เครือข่ายกลุ่มสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างเครื่องเรือนและคนทำไม้แห่งประเทศไทย ลงพื้นที่ให้ความรู้สิทธิประโยชน์ประกันสังคมที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ ครั้งที่ 2 ที่จังหวัดนครปฐม ณ.ห้องประชุมกลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อยอ้อมใหญ่ โดยมีแรงงานข้ามชาติเข้าร่วมจำนวน 40 คน เวลา 09.00-12.00 น.เมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2558 มีการแลกเปลี่ยนประเด็นปัญหาแรงงานข้ามชาติ ในประเด็นประกันสังคม เรื่องของสิทธิประโยชน์ต่างๆ และเอกสารแรงงานข้ามชาติ (Passport )
นางสาวธนพร วิจันทร์ เลขาธิการคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่าเมื่อพ.ศ. 2556 องค์กร BWI ได้จัดประชุมที่ประเทศไทยเพื่อเปิดตัวเครือข่ายสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง เครื่องเรือน และคนทำไม้แห่งประเทศไทย ( BWICT) และมีการประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกับกลุ่มเครือข่ายเพื่อนำปัญหาไปแก้ไข และยังประสานงานไปยังองค์กร BWI ในขณะเดียวกัน ( BWI ) ก็กำลังเรียกร้องกับอาเซียนเพื่อขอให้ช่วยดูแลสวัสดิการต่างๆรวมถึงด้านความปลอดภัยฯ กับแรงงานข้ามชาติ กฎหมายแรงงานข้ามชาติใช้ฉบับเดียวกันกับแรงงานไทยและค่าจ้างก็ต้องเท่าเทียมด้วย เราจึงต้องทำงานเป็นเครือข่าย เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับคนงานซึ่ง ในวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2558ที่จะถึงนี้เป็นวันแรงงานข้ามชาติสากลมีกิจกรรมที่กรุงเทพมหานคร เชิญชวนพี่น้องเข้าร่วมพร้อมหน้ากัน
มีการแลกเปลี่ยนปัญหาด้านประกันสังคมของแรงงานข้ามชาติในเขตพื้นที่อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ คือการที่ไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ประกันสังคม ไม่มีบัตรรับรองสิทธิในการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย บางส่วนใช้สิทธิบัตรทอง กรณีที่ไม่มีบัตรทองต้องเสียค่าใช้จ่ายเองเมื่อเข้ารับการรักษาพยาบาล เนื่องจากนายจ้างแต่ละสถานประกอบการมีทั้งจัดเก็บส่งและไม่จัดเก็บเงินส่งสมทบกองทุนประกันสังคมโดยไม่มีเหตุผล บางสถานประกอบการนายจ้างอ้างว่ารอเอกสารพร้อมจะดำเนินการให้ เมื่อลูกจ้างเจ็บป่วยหนักเจ็บป่วยเรื้อรังต้องได้รับต้องความเดือดร้อนในการรักษาพยาบาล ทั้งที่ลูกจ้างแรงงานข้ามชาติ มีเอกสารการเข้ามาทำงานอย่างถูกต้อง จึงทำให้แรงงานข้ามชาติขาดโอกาสในการเข้าถึงสิทธิ์กองทุนประกันสังคมทั้ง 7 กรณี
จากการสอบถาม นางสาวสุรินทร์ พิมพา ฝ่ายรับเรื่องกลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ กล่าวว่าในกรณีที่นายจ้างไม่ได้จัดเก็บเงินส่งกองทุนประกันสังคมนั้น ตนเคยไปสอบถามที่สำนักงานจังหวัดแล้วได้รับคำตอบว่าสาเหตุที่นายจ้างไม่หักเงินสมทบกองทุนประกันสังคมเนื่องจากเอกสารไม่สมบูรณ์ (เช่น หมายเลขเอกสารไม่ตรงกัน และใบอนุญาตทำงานประทับตราไม่ตรงกับจังหวัดที่ทำงานอยู่) นางสาวสุรินทร์ พิมพา กล่าวต่ออีกว่าขอให้แรงงานข้ามชาติที่มีเอกสารครบสมบูรณ์นำมาให้ตนพร้อมนัดหารือกันให้ได้บทสรุปที่ชัดเจนนำไปที่ประกันสังคมจังหวัดเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป
นายบุญสม ทาวิจิตร ประธานกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล้เคียง ให้ความรู้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน เรื่อง วันหยุด วันลา และค่าตอบแทน รวมทั้งสิทธิประโยชน์ประกันสังคม
1.วันหยุดประจำปีไม่น้อยกว่า 13 วัน 2. วันหยุดพักผ่อนไม่น้อยกว่า 6 วัน 3.วันหยุดประจำสัปดาห์ 1วัน
– ลากิจธุระ กฎหมายไม่ได้กำหนดจำนวนวันลา และจะได้ค่าจ้างหรือไม่ขึ้นอยู่ที่ข้อตกลง – ทำงานหนึ่งวันแปดชั่วโมงพักผ่อนไม่เกิน 1 ชั่วโมง – ลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง ลาป่วยได้รับค่าจ้างจากนายจ้าง 30 วัน ภายใน1 ปี ลาป่วย 3 วันขึ้นไปต้องใช้ใบรับรองแพทย์และนายจ้างมีสิทธิเรียกใบรับรองแพทย์ ป่วยจริงมีใบแพทย์ไม่ได้รับค่าจ้างร้องพนักงานตรวจแรงงาน- ลาคลอด 90 วันนายจ้างจ่าย 45วันประกันสังคมจ่าย 45 วัน สำหรับผู้ประกันตนหญิง – ห้ามเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุตั้งครรภ์ ต้องแจ้งเพื่อปรับเปลี่ยนงานชั่วคราว และยกของหนักไม่เกิน 15 กิโลกรัม – ทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ พนักงานรายเดือนได้ 1 เท่า/ พนักงานรายวันได้ 2 เท่า – ค่าล่วงเวลาในวันหยุดประจำสัปดาห์ ตั้งแต่ 17.00 น.เป็นต้นไป ได้ 3 เท่า ทำงาน 1 ชั่วโมง ได้ 3 ชั่วโมง
ค่าชดเชยพิเศษ
หากนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่มีความผิด ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยดังนี้
1.ทำงานติดต่อกันครบ120 วันแต่ไม่ครบ 1ปีได้รับค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน
2.ทำงานติดต่อกันครบ1ปีแต่ไม่ครบ 3 ปีได้รับค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน
3.ทำงานติดต่อกัน3 ปีแต่ไม่ครบ 6 ปีได้รับค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน
4.ทำงานติดต่อกัน6 ปีแต่ไม่ครบ 10 ปีได้รับค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน
5.ทำงานติดต่อกันครบ10 ปีขึ้นไปได้รับค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน
เมื่อนายจ้างเลิกจ้างต้องจ่ายวันหยุดพักผ่อนในปีที่ถูกเลิกจ้างในส่วนที่เหลือให้ด้วย และกรณีนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยให้ร้องพนักงานตรวจแรงงานหรือแจ้งที่กลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ เพื่อดำเนินงานต่อไป
นักสื่อสารศูนย์แรงงานอ้อมน้อย – อ้อมใหญ่ รายงาน