เครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านขอเข้าสู่ระบบ  เสนอพรรคการเมือง แก้ม.33 กฎหมายประกันสังคม

ด้าน 5 พรรคฯ ขานรับ ย้ำชัดทำทุกอย่างให้คนทำงาน

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 19  กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ เครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทย ได้จัดเวทีสาธารณะ “ประกันสังคมนั้นสำคัญไฉน กับลูกจ้างทำงานบ้าน” ณ โรงแรม    แกรนด์ปาลาซโซ รัชดา โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความตระหนักให้แก่สังคมเรื่องการจัดสวัสดิการสังคมแก่ลูกจ้างทำงานบ้าน และที่สำคัญคือให้พรรคการเมืองได้ชี้แจงนโยบายของพรรคที่เกี่ยวข้องกับการจัดสวัสดิการแก่ลูกจ้างทำงานบ้าน

ทั้งนี้ นางพูลทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ กล่าวว่า แม้ว่ากฎกระทรวงแรงงาน ฉบับที่ 14 จะมีการประกาศใช้เพื่อคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้าน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 แต่ลูกจ้างทำงานบ้านยังเข้าไม่ถึงสิทธิประกันสังคม

“ ตามมาตรา 33 ในกฎหมายประกันสังคมยังยกเว้นลูกจ้างทำงานบ้าน ทำให้ลูกจ้างเหล่านี้ต้องไปเข้ามาตรา 40 ซึ่งเป็นการจ่ายสมทบฝ่ายเดียว และให้สิทธิประโยชน์ที่น้อย ลูกจ้างหลายคนเลือกที่จะไม่เป็นผู้ประกันตน ซึ่งคนกลุ่มนี้จะไม่ได้รับการดูแลจากสังคมเลย อย่างเช่นช่วงสถานการณ์โควิดระบาด ลูกจ้างเหล่านี้ไม่ได้รับการชดเชย เพราะไม่ได้เป็นผู้ประกันตน ในขณะที่กลุ่มประเทศอาเซียน ยอมรับว่า ลูกจ้างทำงานบ้านเป็นผู้ใช้แรงงานคนหนึ่ง เพราะเรามีนายจ้างที่ชัดเจน เราควรได้สิทธิเท่ากับแรงงานทุกคน”

รายงาน ILO ย้ำ ไทยต้องแก้ไขกฎหมายประกันสังคมมาตรา 33 ให้คุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้าน

Mr.Nuno  Meira  Simoes Cunha,   องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ( ILO )  ได้นำเสนอรายงานการทบทวนนโยบายประกันสังคมสำหรับแรงงานทำงานบ้านในประเทศไทย  โดยระบุว่า ในประเทศไทย มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างค่าจ้างลูกจ้างทำงานบ้านกับลูกจ้างอื่นๆ โดยข้อมูลจากรายงานบอกว่า ครึ่งหนึ่งของแรงงานทำงานบ้านมีรายได้ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ในขณะที่ความคุ้มครองด้านการประกันสังคมในกลุ่มแรงงานทำงานบ้านต่ำกว่าประชากรทั่วไป  ทั้งนี้ หากพิจารณาจากข้อจำกัดทางกฎหมายในการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนกรณีภาคบังคับ จึงเป็นไปได้ว่าผู้ประกันตนส่วนใหญ่เข้าร่วมในภาคสมัครใจ ซึ่งหมายความว่าแรงงานทำงานบ้านส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงการคุ้มครองการว่างงานหรือประกันบาดเจ็บ และเจ็บป่วยจากการทำงาน 

ILO กล่าวด้วยว่า จากที่เคยสัมภาษณ์นายจ้าง นายจ้างส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะให้ลูกจ้างทำงานบ้านเข้ามาตรา 33 ของกฎหมายประกันสังคม แต่ในทางกฎหมายไม่สามารถดำเนินการได้ 

ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวได้นำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย โดยขอให้ขยายความคุ้มครองทางกฎหมาย โดยยกเลิกบทบัญญัติที่เป็นข้อยกเว้นที่มุ่งเป้าไปที่แรงงานทำงานบ้าน คือมาตรา 33 ของพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533   และให้พิจารณารวมความคุ้มครองงานบ้านในกฎหมายให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยแก้ไขบทบัญญัติที่เป็นข้อยกเว้นภายใต้พระราชบัญญัติเงินทดแทน  พ.ศ. 2537 และพระราชกฤษฎีกา พ.ศ. 2560 ภายใต้พระราชบัญญัติประกันสังคม โดยให้ความสำคัญกับการปฏิรูปพระราชบัญญัติเงินทดแทนเพื่อขยายสิทธิประโยชน์โดยเร็วที่สุด

จากนั้นเป็นการนำเสนอนโยบายของพรรคการเมืองต่อการขยายการคุ้มครองประกันสังคมให้ลูกจ้างทำงานบ้าน ซึ่งมีพรรคการเมืองเข้าร่วมเวที จำนวน 5 พรรค ประกอบด้วย พรรคเสมอภาค พรรคก้าวไกล พรรคสังคมประชาธิปไตยไทย  พรรคไทยสร้างไทย และพรรคชาติพัฒนากล้า โดยผู้แทนแต่ละพรรคมีข้อเสนอ ดังนี้

เสมอภาคขานรับนำลูกจ้างเข้ามาตรา 33

ย้ำ เป็นห่วงคนทำงานเพศหญิงและ LGBT

รฎาวัญ วงศ์ศรีวงศ์ หัวหน้าพรรคเสมอภาค  กล่าวว่า การนำลูกจ้างทำงานบ้านเข้ามาตรา 33 พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533    เป็นเรื่องง่ายมาก พรรคเสมอภาคพร้อมที่จะดำเนินการโดยการแก้กฎหมายประกันสังคม ทั้งนี้ ลูกจ้างทำงานบ้านและแรงงานข้ามชาติเป็นแรงงานเหมือนกัน ควรจะได้สิทธิความคุ้มครองเหมือนกับแรงงานด้านอื่น ๆ พร้อมกับชักชวนให้ลูกจ้างทำงานบ้านและแรงงานด้านอื่น ๆ มาสมัครเป็นปาร์ตี้ลิสต์พรรคเสมอภาค เพื่อช่วยกันผลักดันนโยบายดังกล่าว

“พรรคเสมอภาคเป็นห่วงคนทำงาน เพศหญิงและ LGBT ต้องได้รับการคุ้มครอง”

ก้าวไกลชูประกันสังคมถ้วนหน้า

ประเทศไทยจะไม่มีแรงงานนอกระบบ 

วันวิภา  ไม้สน  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า พรรคมีนโยบายจะแก้ไขกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวกับแรงงาน โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับลูกจ้างทำงานบ้าน  กฎหมายคุ้มครองแรงงาน เพื่อคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้านเช่นการโดนเลิกจ้างขณะตั้งครรภ์  คุณภาพชีวิตคนทำงาน และการรวมกลุ่มของแรงงานเพื่อการต่อรองกับนายจ้างด้วย

นอกจากนี้พรรคยังมีนโยบายที่จะพัฒนาระบบประกันสังคมให้เป็นถ้วนหน้าด้วย เพื่อให้ลูกจ้าง 20 กว่าล้านคน ได้สิทธิต่าง ๆ โดยปรับแก้มาตรา 40 ของกฎหมายประกันสังคมและในอนาคตประเทศไทยจะไม่มีแรงงานนอกระบบ 

สังคมประชาธิปไตยไทย พูดชัด พร้อมเสนอนโยบายทุกอย่างเพื่อแรงงาน

นายสาวิทย์  แก้วหวาน หัวหน้าพรรคสังคมประชาธิปไตยไทย  กล่าวว่า พรรคสังคมประชาธิปไตยไทย เกิดจากแนวคิดที่จะผลักดันนโยบายเพี่อแรงงาน ดังนั้นนโยบายของพรรคจะตั้งบนพื้นฐานเพื่อแรงงานทุกคน ที่ผ่านมารัฐบาลมักจะคุมกำเนิดการรวมตัวของแรงงาน ทำให้นโยบายเพื่อผู้ใช้แรงงานไม่ได้รับการผลักดัน  ดังนั้นพรรคสังคมประชาธิปไตยไทยจะเสนอปฏิรูปกฎหมายแรงงาน โดยคนทำงานเป็นหุ้นส่วน

“ การเสนอนโยบายของพรรคสังคมประชาธิปไตยไทย จะคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ปรับแนวคิดของรัฐบาลให้คำนึงถึงแรงงานด้วยความเสมอภาค ”

ไทยสร้างไทย ชู  2 แก้ 3 สร้าง  

เสนอ บำนาญ 3,000 บาท    

ธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ โฆษกพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า พรรคเริ่มทำงานเรื่องนี้มานานแล้ว โดยรวมตัวลูกจ้างทำงานบ้านและแรงงานด้านอื่นๆ โดยเสนอ นโยบาย 2  แก้ 3 สร้าง  คือ 1. แก้กฎกระทรวง ฉบับที่ 14  (พ.ศ. 2555 ) ที่ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541    2.แก้ (ร่าง) พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. … ซึ่งขั้นตอนขณะนี้อยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา    3 สร้าง  ประกอบด้วย 1. แพลตฟอร์มดิจิตอล ที่สมบูรณ์แบบ เพื่อผลักดันมาตรา 33 ของกฎหมายประกันสังคม   2.กองทุนคนตัวเล็ก หรือกองทุนเครดิตประชาชน เพื่อให้ประชาชนที่เข้าไม่ถึงการกู้เงินในระบบ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอของ ILO ด้วย โดยคิดอัตราดอกเบี้ยเดือนละ 1 % เพื่อให้ทุกคนสามารถพึ่งตนเองได้  3. บำนาญประชาชน 3,000 บาท เพื่อให้ประชาชนในวัยเกษียณ มีบำนาญ

 ชาติพัฒนากล้า เสนอแก้มาตรา 4  Plus

ในขณะที่พรรคชาติพัฒนากล้า ดร.อรรถวิชช์  สุวรรณภักดี  รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวว่า    นโยบายพรรคเสนอปรับแก้กฎหมายประกันสังคม มาตรา 40 โดยปรับเป็น  PLUS คือเพิ่มขึ้น  ในสิทธิประโยชน์อื่นๆที่ระบุให้ตามมาตรา 33  โดยสิ่งที่ขาดในมาตรา 33 จะนำไปบรรจุในมาตรา 40  สิ่งที่ลูกจ้างทำงานบ้านจะได้รับ คือวันหยุด มีนโยบายผลักดันคุณภาพชีวิตแรงงาน แต่มีรายละเอียดต่าง

“ พรรคชาติพัฒนากล้า เห็นว่า ลูกจ้างทำงานเป็นงานที่มีลักษณะพิเศษ ไม่ใช่ฟรีแลนซ์  ข้อเสนอของพรรคอาจจะแตกต่าง คือปรับแก้มาตรา 40 เพิ่มสิทธิต่าง ๆ ให้ลูกจ้างทำงานบ้าน โดยไม่ได้ปรับแก้ มาตรา33   เนื่องจากหากปรับแก้ มาตรา 33 จะมีการระบุโทษหากไม่มีการเข้าสู่ระบบของทั้งนายจ้างและลูกจ้าง พรรคเป็นห่วงในเรื่องนี้”