะพานมิตรภาพไทย-พม่า ที่เชื่อมระหว่าง อำเภอแม่สอดของประเทศไทย กับ เมืองเมียวดีของประเทศพม่า

เมื่อข้ามไปยังประเทศพม่า เจ้าหน้าที่ของทางการพม่าเสนอว่าจะจัดแจงการเดินทางไปยังเมือง Pa An ในรัฐกะเหรี่ยงให้แก่นายอองโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ แต่นายอองปฏิเสธ เนื่องจากครอบครัวของเขาไม่ได้อาศัยอยู่ที่นั่นและคงยากที่จะหางานทำได้ ไม่นานนักนายอองจึงถูกปล่อยตัวเป็นอิสระ เขาตัดสินใจอยู่ที่เมืองเมียวดีต่ออีก 2 วัน จนกระทั่งเขาสามารถติดต่อพี่สาวที่อาศัยอยู่ที่จังหวัดภูเก็ตในประเทศไทยได้ พี่สาวนายอองโอนเงินให้เขาจำนวน 2,000 บาท (ประมาณ 70 ดอลล่าร์) ไว้ใช้ยามฉุกเฉินหากนายอองต้องการเดินทางกลับเข้าประเทศไทย

ขณะที่อยู่ที่เมืองเมียวดี นายอองเล่าให้ฟังว่ายังมีแรงงานต่างด้าวจำนวนมากที่อพยพกลับมาจากประเทศไทยเพราะเหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้น แต่แรงงานเหล่านี้ส่วนใหญ่มักจะเดินทางกลับบ้านเกิดของตัวเองทันทีที่เดินทางมาถึงเมียวดี แต่ก็ยังมีแรงงานอีกจำนวนหนึ่งที่ยังคงตกค้างอยู่ที่เมียวดี เนื่องจากมีเงินไม่พอที่จะใช้เดินทางกลับบ้านของตน

และที่เมืองเมียวดีนี่เองที่นายอองพบกับนายหน้าคนหนึ่งซึ่งตกลงจะพาเขาเดินทางกลับไปยังกรุงเทพฯ ในราคา 16,000 บาท (ประมาณ 530 ดอลล่าร์) เมื่อตกลงกันได้แล้ว นายอองได้โทรศัพท์หาเพื่อนเขาที่อยู่ที่กรุงเทพฯ ให้ช่วยหายืมเงินจำนวน 16,000 บาท และโอนให้นายหน้าที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นคนเป็นธุระจัดการทุกอย่างร่วมกับนายหน้าอีกคนที่อยู่ที่แม่สอด นอกเหนือจากนั้นแล้ว นายอองต้องจ่ายเงินอีก 120 บาท (ประมาณ 4 ดอลล่าร์) เดินทางข้ามแม่น้ำจากเมียวดีเข้ามาที่แม่สอด เพื่อมาขึ้นรถที่รอรับเขาอยู่ที่ปลายทางและเดินทางมายังกรุงเทพฯ ในที่สุด

รถกะบะ 4 ประตู เป็นรถที่ถูกใช้ในการเดินทางมายังกรุงเทพฯ ในครั้งนี้ ภายในรถด้านหลังมีที่นั่งที่สามารถนั่งได้เพียงแค่ 4 ที่ แต่นายอองและ แรงงานที่มาด้วยกันในครั้งนี้ต้องนั่งซ้อนกันเพื่อให้บรรจุคนได้ทั้งหมด 12 คนภายในรถ นอกจากนี้ ยังมี 23 คนที่ถูกซ่อนไว้ในตอนหลังของรถกะบะที่อยู่ด้านนอกของตัวรถอีกด้วย

ระหว่างทางจากแม่สอดถึงกรุงเทพฯ รถคันนี้หยุดพักรวมแล้วเป็นเวลาเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น แม้ว่านายอองและ คนอื่นๆ จะเดินทางถึงที่หมายอย่างปลอดภัยโดยปราศจากการถูกสกัดกั้นหรือถูกตรวจสอบจากด่านตำรวจที่อยู่ตามรายทาง แต่ก็เป็นการเสี่ยงเกินไปที่คนจำนวนมากถูกอัดให้อยู่ด้วยกันในพื้นที่เพียงแค่นั้นจนแทบไม่มีอากาศให้หายใจ

เมื่อถึงกรุงเทพฯ นายหน้าพานายอองมาส่งที่บ้านเพื่อนตามที่ได้ตกลงกันไว้เป็นอันเสร็จสิ้นภาระกิจ หากแต่นายอองและพี่สาวกลับต้องมีภาระเพิ่มขึ้นที่ต้องหาเงิน 16,000 บาท เพื่อจ่ายคืนให้แก่เพื่อนของเขาสำหรับการเดินทางกลับกรุงเทพฯ ในครั้งนี้.. 

///////////////////////