จะส่งเสริมป้องกันหรือ จะให้คนงาน เจ็บป่วย พิการ ตาย ก่อนหรือไง ?
กับการปันงบดอกผลจากกองทุนเงินทดแทน 20%ให้กับกองทุนความปลอดภัยอาชีวอนามัยฯ
โดยสมบุญ สีคำดอกแค
ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานฯ

สุขภาพความปลอดภัยของแรงงานไทย ตั้งแต่ ปี 2531 – 2552 (21 ปี) จะยิ่งตกใจมาก
สถิติการประสบอันตรายจากการทำงานที่เกิดขึ้นกับลูกจ้าง 3,598,180 ราย
สถิติการสูญเสียอวัยวะบางส่วนจากการทำงานที่เกิดขึ้นกับลูกจ้าง 71,225 ราย
สถิติการเป็นโรคจากการทำงานที่เกิดขึ้นกับลูกจ้าง 54,396 ราย
สถิติการตายหรือเสียชีวิตจากการทำงานที่เกิดขึ้นกับลูกจ้าง 15,931 ราย

• เน้นแรงงานราคาถูก การทำโอที (12 ชม.ต่อ 6 วันต่อสัปดาห์) หรือ 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ซึ่งในต่างประเทศเขาทำงานกันแค่ 35 ชม. ต่อสัปดาห์เท่านั้น
• เทคโนโลยี่ต่ำ แต่การแข่งขันสูง โดยเฉพาะแข่งกันกับประเทศในกลุ่มกำลังพัฒนาด้วยกัน เช่น ลาว เขมร เวียดนาม
• ขาดความมั่นคง เพราะลักษณะการจ้างงานมีการยืดหยุ่นสูง เน้นการจ้างเหมา เอางานกลับไปทำข้างนอก ใช้คนงานข้ามชาติ ขาดสวัสดิการและกฎหมายคุ้มครอง
• ขาดความปลอดภัย การเจ็บป่วยด้วยโรคจากพิษภัยที่มองไม่เห็นและอุบัติเหตุต่าง ๆและโรคที่เกิดสืบเนื่องจากการทำงานด้วยการเร่งการผลิตจนทำให้คนงานต้องเป็นโรคโครงสร้างกระดูกจำนวนมากเกือบทุกอุตสาหกรรม หรือสถิติสูงสุด แต่ก็มีปัญหาในการเข้าถึงสิทธิเงินทดแทนยากเย็น ในขณะที่เกือบทุกประเทศมีปัญหาเรื่องการวินิจฉัยโรค
แม้พวกเราขบวนการแรงงาน และร่วมกับหลายๆองค์กร ร่วมกันผลักดันจนกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2550 ใน มาตรา 44 ระบุว่า“คนงานย่อมมีสิทธิได้รับหลักประกันความปลอดภัยและสภาพในการทำงานรวมทั้งหลักประกันในการดำรงชีพทั้งในระหว่างการทำงานและเมื่อพ้นสภาวะการทำงาน หรือครม.มีมติเมื่อ11 ธันวาคม ปี พ.ศ.2550 ยกเรื่อง สุขภาพความปลอดภัยของผู้ใช้แรงงาน เป็นวาระแห่งชาติ “คนงานปลอดภัย สุขภาพอนามัยดี แต่หาได้มีงบประมาณในการทำงานไม่ มีกฎหมายและมีมติ ครม.แล้วก็ตามทีปัญหาสุขภาพความปลอดภัยก็ไม่ได้ลดลงเลย รวมถึงคนงานยังไม่ได้รับการคุ้มครองที่ดีพอตามเจตนารมณ์ของกฎหมายและสิทธิมนุษยชน