แรงงานข้ามชาติ: สิทธิประโยชน์ประกันสังคมที่ถูกมองข้าม
รุ่งทิวา เวชเพิ่ม และวาสิตา บุญเกิด
ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากสถานการณ์วิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยมาตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ยังคงมีแรงงานกลุ่มนึง ที่ถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลังจากผลกระทบของมาตรการต่าง ๆ เพื่อควบคุมโรคระบาด ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ภาครัฐยังคง ประกาศใช้อย่างต่อเนื่อง แรงงานกลุ่มนั้น คือ “แรงงานข้ามชาติ” แรงงานผู้ซึ่งเป็นฟันเฟืองที่สําคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย ในสภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ส่งผลให้ขาดแคลนกําลังแรงงานในหลายภาคส่วน โดยเฉพาะงานประเภท 3D ได้แก่ งานหนัก (Difficult) งานสกปรก (Dirty) และงานอันตราย (Dangerous) เช่น งานก่อสร้าง งานประมง งานเกษตร งานใน เหมืองแร่หรือในป่าลึก งานทําความสะอาด เป็นต้น[1] ซึ่งแรงงานไทยมักไม่นิยมประกอบอาชีพดังกล่าว ดังนั้นการเข้ามาของแรงงานข้ามชาติโดยเฉพาะแรงงานที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ประเทศเมียนมา ลาว และกัมพูชา จากข้อมูลสถิติจำนวนแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงาน สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน เดือนมกราคม พ.ศ. 2564 ประเภทนำเข้าตาม MOU (3 สัญชาติ) รวมทั้งสิ้น 782,410 คน โดยแบ่งเป็นประเทศเมียนมา 410,859 คน ประเทศลาว 153,706 คน และประเทศกัมพูชา 217,845 คน แสดงให้เห็นว่าแรงงานข้ามชาติมีบทบาทสําคัญในการเติมเต็มช่องว่างของตลาดแรงงาน รวมถึงข้อมูลสถิติจากช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม พ.ศ. 2563 ที่มีการนําเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทํางานอย่างถูกกฎหมายทั้งสิ้นเฉลี่ย 2,700,000 คน
เมื่อเทียบกับอัตราการจ้างงานแรงงานข้ามชาติต่อจํานวนผู้มีงานทําทั้งหมดในประเทศไทย ในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม พ.ศ. 2563 คิดเป็นร้อยละ 7.07 ของกําลังแรงงานทั้งหมดที่มีงานทํา แสดงให้เห็นว่าคํากล่าวของผู้คนในสังคมไทยที่มีทัศนคติต่อแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทํางาน เช่น “แรงงานต่างด้าวจะเข้ามาแย่งงานคนไทย” หรือ “คนไทยจะไม่มีงานทําเพราะคนต่างด้าว” เป็นเรื่องที่ห่างไกลจากความเป็นจริงของสถิติเป็นอย่างมาก
เมื่อแรงงานข้ามชาติที่ถูกกหมายเข้ามาทํางานในประเทศไทย แรงงานจะได้รับความคุ้มครองด้านสิทธิและสวัสดิการแรงงานตามกฎหมายแรงงาน คือ การเข้าสู่ระบบประกันสังคมภาคบังคับ ซึ่งจะได้รับความคุ้มครอง ทั้ง 7 กรณี เช่นเดียวกับแรงงานไทย ได้แก่ 1) กรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย (ที่ไม่ใช่จากการทํางาน) 2) กรณีทุพพลภาพ 3) กรณีเสียชีวิต 4) กรณีคลอดบุตร 5) กรณีชราภาพ 6) กรณีสงเคราะห์บุตร และ 7) กรณีว่างงาน แต่ในความเป็นจริงความคุ้มครองเหล่านี้แรงงานข้ามชาติไม่สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ได้อย่างเต็มที่หรือเข้าถึงได้ยากและยังมีแรงงานข้ามชาติบางส่วนที่ตกหล่นหรือไม่สามารถเข้าถึงระบบประกันสังคมได้
จากที่ผู้เขียนได้ศึกษาข้อมูลและสัมภาษณ์บุคคลที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับแรงงานข้ามชาติทําให้มองเห็น ประเด็นปัญหาสําคัญที่ส่งผลต่อการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการด้านประกันสังคมของแรงงานข้ามชาติ โดยมีประเด็นหลักสองประเด็น คือประเด็นด้านข้อกฎหมาย ที่มีตัวกฎหมายการทํางานของคนต่างด้าว และกฎหมายคนเข้าเมืองที่มีความขัดแย้งกับกฎหมายประกันสังคม ในกรณีการรับสิทธิประโยชน์ทดแทนการว่างงาน ซึ่งคุณสุชาติ ตระกูลหูทิพย์ จากมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP Foundation) ได้ให้ความเห็นในประเด็นนี้ไว้ว่า
“เรื่องประกันว่างงาน มันมีเงื่อนไขเรื่องกฏหมายคนเข้าเมือง แล้วก็กฏหมายการทํางานของคนต่างด้าวเอาไว้ถ้า เกิดออกจากงาน ออกจากนายจ้างเดิม ต้องหานายจ้างใหม่ให้ได้ภายใน 30 วัน อย่างนี้นะครับ มันก็เลยมีกรอบ 30 วันอยู่ แทนที่เขาจะได้ 6 เดือน ถูกเลิกจ้างได้ 6 เดือนเหมือนกับคนไทย กลายเป็นเขาให้สิทธิ์ได้แค่ 23 วัน ก็คือการที่จะไปใช้สิทธิ์ประกันว่างงานต้องยื่นหลังจากที่ออกจากงานแล้ว 7 วัน ก็จะนับไปสิ เพราะฉะนั้นมันกลายเป็นว่า จะต้องได้งานใหม่ภายใน 30 วัน เขาก็จะได้ประกันการว่างงานแค่ 30 วัน เพราะเขามีเงื่อนไขว่าเขาต้องหานายจ้าง ใหม่ให้ได้ภายใน 30 วัน ถ้าหานายจ้างใหม่ไม่ได้ภายใน 30 วัน เขาจะต้องถูกผลักดันออกนอกประเทศ นั่นหมายถึง เขาหมดสิทธิ์จากประกันสังคม”
ปัญหาทางกฎหมายที่คุณสุชาติได้กล่าวถึงแสดงถึงความยากลําบากในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน เช่น หากแรงงานข้ามชาติต้องการได้รับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน ซึ่งตามสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับเงินชดเชยกรณีว่างงานสูงสุดถึง 6 เดือน แต่ในกรณีของแรงงานข้ามชาติที่มีกฎหมายการทํางานของคนต่างด้าว ในมาตรา 13 ได้มีการระบุว่า หากแรงงานข้ามชาติออกจากงาน จะต้องหานายจ้างใหม่ภายใน 30 วัน เพื่อให้สามารถอยู่ทํางานในประเทศไทยต่อไปได้ ขณะที่กฎหมายประกันสังคมในเรื่องการรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน จะได้รับเงินชดเชยการว่างงานในวันที่ 8 นับจากวันที่แรงงานว่างงานวันแรก ซึ่งทําให้แรงงานข้ามชาติได้รับเงินชดเชยได้สูงสุดเพียง 23 วัน เนื่องจากมีตัวกฎหมายอื่นเข้ามาบีบระยะเวลาในการหางานของแรงงานข้ามชาติ พวกเขาจึงไม่ได้รับเงินทดแทนที่เท่าเทียมกับแรงงานไทย ซึ่งสอดคล้องกับคํากล่าวของคุณอดิศร เกิดมงคล จาก เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) เกี่ยวกับข้อจํากัดในการได้รับสิทธิ
“แรงงานต้องหานายจ้างภายใน 30 วัน ฉะนั้นเท่ากับว่าถ้าว่างงานปุ๊บ มันมีเวลาแค่ 30 วันในการหา นายจ้างใหม่ โทรหานายจ้างใหม่ได้ปั๊บ คุณก็ไม่ว่างงานละ เพราะฉะนั้นถ้าเกิดหาไม่ได้ภายใน 30 วัน ก็จะถูกส่งกลับ พอถูกส่งกลับประกันสังคมก็บอกว่าไม่ได้เพราะว่าคุณไม่มีวีซ่าอยู่ในประเทศไทย เพราะฉะนั้นเนี่ยก็จะเบิกตัวนี้ ไม่ได้”
โดยในกรอบระยะเวลาที่แรงงานข้ามชาติถูกบีบให้หานายจ้างใหม่ภายใน 30 วัน คุณสุธาสินี แก้วเหล็กไหล จากเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) ได้อธิบายความเป็นจริงในการค้นหานายจ้างใหม่ของแรงงาน ข้ามชาติว่า “ต้องหางานให้ได้ภายใน 15 วันซึ่งอีก 15 วันต้องไปขึ้นทะเบียนการเป็นลูกจ้างกับนายจ้างใหม่”
จะเห็นว่าการถูกบีบคั้นให้แรงงานข้ามชาติต้องหางานให้ได้ภายในระยะเวลาที่กําหนด รวมถึงขั้นตอนในการหานายจ้างใหม่ที่ซับซ้อน และเงื่อนไขสิทธิกรณีการว่างงานที่ไม่มีความเป็นธรรมแก่แรงงานข้ามชาติ ส่งผลให้แรงงานข้ามชาติมองว่าการได้รับสิทธิประโยชน์มันยาก และไม่สามารถเข้าถึงได้ โดยคุณสมหมาย (นามสมมติ) แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทํางานในประเทศไทย ได้กล่าวถึงความยากลําบากในการหานายจ้างใหม่ว่า“ถ้าระหว่างภายใน 30 วัน ในปัจจุบันงานมันก็ไม่ได้หาง่าย ๆ ไม่ใช่ว่าเราอยากทําอะไรแล้วเราก็ไปทํา มัน ไม่ง่ายแบบนั้น ถ้าให้พูดถึงระหว่างสองกฎหมายนี้มาลําบากด้วยทั้งสองฝ่ายเลย ถ้าภายใน 30 วันแล้วเราต้องหา นายจ้างใหม่ให้ได้มันยากมันค่อนข้างที่จะลําบากด้วย มันซับซ้อนและมีหลายขั้นตอนแล้วก็ยาก”
นอกจากนี้การบังคับใช้กฎหมายประกันสังคมในมาตรา 77 ทวิ ที่แรงงานข้ามชาติที่ต้องการสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนและไม่ต้องการอยู่ในประเทศไทยต่อ สามารถได้รับเงินบําเหน็จชราภาพได้ แม้ว่าจะจ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือนหรือไม่ก็ตาม โดยมีเงื่อนไขที่เป็นปัญหาคือ ต้องเป็นแรงงานข้ามชาติที่มีสัญชาติของประเทศที่ได้ทําความตกลงด้านการประกันสังคมกรณีชราภาพกับประเทศไทย โดยไม่ว่าอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์หรือไม่ก็มีสิทธิได้รับเงินบําเหน็จชราภาพ โดยคุณสุชาติและคุณอดิศรได้เพิ่มเติมในเรื่องการทําข้อตกลงระหว่างประเทศไว้ว่า
“กฎกระทรวงดันมาเขียนบอกเอาไว้ว่าจะรับกลับไปได้ต่อเมื่อมันมี MOU ระหว่างรัฐไทยกับรัฐพม่าที่มันมี ระบบประกันสังคมที่มันเท่ากัน จึงจะสามารถที่จะใช้สิทธิ์ตรงนี้ได้ ก็คือกฎกระทรวงดันไปชะลอสิทธิ์เอาไว้นะ กฎหมายใหญ่กําหนดสิทธิ์ไว้แล้วว่าเอาไปได้เลย แต่กฎกระทรวงดันชะลอสิทธิ์ว่า ต้องมี MOU ก่อนนะระหว่าง ประเทศไทยกับประเทศเมียนมา ในระบบประกันสังคมต้องมีก่อน”
“คือไปออกกฎกระทรวงกําหนดเงื่อนไขพิเศษขึ้นมา 2 ส่วน ข้อแรกที่เป็นปัญหาเลยคือ จะต้องเป็นประเทศที่ทําข้อตกลงเรื่องนี้กับไทย ก็คือถ้าจะรับเงินบําเหน็จประเทศของคนงานเนี่ยต้องทําข้อตกลงร่วมกับประเทศไทยในเรื่องของประกันสังคมว่าคนงานไทยที่ไปทํางานในประเทศนั้นจะต้องได้รับสิทธิชราภาพในลักษณะที่ใกล้เคียงกัน หรือแบบเดียวกัน ก็คือสามารถรับกลับมาได้เลย ซึ่งเราพบว่าไม่มีประเทศไหนในโลกนี้ทําข้อตกลงนี้กับไทย ก็เลยทําให้มันตัดตรงนี้ทิ้งไปโดยปริยาย แล้วก็ข้อที่สองก็คือ ไม่ประสงค์จะอยู่ในประเทศไทยแล้วเขาก็จะออกแบบเรื่อง ของการที่จะให้ยื่น แล้วก็คิดเป็นอัตราไปว่าได้เท่าไหร่ เพราะฉะนั้นปัญหาตรงนี้มันก็ติดอยู่ที่ข้อแรกข้อเดียวว่าต้อง มีข้อตกลงร่วมกันก่อน”
ตัวกฎหมายหลักของประกันสังคมมีสิทธิให้แรงงานข้ามชาติสามารถรับเงินบําเหน็จชราภาพได้จริง แต่ เพียงมีกฎกระทรวงที่เป็นกฎหมายรองสร้างเงื่อนไขในเรื่องการทําข้อตกลงระหว่างประเทศไว้ เห็นได้ชัดเจนว่า ในตัวกฎหมายหลักและกฎหมายกระทรวงที่เป็นกฎหมายรองมีความขัดแย้งกันอย่างมาก อีกทั้งประเทศไทยยังไม่เคยทําข้อตกลงร่วมกับประเทศอื่นแต่อย่างใด ส่งผลให้ตัวบทกฎหมายนี้ถือเป็นเพียงกฎหมายที่ออกมาโดยสูญเปล่า ซึ่งแรงงานข้ามชาติไม่สามารถเข้าถึงเงินบําเหน็จชราภาพก่อนอายุ 55 ปีบริบูรณ์ได้เลย
ในส่วนประเด็นการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านสิทธิประกันสังคม แม้ว่าในปัจจุบันแรงงานข้ามชาติมีการรับรู้เรื่องสิทธิประกันสังคมที่แพร่หลายมากกว่าเมื่อก่อน แต่ก็ยังคงมีแรงงานข้ามชาติในระบบหลายคนที่ยังเข้าไม่ถึงข้อมูลความรู้ในเรื่องการเข้ารับสิทธิประกันสังคม หรือแม้แต่แหล่งในการเข้าถึงข้อมูลประกันสังคม เช่น ข้อมูลจากเว็บไซต์ประกันสังคมเอง ภาษาที่ใช้ยังมีเพียงภาษาไทยและภาษาอังกฤษ และตัวเว็บไซต์ของภาษาอังกฤษมีข้อมูลให้เข้าถึงได้น้อยกว่าเว็บไซต์ภาษาไทย หรือแรงงานข้ามชาติบางคนรู้ว่ามีสื่อออนไลน์ที่เผยแพร่ข้อมูลประกันสังคมแต่ก็ยังไม่สามารถเข้าถึงได้ เนื่องจากภาษาสื่อสารที่ยังไม่มีความหลากหลายมากเพียงพอ นอกจากจะทําให้ไม่เข้าถึงข้อมูลแล้ว ในการดําเนินการเพื่อรับสิทธิ รวมถึงแบบกรอกเอกสารการขึ้นทะเบียนเพื่อขอรับสิทธิประกันสังคมก็ยังคงใช้ภาษาไทยเป็นหลัก ทั้งที่จริงควรจะมีแบบกรอกเอกสารที่มีภาษาหลากหลายเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับกลุ่มแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะสถานการณ์แรงงานข้ามชาติที่มีแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ เข้ามาทํางานในประเทศเป็นจํานวนไม่น้อย ซึ่งจะเห็นได้จากข้อมูลสถิติแรงงานชนกลุ่มน้อยที่เข้ามาทํางานอย่างถูกกฎหมาย ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560
จากข้อมูลสถิติดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายของแรงงานข้ามชาติที่เป็นชนกลุ่มน้อย ที่ว่าในแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ ก็ยังมีสัญชาติอื่นที่หลากหลายลงไป ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้มีความเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ทั้งในเรื่องภาษา วัฒนธรรม และวิถีในการดําเนินชีวิต ดังนั้นหากภาครัฐมีสามารถดําเนินการสื่อสารในภาษาที่มีความหลากหลายให้เขาเข้าใจได้โดยตรงก็จะส่งผลให้ตอบโจทย์ในเรื่องของข้อมูลความรู้สิทธิประกันสังคม ซึ่งก็เป็นการดึงดูดให้แรงงานข้ามชาติที่ละเลยเรื่องการเข้าระบบประกันสังคมจากความไม่รู้ ให้มีความตระหนัก มีความเข้าใจ และร่วมสมทบจ่ายเงินเพื่อเป็นหลักประกันในการทํางานของแรงงานข้ามชาติ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ประเด็นปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเรื้อรังมานาน ซึ่งทางผู้เขียนไม่สามารถมองเห็นการแก้ไขจากทางภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม โดยการเกิดสถานการณ์วิกฤติดังเช่นการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยิ่งส่งผลให้สังคม มองเห็นปัญหาที่ซ่อนอยู่ของแรงงานข้ามชาติได้อย่างชัดเจน อย่างในกรณีมาตรการ “ม.33 เรารักกัน” ที่แรงงานข้ามชาติไม่สามารถรับสิทธิเงินเยียวยาได้ เนื่องจากข้อจํากัดทางด้านสัญชาติที่มาตรการได้ระบุไว้ สะท้อนให้เห็นว่าแรงงานข้ามชาติที่แม้เข้ามาทํางานอย่างถูกกฎหมาย และจ่ายเงินสมทบประกันสังคมเช่นเดียวกับแรงงานไทยก็ยังคงถูกภาครัฐมองข้ามและไม่ได้มีมาตรการการช่วยเหลือเยียวยาที่ชัดเจนมากนัก
ผู้เขียนมองว่าระบบประกันสังคมของแรงงานข้ามชาติยังมีข้อจํากัดและมีปัญหาทับซ้อนอยู่ภายในระบบ ซึ่งล้วนแต่ส่งผลให้แรงงานข้ามชาติเข้าไม่ถึงสิทธิ แม้จะเป็นแรงงานไทยการขอรับสิทธิประกันสังคมบางกรณียังมีความยุ่งยาก ลําบาก ซับซ้อน ซึ่งจะทวีความยากลําบากมากกว่าเดิมหลายสิบเท่าหากผู้ประกันตนเป็นแรงงานข้ามชาติ ดังนั้นภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีแนวทางหรือมาตรการในการจัดการปัญหาที่ซ่อนอยู่อย่างจริงจัง เพื่อให้แรงงานทุกคนได้รับความคุ้มครองตามที่แรงงานทุกคนพึงได้ สุดท้ายนี้ผู้เขียนมีความปรารถนาที่อยากให้ระบบประกันสังคมในประเทศไทยมีความครอบคลุมถึงแรงงานทุกภาคส่วน โดยมีการทํางานภายใต้หลักความเสมอภาคและเท่าเทียมกับแรงงานทุกคน โดยไม่แบ่งสัญชาติ ไม่ถูกจํากัดสิทธิ นําไปสู่การมีหลักประกันทางสังคมที่ดีให้กับแรงงานตลอดจนครอบคลุมถึงครอบครัวของแรงงานด้วย
สำหรับข้อเสนอแนะทางผู้เขียนได้มีการรวมรวมข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบประกันสังคม ทั้งในเรื่องของการปรับปรุงตัวบทกฎหมายบางประการที่ไปขัดแย้งกับเงื่อนไขการได้รับประโยชน์ของประกันสังคม ดังที่คุณอดิศรได้เสนอ
“ต้องมีการทบทวนตัวระเบียบกฎหมายที่มันไปจำกัดสิทธิแรงงานข้ามชาติซึ่ง อย่างเช่นตัวของเงินชราภาพที่เราพูดถึงกัน ตัวนี้เราก็ต้องยกเลิก คือไปแก้ไขตัวกฎกระทรวงฉบับนี้”
คุณสมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ก็ได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนาระบบประกันสังคมในด้านของการพัฒนาระบบประกันสังคมให้มีความครอบคลุมต่อแรงงานข้ามชาติ สามารถเข้าถึงและใช้สิทธิประโยชน์ได้อย่างเต็มที่เทียบเท่าแรงงานไทย
“ถ้าในอนาคตเนี่ยเขาต้องถามความจำเป็นว่าในอนาคตเนี่ยเขายังต้องใช้แรงงานข้ามชาติอยู่ใช่ไหม ดังนั้นมันก็ต้องมีระบบการคุ้มครองที่ดี และในอนาคตถ้าสามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้ทั่วหน้าเหมือนคนไทยทุกคนก็ดี”
นอกจากนี้ในเรื่องของภาษาที่เป็นอุปสรรคในการสื่อสารของแรงงานข้ามชาติ คุณอดิศรก็ได้มีข้อเสนอที่น่าสนใจเกี่ยวกับการปรับปรุงระบบภาษาและการสื่อสารให้แรงงานข้ามชาติสามารถเข้าถึงข้อมูลได้
“เรื่องของภาษา คือประกันสังคมควรเห็นความตระหนักว่าจะต้องจัดให้มีภาษาของแรงงานในการเข้าถึงเรื่องของระบบบริการหรือเข้าถึงเรื่องของการเป็นผู้ประกันตนให้ชัดเจนมากขึ้น เช่น อาจจะมีเว็บไซต์ที่มีภาษาแรงงาน มีล่าม หรืออาสาสมัคร ของประกันสังคมที่มีภาษาของแรงงาน จริง ๆ เราเสนอให้ง่ายที่สุดของประกันสังคมก็คือการอบรมประกันสังคมในกลุ่มแรงงานข้ามชาติขึ้นมา ก็จะเป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างสำนักงานประกันสังคมกับแรงงานข้ามชาติได้ง่ายขึ้น”
เรื่องของข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงระบบประกันสังคม ผู้เขียนมองว่าทางหน่วยงานเองควรมีการตระหนักในเรื่องของเจตนารมณ์ในการคุ้มครองแรงงานทุกคนที่เป็นผู้ประกันตนอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะสัญชาติใด รวมถึงควรมีการปรับมุมมอง ทัศนคติของเจ้าหน้าที่ในการมองถึงกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ซึ่งหากเจ้าหน้าที่มีความเข้าใจแรงงานข้ามชาติทั้งในแง่ที่เป็นแรงงานที่มีคุณค่าในการสร้างผลกำไรให้สถานประกอบการและมีส่วนพัฒนาในระบบเศรษฐกิจของประเทศ ก็จะส่งผลต่อการคุ้มครองดูแลแรงงานข้ามชาติที่ดี มีประสิทธิภาพ และไม่ถูกเลือกปฏิบัติเพราะเห็นถึงความสำคัญของแรงงานข้ามชาติโดยแท้จริง
จากการศึกษาและสัมภาษณ์บุคคลสำคัญในเรื่องของสิทธิของแรงงานข้ามชาติผ่านระบบประกันสังคม ก็ยังมีสิทธิหรือประเด็นที่ยังถูกมองข้ามและไม่ได้รับการแก้ไข ความขัดแย้งในทางของการปฏิบัติที่บางกรณีไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง และประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นสิทธิที่เป็นหลักประกันคุ้มครองแรงงานข้ามชาติที่เป็นพื้นฐานของสิทธิแรงงานที่ควรได้เมื่อมาทำงานในประเทศไทย หากประเด็นปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไขและมีการส่งเสริมเรื่องการใช้สิทธิประกันสังคมมากขึ้น ในอนาคตกอาจจะมีความเป็นไปได้ที่แรงงานทุกคนจะเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการสังคมด้านการทำงานที่เป็นพื้นฐานมนุษย์ในการดำรงชีวิตที่มีความเท่าเทียมและเป็นธรรมทุกคน ก็จะส่งผลให้เกิดการพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีในช่วงของการทำงานในประเทศไทย
——————-
หมายเหตุ: บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง การศึกษาสิทธิประโยชน์ประกันสังคมต่อการคุ้มครองแรงงาน ข้ามชาติที่ทํางานในประเทศไทย โดยได้รับการสนับสนุนจากพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ทางผู้เขียนขอขอบคุณผู้ให้ข้อมูลหลัก ได้แก่ คุณสุชาติ ตระกูลหูทิพย์, คุณอดิศร เกิดมงคล, คุณสุธาสินี แก้วเหล็กไหล ,คุณสมพงค์ สระแก้ว และคุณสมหมาย (นามสมมติ) ที่ได้สละเวลาให้สัมภาษณ์เพื่อให้ผู้เขียนได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาในครั้งนี้
[1] วาสนา ลําดี, อย่าทิ้งกันเพราะฉันคือ แรงงานผู้สร้างเศรษฐกิจ, แรงงานปริทัศน์ออนไลน์ 35(403) (เมษายน 2564): 9-13.