กลุ่มแรงงานหลายจังหวัด ยื่นปรับขึ้นค่าจ้าง 360 บาท เท่ากันทั่วประเทศ
เมื่อเวลา 09.30 ของวันที่ 9 กรกฎาคม 2558 กลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ได้พาตัวแทนสหภาพแรงงานในเขตพื้นที่อ้อมน้อยไปยื่นหนังสือ เรื่องขอให้รัฐบาลปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 360 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ทั้งนี้เป็นผลมาจากการประชุมของคณะกรรมการค่าจ้างเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2558ที่ได้เสนอแนะแนวทางในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำไว้ 5 แนวทางคือ 1.ให้กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำแบบเดิม 2.ให้กำหนดค่าจ้างแบบลอยตัว 3.ให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามการพัฒนาเศรษฐกิจ 4.การปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามอุตสาหกรรม 5.การปรับค่าจ้างขั้นต่ำโดยวิธีผสมผสานหลายรูปแบบ
ค่าจ้างขั้นต่ำตามนิยามขององค์การแรงงานระหว่างประเทศที่กำหนดให้ค่าจ้างสามารถเลี้ยงดูตนเองและบุคคลในครอบครัวได้ 3 คน ปัจจุบันเหลือแค่พอเลี้ยงชีพเฉพาะคนที่ทำงานเพียงคนเดียวและค่าจ้างก็แบ่งเขตไม่เท่ากันคือปล่อยค่าจ้างลอยตัว ในบางจังหวัดไม่มีสหภาพแรงงานเป็นตัวแทน ฝ่ายลูกจ้างก็หาคนที่อ่อนน้อมถ่อมตนไม่กล้าโต้เถียงทำให้บางจังหวัดไม่ได้รับการปรับค่าจ้างติดต่อกันหลายปี ประกอบกับรัฐบาลไม่สนับสนุนการให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 98 ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง ทำให้คนทำงานอยู่ในสภาพที่ลำบากแร้นแค้นก่อให้เกิดการอพยพแรงงานจากจังหวัดหรือเขตที่มีค่าจ้างต่ำไปสู่จังหวัดและเขตที่มีค่าจ้างสูง เกิดการกระจุกตัวของผู้คนในเมืองใหญ่ เกิดการแออัด เสื่อมโทรม คุณภาพชีวิตตกต่ำรัฐต้องลงทุนโครงการใหญ่ๆในเมืองเกิดการสูญเสียงบประมาณสูญเสียโอกาศในการพัฒนาคน พัฒนาเรื่องการศึกษาและการบริการสาธารณะที่ดีในชนบทที่ดินที่รกร้างไม่มีคนหนุ่มสาวทำการเกษตรถูกนายทุนยึดครอง ค่าครองชีพในต่างจังหวัดถูกกว่าค่าครองชีพในกรุงเทพฯไม่ใช่อีกต่อไป เครื่องอุปโภคบริโภค บวกราคาค่าขนส่งสินค้าในต่างจังหวัดขายแพงกว่าในกรุงเทพฯด้วยซ้ำ
ภายใต้เศรษฐกิจที่ผันผวนซึ่งนับวันจะรุนแรงขึ้นทั้งในระดับประเทศและสากลเกิดการเปิดเสรีทางการค้า การเงิน การลงทุน การบริการ การแข่งขันที่เข้มข้นจะก่อให้เกิดผลกระทบตามที่ตามมาอย่างมากมาย หากรัฐบาลมองแค่เรื่องการลงทุนพียงอย่างเดียวโดยไม่ให้ความสำคัญต่อความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของคนงาน จะทำให้ประเทศไทย คนไทยสูญเสียโอกาสอย่างมาก จะแข่งขันกับประเทศอื่นได้อย่างไรเมื่อคนไทย แรงงานไทย ถูกเสนอขายค่าจ้างแรงงานในราคาที่ถูกเพื่อดึงดูดนักลงทุน รัฐบาลต้องดำเนินการตามนโยบายที่แถลงไว้แต่ต้น คือ ลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรมให้สังคมและประชาชน
กลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่จึงได้ทำหนังสือเพื่อยื่นให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม และศูนย์ดำรงธรรม จ.สมุทรสาคร ที่ศูนย์ราชการจังหวัดนครปฐมมี นายกำธร ตุ้งสวัสดิ์ รองผู้ว่าฯ มารับหนังสือแทน เขตนครปฐมมีตัวแทนจากสหภาพยื่นหนังสือ จำนวน 5 สหภาพฯ 1.สร.แอล ที ยู แอพพาเรลส์ 2.สร.น้ำใจสัมพันธ์ 3.สร.ทียูดับบลิวเทติกเท็กศ์ไทล์ 4.สร.ทานตะวัน 5.สร.กิจการสิ่งทอนครหลวง ส่วนที่ ศูนย์ดำรงธรรม จ.สมุทรสาคร ซึ่งมีนายจงรัก เพชรเสน ผู้ช่วยหัวหน้าสำนักงานศูนย์ดำรงธรรม จ.สมุทรสาคร มารับหนังสือ มีสหภาพฯที่ไปยื่นทั้งหมด 7 สหภาพ 1.สร.บริติชไทยซินเทติคเท็กส์ไทล์ 2.สร.ผลิตภัณฑ์ยางแห่งสมุทรสาคร 3.สร.รวมใจเพื่อนสัมพันธ์ 4.สร.ไทยเซรามิคส์ 5.สร.ลูกจ้างเหล็กและโลหะ 6.สร.ผลิตภัณฑ์ยานยนต์ไทย 7.สร.อุตสาหกรรมยางแห่งประเทศไทย
เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2557 รัฐบาลก็ได้ปรับเงินเดือนให้กับข้าราชการไปแล้ว ดังนั้นผู้ใช้แรงงานจึงไม่ควรถูกเลือกปฏิบัติ และรัฐบาลควรหามาตรการด้านต่างๆช่วยเหลือแก่เกษตรกร ประชาชนอาชีพอื่นๆด้วย
ทั้งนี้นักสื่อสารแรงงานรายงานว่า มีกลุ่มสหภาพแรงงาน ในจังหวัดอ่างทอง สระบุรี สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ฯลฯ ได้เข้ายื่นหนังสือเพื่อขอปรับขึ้นค่าจ้าง 360 บาทเท่ากันทั่วประเทศในวันเดียวกันนี้ด้วย
นักสื่อสารแรงงาน อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ รายงาน