เสวนา คสรท.-สรส.ชี้ชัด ประชาธิปไตยสร้างงานที่มีคุณค่า

เครือข่ายคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจฯ จัดกิจกรรมรณรงค์ให้เกิดงานที่มี คุณค่า เสนอรัฐบาลรับรองสิทธิเสรีภาพการรวมตัวเจรจาต่อรอง ยกเลิกนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และเสนอค่าจ้างขั้นต่ำ712 บาทเพื่อเลี้ยงครอบครัวได้ตามหลักการไอแอลโอ ขณะวงเสวนาชี้งานที่มีคุณค่าจะเกิดขึ้นได้ แรงงานทุกกลุ่มซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคมต้องมีสำนึกร่วม และสร้างอำนาจต่อรองทางการเมืองกำหนดนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อแรงงาน

วันที่ 7ตุลาคม 2560 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงานไทย(คสรท.) ร่วมกับ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) และ สมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(CILT) จัดกิจกรรม “วันงานที่มีคุณค่าสากล 2560” (Decent Work Day 2017) ที่อาคารโรงอาหารชั้น 2 สถาบันวิชาการ TOT ถนนงามวงศ์วาน จังหวัดนนทบุรี

กิจกรรมเริ่มจากการร่วมร้องเพลงโซลิดาริตี้สร้างบรรยาการศที่คึกคัก ตามด้วยการแสดงของ กลุ่มสตรี TEAM กว่า 20 คน ที่โบกธงเข้ากับจังหวะเพลง มาร์ชกรรมกร จบด้วยการตะโกนคำขวัญ “สามัคคีกรรมกร ต้านทุนนิยมครอบโลก สร้างสังคมใหม่ ประชาธิปไตยประชาชน”

จากนั้นเป็นการเปิดงาน โดยนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธาน คสรท.และเลขาธิการ สรส. และนายยงยุทธ เม่นตะเภา ประธาน CILT กล่าวถึงความสำคัญของงานที่มีคุณค่าว่า หมายถึงงานที่คำนึงถึงสิทธิต่างๆและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การรณรงค์เรื่อง “วันงานที่มีคุณค่า” เป็นกิจกรรมที่ขบวนการแรงงานทั่วโลกจัดขึ้นในวันที่ 7 ตุลาคมของทุกปีเพื่อให้เกิดการจ้างงานที่ดีและมั่นคง สามารถตอบสนองความต้องการและพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานได้อย่างยั่งยืน

ในช่วงกิจกรรมสะท้อนปัญหาของเครือข่ายแรงงานต่างๆ

กลุ่มอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่มีปัญหาปิดกิจการเลิกจ้างลอยแพคนงาน ไม่จ่ายค่าแรงหรือจ่ายแค่ครึ่งเดียว ลดชั่วโมงทำงาน ให้คนงานลาออกโดยจ่ายค่าชดเชยต่ำกว่ากฎหมาย

กลุ่มแรงงานนอกระบบมีปัญหาเรื่องความเป็นธรรมในการจ้างงาน งานไม่ปลอดภัย ขาดโอกาสพัฒนาตนเอง ขาดสิทธิในการรวมตัวเจรจาต่อรอง ส่วนกลุ่มที่มีกฎหมายออกมาแล้วคือ กลุ่มเกษตรพันธสัญญา กลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้าน กลุ่มลูกจ้างทำงานบ้าน แต่ก็มีปัญหาเรื่องการบังคับใช้กฎหมายที่ทำให้เข้าไม่ถึงการคุ้มครอง

กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออกมีปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานซึ่งไม่เป็นไปตามหลักการของ “งานที่มีคุณค่า” หลายกรณี เช่น การขัดขวางการก่อตั้งและการดำเนินงาน รวมไปถึงการทำลายสหภาพแรงงาน การจ้างงานเหมาค่าแรง การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

กลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล้เคียงมีปัญหาเรื่องนายจ้างใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่แทนแรงงานคน มีการเลิกจ้างกรรมการและสมาชิกสหภาพแรงงาน มีการจ้างงานเหมาค่าแรง สัญญาจ้างรายปี และได้ค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ

เครือข่ายสิทธิแรงงานข้ามชาติบอกว่าแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยจำนวนมากลำบาก ได้ค่าแรงต่ำกว่ากฎหมาย ไม่มีสิทธิรวมตัวเจรจาต่อรอง ต้องรวมตัวกันเป็นเครือข่ายซึ่งขณะนี้มีสมาชิกราว 7 พันคน

เครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยด้วยโรคจากการทำงาน เสนอปัญหาคนงานในเขตอุตสาหกรรมสระบุรีที่ถูกให้ทำงานวันอาทิตย์โดยไม่ได้หยุดจนเกิดการอักเสบที่ต้นขา ตรวจพบว่าข้อต่อกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท และต้องออกงานโดยไม่ได้รับสิทธิเงินทดแทน

คนงานรัฐวิสาหกิจมีเรื่องเสี่ยงจากนโยบายรัฐที่กระทบต่อความมั่งคงในการทำงาน คือการผลักรัฐวิสาหกิจต่างๆให้เอกชนทำแทน องค์กรแรงงานรัฐวิสาหกิจถูกทำให้อ่อนแอจากการแปรรูป การให้เอกชนร่วมทุน การจ้างงาน outsourcing และปัจจุบันมีการออก พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ ซึ่งซ่อนเร้นการแปรรูป

กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี มีประเด็นเด่นเรื่องการเรียกร้องสิทธิความเป็นมารดาตามอนุสัญญา ILO 183 เรียกร้องการลาคลอดได้ 120 วัน ผู้ชายมีสิทธิลาเลี้ยงลูกได้ ให้มีศูนย์เด็กเล็กอย่างทั่วถึง ให้ผู้หญิงมีส่วนในการบริหารกำหนดนโยบายสัดส่วน 50:50

กลุ่มสตรี TEAM คำนึงเรื่องคุณภาพเด็กอยากให้กินนมแม่นานๆ จึงเรียกร้องสิทธฺลาคลอด 180 วัน

ต่อมามีการแถลงผลการสำรวจค่าจ้างจากคนงงาน 4 ภูมิภาค 29 จังหวัด สรุปว่า ค่าจ้างที่เพียงพอสำหรับการดูแลครอบครัวของคนงานรวม 3 คนตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) อยู่ที่วันละ 712.30 บาท และมีข้อเสนอให้ค่าจ้างครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่มเท่ากันทั่วประเทศ ให้มีโครงสร้างค่าจ้างที่มีระบบปรับค่าจ้างทุกปี และให้มีคณะกรรมการค่าจ้างกลางเพียงชุดเดียว

ในช่วงการเสวนาเรื่อง “งานที่มีคุณค่าสากลกับความเป็นประชาธิปไตยของคนงาน”

ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา กล่าวว่า เรื่องงานที่มีคุณค่า Decent Work ถูกนำเสนอขึ้นมาและถูกทำให้เป็นกระแสใหญ่เพราะผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง 2540 และ วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ 2550 เพื่อปกป้องคนงานจากผลกระทบในยุคโลกาภิวัตน์ โดยหัวใจสำคัญคือเรื่องสิทธิในการรวมตัวเจรจาต่อรองซึ่งรัฐบาลไทยปฏิเสธการรับรองอนุสัญญา ILO 87-98 มาโดยตลอด ทำให้มีสมาชิกสหภาพแรงงานในประเทศไทยเพียง 1.5% ของแรงงานทั้งประเทศ จึงทำให้ขาดอำนาจต่อรอง นำมาสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย และส่งผลถึงประชาธิปไตยในประเทศไทยด้วย เพราะประชาธิปไตยคือการยอมรับเสียงคนส่วนใหญ่ และคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยคือแรงงานที่มีจำนวนรวมกันราว 38 ล้านคน แต่ส่วนใหญ่ขาดสิทธิการรวมตัว จึงขาดอำนาจต่อรองทางการเมืองด้วย ซึ่งถ้าหากดูประเทศตะวันตกที่แม้พลังของสหภาพแรงงานจะถดถอย แต่ทางยุโรปในกลุ่มสแกนดิเนเวียจะพบว่า ยังมีจำนวนสมาชิกสหภาพแรงงานสูงถึง 70- 80% ทำให้มีประชาธิปไตยที่เข้มแข็งมาจากคนส่วนใหญ่ในสังคม และก็ทำให้เกิดสวัสดิการดีๆสำหรับคนในสังคมอย่างเท่าเทียมเช่นระบบรัฐสวัสดิการ เสนอว่าต้องฟื้นฟูขบวนการแรงงานให้เข้มแข็ง ฟื้นฟูอุดมการณ์เพื่อส่วนรวม มีรูปแบบการจัดตั้งที่ไปไกลกว่าระดับโรงงานเหมาะสมกับแรงงานกลุ่มอื่นๆ และเลือกตั้งด้วยจิตสำนึกของแรงงาน

 

สุนี ไชยรส กล่าวว่า เบื้องหลังของการต่อสู้ของฝ่ายประชาธิปไตยคือการเรียกร้องความเป็นธรรมของคนกลุ่มใหญ่ในสังคมซึ่งก็คือ กรรมกร ชาวนา เช่นก่อนหน้า 14 ตุลา กรรมกรถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบมาก พอเกิดประชาธิปไตยก็เกิดการประท้วงนัดหยุดงานกว่า 500 ครั้ง และเกิดการร่วมต่อสู้แบบ 3 ประสาน คือกรรมกร ชาวนา และนักศึกษา ซึ่งมีพลังต่อรองกับอำนาจรัฐมาก ส่วนหลักการของ Decent Work ที่เห็นว่าสำคัญและเชื่อมโยงกับการเมืองประชาธิปไตยคือเรื่องสิทธิและเสียง โจทย์ใหญ่คือ ในยุคโลกาภิวัตน์ที่มหาอำนาจทุนข้ามชาติปรับตัวและส่งผลกระทบไปทั่ว แรงงานไทยจะมีจุดยืนอุดมการณ์อย่างไรระหว่างการงานของตนกับการเอารัดเอาเปรียบของฝ่ายทุนที่กระทำต่อคนกลุ่มอาชีพต่างๆ ทั้งแรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ ซึ่งประเด็นนี้จะส่งผลกระทบต่อการสานพลังในสังคมให้มีอำนาจต่อรองทางการเมือง

สมศักดิ์ โกศัยสุข กล่าวถึง ILO ว่าเป็นเสือกระดาษ เพราะแม้มีการรับรองอนุสัญญาแต่ก็ไม่ปฏิบัติตาม ส่วน Decent Work ก็เป็นการรื้อฟื้นหลักการที่เคยมีมาก่อน เช่นคำประกาศแห่งฟิลาเดลเฟีย ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หรือแม้แต่ในรัฐธรรมนูญของไทย ก็พูดถึงเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เสรีภาพในการรวมตัว และความเท่าเทียม แต่โลกที่พัฒนามาด้วยระบบทุนไม่เห็นคุณค่าของแรงงาน และฝ่ายทุนก็มักเข้าไปมีอำนาจทางการเมือง แม้เป็นประชาธิปไตยแต่ก็ออกกฎหมายที่เอื้อต่อนายทุน ไม่คุ้มครองแรงงาน
จึงเสนอว่าคนงานต้องหมั่นศึกษาเรียนรู้และต้องนำไปปฏิบัติด้วย ต้องรู้จักคิดใช้ชีวิตอย่างเหมาะสมโดยน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ ส่วนเรื่องอำนาจทางการเมืองก็ให้ยึดประโยชน์เพื่อส่วนรวม

ช่วงท้ายเป็นการร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ในวันงานที่มีคุณค่า โดยมีเนื้อหาเชื่อว่างานที่มีคุณค่าจะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตในการทำงานและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาแรงงานที่ยั่งยืน แต่คนงานทุกกลุ่มในประเทศไทยทั้งในระบบ นอกระบบ รัฐวิสาหกิจ และราชการ ต่างยังต้องเผชิญกับการเอารัดเอาเปรียบ ถูกละเมิดสิทธิโดยขาดหลักประกันใดๆ จึงจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อให้เกิดการทำงานที่มีคุณค่า ผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาแรงงานด้านต่างๆ และเรียกร้องให้ รัฐบาลรับรองอนุสัญญา ILO 87-98 เรื่องสิทธิเสรีภาพการรวมตัวเจรจาต่อรอง ให้ยกเลิกนโยบายการออกกฎหมายที่นำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เช่น พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ และให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็นไปตามหลักการของ ILO ที่เลี้ยงครอบครัวได้ 3 คน และให้เท่ากันทั่วประเทศ ยกเลิกค่าจ้างแบบลอยตัว แต่ทั้งหมดของปัญหาที่นำมาสู่ความยากจน คุณภาพชีวิตที่ตกต่ำ ไร้ความมั่นคงในการทำงาน ขาดหลักประกันทางสังคม ก็ล้วนเกิดจากกฎหมายนโยบายที่มาจากการกำหนดของชนชั้นนำและนายทุน ส่วนทางแก้ปัญหาเห็นว่าทางเดียวที่เป็นไปได้คือ คนงานต้องสร้างอำนาจทางการเมืองขึ้นมาเอง

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน