รองปลัดกระทรวงแรงงาน มองสิทธิแรงงานไทย-ข้ามชาติต้องได้รับการคุ้มครอง-เท่าเทียมด้วยกฎหมาย
เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2558 ณ โรงแรมเซ็นจูรี่พาร์ค ถ.ราชปรารภ-ดินแดง กรุงเทพ มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน ร่วมกับมูลนิธิฟรีดริคเอแบร์ท จัดสัมมนาเรื่อง สิทธิการรวมตัวต่อรองแรงงานข้ามชาติ บทเรียนรู้สู่อนาคต เพื่อนำเสนอรายงานการศึกษาบทเรียนจากการรวมกลุ่มและเจรจาต่อรองของแรงงานข้ามชาติ ให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นเกี่ยวกับการส่งเสริมการรวมกลุ่มแรงงานข้ามชาติ เพื่อให้เกิดแนวทางในการทำงาน รวมทั้งข้อเสนอแนะในการส่งเสริมการรวมกลุ่ม และแนวทางในการประสานความร่วมมือในอนาคตต่อไป เวทีเสวนาประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงาน นักวิชาการ ผู้แทนแรงงานข้ามชาติ ผู้แทนแรงงานในระบบ กว่า 60 คน
ดร.อารักษ์ พรหมณี รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สิทธิกฎหมายแรงงานข้ามชาติต้องเป็นไปตามกฎหมาย ไม่ว่าแรงงานไทย หรือแรงงานต่างชาติจะต้องได้รับการคุ้มครองเท่าเทียมกันถือเป็นสิทธิมนุษยชน จึงมองไปที่กฎหมายเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นสิทธิการรวมตัวเจรจาต่อรอง สิทธิด้านสุขภาพความปลอดภัย สิทธิในการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อยกระดับการทำงานให้ได้คุณภาพ สิทธิในที่พักอาศัยที่จะต้องเพียงพอถูกสุขลักษณะสะภาพแวดล้อมต้องดี รวมทั้งการไม่เลือกปฏิบัติหญิงชายต้องเท่าเทียม แต่ที่สำคัญอีกประการคือเรื่องทัศนคติที่มีต่อแรงงานข้ามชาติ โดยในอนาคตหวังว่าจะมีกฎหมายแรงงานเฉพาะด้านที่มีกฎระเบียบร่วมกัน กล่าวคือจะต้องมีสัญญาจ้างที่ชัดเจน มีการทำข้อตกลงร่วมกันกับนายจ้างก่อนที่จะทำงาน เช่น การจ้างงานจะต้องผ่านนายหน้าหรือไม่ ค่าจ้าง สวัสดิการต่างๆ การลาหยุด บำเหน็จ บำนาญ ควรจะต้องมีเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ให้ถูกต้องซึ่งจะต้องได้รับการรับรองจากกระทรวงแรงงาน ป้องกันไว้เพื่อไม่ให้มีการละเมิดหรือถ้ามีสิทธิที่จะพึงมีพึงได้ที่ถูกต้องเหมาะสมแล้วก็คงไม่จำเป็นต้องไปเจรจาต่อรองต่อไป
หลังจากนั้นนายบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ ผู้อำนวยการมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน ได้นำเสนอรายงานการการศึกษา “บทเรียนรู้สิทธิการรวมตัวต่อรองของแรงงานข้ามชาติ” วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภาวการณ์ละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติโดยรวมในระบบการจ้างงาน โดยการสุ่มตัวอย่างสำรวจแบบเจาะจงกับผู้แทนสหภาพแรงงานในสถานประกอบการที่มีแรงงานข้ามชาติทำงานอยู่ ซึ่งจากผลสำรวจพบว่าสาเหตุของแรงงานข้ามชาติที่ย้ายถิ่นอพยพเข้ามานั้น เกิดจากความเหลื่อมล้ำของการพัฒนาเศรษฐกิจ เกิดภาวะสงคราม ความขัดแย้งทางการเมือง เกิดแรงงานราคาถูกทดแทนแรงงานที่คนไทยไม่ทำ ซึ่งทำให้เกิดมุมมองต่างๆในเรื่องชาตินิยม ความมั่นคงทางปกครอง มีการแย่งงานคนไทยทำ
ปี 2553 จากการสำรวจพบว่ามีแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานสูงกว่าจำนวนแรงงานไทยไปต่างประเทศ มีการพึ่งแรงงานข้ามชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากผลการศึกษาพบว่า
• เจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดส่วนใหญ่จะเน้นการบริหารจัดการเรื่องการพิสูจน์สัญชาติและความรับผิดชอบในการทำงานของแรงงานข้ามชาติ
• แรงงานข้ามชาติไม่จำเป็นต้องมีสิทธิรวมตัวต่อรองตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 แต่เน้นการมีส่วนร่วมปรึกษาหารือร่วมกับนายจ้างในการปรับปรุงสวัสดิการแรงงาน
• สิทธิการรวมตัวของแรงงานข้ามชาติอาจนำไปสู่ปัญหาความมั่นคงของชาติเพราะมีทั้งที่เข้ามาโดยถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย เกิดปัญหาการสื่อสารยากต่อการกำกับดูแล
• แรงงานข้ามชาติไม่ควรมีสิทธิรวมตัวโดยลำพัง
• แรงงานข้ามชาติที่ทำงานในสถานประกอบการเดียวกันถูกว่าจ้างโดยบริษัทรับเหมาค่าแรงหรือซับคอนแทรค ทำให้ไม่อาจสมัครเป็นสมาชิกในสหภาพแรงงานได้
• ผู้นำแรงงานไม่มีความรู้เข้าใจผิดว่าแรงงานข้ามชาติ ไม่มีสิทธิร่วมในสหภาพแรงงานทุกกรณี
• ผู้นำแรงงานทั้งหมดเห็นด้วยกับการให้แรงงานข้ามชาติเป็นสมาชิกหรือกรรมการสหภาพแรงงาน
• มีกิจกรรมหลายอย่างของสหภาพแรงงานที่แรงงานข้ามชาติมีความตื่นตัวเข้าร่วมหนาแน่นกว่าแรงงานไทย
• แรงงานข้ามชาติบางส่วนยังไม่ไว้ใจสหภาพแรงงาน กลัวถูกนายจ้างเพ่งเล็ง กลั่นแกล้ง จึงไม่อยากยุ่งกับสหภาพแรงงานโดยตรง
จากนั้นช่วงบ่ายมีการระดมความเห็นข้อเสนอต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
ข้อเสนอแนะต่อบทบาทสหภาพแรงงาน คือ
– วางแผนส่งเสริมการรวมกลุ่มและจัดการศึกษาสิทธิแรงงานข้ามชาติอย่างจริงจัง
– จัดตั้งเครือข่ายสหภาพแรงงานเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติในกลุ่มสถานประกอบการต่างๆ
– สนับสนุนให้แรงงานข้ามชาติมีส่วนร่วมในกระบวนการทำงานของสหภาพแรงงานอย่างจริงจัง
– ร่วมมือกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศและองค์กรภาคประชาสังคมต่างๆเพื่อการศึกษามาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิแรงงานข้ามชาติและร่วมขับเคลื่อนให้รัฐบาลให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 97 ว่าด้วยการเคลื่อนย้ายถิ่นเพื่อการทำงาน อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ และสมาชิกในครอบครัว อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 143 ว่าด้วยการย้ายถิ่นในสภาพมิชอบและส่งเสริมการมีโอกาสที่เท่าเทียม
– ศึกษาและเปลี่ยนและแสวงหาสรรพวิธีที่สหภาพแรงงานส่งเสริมแรงงานข้ามชาติให้เข้าถึงสิทธิแรงงานอย่างเป็นธรรม
ข้อเสนอแนะต่อบทบาทรัฐบาล มีดังนี้
– จัดทำนโยบายยุทธศาสตร์ระยะยาวด้านการบริหารจัดการแรงงานย้ายถิ่นเข้าประเทศ
– เร่งพิจารณาให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ 87 ว่าด้วยสิทธิการรวมตัว
– ส่งเสริมปรับปรุงกลไกเครือข่ายคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติให้มีหน่วยประสานงานและมีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบอย่างแน่ชัดต่อเนื่อง
– จัดตั้งคณะกรรมการบริหารคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ เพื่อพัฒนารูปแบบแนวทางการปกป้องและคุ้มครองสิทธิแรงงานด้านต่างๆ
– จัดตั้งศูนย์บริการเพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติอย่างเบ็ดเสร็จ
ข้อเสนอแนะบทบาทต่อองค์กรนายจ้าง คือ
– เสริมสร้างความตระหนักรู้เรื่องสิทธิแรงงานข้ามชาติในหมู่นายจ้างอย่างจริงจัง
– กำกับดูแลสถานประกอบการที่มีการจ้างแรงงานข้ามชาติให้เข้าใจยอมรับการปฏิบัติตามมาตรฐานนโยบายและกฎหมายในประเทศ
– รวบรวมและรณรงค์แบบอย่างแนวปฏิบัติที่ดีของนายจ้างที่ปฏิบัติตามนโยบาย-กฎหมาย
– ร่วมมือกับรัฐบาล สหภาพแรงงาน และองค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อส่งเสริมการปฏิบัติตามนโยบายและกฎหมายแรงงานอย่างมีธรรมาภิบาล
– ส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้ การวิจัยและเทคโนโลยีการผลิตและประกอบการของนายจ้างเพื่อลดการพึ่งแรงงานข้ามชาติฝีมือต่ำจำนวนมาก คำนึงถึงการพัฒนาฝีมือแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติบางส่วนในระยะยาวที่นายจ้างอาจต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติต่อไป
จากนั้นได้มีการตั้งตัวแทนคณะทำงานเพื่อพิจารณาปรับปรุงข้อเสนอแนะต่อทั้ง 3 องค์กรเพื่อยื่นต่อรัฐบาลต่อไป
นักสื่อสารแรงงานรายงาน