แพทย์สปส.ไม่วินิจฉัยคนงานป่วยจากงาน หวั่นขาดสิทธิเงินทดแทน

นายษรเข้าร้องทุกข์สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานฯ หวังรับสิทธิเงินทดแทน หลังกองทุนเงินทดแทน คลินิกโรคจากการทำงานชี้โรคปวดหลังของนายษรเกิดจากยกของหนักจากการทำงาน

การรับเรื่องราวร้องทุกข์ของสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย มีกรณีปัญหาคนงาน  ที่ทำงานในโกดังสินค้าชื่อดังที่เปิดสาขาทั่วประเทศ  ว่า คนงานที่ต้องมีหน้าที่แบกขนของตามใบสั่งของหัวหน้างานวันหนึ่งๆเป็นร้อยๆชิ้น ของที่ต้องขนยกนั้น มีทั้งหนักบ้าง เบาบ้าง  เช่น บางครั้งก็ต้องแบกกล่องกระดาษ แบกยกโทรทัศน์เครื่องใหญ่ ตู้เย็น ที่มีน้ำหนักมาก  จนคนงานเกิดอาการปวดหลังจำนวนมากในแผนกนั้น 

นายษร (นามสมมุติ) ได้เข้ามาปรึกษากับสภาเครือข่ายฯ เพื่อรับคำแนะนำให้เข้ารับการวินิจฉัยกับคลินิกโรคจากการทำงาน(คลินิกแพทย์อาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม)  ซึ่งแพทย์ได้วินิจฉัยอาการตามคำบอกเล่า การสอบประวัติการรักษาอย่างละเอียด แพทย์ได้ระบุชัดเจนในใบรับรองแพทย์ว่า นายษรปวดหลังและกล้ามเนื้อโครงสร้างกระดูก เกิดจากการยกของหนักจากการทำงาน  นายษรได้ส่งเรื่องเพื่อเข้าใช้สิทธิทางกองทุนเงินทดแทน  ซึ่งกองทุนเงินทดแทนใช้ระยะเวลาวินิจฉัยถึง 6 เดือน ผลการวินิจฉัยพบว่า  นายษรเป็นโรคสืบเนื่องจากการทำงาน 

ด้วยความไม่รู้สิทธินายษร ได้ไปรับการรักษาโรงพยาบาลตามสิทธิประกันสังคม โดยเอาผลการวินิจฉัยของกองทุนเงินทดแทน และใบรับรองแพทย์จากคลินิกโรคจากการทำงาน ไปให้ โรงพยาบาลประกันตน ปัญหาแพทย์ไม่ยอมระบุในใบรับรองแพทย์ ตามคำวินิจฉัยของกองทุนเงินทดแทนและคลินิกโรคจากการทำงาน ที่วินิจฉัยว่านายษรป่วยจากการทำงานยกของหนัก   โดยเจ้าหน้าที่กล่าวกับคนงานว่า “ให้คนงานเข้าใช้สิทธิประกันสังคม”  พร้อมจัดการส่งเรื่องของนายษรส่งกลับไปใช้สิทธิเข้าประกันสังคม ซึ่งไม่ใช่ความต้องการของคนงาน ทำให้อักษรรู้สึกงงว่า ตนเองมีสิทธิอยู่กับกองทุนแล้วทำไมถูกผลักไปใช้สิทธิประกันสังคม เป็นผู้ป่วยนอกงาน  ซึ่งนายษรได้สอบถามว่า “ผมจะเสียสิทธิไหมนี่?”  ที่เคยป่วยจากการทำงานแล้ว นายษร พยายามขอใบรับรองแพทย์กลับมาเก็บไว้เป็นหลักฐานที่ได้ป่วยรักษาตัวเป็นคนไข้ในแต่ถูกปฏิเสธ  ทั้งๆที่ยืนยันว่า ต้องการขอใบรับรองแพทย์  ต้องทนตื้ออยู่นานจึงได้ใบรับรองแพทย์กลับมา  แล้วแพทย์ไม่ยอมออกใบรับรองแพทย์ให้ลาหยุดต่อเนื่องอีก  เพียงแต่เขียนว่า วันนี้คนไข้ได้มาพบแพทย์  ทั้งที่นายษรยังเจ็บปวดมากไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ  ทั้งที่เป็นสิทธิที่คนงานพึงจะได้รับตามกฎหมาย  เพราะกฎหมายกองทุนเงินทดแทน  เปิดให้คนงานมีสิทธิหยุดพักรักษาตัวโดยได้สิทธิทดแทนการลาหยุดงานถึง 1 ปีโดยได้รับค่าจ้าง 60% ของรายได้  และเป็นหน้าที่ของแพทย์ที่จะต้องออกใบรับรองแพทย์ให้มากับคนงาน 

นายษร รู้สึกว่า ทำไมการเจ็บป่วยจากการทำงานมันจึงได้เข้าถึงสิทธิยากเย็นเช่นนี้  อย่างนี้นี่เองเพื่อนๆถึงยอมเจ็บตัวฟรี รู้สึกเครียดมาก และรู้สึกว่า ตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรมในการปฏิบัติ  ทั้งของแพทย์ และของที่ทำงานที่ตนอยู่  แต่นายษรห่วงอนาคตตนเองว่า “ถ้าผมไม่ได้พักรักษาตัวตอนนี้  ผมคงต้องเป็นคนพิการต่อไปแน่ๆ เลยผลยังห่วงเพื่อนๆในที่ทำงานที่เขาเจ็บป่วยปวดหลังกันมาก แต่ยังต้องกัดฟันทนทำงานต่อไป  และถ้าใครทนไม่ได้ก็ต้องลาออกไปเอง โดยไม่ได้รับสิทธิอะไรเลย” 

ที่สำคัญคือ ถ้ายังเป็นอย่างนี้คนงานจำนวนมาก คงต้องเวียนวนป่วยปวดหลังแบบนี้แล้วก็พิการออกไป  บางครั้งเราเห็นพี่น้องคนงานที่ขนของลงจากรถที่บรรทุกของมาส่งตามร้านสะดวกซื้อต่างๆ พอรถเทียบปุ๊บ คนงานที่ขนของ ซึ่งมีเพียง 1 หรือ 2 คน จะหันหลังให้คนบนรถ และเรียงสิ่งของใส่หลังจนท่วมหัว แล้วแบกของ บางครั้งเป็นน้ำดื่ม หรือรังกล่องต่างๆ เอาเข้าไปเก็บ ขนอยู่อย่างนั้น จนพอแล้วก็ออกรถไปส่งที่อื่นอีก เลยอยากฝากผ่านมายังพี่น้องคนงานทั้งหลายที่ต้องทำงานในลักษณะนี้ว่า มันสะดวกต่อการขนของก็จริงแต่ถ้าต้องขนแบบนี้ต่อไปโดยไม่มีรถเข็นหรือเครื่องทุ่นแรงต่อ แบบนี้ไปนานๆสักปี  2 ปี กระดูกสันหลัง แขน ๆบ่าไหล่ จะแย่อาจเป็นอย่างนายษรได้ อยากให้สถานประกอบการนายจ้างมองปัญหาตรงนี้ด้วยควรป้องกันไว้ก่อนจะดีกว่า เพราะการ้องเรียนผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์สภาเครือข่ายฯช่วงนี้กรณีคนงานปวดหลังกันมากเหลือเกินในทุกๆอุตสาหกรรม

                                                 สมบุญ สีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายฯ 29 พฤษภาคม 2554

 มีปัญหา ไม่เข้าใจ เข้าไม่ถึงสิทธิการวินิจฉัยโรค กับ คลินิคโรคจากการทำงาน  หรือสิทธิตามกฎหมายกองทุนเงินทดแทน หรือสถานประกอบการไม่ปลอดภัยจากเครื่องจักร สารเคมี สภาพแวดล้อม ร้องเรียนได้ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์  ต่อตรงที่โทรศัพท์มือถือ   081-813-28-98 เวฟไซด์ wept.org

สุขภาพดี  คือ  ชีวิตที่มั่นคงความปลอดภัย  คือ  หัว  ใจของการทำงาน