ข้ามชาติร้องรัฐวันกรรมกรสากล ประกันสังคมต้องรื้อใหม่!

เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2555 ณ สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน กรุงเทพฯ เครือข่ายพัฒนารูปแบบและกลไกเพื่อการเข้าถึงหลักประกันทางสังคมสำหรับแรงงานข้ามชาติ ร่วมกับองค์กรด้านแรงงานกว่า 10 องค์กร ประกอบด้วย เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ (Action Network for Migrants-ANM) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (Thai Labour Solidarity Committee – TLSC), มูลนิธิเพื่อนหญิง , มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน, มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน ,มูลนิธิร่วมมิตรไทย – พม่า , ศูนย์ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนภาคอีสาน , โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย , กลุ่มเพื่อนประชาชน และศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน จัดเวทีแถลงข่าวเนื่องในวันกรรมกรสากลปี 2555

นายบัณฑิต แป้นวิเศษ กรรมการเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ กล่าวว่า วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันกรรมกรสากล เป็นวันที่กรรมกรทั้งหลายได้ลุกขึ้นมาเรียกร้องทวงถามสิทธิความเป็นมนุษย์ของตน เรียกร้องให้รัฐและนายจ้างปฏิบัติต่อแรงงานในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจและสังคม เป็นการต่อสู้เรียกร้องเพื่อให้ได้การทำงานที่มีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์มิใช่ถูกใช้แรงงานเยี่ยงเครื่องจักร โดยเรียกร้องให้แรงงานจะต้องได้รับชั่วโมงการทำงาน การพักผ่อน และการศึกษาหาความรู้อย่างละแปดชั่วโมงต่อวัน จนกระทั่งระบบนี้กลายเป็นมาตรฐานด้านสิทธิแรงงานที่ได้รับการยอมรับไปทั่วโลก

อย่างไรก็ตามแม้จะผ่านการต่อสู้เรียกร้องของกรรมกรทั่วโลกมาเนิ่นนาน แต่กระนั้นก็ตามการละเมิดสิทธิแรงงานก็ยังถูกละเมิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า แรงงานกลุ่มหนึ่งในสังคมไทยที่ยังเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิแรงงานก็คือ กลุ่มแรงงานข้ามชาติในสามสัญชาติ คือ พม่า ลาว และกัมพูชา เนื่องจากแรงงานข้ามชาติไม่สามารถที่จะเข้าถึงกลไกการคุ้มครองสิทธิที่มีอยู่ได้เนื่องมาจากปัจจัยสำคัญโดยเฉพาะในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายแรงงาน การเข้าถึงสวัสดิการ สิทธิ และการช่วยเหลือแรงงานยังมีปัญหา โดยเฉพาะการทำงานของกลไกด้านกฎหมายคุ้มครองแรงงาน รวมทั้งยังพบในเรื่องของการบังคับใช้และการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมกับแรงงานข้ามชาติ

นายสมพงษ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน กล่าวว่า นโยบายกระทรวงแรงงานโดยตรงก็ยังขาดความชัดเจนในด้านการจัดการนโยบายแรงงานข้ามชาติในระยะยาว มีแต่แผนระยะสั้นที่ฝ่ายการเมืองและความมั่นคงเป็นผู้กำหนดรายปี ทำให้ไม่มีความสอดคล้องกับความเป็นจริงในการดำเนินการในหลายเรื่อง เช่น การจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ หรือการพิสูจน์สัญชาติ ที่เป็นนโยบายรายปีหรือเป็นเพียงนโยบายของพรรคการเมืองและนักการเมืองที่มีส่วนได้เสียของการลงทุนและผลประโยชน์เชิงการควบคุม และสร้างเงื่อนไข ระเบียบการจัดการที่ทำให้เกิดช่องว่างการแสวงหาประโยชน์ของเจ้าหน้าที่รัฐบางคน บางหน่วยงาน  ซึ่งขัดกับหลักธรรมาภิบาลการบริหารจัดการด้านแรงงาน  ทำให้ประเทศไทยขาดความมั่นคงยั่งยืนในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติที่เป็นระบบและเชื่อมโยงกับลักษณะความเป็นประชากรย้ายถิ่นข้ามชาติ

นายอารีย์ ฮาซัน ตัวแทนแรงงานข้ามชาติจากชุมชนกทม. กล่าวว่า ทุกวันนี้ในชุมชนแรงงานข้ามชาติหลายชุมชน มีการแสวงหาประโยชน์ด้านแรงงานกับแรงงานข้ามชาติตั้งแต่ต้นทาง ทางผ่านและปลายทาง ส่งผลถึงปัญหาการค้ามนุษย์ การค้าแรงงานจำนวนมากขึ้น  และรัฐขาดการตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติมิชอบด้วยกฎหมาย อาศัยดุลพินิจเกินเลยจนแรงงานข้ามชาติถูกคุกคามในชีวิตและทรัพย์สิน โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร  ระนอง แม่สอด  เป็นต้น 

 นางสุรีย์ ไชยกุมาร ตัวแทนแรงงานนอกระบบที่อยู่ในชุมชนกทม. กล่าวว่า ต่อไปเมื่อมีการเปิดเสรีอาเซียนในปี 2558 อยากให้รัฐบาลไทยให้ความสำคัญต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะความไม่มั่นคงในการจ้างงานในอาชีพต่างๆ ช่องว่างทางรายได้ และสวัสดิการระหว่างผู้ใช้แรงงานที่มีระดับฝีมือแตกต่างกัน และระหว่างแรงงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมต่างประเภทกัน

เครือข่ายด้านแรงงานข้ามชาติยังได้ชี้ให้เห็นตัวอย่างของการเข้าไม่ถึงสิทธิการคุ้มครองของแรงงานข้ามชาติ 2 กรณีสำคัญ คือ

หนึ่ง-การบังคับใช้พระราชบัญญัติประกันสังคมในเรื่องการส่งเงินสมทบในอัตราเท่ากับแรงงานไทย และการได้รับสิทธิประโยชน์ 7 กรณีตาม มาตรา 33 ซึ่งในความเป็นจริงนโยบายการให้สิทธิอยู่ทำงานตามมติคณะรัฐมนตรี การเข้ามาทำงานตามบันทึกข้อตกลง (MOU) หรือเข้ามาโดยผ่านการพิสูจน์สัญชาติ แรงงานข้ามชาติสามารถทำงานได้เพียง 4 ปี เท่านั้น หลังจากนั้นต้องเดินทางกลับสู่ประเทศต้นทาง 3 ปี จึงจะสามารถเข้ามาทำงานในประเทศไทยใหม่ได้ หรือกรณีการเก็บเงินสมทบลูกจ้างข้ามชาติไปแล้วนายจ้างบางรายไม่นำเงินไปส่ง เมื่อแรงงานเจ็บป่วยและไปใช้สิทธิการรักษาของประกันสังคมกลับถูกปฏิเสธว่าใช้สิทธิไม่ได้ นี้ไม่นับว่าสิทธิด้านเจ็บป่วยยังซ้ำซ้อนกับสิทธิประกันสุขภาพ สิทธิด้านทุพพลภาพ  ชราภาพและเสียชีวิต  ที่จะต้องจ่ายระยะยาวและจะประสบปัญหากับลูกจ้างที่กลับประเทศหรือต้องค้นหาทายาทเมื่อลูกจ้างเสียชีวิต

สอง-จากประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 6)  ได้ระบุไว้ว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำฉบับนี้ไม่มีผลบังคับใช้กับราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ นายจ้างที่จ้างลูกจ้างทำงานเกี่ยวกับงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย นายจ้างซึ่งจ้างลูกจ้างทำงานที่มิได้แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ นายจ้างที่จ้างลูกจ้างในงานประมงทะเล นายจ้างที่จ้างลูกจ้างในงานบรรทุกหรือขนถ่ายสินค้าเรือเดินทะเล นายจ้างที่ตกลงจ้างผู้รับงานไปทำที่บ้าน นายจ้างที่จ้างลูกจ้างในงานเกษตรกรรมซึ่งมิได้จ้างลูกจ้างทำงานตลอดปีหรือมิได้ให้ลูกจ้างทำงานในลักษณะที่เป็นงานอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากงานเกษตรกรรม ซึ่งงานที่ระบุมานี้กลุ่มแรงงานข้ามชาติกว่า 80 % เป็นกำลังแรงงานส่วนสำคัญ แต่รัฐบาลกลับหลบเลี่ยงที่จะให้การคุ้มครองเท่าเทียมกับแรงงานที่อยู่ในกิจการจ้างงานกลุ่มอื่นๆ

ดังนั้นจากสถานการณ์ที่กล่าวมา เครือข่ายด้านแรงงานข้ามชาติจึงมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยเนื่องในวันกรรมกรสากล 1 พฤษภาคม 2555 ให้ตระหนักถึงบทบาทสำคัญของแรงงานข้ามชาติที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ และมีความก้าวหน้าในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ  เรียกร้องให้รัฐบาลต้องมีการพัฒนาให้เกิดกลไกการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมสำหรับแรงงานข้ามชาติ ตาม พรบ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ดังนี้

1. สิทธิในการรวมตัว ต่อรองของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยต้องได้รับการเคารพ ส่งเสริมและตระหนักถึงหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐาน ในเรื่องเสรีภาพในการรวมตัวและสมาคม โดยต้องดำเนินการแก้ไขพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ให้แรงงานข้ามชาติสามารถเป็นผู้ก่อตั้ง เป็นกรรมการสหภาพแรงงานได้ ทั้งนี้ขอให้มีการแก้ไขโดยตัดคำว่า สัญชาติไทยออก เพื่อให้มีความเป็นสากลมากขึ้น โดยไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุผลด้านเชื้อชาติ และเป็นการส่งเสริมสิทธิในการรวมตัวและต่อรองของแรงงานทุกคนในประเทศไทย  และรัฐบาลต้องลงนามรับรองอนุสัญญาฉบับที่ 87 และ98 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งรับรองสิทธิในการรวมกลุ่ม การจัดตั้งสหภาพแรงงาน และการเจรจาต่อรอง

2. รัฐบาลต้องลงนามรับรองอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติและสมาชิกในครอบครัว ค.ศ. 1990 (International Convention on the Protection of the Rights of All Migrant Workers and Member of their Families 1990) เพื่อเป็นบรรทัดฐานในการจัดการ และให้การปกป้องคุ้มครองแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย และแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศ

3.  กระทรวงแรงงานต้องจัดตั้งกลไกการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตาม ซึ่งกลไกดังกล่าวจะต้องเป็นกลไกที่แรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามสามารถเข้าถึงได้ง่าย มีความเป็นมิตร รวมทั้งมีการทำงานเชิงรุกในการให้ความรู้สิทธิและความรับผิดชอบต่อแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย  รวมทั้งการเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการออกแบบกลไกต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายฉบับต่างๆ เพื่อให้เกิดความเหมาะสม ไม่ลักลั่น หรือเป็นนโยบายที่ทำให้แรงงานข้ามชาติไม่สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ได้อย่างแท้จริง ดังเช่นที่ปรากฏชัดเจนในเรื่องการเข้าไม่ถึงกองทุนประกันสังคม และกองทุนเงินทดแทนในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ

4. กระทรวงแรงงานต้องเปลี่ยนแปลงมาตรการในการบังคับใช้เรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ครอบคลุมกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในกิจการที่ยังคงได้รับการยกเว้นอยู่ ตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้างเรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 6)  เพื่อทำให้แรงงานข้ามชาติต้องได้รับค่าตอบแทนเท่ากับแรงงานไทย เพื่อทำให้เกิดการแข่งขันในการจ้างงานที่ไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกันเหมือนในปัจจุบันนี้

5. กระทรวงแรงงานจะต้องออกกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานที่ทำงานรับใช้ในบ้าน ให้ได้รับสิทธิแรงงานในฐานะผู้ใช้แรงงานคนหนึ่งที่พึงได้รับตามสิทธิแรงงาน ทั้งในเรื่องค่าแรง วันหยุด เงินชดเชย สัญญาจ้างงาน และสิทธิอื่นๆ

6. การเปิดประชาคมอาเซียนในปี 2558 แม้เป็นไปเพื่อการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรี แต่ทั้งนี้แรงงานข้ามชาติจะต้องได้รับการปฏิบัติในการจ้างงาน สวัสดิการสังคม และประโยชน์ด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองเพื่อให้เกิดสิทธิแรงงานที่เท่าเทียมกันกับประชากรชาตินั้นๆ

ทางเครือข่ายแรงงานข้ามชาติได้ร่วมกันยืนยันในหลักการที่ว่ากรรมกรทุกคนไม่ว่าจะทำงานอะไร เป็นใคร มีสถานะทางกฎหมาย หรือทางสังคมอย่างไร คือ กรรมกรที่ต้องมีสิทธิและศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน วันนี้รัฐไม่มีข้ออ้างใดๆ ที่จะไม่คุ้มครองกรรมกรทุกคนต่อภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน สิ่งเดียวที่รัฐต้องตระหนักคือ กรรมกรมิใช่เพียงเครื่องจักรในการผลิตที่เมื่อมีปัญหาก็ทอดทิ้ง กรรมกรเป็นผู้มีศักดิ์ศรีที่ได้มาด้วยการต่อสู้เท่านั้น นับแต่วันนี้ไปกรรมกรต้องมาก่อน 

บุษยรัตน์ กาญจนดิษย์  ฝ่ายวิชาการสมานฉันท์แรงงานไทย รายงาน