คณะกรรมการวันแรงงานแห่งชาติ ร่วมภาครัฐ แถลงการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติปี2562 ยื่น 10 ข้อเรียกร้อง ด้านรมว.กระทรวงแรงงานเผยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีเปิด ย้ำรัฐบาลให้ความสำคัญกับผู้ใช้แรงงาน มุ่งยกระดับ และมาตรฐาน
เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2562 กระทรวงแรงาน ได้จัดแถลงข่าวการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติปี 2562 ที่กระทรวงแรงงาน พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้แถลงข่าวการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2562 ว่า คณะกรรมการจัดงานประกอบด้วย 15 สภาองค์การลูกจ้างและ 1 สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย และ 1 กลุ่มแรงงานนอกระบบ ได้ร่วมกำหนดจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม 2562 ณ อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง โดยนายกรัฐมนตรีให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดงาน ด้วยรัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ได้มอบให้กระทรวงแรงงานดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานและครอบครัว ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมากระทรวงแรงงานได้ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการปฏิบัติต่อผู้ใช้แรงงานอย่างผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน จนได้รับการปรับอันดับสถานการณ์การค้ามนุษย์จาก Tier 2 Watch List เป็น Tier 2 ได้รับการปลดใบเหลืองจาก EU และได้รับการจัดอันดับด้านการจัดการการใช้แรงงานเด็ก ในรูปแบบที่เลวร้ายในระดับที่มีความสำเร็จมากซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นปีที่ 2 ต่อเนื่องกัน รวมทั้งได้ยกระดับการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อให้เป็น Smart Worker 43,000 คน พัฒนาระบบการจัดหางาน โดยจัดตั้ง Smart Job Center และนำ Job Box มาอำนวยความสะดวกแก่ผู้หางาน ซึ่งมีผู้ใช้บริการมากกว่า 6 แสนคน และคืนสิทธิแก่ผู้ประกันตามมาตรา 39 จำนวน 167,223 คน
นอกจากนี้ได้มีการปรับปรุงและยกระดับกฎหมายให้เทียบเคียงมาตรฐานสากลโดยได้ให้สัตยาบันพิธีสารว่าด้วยแรงงานบังคับ (P29) อนุสัญญาว่าด้วยการทำงานภาคประมง (C188) ออกพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 และพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 พ.ศ. 2562 ว่าด้วยแรงงานบังคับซึ่งยกระดับสิทธิของผู้ใช้แรงงานกว่า 9.5 ล้านคน นอกจากนี้ยังได้เผยแพร่ แนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี หรือ GLP และมาตรฐานแรงงานไทยหรือ TLS ซึ่งเทียบเคียงได้กับมาตรฐานสากล และมีสถานประกอบกิจการมากกว่า 7,500 แห่งนำไปปฏิบัติครอบคลุมผู้ใช้แรงงาน 657,729 คน และสินค้าของไทยได้รับการยอมรับในเวทีการค้าโลก และเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2562 ผู้แทนกระทรวงแรงงาน ผู้แทนผู้ใช้แรงงาน ผู้แทนนายจ้าง และผู้แทนองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ได้ร่วมลงนามในแผนงานที่มีคุณค่าของไทยระหว่างปี 2562-2565 เป็นฉบับแรกระหว่างงานเฉลิมฉลองครบ 100 ปีขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ เพื่อเป็นทิศทางในการสร้างงานที่มีคุณค่า ในประเทศไทย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานยังกล่าวอีกว่า สำหรับข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติในปีที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินการ ตามข้อเรียกร้องและข้อเสนอแนะจากพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ทั้งในเรื่องการแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 การปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 74 ซึ่งได้ดำเนินการแล้ว สำหรับการปรับฐานเงินบำนาญในกรณีผู้ประกันพ้นสภาพตามมาตรา 33 ให้ใช้ฐานค่าจ้างเดิมมาเป็นฐานคำนวณเงินบำนาญชราภาพ การออกกฎหมายคุ้มครองส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพแรงงานนอกระบบ การรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) ฉบับที่ 87 และเป็นข้อเรียกร้องที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งกระทรวงแรงงานได้มอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาความเป็นไปได้และทบทวนแก้ไขกฎหมาย
นายทวี เตชะธีราวัฒน์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างสมาพันธ์แรงงานแห่งประเทศไทย ในฐานะประธาน จัดงานวันแรงงานแห่งชาติ 2562 กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงานในปีนี้คณะกรรมการจัดงานจาก 15 สภาองค์การลูกจ้างและสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย และกลุ่มแรงงานนอกระบบ กำหนดจัดงานในวันพุธที่ 1 พฤษภาคม 2562 โดยในช่วงเช้า เวลา 07.00 น. มีพิธีทางศาสนา เจริญพระพุทธมนต์ ณ สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดี และในเวลา 8.30 น. จะเคลื่อนริ้วขบวนเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร ริ้วขบวนของกระทรวงแรงงาน และริ้วขบวนของผู้ใช้แรงงาน จำนวน 17 องค์กร จากบริเวณหน้าสนามกีฬากองทัพบก ไปยังอาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง และในเวลา 11.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ 2562 กล่าวปราศรัยและพบปะผู้ใช้แรงงาน ทั้งนี้ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากกระทรวงแรงงาน จัดให้มีกิจกรรมสนับสนุนการจัดงานของทุกหน่วยงานในสังกัด อาทิ การให้ความรู้ด้านกฎหมายแรงงาน บูธนิทรรศการ และการเล่นเกมตอบปัญหาชิงรางวัล
ทั้งนี้ คณะกรรมการวันแรงงานแห่งชาติ จะมีการยื่นข้อเรียกร้องจำนวน 10 ข้อ ต่อนายกรัฐมนตรี โดยมีคำขวัญ “แรงงานก้าวหน้า เศรษฐกิจก้าวไกล เทิดไท้องค์ราชัน ” ข้อเรียกร้องประกอบด้วย
- เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ให้รัฐรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 ในเรื่องการคุ้มครองการจัดตั้งสหภาพแรงงาน และฉบับที่ 98 เรื่องคุ้มครองการเจรจาต่อรอง
- ขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการนำร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่ผ่านประชาพิจารณ์มาแล้ว เข้าสู่กระบวนการพิจารณาในรัฐสภาฯโดยเร่งด่วน
- ขอให้รัฐบาลแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2561
3.1 กำหนดการเกษียณอายุของลูกจ้างอยู่ที่ 60 ปี ในกรณีลูกจ้างมีอายุ 55 ปี ประสงค์จะลาออกจากการเป็นลูกจ้าง ให้นายจ้างอนุญาตให้ลาออกได้ โดยได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับลูกจ้างที่เกษียณอายุทุกประการ
3.2 ให้กระทรวงแรงงานดำเนินการหามาตรการให้สถานที่มีลูกจ้างรับเหมาค่าแรงปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ตามมาตรา 11/1 อย่างเคร่งครัด
- ให้รัฐบาลปฏิรูป แก้ไข เพิ่มเติม เกี่ยวกับประกันสังคม ดังนี้
4.1 ปรับฐานการรับเงินบำนาญ โดยให้มีอัตราเริ่มต้นที่ 5,000 บาท
4.2 ในกรณีผู้ประกันตนเกษียณอายุและรับบำนาญแล้ว เมื่อสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ต่อให้มีสิทธิรับเงินบำนาญต่อไป และผู้ประกันตนที่รับบำนาญชราภาพให้คงสิทธิประโยชน์ไว้ 3 กรณี ได้แก่ การรักษาพยาบาล ทุพพลภาพ และค่าทำศพเหมือนเดิม
4.3 ในกรณีผู้ประกันตนพ้นสภาพจากมาตรา 33 และประกันตนต่อมาตรา 39 การคำนวณเดิมค่าจ้าง 60 เดือนเป็น ค่าทดแทนต่างๆ ขอให้ใช้หลักฐานค่าจ้างจากมาตรา 33
4.4 เพิ่มสิทธิประโยชน์ การรักษาพยาบาล ผู้ประกันตน มาตรา 40 เหมือนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และมาตรา 39
4.5 ขยายอายุผู้ประกันตน จาก 15-60 ปี (เดิม) ขยายเป็น 15-70 ปี เพื่อให้เข้ากับสังคมผู้สูงอายุ
4.6 ในกรณีผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เพื่อสร้างแรงจูงใจและลดความเหลื่อมล้ำ ให้รวมทางเลือกที่ 1 และทางเลือกที่ 2 เป็นทางเลือกเดียวกัน
- ให้รัฐบาลรวมกองทุนเงินทดแทนกับกองความปลอดภัยแรงงาน และยกระดับเป็นกรมความปลอดภัยแรงงาน
- ให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ พ.ร.บ. กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ เข้าสู่การพิจารณาต่อรัฐสภาให้บังคับใช้โดยเร่งด่วน
- ให้รัฐบาลออกกฎหมายคุ้มครอง ส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพแรงงานนอกระบบ และมีสิทธิจัดตั้งองค์กรได้
- ให้รัฐบาลจัดระบบสวัสดิการ หรือกองทุนสวัสดิภาพของรัฐวิสาหกิจให้กับพนักงานรัฐวิสาหกิจ ทั้งยังมีสถานภาพเป็นพนักงาน และที่พันสภาพความเป็นพนักงานให้ได้รับไม่น้อยกว่าลูกจ้างภาคเอกชนที่ได้รับตามระบบประกันสังคม มาตรา 33 และมาตรา 39
- ให้กระทรวงแรงงานปฏิบัติการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 ตามมาตรา 74 รัฐพึงจัดให้มีระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการดำเนินการ
- ให้รัฐมนตรีว่า การกระทรวงแรงงาน แต่งตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติปี 2562
นักสื่อสารแรงงาน รายงาน