
วันเด็กแห่งชาติปีนี้ (วันเสาร์ที่ 14 มกราคม2566) เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ คณะทำงานเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า341องค์กร ร่วมกับ ชุมชน 6 แห่ง รอบพื้นที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย นิคมมักกะสัน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟไทยแห่งประเทศไทย พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย เครือข่ายเด็ก และสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร ร่วมมือกันจัดงานวันเด็ก ภายใต้ธีมงาน “วันเด็ก : อนาคตของหนูอยู่ที่สวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า” ที่ลานจอดรถสำนักงานโครงการระบบรถไฟฟ้าการรถไฟแห่งประเทศไทย(แอร์พอร์ตลิ้งค์) ฝั่งตรงข้ามเยื้องกับพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ถนนนิคมมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพฯ

โดยมีกิจกรรมการแสดงของเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กอ่อนก่อนวัยเรียน ชุมชนริมทางรถไฟมักกะสัน (ร่วมใจ) และมายากลหน้าขาว จากมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก จับรางวัลแจกของขวัญให้เด็กๆจำนวนมาก รวมทั้งมีการ เสวนา ในหัวข้อ “วันเด็ก… เสียงจากชุมชนเพื่อคุณภาพเด็กถ้วนหน้า”
สุนี ไชยรส ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ได้ตั้งคำถามกับผู้เข้าร่วมเสวนา เกี่ยวกับคุณภาพชีวิตของเด็กในชุมชน ว่าในฐานะของผู้ที่ดูแลเด็ก ต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนเด็กในด้านใดบ้าง
ชนัญธิดา วุฒิวารี หัวหน้าหน้าศูนย์พัฒนาเด็กอ่อนก่อนวัยเรียน ชุมชนริมทางรถไฟมักกะสัน (ร่วมใจ) กล่าวว่า ต้องการให้ชุมชนมีศูนย์ศูนย์เลี้ยงเด็ก เด็กทุกคนควรจะได้อยู่ในศูนย์เลี้ยงเด็ก โดยศูนย์ฯ จะต้องมีบุคลากร ทั้งคุณครูและครูผู้ช่วย นอกจากนั้นศูนย์เลี้ยงเด็กต้องมีพื้นที่พอให้เด็กได้วิ่งเล่นออกกำลังกาย เพื่อพัฒนาการเด็ก เพราะเด็กส่วนใหญ่จะอยู่ในบ้าน ห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ

นอกจากนี้ หัวหน้าหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กริมทางรถไฟมักกะสัน กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เรื่องค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็กของผู้ปกครอง ในแต่ละเดือนค่อนข้างสูง ผู้ปกครองบางคนต้องกู้ยืมเงินมาเป็นค่านมลูก เด็กคนหนึ่งจะมีค่าใช้จ่ายประมาณเดือนละ 10,000 บาท
“ แม้ว่าจะมีศูนย์เด็กเล็ก แต่ศูนย์เด็กเล็กจะรับตั้งแต่ 2 ขวบครึ่ง แต่เด็กในช่วงตั้งแต่ 4 เดือน ที่พ่อแม่ต้องไปทำงาน ต้องจ้างคนเลี้ยง เงินสนับสนุนในส่วนนี้น้อยมาก แค่เดือนละ 600 บาท ไม่พอค่ะ อยากให้รัฐบาลช่วยสนับสนุน”
ในขณะที่ อภันตรี เจริญศักดิ์ รองประธานคณะกรรมการสมาฉันท์แรงงานไทย กล่าวเพิ่มเติมในประเด็นนี้ว่า ในกลุ่มผู้ใช้แรงงานเมื่อมีลูกน้อยและแม่ครบวันลาในเวลา 3 เดือน จะต้องส่งลูกไปให้พ่อแม่เลี้ยงที่ต่างจังหวัด เพราะต้องทำงาน โดยแต่ละเดือนจะมีค่าใช้จ่าย เดือนละประมาณ 5000 บาท ในขณะที่เงินสนับสนุนจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จำนวน 600 บาท นั้น แรงงานส่วนใหญ่จะไม่ได้รับ

“เงินสนับสนุนจาก พม. จำนวน 600 บาท ส่วนใหญ่แรงงานจะไม่ได้รับ เนื่องจากมีการตั้งเงื่อนไขไว้ว่า ผู้ที่ได้รับต้องมีรายได้ขั้นต่ำ คือรายได้รวม 100,000 บาท ส่วนคนที่อยู่ในประกันสังคม จะได้ 600 บาทก็ยังยาก บางคนไม่รู้ว่าตัวเองได้สิทธินี้ ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายเงินสวัสดิการอย่างถ้วนหน้า ”
สอดคล้องกับ ผู้แทนจากเครือข่ายสลัมสี่ภาพ หนูเกน อินจันทร์ กล่าวย้ำว่า งบประมาณ 600 บาท ได้รับในปัจจุบัน ยังยากลำบากมากที่จะได้มา เพราะพ่อแม่ต้องทำงาน ปลุกลูกตั้งแต่ตี 5 ส่งขึ้นมอเตอร์ไซด์ไปโรงเรียน จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาล หากต้องการให้เด็กโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพในสังคมไทย ควรจะพิจารณาการสนับสนุนงบประมาณเด็กๆ เหล่านี้
“ ศูนย์เด็กเล็ก ทุกวันนี้ ไม่พอค่ะ บุคลากร ครู ครูพี่เลี้ยง อยากให้เพิ่มศูนย์เด็กเล็ก ให้พอเพียง มีให้เด็กๆได้วิ่งเล่น และขอเรียกร้องไปยังกทม. ให้ดูแลบุคลากร ครู ครูผู้ช่วยในศูนย์เด็กเล็ก ให้เป็นเจ้าหน้าที่ของ กทม. เพื่อให้มีความมั่นคงในชีวิต ”

ด้านสราวุธ สราญวงศ์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขอให้รัฐมองภาพรวมของคุณภาพชีวิตเด็กไทยในอนาคตที่จะให้เด็กโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ และรัฐจะรู้ว่าควรจะสนับสนุนให้เด็กทุกคนมีสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า และรัฐต้องสนับสนุนให้เด็กไทยได้โตมาอย่างมีคุณภาพ
เชษฐา มั่นคง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลคือ พ่อแม่ที่มีลูกไม่รู้ว่าตัวเองต้องได้เงิน 600 บาท ดังนั้น รัฐควรจะเห็นความสำคัญในตรงนี้ และควรให้เงินแบบถ้วนหน้า เพื่อให้เด็กได้เติบโตมาอย่างดี ส่วนข้อเสนอ คือ การเปิด-ปิด ของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ที่ไม่สอดคล้องกับเวลาทำงานของพ่อแม่ รัฐต้องให้ความสำคัญกับศูนย์เด็กเล็ก ให้สอดคล้องกับชีวิตประจำวัน และสนับสนุนงบประมาณที่จะมาดูแลศูนย์เด็กเล็กมากขึ้น

ทั้งนี้หลังจากจบเวทีเสวนา คณะทำงานขับเคลื่อนสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า 341 องค์กร. และองค์กรเครือข่าย ได้อ่านแถลงการณ์ ซึ่งมีข้อเสนอในวันเด็กแห่งชาติ ปี 2566 ดังนี้
1. เด็กเล็กทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยต้องได้รับสวัสดิการถ้วนหน้าและเท่าเทียม ได้รับการคุ้มครองทางสังคมจากรัฐ เพื่อการเติบโตอย่างเต็มศักยภาพตั้งแต่แม่ตั้งครรภ์ – อายุ 6 ปี
2. รัฐต้องให้เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้าคนละ 3,000 บาทต่อเดือนตั้งแต่แม่ตั้งครรภ์ – อายุ 6 ปี เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นขั้นพื้นฐานในการเลี้ยงดูเด็กเล็ก
3. รัฐต้องมีนโยบายจริงจังในการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมกรุงเทพมหานคร. ในการรับผิดชอบจัดสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ทั้งเงินอุดหนุนเด็กเล็ก การจัดสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยให้ทั่วถึง และพัฒนานโยบายให้สามารถรับเด็กเล็กตั้งแต่ 6 เดือน โดยมีความหลากหลาย สอดคล้องกับวิถีชีวิตการทำงานของพ่อแม่หรือผู้ปกครอง